ย้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชวา ผ่านคอลเลกชันใหม่ ผ้าบาติก ส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 5
- นิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดแสดงงานสะสมผ้าบาติกส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จเยือนชวา 3 ครั้งระหว่าง พ.ศ. 2413 ถึง พ.ศ. 2444
- ผลงานสะสมผ้าบาติกของรัชกาลที่ 5 มีจำนวนทั้งสิ้น 307 ผืน แต่คัดเลือกมาจัดแสดงเป็น 3 ชุด ชุดละ 37 ผืน และครั้งล่าสุดนี้เป็นผลงานชุดลำดับที่ 2
- ไฮไลต์ของชุดที่ 2 คือผ้าโพกศีรษะเขียนทองทั้งผืนซึ่งพบเพียงชิ้นเดียวจากผ้าสะสมทั้งหมด และผ้าโสร่งลายพัดญี่ปุ่นจากราชสำนักยอกยาการ์ตา
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนชวา (ปัจจุบันคืออินโดนีเซีย) 3 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2413, 2439 และ 2444 สิ่งที่พระองค์ท่านนำกลับมานอกเหนือจากสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างสยามกับฮอลแลนด์ที่ขณะนั้นปกครองชวา และวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของตะวันตกต่างๆ เช่น การสร้างทางรถไฟและสะพานข้ามคลอง พระองค์ท่านยังนำมรดกทางวัฒนธรรมของชวา คือ ผ้าบาติก ที่เป็นเอกลักษณ์จากเมืองต่างๆ กลับมาด้วยกว่า 300 ผืน
ผ้าบาติก ที่ทรงซื้อและบางชิ้นได้รับการทูลเกล้าถวาย เป็นคอลเลกชันส่วนพระองค์และอยู่ในการดูแลของสำนักพระราชวัง แต่ละผืนยังคงความสมบูรณ์สวยงามและไม่เคยนำมาจัดแสดงสู่สาธารณชนมาก่อน จนกระทั่งได้รับพระบรมราชานุญาตจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2557 ให้ทางพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ศึกษาค้นคว้าและนำผ้าบางส่วนจัดแสดงเป็นครั้งแรกในนิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” เมื่อปลาย พ.ศ. 2561
ด้วยเนื้อที่จัดแสดงจำกัดประกอบกับต้องรักษาไม่ให้ผ้าโดนแสงมากเกินไปเป็นเวลานาน นิทรรศการ จึงต้องแบ่งเป็น 3 ชุด ชุดละ 37 ผืน ในครั้งนี้ทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้เปลี่ยนวัตถุจัดแสดงชุดเดิมออกหมดเพื่อนำเสนอผ้าบาติกชุดที่ 2
ตามรอยเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 5 ผ่านผ้าบาติก
ผ้าบาติก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติโดยองค์การยูเนสโกเมื่อ พ.ศ. 2552 นิทรรศการครั้งนี้ยังถือเป็นโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 70 ปีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ผ้าบาติก ของในหลวงรัชกาลที่ 5 มีจำนวนทั้งสิ้น 307 ผืน ประกอบด้วยผ้านุ่ง ผ้าตัวอย่างลาย ผ้าโพกศีรษะ และผ้าคาดอก แต่ละผืนมีหมายเลขกำกับพร้อมทั้งรายละเอียดของผ้าแนบไว้เป็นภาษาอังกฤษ ดัตช์ หรือไทย เพื่อบอกแหล่งที่มา ลายผ้า ราคา และรูปแบบการใช้งาน นี่จึงถือเป็นผลงานที่หาชมได้ยากและถ่ายทอดประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี
“เราใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าและเตรียมจัดแสดงประมาณ 4 ปีนับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2557 เพราะ ผ้าบาติก และลวดลายในคอลเลกชันสะสมของในหลวงรัชกาลที่ 5 ไม่เหมือนลายที่เราคุ้นชินกับที่มีทางภาคใต้ของเรา” ศาสตรัตน์ มัดดิน ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ให้ข้อมูล
ศาสตรัตน์และทีมงานต้องเดินทางตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 5 ไปยังพิพิธภัณฑ์ผ้าและโรงเขียนผ้าในหลายเมืองของอินโดนีเซีย เช่นที่ จาการ์ตา ยอกยาการ์ตา โซโล (สุราการ์ตา) และพิพิธภัณฑ์ Tropenmuseum ที่อัมสเตอร์ดัม ที่มีคอลเลกชันผ้าจากโรงเขียนผ้าที่ชวาเช่นเดียวกัน
ผ้าบาติก หลายชิ้นในงานสะสมของรัชกาลที่ 5 มีลายเซ็น “W v Lawick v Pabst” จากโรงเขียนผ้า แวน ลาวิก แวน แพบสต์ (van Lawick van Pabst workshop) ในเมืองยอกยาการ์ตา เป็นผ้าที่ได้มาจากเมื่อครั้งเสด็จเยือนชวาครั้งที่ 2 และ 3 จำนวน 43 ชิ้น และโรงเขียนผ้าแห่งนี้เป็นที่ผลิตผ้าบาติกจำนวน 175 ลาย ให้กับรัฐบาลฮอลแลนด์เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ Paris World Exhibition เมื่อ พ.ศ.2443 ซึ่งปัจจุบันผ้าเหล่านี้เป็นงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ Tropenmuseum
“คอลเลกชันผ้าจากโรงเขียนผ้า แวน ลาวิก แวน แพบสต์ ที่จัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์ Tropenmuseum เป็นผ้าลายตัวอย่างขนาด 100×100 เซนติเมตร ในขณะที่ผ้าในงานสะสมของในหลวงรัชกาลที่ 5 มีขนาดประมาณ 100×300 เซนติเมตร จึงเห็นลวดลายผ้าแบบเต็มผืนซึ่งนับว่าทรงคุณค่ายิ่ง” ศาสตรัตน์กล่าว
ชวา: สหายรั้วบ้านติดกันของสยาม
ในการเสด็จเยือนชวาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2413 เป็นการเสด็จอย่างเป็นทางการ เมื่อพระชนมายุ 17 พรรษาและนับเป็นการเสด็จไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเป็นครั้งแรกของราชวงศ์จักรี พระองค์ท่านประทับที่ชวาเป็นเวลา 15 วัน โดยหลักๆ ที่เมืองปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือจาการ์ตา) และเมืองเซอมารังซึ่งเป็นเมืองท่าและมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ
ในครั้งนั้นพระองค์ท่านได้ซื้อ ผ้าบาติก จากโรงเขียนผ้า วอน แฟรงเคอมองต์ (von Franquemont) ที่เมืองเซอมารังมาจำนวนหนึ่ง เนื่องจากผ้าที่นี่มีความโดดเด่นในการสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ เช่น ลายแบบเรขาคณิตบริเวณหัวผ้าและลายลูกไม้ที่กรอบผ้า ซึ่งต่อมากลายเป็นลายเอกลักษณ์ของผ้าบาติกแถบชายฝั่งตอนเหนือของเกาะชวา
นิทรรศการแบ่งเป็นห้องจัดแสดง 2 ห้อง ห้องแรกนำเสนอผ้าบาติกจากเมืองในแถบชวาตะวันตก เช่น การุต ทาสิกมาลายา จิปีเดส จิราบอน และอินดรามายู รวมถึงเมืองแถบชวากลาง เช่นที่ เซอมารัง บันยูมาส เปอกาลองงัน และ ลาเซ็ม ส่วนอีกห้องเน้น ผ้าบาติก แถบชวากลางของเมืองยอกยาการ์ตา และสุราการ์ตา ที่ใช้ในราชสำนัก
ในการเสด็จเยือนชวาครั้งที่ 2 และ 3 เป็นการเสด็จส่วนพระองค์ โดยเฉพาะในครั้งที่ 2 นี้ประทับร่วม 2 เดือนเพื่อฟื้นฟูพระราชวรกายหลังจากเจ็บป่วย และมีโอกาสเสด็จไปหลายเมือง เช่น ยอกยาการ์ตา สุราการ์ตา จิราบอน อินดรามายู และการุต พระองค์ท่านยังได้พระราชนิพนธ์เรื่อง “ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน” เมื่อ พ.ศ. 2439 มีใจความตอนหนึ่งว่า
“เมืองนี้เปนเสมือนหนึ่งประตูบ้านของเรา เปนสหายที่อยู่รั้วบ้านติดกัน การที่คบค้าชอบพอกันย่อมจะเปนผลดีแก่บ้านเมืองทั้งสองฝ่าย ความปรารภทั้งหลายนี้เปนเครื่องอุดหนุนให้เรามีความปรารถนากล้าที่จะไปรักษาตัวในประเทศอื่นแต่เปนมิตรอันสนิทของเรา”
ไฮไลต์ผ้าเขียนทองปราดาที่ไม่ใช่ชื่อแบรนด์ไฮเอนด์
ไฮไลต์ของห้องจัดแสดงแรกคือผ้าโพกศีรษะปิดทองที่เรียกว่า ปราดา (prada) สำหรับใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า สันนิษฐานว่าได้มาจากเมืองจิราบอน เป็นผ้าเขียนลายด้วยมือ ย้อมสีธรรมชาติและเขียนทองชัดที่สุดเต็มผืน ซึ่งเป็นผืนเดียวในชุดสะสมของรัชกาลที่ 5 ที่ใช้เทคนิคนี้
เมืองจิราบอน เป็นศูนย์กลางการทำผ้าบาติกที่สำคัญแห่งหนึ่งในแถบชวาตะวันตก และเป็นเมืองท่าที่มีการติดต่อค้าขายกับจีนเป็นส่วนมาก จึงมีโรงเขียนผ้าที่มีเจ้าของเป็นคนจีนและชาวชวาเชื้อสายจีนอยู่หลายแห่ง ผ้าบาติก แถบนี้มักย้อมด้วยสีครามและน้ำเงินเข้มผสมลวดลายแบบจีนเช่นนกและโคมไฟ
ส่วนผ้าที่มีพื้นหลังย้อมสีแดงเข้มมาจากเมืองลาเซ็มที่อยู่บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของชวากลาง เฉดสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์นี้ได้มาจากรากยอและแร่ธาตุในน้ำที่พบได้ที่เมืองนี้เท่านั้น เช่นเดียวกับที่เมืองจิราบอน ผ้าบาติก ของลาเซ็มโดดเด่นด้วยการเขียนลวดลายแบบจีน ดังผ้าที่จัดแสดงจะเห็นลายประแจจีน มังกร เสือ ม้า และนกยูง เป็นต้น
เมืองเปอกาลองงัน เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติทั้งชาวยุโรป ชาวจีน และชาวมุสลิม โรงเขียนผ้าชื่อ เอ. เจ. เอฟ. ยานส์ (A.J.F. Jans) ของเมืองนี้มีเจ้าของเป็นชาวชวาเชื้อสายดัตช์ซึ่งผลิต ผ้าบาติก ด้วยลวดลายเอกลักษณ์เป็นรูปช่อดอกไม้ ผีเสื้อ และกามเทพ บนพื้นหลังสีครีม ชายผ้าด้านล่างประดับด้วยลายผ้าลูกไม้ ส่วนรูปแบบการวางลายที่ท้องผ้าอาจได้รับอิทธิพลจากผ้าพิมพ์ลายแบบยุโรปซึ่งได้รับอิทธิพลจากผ้าพิมพ์อินเดียมาอีกทอดหนึ่ง
ผ้าที่ผลิตที่โรงเขียนนี้ลงชื่อว่า “J. Jans” นับเป็นโรงเขียนแห่งแรกๆที่เริ่มเซ็นชื่อลงบนผืนผ้าเพื่อแสดงว่าเป็นผู้ผลิตผ้าผืนนั้นๆ และในชุดสะสมของรัชกาลที่ 5 มี 8 ผืนที่มาจากที่นี่
“ในอดีตเราสามารถแยกลวดลายผ้าว่ามาจากเมืองใดได้ค่อนข้างชัดเจน เพราะแต่ละที่มีการเขียนลายและการย้อมที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ปัจจุบันนี้ลวดลายผสมผสานกันไปหมดแล้ว เนื่องจากสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต ทางรัฐบาลอยากให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันจึงให้โรงเขียนผ้าที่เมืองสุราการ์ตาออกแบบลวดลายผสมผสาน และเริ่มจากให้ข้าราชการสวมใส่และต่อมากระจายไปยังคนทั่วไป” ภัณฑารักษ์กล่าว
ผ้าบาติกราชสำนักและลวดลายเฉพาะสมาชิกราชวงศ์
ห้องจัดแสดงที่ 2 เน้นผ้าที่ใช้ในราชสำนักที่ยอกยาการ์ตาและสุราการ์ตา ที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีในการผลิตและลวดลายยังบอกลำดับชั้นยศของผู้สวมใส่
ไฮไลต์ของห้องนี้คือผ้าโสร่งลายมิกาโด จากเมืองยอกยาการ์ตา เป็นลายพัดญี่ปุ่นบริเวณท้องผ้าโดยพื้นหลังช่างเขียนลายกาวุง ซึ่งเป็นลายดั้งเดิมของชวากลาง แสดงให้เห็นถึงศิลปะแบบญี่ปุ่นที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในเกาะชวาช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19
ผ้าจากราชสำนักสุราการ์ตามักมีพื้นสีเหลืองอมน้ำตาลและน้ำเงินเข้ม และมีลวดลายขนาดเล็กตกแต่งทั่วผืนโดยนิยมลายเซเมน หรือลายพืชพรรณและสัตว์ ในขณะที่ทางยอกยาการ์ตามักมีพื้นสีขาวและสีน้ำเงินอ่อน นิยมลายเรขาคณิตขนาดใหญ่
ลวดลายที่ใช้ได้เฉพาะสมาชิกในราชวงศ์ เช่น ลายเซเมน อกุง (semen agung) มักประกอบด้วยลายปีกครุฑและลายจากธรรมชาติเช่น ดอกไม้ สัตว์และภูเขา สื่อให้เห็นถึงคติจักรวาลในความเชื่อของศาสนาฮินดูรวมถึงลายฮุก (hook) ที่เป็นลายลักษณะวงกลมภายในมีนกอยู่ตรงกลางและล้อมรอบด้วยเปลือกหอยทั้ง 4 ด้าน และลายรูจัก ซองเต (rujak senthe) เป็นกลุ่มลายริ้วในแนวทแยงซึ่งสื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์
ลายผ้าพิเศษที่จัดแสดงอีกผืนไม่ได้อยู่ในชุดสะสมของรัชกาลที่ 5 แต่มีความสำคัญคือเป็นลายพิเศษที่ทางรัฐบาลประธานาธิบดีซูฮาร์โต ได้ให้ช่างเขียนลายสร้างสรรค์ลายดอกไม้ในชื่อว่า “ลายสิริกิต์” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จเยือนอินโดนีเซียพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระปรมาภิไธยเดิม) เมื่อ พ.ศ. 2503 ในนิทรรศการนี้ยังฉายฟุตเทจวิดีโอเมื่อคราวทั้งสองพระองค์เสด็จในครั้งนั้นด้วย
กลางห้องจัดแสดงยังติดตั้งตู้กระจกใสใบใหญ่แสดงพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ทรงฉลองพระองค์เต็มยศอย่างกษัตริย์ชวา พร้อมฉลองพระองค์ที่สร้างจำลองตามแบบที่ปรากฏในพระบรมฉายาลักษณ์ แต่พระมาลาที่ทำจากขนบีเวอร์ประดับด้วยเส้นทองคำและลงยาสีน้ำเงินเป็นของแท้
Fact File
- นิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” จัดแสดงถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง
- เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.
- บัตรเข้าชมราคา 150 บาทสำหรับผู้ใหญ่ 80 บาทสำหรับผู้สูงอายุ และ 50 บาทสำหรับนักเรียน/นักศึกษาและเด็กอายุ 12-18 ปี และฟรีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
- รายละเอียดเพิ่มเติม: โทร. 0-2225-9420 หรือ www.facebook.com/qsmtthailand
- เครดิตภาพ: พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ