ครั้งแรกกับ BAB 2024 ใน พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จากปลาหลีฮื้อข้ามประตูมังกร สู่ไฟบรรลัยกัลป์ในไตรภูมิพระร่วง
Arts & Culture

ครั้งแรกกับ BAB 2024 ใน พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จากปลาหลีฮื้อข้ามประตูมังกร สู่ไฟบรรลัยกัลป์ในไตรภูมิพระร่วง

Focus
  • นับเป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 11 สถานที่จัดแสดงของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 หรือ BAB 2024
  • ผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งในรูปแบบศิลปะจัดวาง ประติมากรรม สื่อผสม จิตรกรรม วิดีโออาร์ต จาก 8 ศิลปิน จัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ 89 ชิ้นจากคลังกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
  • ผลงานหลายชิ้นเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของพื้นที่จัดแสดงคือพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ประวัติศาสตร์ของตำแหน่งพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์ รวมถึงเกร็ดเรื่องเล่าและตำนานความเชื่อ

นับเป็นครั้งแรกที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 11 สถานที่จัดแสดงของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 หรือ BAB 2024 ภายใต้แนวคิด “รักษา กายา” (Nurture Gaia) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2567 – 25 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อสะท้อนความคิดเรื่องธรรมชาติ ผู้หญิง นิเวศวิทยา การเมือง และอำนาจเหนือธรรมชาติ ภายใน พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จึงมีการจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยทั้งในรูปแบบศิลปะจัดวาง ประติมากรรม สื่อผสม จิตรกรรม วิดีโออาร์ต จาก 8 ศิลปินร่วมกับโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ 89 ชิ้นจากคลังกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
ผลงานของโจเซฟ บอยส์

ประติมากรรมและภาพวาดของศิลปินระดับตำนาน โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) ที่เกี่ยวกับเพศหญิง สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณ และการแพทย์ทางเลือกแบบ โฮมีโอพาธีย์ (Homeopathy) จัดแสดงรวมกับคอลเลคชันเครื่องปั้นดินเผารูปสัตว์ต่างๆ ส่วนบริเวณโถงกลางของพระที่นั่งศิวโมกขพิมานติดตั้งประติมากรรมรูปศีรษะผู้หญิงอินเดียทาสีน้ำเงิน “Parvati” ของศิลปินอินเดีย ราวินเดอร์ เรดดี (Ravinder Reddy) เพื่อสื่อถึงพลังของสตรีเพศและรายล้อมด้วยโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เช่น รูปเทวสตรี ฐานประติมากรรมรูปโยนี ศิวลึงค์ แผนที่ไตรภูมิฉบับจำลองและสมุดไทดำฉบับจำลองร่างเทียบรูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระแก้ว

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
“Parvati” โดย ราวินเดอร์ เรดดี

ประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ที่ประทับของพระมหาอุปราชตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงจิตรกรรมปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกรที่ประดับด้านหลังพระทวารคู่กลางของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรื่องราวไตรภูมิพระร่วงว่าด้วยการล้างโลกด้วยไฟบรรลัยกัลป์ และวิกฤตปลาหมอคางคำในปัจจุบัน ได้ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นงานศิลปะจัดวางชื่อ “สีทันดรสันดาป” (Fish, Fire, Fallout) โดย นักรบ มูลมานัส ศิลปินที่มีชื่อเสียงด้านงานศิลปะคอลลาจ

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
สีทันดรสันดาป โดย นักรบ มูลมานัส

ภายในตู้กระจกขนาดใหญ่จัดแสดงประติมากรรมรูปปลา 2 ตัวอยู่คนละฝั่งแต่หันหน้าเข้าหากัน ร่วมกับศิลปวัตถุต่างๆ เช่น ประติมากรรมดินเผารูปปลา ตุ๊กตาเสียกบาล ประติมากรรมรูปพระแม่โพสพและแม่ซื้อ ส่วนด้านหลังเป็นภาพจำลองของจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

“ภาพวาดปลาหลีฮื้อที่มีความมุ่งมั่นจะกระโดดข้ามประตูมังกรเพื่อทะยานเป็นมังกร ทำให้คิดในอีกมุมที่เราไม่ค่อยคิดคือปลาหลีฮื้อที่ไม่สามารถกระโดดข้ามได้แล้วไม่ได้ไปต่อจะเป็นอย่างไร ตำแหน่งวังหน้า (ในสมัยรัตนโกสินทร์) มี 6 พระองค์แต่มีวังหน้าเพียงพระองค์เดียวที่มีฐานะเทียบเท่ากษัตริย์” นักรบ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการนำเกร็ดประวัติศาสตร์และศิลปวัตถุชิ้นสำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาตีความเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัย

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
ภาพปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกร ประดับด้านหลังพระทวารคู่กลางของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
ภาพปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกรนำมาประกอบในงาน “สีทันดรสันดาป” ของ นักรบ มูลมานัส

จิตรกรรมปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกรเป็นงานศิลปะชิ้นสำคัญที่เขียนด้วยเทคนิคลายกำมะลอคือใช้ทั้งทองคำและสีในการวาดและคาดว่าเขียนโดยช่างจีนในไทยและสร้างในสมัย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 3) โดยเป็นภาพปลาหลีฮื้อ หรือ ปลาไน ที่กำลังว่ายทวนกระแสน้ำในแม่น้ำฮวงโห จนไปถึงประตูมังกรและพยายามกระโดดข้ามประตู ถ้าข้ามพ้นประตูสำเร็จจะทำให้ปลาหลีฮื้อกลายเป็น ปลามังกร และเมื่อว่ายสูงขึ้นไปก็กลายเป็นมังกรน้อย จากนั้นทะยานเป็นมังกรห้าเล็บซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ์

ส่วนตำแหน่งวังหน้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีทั้งสิ้น 6 พระองค์ แต่วังหน้าที่ได้รับการสถาปนาให้มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินและเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยถือเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 หรือ The Second King ในรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี

นักรบ มูลมานัส

“ผมได้อ่านเรื่อง ‘พระราชวิจารณ์’ ของรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับพระนิพนธ์เรื่อง ‘นิพานวังน่า’ (หรือ นิพพานวังหน้า) ของพระองค์เจ้ากำพุชฉัตร พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ที่บรรยายความโศกเศร้าเมื่อพระราชบิดาได้จากไปแล้วและมีกล่าวถึงว่าแม้แต่ปลาในวังหน้าก็ยังเสียใจ โดย ร.5 ได้ระบุว่าในวังหน้านั้นมีสระและปลาเยอะมาก”

นักรบจึงได้นำ “ปลา” ที่ปรากฎในพระนิพนธ์เกี่ยวกับวังหน้าและในจิตรกรรมชิ้นสำคัญของพื้นที่ประวัติศาสตร์มาเชื่อมโยงกับเรื่องราวไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลกในไตรภูมิพระร่วง และลิลิตนารายณ์สิบปางซึ่งหนึ่งในนั้นคือปาง มัตสยาวตาร ที่พระนารายณ์ทรงอวตารเป็นปลาเพื่อกอบกู้โลกจากน้ำท่วม รวมถึงวิกฤตปลาหมอคางคำที่ทำลายระบบนิเวศธรรมชาติในปัจจุบัน มาร้อยเรียงในอีกหนึ่งตู้กระจกขนาดใหญ่โดยภายในตู้จัดแสดงประติมากรรมปลา 2 ตัวที่ติดกลไกให้เหงือกขยับได้แบบรวยริน ประกอบกับวิดีโอฉายภาพของ เชฟป้อม- ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล ขณะเตรียมปลาหมอคางคำ 7 ตัวจนกระทั่งทอดในกระทะน้ำมันจนเสร็จ

“ผมนึกถึงในไตรภูมิพระร่วงที่กล่าวถึงปลาใหญ่ยักษ์ 7 ตัว ในช่วงที่คนเริ่มเสื่อมศีลธรรมจนเกิดเหตุการณ์ประหลาดคือมีพระอาทิตย์เพิ่มขึ้นจนกลายเป็น 7 ดวง ทำให้แม้กระทั่งน้ำในมหานทีสีทันดรก็ยังแห้งขอดและปลายักษ์ทั้ง 7 ก็ตายไปด้วยทำให้น้ำมันในตัวปลาไหลออกมาท่วมโลกจนเกิดไฟบรรลัยกัลป์ทำให้โลกแตก และเชื่อมโยงไปถึงลิลิตนารายณ์สิบปางที่ในปางหนึ่งพระนารายณ์อวตารเป็นปลาเพื่อกำจัดภัยพิบัติและก่อให้เกิดโลกใหม่” นักรบกล่าว

“พระยาสุรสีห์แห่งศิวโมกข์” โดย คมกฤษ เทพเทียน

คมกฤษ เทพเทียน เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่หยิบยกประวัติศาสตร์ เกร็ดเรื่องเล่า ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับวังหน้ามาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบประติมากรรมและจะจัดทำเป็นกาชาปองต่อไปสำหรับโปรเจกต์ที่ชื่อว่า “ไทม์แมชชีน” (Time Machine) ซึ่งจะพาผู้ชมย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเริ่มสร้าง พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อแรกสร้างวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2325 เพื่อใช้สำหรับเสด็จออกขุนนางและบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เป็นอาคารโถงไม่มีผนังและสร้างด้วยเครื่องไม้อีกทั้งมีขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน

ประติมากรรมไม้แกะสลัก “พระยาสุรสีห์แห่งศิวโมกข์” เป็นรูปสิงโตทรงเครื่องประดับด้วยดวงแก้วตรงหน้าผากในท่านั่งบนบัลลังก์ โดยได้แรงบันดาลใจจากการศึกษาประวัติของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1

“สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ผู้สร้างพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน มีพระสมัญญานามว่า ‘พระยาเสือ’ ด้วยพระอัธยาศัยที่กล้าหาญ เข้มแข็งและเด็ดขาดและเป็นทหารเอกคนสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสินในการทำศึกสงคราม และเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกท่านเป็นผู้ที่ไปรับพระมารดาของพระเจ้าตากจากเพชรบุรีกลับมาที่ค่ายของพระเจ้าตากอย่างปลอดภัย แต่เมื่อผมจะทำประติมากรรมรูปเคารพโดยใช้ ‘เสือ’ เป็นต้นแบบตามพระสมัญญานาม ไม่ปรากฎว่ามีรูปเสือในรูปแบบรูปเคารพที่จะนำมาอ้างอิงได้แต่มีรูปสิงโตนั่งบนบัลลังก์จึงคิดว่านำมาเทียบเคียงกันได้”

ตรงฐานของบัลลังก์มีเหล็กดัดเป็นรูป “นกเอื้อง” ซึ่งเป็นพระนามเดิมของพระมารดาพระเจ้าตาก ส่วนโครงเหล็กดัดด้านหลังบัลลังก์เป็นตัวเลขไทยแสดง ปีที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทประสูติ ปีที่ได้รับสถาปนาเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 1 และปีที่สวรรคต

“นอกจากดูงานแล้วแค่ว่าสวยหรือไม่สวย ผมอยากให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตและก่อเกิดบทสนทนา มีข้อมูลมาโต้ตอบกันทำให้ได้ข้อมูลที่กลมมากขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ และด้วยประติมากรรมแบบรูปเคารพหรือกาชาปองที่ผมกำลังทำอยู่นั้นเชื่อว่าจะทำให้เข้าถึงกลุ่มคนได้ง่ายมากขึ้น” คมกฤษกล่าว

“พระอาทิตย์แห่งวังหน้า” โดย คมกฤษ เทพเทียน

คมกฤษยังนำเสนอประติมากรรมแกะสลักหินทรายชื่อ “พระอาทิตย์แห่งวังหน้า” ในรูปแบบคล้ายพระคเณศ เพื่อระลึกถึง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ผู้มีบทบาทสำคัญในการให้รื้อ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ที่เป็นอาคารเรือนไม้แล้วสร้างใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่กว่าเดิม ส่วนหลังคายังเป็นเครื่องไม้เลียนแบบมาจากพระที่นั่งองค์เดิมคือมีลักษณะลาดต่ำและมีพาไลรอบเพื่อป้องกันแดดและฝน

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าช้าง  ภายหลังได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า พระองค์เจ้าอรุโณทัย  ดังนั้นคมกฤษจึงนำคำว่า “ช้าง” และ “พระอาทิตย์” ที่สื่อถึงความหมายชื่ออรุโณทัยหรือเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เป็นคีย์หลักในการออกแบบประติมากรรมคล้ายรูปเคารพ

“พระองค์ท่านเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้จึงอยากใช้ศิลปะเป็นตัวสื่อโดยเมื่อเป็น ช้าง ก็ต้องมีต้นแบบเป็นพระคเณศโดยอ้างอิงจากพระคเณศที่แกะสลักจากหินภูเขาไฟประทับบนฐานประดับหัวกะโหลกทรงอาภรณ์และเครื่องประดับรูปหัวกะโหลกและจัดแสดงอยู่ที่อาคารมหาสุรสิงหนาท แต่ในประติมากรรมชิ้นนี้ผมเปลี่ยนเครื่องประดับจากรูปหัวกะโหลกเป็นพระอาทิตย์”

“สิงโตทอง” โดย คมกฤษ เทพเทียน

นอกจากนี้ยังมีตำนานเรื่อง ศาลเจ้าแม่สิงโตทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเดิมพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของวังหน้า โดยบ้างก็ว่าเป็นสิงโตหินคู่ที่บรรทุกมาในเรือสำเภาเพื่อถ่วงน้ำหนักเรือที่เรียกว่า อับเฉา บ้างก็ว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงสั่งมาจากเมืองจีนจำนวน 3 ตัวเพื่อแก้ฮวงจุ้ยบริเวณนั้นซึ่งตรงกับแพร่งน้ำปากคลองบางกอกน้อยและถือว่าเป็นตำแหน่งอัปมงคล แต่ไม่ว่าจะเป็น สิงโตคู่ หรือสิงโต 3 ตัวก็ตาม เมื่อลำเลียงมาทางเรือและจะยกขึ้นฝั่งกลับพลัดตกน้ำและงมขึ้นมาได้แค่สิงโตตัวเมียดังเช่นที่ปรากฏในศาลเจ้าแม่สิงโตทอง

คมกฤษจึงสร้างสรรค์ประติมากรรมไฟเบอร์กลาสชื่อ “สิงโตทอง” เป็นรูปสิงโตสีทองผูกผ้าสามสีและมีเงาสะท้อนบนผืนน้ำทำจากเรซิ่นใส

คมกฤษ เทพเทียน

“ผมพยายามสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์และพบว่ามีบันทึกว่ามีสิงโตหินจมจริงบริเวณท่าน้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามความเชื่อบ้างก็ว่าเป็นการจมเพราะอุบัติเหตุเนื่องจากน้ำหนักมากและไม่มีเครื่องยกที่เหมาะสม บ้างก็เชื่อว่าเป็นการตั้งใจจมตามไสยศาสตร์ ผมมีแนวคิดอยากจะลองประสานกับหน่วยกู้ภัยทางน้ำเพื่อลองสืบค้นดูใต้น้ำว่ายังมีสิงโตหินจมอยู่หรือไม่แม้จะผ่านมาแล้วหลายร้อยปี มีความเป็นไปได้ที่จะทำจริงได้จากการประสานงานกับหลายฝ่าย” คมกฤษกล่าวอย่างจริงจัง

วิดีโออาร์ต “ถักโลกทอแผ่นดิน” โดย จิตติ เกษมกิจวัฒนา และ นักรบ มูลมานัส

ภายใน พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ยังจัดแสดงผลงานวิดีโออาร์ต “ถักโลกทอแผ่นดิน” (Our Place in Their World) โดย จิตติ เกษมกิจวัฒนา และ นักรบ มูลมานัส ซึ่งเคยจัดแสดงในนิทรรศการ “วิญญาณข้ามมหาสมุทร” (The Spirits of Maritime Crossing) ในฐานะกิจกรรม Collateral Event หรือนิทรรศการที่ได้รับเชิญโดยคณะกรรมการมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ปี 2567 แต่จัดแสดงนอกพื้นที่แสดงงานหลัก โดยนำเสนอภาพคอลลาจของประวัติศาสตร์เมื่อชนชั้นนำและสามัญชนชาวสยามเดินทางข้ามมหาสมุทรไปยังโลกตะวันตกเพื่อกรุยทางสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสยาม

 “A Verse for Nights” โดย ดุษฎี ฮันตระกูล
“Lapse of Memory” ของ หริธร อัครพัฒน์
“Sisters (Flame and Foam) โดย เคียร่า คาโมนี

นอกจากนี้ผลงานชุด “A Verse for Nights” โดย ดุษฎี ฮันตระกูล  ยังบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติผ่านชุดเครื่องปั้นดินเผาและประติมากรรมรูปมือและหน่อไม้ที่จัดแสดงร่วมกับเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และคอลเลคชันประติมากรรมนามธรรม “Lapse of Memory” ของ หริธร อัครพัฒน์ รวมไปถึงงานประติมากรรมรูปพี่สาวและน้องสาว Sisters (Flame and Foam) โดยศิลปินชาวอิตาลี เคียร่า คาโมนี (Chiara Camoni) แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติและวัฏสงสาร

Fact File

  • บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 หรือ BAB 2024 จัดแสดงระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2567 – 25 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร / วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร / วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร / วัดบวรนิเวศวิหาร / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร / มิวเซียมสยาม / วันแบงค็อก / ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) สอบถามเพิ่มเติม : โทรศัพท์ 02-224-1333 และ 02-224-1402
  • ติดตามตารางกิจกรรมของ BAB 2024 เพิ่มเติมได้ทาง  Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale 

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม