ชมสถาปัตยฯ มุสลิมสยาม ชิมอาหารสานใจใน ชุมชนมัสยิดบางอ้อ
- เพชรเม็ดงามของชาวบางอ้อเม็ดหนึ่งก็คือ มัสยิดบางอ้อ ที่สร้างตามลักษณะศิลปะตะวันตกผสมกับอิทธิพลของศาสนาอิสลาม ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5
- ชื่อบางอ้อ มาจากต้นอ้อที่มีชุกตามริมฝั่งแม่น้ำ จากดงสวนผลไม้ได้กลายมาเป็นชุมชนชาวแพที่พักการขนส่งไม้สักในช่วงรัตนโกสินทร์ ในต้นรัชกาลที่ 5 เริ่มมีคนจากถิ่นอื่นย้ายมา รวมถึงชาวมุสลิม เรียกว่าแขกแพ
ในบรรดาศาสนาสถานริมน้ำเจ้าพระพาที่มีอยู่หลายแห่ง มีจำนวนไม่น้อยที่ล้อมรอบด้วยชุมชน และแฝงไปด้วยประวัติเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นชุมชนพุทธ คริสต์ รวมถึงอิสลาม หนึ่งในนั้นคือ มัสยิดบางอ้อ ที่มีสุเหร่าหลังงามคอยทักทายผู้คนที่สัญจรตามสายน้ำ หลังจากซ่อนตัวมานานนับศตรวรรษ ชุมชนมัสยิดบางอ้อ ฝั่งธนแห่งนี้ได้เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนทุกชาติศาสนาด้วยอาหารชุมชนที่โยงกับประวัติศาสตร์อาหารไทยร่วมสมัย ไม่ใช่ระดับธรรมดา แต่เป็นถึงเมนูระดับราชสำนักเลยทีเดียว Sarakadee Lite พามาสำรวจถิ่นย่านที่ไม่ได้เก่าเพียงอายุของชุมชน แต่ยังเก๋าด้วยฝีมือเสน่ห์ปลายจวัก
“ข้าวอาซูรอ” ข้าวทิพย์ตำรับมุสลิม
อาหารจานสำคัญของชุมชนจานแรกที่จะขอแนะนำ เป็น “ข้าวอาซูรอ” เมนูที่ปีหนึ่งจะปรุงกันแค่ครั้งเดียว โดยปีนี้ปรุงกันเมื่อเช้าตรู่ของเสาร์ต้นกันยายน เข้าสู่ช่วงเดือนสำคัญที่พี่น้องชาวมุสลิมเรียกว่า เดือนอาซูรอ โดยกลุ่มแกนหลักของชาว ชุมชนมัสยิดบางอ้อ ได้ช่วยกันขนบรรดาเครื่องปรุงกว่า 20 ชนิดมาร่วมกันปรุงอาหารอย่างพิเศษ เริ่มจากนำสมุนไพรมารวนน้ำมันกะทิให้หอมฟุ้ง ก่อนจะตามด้วยน้ำซุปไก่สูตรลับที่เคี่ยวข้ามคืน และข้าวเหนียวแดงที่เป็นวัตถุดิบแกน พร้อมธัญพืชและพืชหัวนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น งา ลูกเดือย เผือกกวน ข้าวโพด สาคู เม็ดบัว ฯลฯ โดยมีลำดับก่อนหลัง
ที่ต้องรีบทำแต่เช้าเพราะข้าวอาซูรอต้องใช้เวลากวนนาน ถ้าเริ่มสายกว่าเสร็จจะได้กินก็เย็นค่ำเกินไป โดยชุมชนหนึ่งจะกวนมากกว่าหนึ่งเจ้าก็ได้ เหตุที่ต้องกวนกันครึ่งค่อนวันก็เพื่อไล่ความชื้นให้ขนมมีเนื้อแน่น ส่งผลให้เก็บกินได้นานหลายวัน
หลังจากที่เหล่าสตรีเตรียมอุปกรณ์ เครื่องปรุง และตัวซุปไว้ให้แต่คืนก่อน หน้าที่ในการกวนตกเป็นของบรรดาชายหนุ่มบ้าง ไม่หนุ่มบ้าง แต่ต้องแรงดี เพราะต้องผลัดกันคนใบพายกับก้อนข้าวที่เหนียวหนืดกันนับหลายชั่วโมง กระทะใบบัวขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นของกลางใช้ประจำงานบุญต่างๆ ของชุมชนและมัสยิดมาเกือบ 30 ปี
บรรดาทีมแม่บ้านกลับมารับงานต่อหลังกวนเสร็จ เอาข้าวกลิ่นเครื่องเทศหอมฟุ้งสุกใหม่ๆ มาผึ่งให้แห้งบนใบตองก่อนจะโรยแต่งหน้าด้วยลูกเกด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ งาดำ ไข่เจียวซอย และเมล็ดทับทิมเพื่อแจกจ่ายไปยังคนในชุมชมและที่จับจองกันมา ซึ่งจะเก็บไว้ได้หลายวัน โดยเฉพาะเมื่อใส่ตู้เย็น ถ้ากวนได้ที่กลิ่นและรสชาติจะคงตัวไม่หายไปไหน แต่ดั้งเดิมส่วนผสมไม่ได้หลายอย่างขนาดนี้ แต่ปรับปรุงเพื่อให้มีสีสันชวนน่ากินมากขึ้น
“รสหวานที่ได้จากธัญพืช โดยไม่ได้ใส่น้ำตาลเลย แค่มีเกลือตัดรส ตบท้ายนิดหน่อย” กุ้ง-ซารีนา นุ่มจำนงค์ แม่งานหลักในการฟื้นกิจกรรมกวนข้าวอาซูรอของชุมชนเมื่อสองปีก่อน เผยให้ฟังถึงข้าวทิพย์สูตรของชาวมุสลิมบางอ้อแห่งนี้
“ปัจจุบันไม่ได้ใช้เนื้อวัว ใช้ไก่อย่างเดียว แต่ก่อนจะมีกวนสูตรอย่างหวานด้วย โดยผสมเผือกมัน และพวกพืชหัวที่ให้ความหวาน แต่ปัจจุบันใช้วิธีเอาอย่างคาวไปจิ้มกับน้ำตาลหรือนมข้นแทน แต่ละชุมชนก็มีสูตรของตน ของบางอ้อมีการปรับปรุงให้เป็นเอกลักษณ์ คั่วเครื่องปรุงทุกอย่างเอง และย่นย่อระยะเวลากวนให้กระชับขึ้น แต่กระนั้นก็ร่วม 6 ชั่วโมงทั้งหมด ไม่นับวันก่อนหน้าที่ต้องเตรียมวัตถุดิบเอาไปต้มนึ่งก่อน ซึ่งวัตถุดิบของข้าวอาซูรอจะปรับไปตามท้องถิ่นตามแต่ละชุมชน อย่างของเราไม่ใช้เนย แต่ใช้กะทิแทน สูตรพวกนี้ค่อนข้างลับ แม้แต่ในชุมชนเอง ก็รู้สูตรอยู่ไม่กี่คน โดยเฉพาะตัวสมุนไพรรวนพิเศษที่มีกลิ่นรสเฉพาะตัว”
อาหารผสานศรัทธา
ก่อนจะเริ่มทำข้าวอาซูรอ และในระยะเวลาเริ่มและระหว่างการกวนช่วงแรก จะมีการ สวดดูอาร์ เพื่อเป็นการขอพรต่อองค์อัลลอฮ์ ซึ่งที่ ชุมชนมัสยิดบางอ้อ ได้เชิญ อดุลย์ สิทธิสงวน เป็นผู้สวด ในฐานะเป็นผู้อาวุโสประจำชุมชมที่รู้จักมักคุ้นกับขั้นตอนของพิธีกรรมต่างๆ ในชุมชุมดี รวมถึงเป็นผู้คอยกำกับจังหวะการใส่วัตถุดิบเครื่องปรุงแต่ละชนิดด้วย ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญเนื่องจากไม่มีสูตรบ่งระยะเวลาโดยตรง
“ปีหนึ่งเราจะกวนข้าวอาซูรอกันแค่ครั้งเดียว แบ่งกันแจกจ่ายกิน เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันของครอบครัวและชุมชน ช่วงเวลาที่ชุมชนมุสลิมต่างๆ จะกวนกันคือนับตามเดือนที่เริ่มเข้าสู่ช่วงเดือนที่หนึ่งของปฏิทินมุสลิม โดยเป็นช่วงใดของเดือนนั้นก็ได้ ประมาณ 20 วัน หมดเดือนก็จะไม่กวนแล้ว โดยเชื่อกันว่าการกินข้าวนี้จะได้มงคล พ้นจากโรคภัย ประสบแต่สิ่งดีเข้ามาในชีวิตในตลอดปีใหม่”
จากข้อมูลของอดุลย์ อาหารที่เก็บกินได้นานและมีลักษณะแจกจ่ายร่วมกันกินอย่างข้าวอาซูรอนี้ ยังเชื่อมโยงตำนานโบราณของชาวมุสลิมที่ว่าด้วยโลกหลังน้ำท่วมครั้งใหญ่ บรรดาคนที่รอดชีวิตจากการอยู่บนเรือ พอน้ำแห้งแล้วไม่มีอะไรจะกิน เลยต้องรวบคลังอาหารเท่าที่มีของแต่ละคน แต่ละครอบครัว มากวนรวมกัน เพื่อบริโภคให้มีชีวิตอยู่รอด
จากตำรับชาวแขก สู่สำรับชาววัง
แต่ไหนแต่ไร แม้แต่เพื่อนบ้านชาวบางอ้อก็รู้จักชุมชนมัสยิดแห่งนี้เพียงแค่ผ่านป้ายชื่อชุมชนเก่าแก่ดูขลังหน้าซอยจรัญฯ 86 ซึ่งยังคงมีให้เห็นจนปัจจุบัน บ้างก็พออาจเคยได้ลิ้มรสข้าวหมกไก่ที่เข็นใส่รถมาขายละแวกตลาดสดเป็นครั้งคราว ด้วยจำนวนสมาชิกชุมชนที่ไม่มากนัก และอยู่อย่างเงียบๆ ไม่ค่อยได้มีกิจกรรมพิเศษมากนัก ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับรู้กันถึงของดี ของอร่อยนานาชนิดที่ซุกซ่อนอยู่ในก้นซอยแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นตำรับมุสลิมพื้นฐานอย่างข้าวหมก หรือ กุหลาบยำบู และอาหารหาทานยากอย่าง ข้าวมะเขือเปรี้ยว แกงกะบาบเนื้อ กรอกจิ้มคั่ว ข้าวแขก รวมไปถึง หรุ่ม ที่เป็นจานขึ้นชื่อของชุมชน และถูกนำไปเข้าสู่สำรับอาหารชาววังตามที่ปรากฎใน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
กระทั่งเมื่อสองปีที่แล้วที่ทาง กุ้ง-ซารีนา นุ่มจำนงค์ ซึ่งเกิดและโตในชุมชนและสนใจในศาสตร์การครัวมุสลิม ได้มีความตั้งใจจริงที่จะเผยแพร่อาหารชั้นเลิศของชาวมุสลิมบางอ้อออกไปในวงกว้าง ได้อาสามาเป็นแม่เรือ
“แรกเริ่มเป็นการฟื้นฟูภายในชุมชนเองค่ะ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ให้มาหัดทำเก็บสูตรของดีของปู่ย่าตายายเขาที่เริ่มเลิกปรุงกันไปบ้างแล้ว ภายใต้ชื่อโครงการอาหารสานใจ แต่กับโลกข้างนอกนั้นมาเริ่มพร้อมๆ กับที่ชาวบ้านเริ่มอยากเปิดให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หลังจากที่มีคณะมาเยี่ยมเยือนของดีในชุมชนบ่อยครั้ง เลยจัดงานออกร้านขายอาหารชุมชนขึ้น โดยใช้ชื่อว่างานวันเดย์ฟู้ด ซึ่งวางไว้ว่าจะจัด 2 เดือนครั้งซึ่งจัดในปี พ.ศ. 2563 นี้เป็นปีแรก แต่พอจัดไปได้ 2 ครั้งเมื่อต้นปี ก็ประสบกับปัญหาการระบาดของโควิด ทำให้หยุดไป และได้เริ่มกลับมาฟื้นใหม่
“การจัดงานแบบนี้ก็เป็นภาระพอควร ต้องคอยเกณฑ์เด็ก และคนในชุมชนมาช่วยกัน แต่ประโยชน์ที่ได้เห็นโดยตรงเลยก็คือได้สืบทอดจิตวิญญาณชุมชนสู่เยาวชนผ่านกิจกรรมอาหาร จากความสำเร็จที่ผ่านมา ที่สามารถขายอาหารได้หมดอย่างรวดเร็ว ก็ได้วางโปรแกรมของปีหน้าไว้แล้ว”
เพชรล้ำค่าสถาปัตยฯ มุสลิมสยาม
เพชรเม็ดงามของชาวบางอ้อเม็ดหนึ่งก็คือ มัสยิดบางอ้อ ที่สร้างตามลักษณะศิลปะตะวันตกผสมกับอิทธิพลของศาสนาอิสลาม ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 หลังคาเป็นทรงโดม แม้ว่าจะก่ออิฐถือปูน แต่ฐานรากอาคารเดิมกลับเป็นไม้ซุง จึงต้องบูรณะครั้งใหญ่โดยดีดอาคารขึ้นสูง หลังน้ำท่วมปี 2554 หลังปรับปรุงเสร็จแล้ว ด้วยความสูงที่เพิ่มขึ้นและสีสันที่สดใสขึ้น ทำให้เป็นที่แตะตากับผู้สัญจรทางลำนำเจ้าพระยาโดยทั่วไป ยิ่งเมื่อได้เพื่อนบ้านอย่างสัปปายะสภาสถาน หรือรัฐสภาแห่งใหม่มาช่วยเสริมจุดสนใจ ณ ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ
ในช่วงเวลาของการบูรณะมัสยิดคราวเดียวกันยังได้ทำการซ่อมแซมเรือนขนมปังขิงไม้โบราณอายุร้อยกว่าปีที่อยู่ด้านข้างอีกหลังด้วย ซึ่งใช้เป็นอาคารอเนกประสงค์และจัดกิจกรรมต่างๆ แต่เดิมเป็นอาคารไม้หลังเดียว เคยใช้เป็นโรงเรียนมุสลิมที่มีชื่อเสียงมาก่อนซึ่งปิดตัวไปเช่นเดียวกับมัสยิด เรือนไม้ที่ประดับด้วยกระจกสีซึ่งสั่งจากอิตาลีหลังนี้ได้ถูกยกให้สูงขึ้น โดยทำเป็นสองชั้น
ในอาณาบริเวณเดียวกันยังมีอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ ฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ของมัสยิด อยู่ด้านหลังมีทางเดินเชื่อมไปยังมัสยิด ใกล้กับลานจอดรถ โดยทักทายผู้ที่เข้ามาจากทางปากซอยด้วยสถาปัตยกรรมแบบโมรอคโกพร้อมพื้นผนังสีครีมขับบานประตูที่ประดับด้วยลวดลายกระจกสีอย่างวิจิตรให้เด่นทั้งนี้ยังไม่นับอาคารของผู้อยู่อาศัยในชุมชนอีกหลายหลัง ที่เปรียบเสมือนเรือนบริวารเสริมรับความสวยงามให้กับตัวมัสยิด โดยทั้งหมดยังมีส่วนที่รอปรับปรุง ต่อเติม และสร้างใหม่อยู่อีก
เมื่อรถไฟฟ้ามาเปิดประตูชุมชนบางอ้อ
บางอ้อซึ่งเป็นแขวงหนึ่งใน 4 แขวงของเขตบางพลัด พอเป็นที่รู้จักกับผู้ที่สัญจรเส้นข้ามแม่น้ำผ่านสะพานพระราม 7 และเพิ่งจะมารู้จักมากขึ้นด้วยชื่อสถานีรถไฟฟ้า MRT ที่พาดผ่าน โดยได้ชื่อมาจากต้นอ้อที่มีชุกตามริมฝั่งแม่น้ำ จากดงสวนผลไม้ได้กลายมาเป็นชุมชนชาวแพ ที่เข้ามาแวะพักระหว่างการขนส่งไม้สักในช่วงรัตนโกสินทร์ นอกเหนือจากชาวอยุธยาที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐาน ในต้นรัชกาลที่ 5 เริ่มมีคนจากถิ่นอื่นย้ายมาเพิ่ม รวมถึงชาวมุสลิม ซึ่งต่างมาจับจองที่ดินทางทิศใต้โดยช่วงแรกอาศัยบนแพ เรียกว่าแขกแพ ที่ยังสืบสายตระกูลจนปัจจุบันได้แก่ สายสกุลสิทธิวณิชย์ โยธาสมุทร และ มานะจิตต์
“การเข้าถึงของรถไฟสร้างการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ยังไม่ชัดเท่าย่านอื่น หลังจากมีแขกมาเยี่ยมเยือนหลายคณะ ชาวชุมชนมัสยิดบางอ้อเลยหาช่องทางขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยการอาศัยมรดกวัฒนธรรมด้านอาหารของตนเป็นฐานโดยหวังผลจากการขยายตัวของย่าน ทั้งด้วยเพื่อนบ้านอย่างโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ การเปิดเพิ่มของบริษัทห้างร้านบางแห่ง การขึ้นของคอนโดใหม่ๆ หลายตึก และด้วยบรรยากาศที่สงบในซอยตันเหมือนต่างจังหวัดริมแม่น้ำกลางกรุง ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีลักษณะเฉพาะตัว“
อาจารย์ภูมิ ภูติมหาตามะ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้บอกเล่ามิติด้านชุมชนให้ฟัง เจ้าของร้านกาแฟบ้านบางอ้อที่เป็นจุดสังสรรค์นัดพบหลักแห่งหนึ่งของย่านและอยู่อาศัยในแถบนี้ตั้งแต่เล็กผู้นี้ ได้เริ่มศึกษาความเป็นมาของย่านบางอ้อมากว่า 9 ปี ได้
นอกจากจะหวังให้ชุมชนเป็นแหล่งเยือนที่สร้างรายได้แห่งใหม่ อ.ภูมิ ยังหวังในด้านการทำให้เป็นแหล่งต้นแบบในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนด้วย ไม่เพียงแต่เจาะลึกที่ในซอยจรัญฯ 86 นี้ แต่ยังได้ขยายการสำรวจไปยังมัสยิดดารุลอิหซาน อีกมัสยิดหลักในย่านบางอ้อที่ซอย 94 รวมถึงต่อยอดไปเรื่องอื่นในบางอ้อนอกจากอาหารด้วย เช่น เรื่องมรดกงานสวนและงานเกษตร เพื่อเป็นการส่งต่อมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น
ถึงบางอ้อคิดจะใคร่ ได้ไม้อ้อ
“ถึงบางอ้อคิดจะใคร่ ได้ไม้อ้อ” กลอนวรรคนี้มีที่มาจาก นิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ แขกคนสำคัญผู้ที่อาจมีโอกาสได้แต่เพียงสัญจรผ่านชุมชนบางอ้อทางลำนำด้านหน้าเมื่อครั้งยุคต้นรัตนโกสินทร์ แต่สำหรับคนไทยและชาวโลกในยุคต้นศตวรรษที่ 21 แม้ว่าต้นอ้อแบบสมัยสุนทรภู่อาจจะไม่มีให้เด็ดแล้ว แต่ ชุมชนมัสยิดบางอ้อ รอการมาเยือนของคุณอยู่ ด้วยทั้งอาหารปากจานเด็ด อาหารตาจากสถาปัตยกรรมที่งดงาม รวมไปถึงอาหารสมองที่ให้ความรู้ถึงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานแห่งหนึ่งของพระนคร
ตารางงานวันเดย์ฟู้ด ในปี พ.ศ. 2564 มีดังนี้ : 31 ม.ค., 28 มี.ค., 30 พ.ค., 25 ก.ค., 26 ก.ย.และ28 พ.ย. ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ทั้งหมด ติดตามเพจเฟสบุ๊ค อาหารสานใจ สำหรับข้อมูลล่าสุดและกิจกรรมเสริมอื่นๆ
หมู่คณะใดที่สนใจเข้าชมมัสยิดและชุมชนมุสลิมบางอ้อ ติดต่อคุณอดุลย์ โทร.081-431-1211 โดยแต่งตัวให้เรียบร้อยและสำรวม สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีบางอ้อ หรือขับรถเข้าทางซอยจรัญสนิทวงศ์ 86 ตรงเข้ามาสุดซอยจะมีป้ายบอกเข้าสู่ชุมชนและลานจอดรถด้านหลังมัสยิดที่มีพื้นที่จำนวนมากพอสมควร
Fact File
- ชุมชนมัสยิดบางอ้อ จรัญสนิทวงศ์ 86 กรุงเทพฯ
- การเดินทางรถไฟฟ้า MRT สถานีบางอ้อ