ปักหมุดชมงาน BAB 2020 กับ 2 โลเคชันใจกลางเมืองเดินทางง่ายไปสะดวก
- Bangkok Art Biennale 2020 เป็นงานเทศกาลศิลปะระดับโลกที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในไทยซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปีตามความหมายของ Biennale
- สำหรับ Bangkok Art Biennale 2020 มาในคอนเซ็ปต์ Escape Routes หรือ ศิลป์สร้างทางสุข มีชิ้นงานศิลปะจาก 82 ศิลปิน ประเทศไทย 31 คนและศิลปินระดับโลกจากนานาชาติอีก 51 คนจาก 35 ประเทศ
Bangkok Art Biennale หรือ BAB 2020 เทศกาลศิลปะระดับโลกกลับมาแล้ว หลังพาโลกแห่งศิลปะมาให้เราได้อิ่มเอมกันไปครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 ซึ่งปีนี้เขามากับคอนเซ็ปต์ Escape Routes หรือ ศิลป์สร้างทางสุข ชวนผู้ชมค้นหาความหมายของการหาทางออกในมิติต่าง ๆ ผ่านชิ้นงานของ 82 ศิลปินที่มีทั้งศิลปินไทย 31 คนและศิลปินระดับโลกจากนานาชาติอีก 51 คนจาก 35 ประเทศ ที่จะมาร่วมสะท้อน Escape Routes ในแบบของตนเอง และทางสร้างสุขที่เราได้เห็นไม่ได้มีแต่โลกที่สวยงาม ความน่าสนใจที่เราอยากชวนคุณไปดูคือ ชุดผลงานที่บอกเล่าเส้นทางสร้างสุขผ่านบริบทของสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ ศาสนา ไปจนถึงการหาทางออกจากสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตัวเอง เริ่มจากสองหมุดแรกที่เดินทางง่ายใกล้รถไฟฟ้าอย่าง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และโครงการมิกซ์ยูส The Parq ฝั่งย่านพระราม 4 ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564 นี้
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
เริ่มจากผลงานที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ก่อนเลยกับ Untitled 2020 ผลงานของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เขาวงกตไม้ไผ่ที่นำไปสู่พื้นที่ส่วนกลางซึ่งเปิดให้เราได้เข้าไปปลีกวิเวกอยู่ในห้องพร้อมปากกาล่องหนและกระดานใส เสมือนเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งการเยียวยา ประนีประนอมหรือบางทีก็อาจเต็มไปด้วยขัดแย้ง ข้างกันมี DO A TO MII ผลงานประติมากรรมสูง 4 เมตรของ โลเล ทวีศักดิ์ ที่ต้องการนำเสนออาการแสดงออกที่มาจากผลกระทบของเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านกายวิภาคของตุ๊กตา
ลุยขึ้นไปที่ชั้น 9 จะพบกับหนึ่งในไฮไลต์ของปีนี้ผลงานของ อ้าย เวยเวย (Ai Weiwei) ศิลปินชาวจีนที่ได้ชื่อว่าเป็น ขบถการเมือง และเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลจีน อ้าย เวยเวยทำงานศิลปะไปพร้อมกับการขับเคลื่อนปัญหาสังคมและการเมือง สำหรับงาน BAB 2020 เขาเลือกจัดแสดงชุดผลงานที่บอกเล่าปัญหาของผู้พลัดถิ่นในหลากหลายเทคนิคทั้งภาพถ่าย วิดีโอ ลายปรินต์กราฟิกและผลงานชิ้นหลักคือ Law of the Journey เรือเป่าลมสีดำบรรทุกร่างผู้ลี้ภัยไร้ใบหน้าซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่กลางห้อง ผลงานซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เขาเดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย 40 แห่งใน 20 ประเทศ
ถัดไปอีกฟากเป็นผลงานของ เสมอ พีระชัย ศิลปินที่ได้รับความสนใจอย่างมากอีกคนหนึ่งภาพรหัสต่าง ๆ ที่ถูกวาดลงบนกล่องกระดาษแข็งด้วยปากกาสักหลาดจัดแสดงอยู่เต็มผนัง นำเสนออีกรูปแบบของการหาทางออกจากกับดักภายในตนเองที่ต้องอาศัยการถอดรหัสสัญลักษณ์ ค้นหาความหมายและความลับที่ซ่อนอยู่เพื่อทำความเข้าใจ งานชิ้นนี้กระทบใจหลายคนมากๆ และสารหนึ่งที่กระทบใจเราคือ พี่เสมอทำให้เราได้เห็นคุณค่าของศิลปะในอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นแง่มุมที่ศิลปะสามารถทำให้ชายไร้บ้านคนหนึ่งมีตัวตันในสังคม และได้รับการยกย่องในฐานะศิลปิน
ด้วยความที่ Bangkok Art Biennale ไม่ได้จำกัดรูปแบบการสร้างสรรค์ เราเลยได้เห็นการนำเสนอผลงานผ่านเทคนิคที่หลากหลาย อย่างการดึงเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับงานศิลปะในบรรยากาศห้องทดลองไบโอเทคของ ฟรองซัวส์ โครช ที่เขาบอกว่าเนื้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติและการทำนายโชคชะตา ผลงาน Pathetic Fallacy ของ อเลนา น็อกซ์ (Elena Knox) ดูแล้วแอบนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Hers ที่เล่าความสัมพันธ์และบทสนทนาระหว่างมนุษย์กับ AI แต่ในบริบทของอเลนาเลือกหยิบความสาวและความชรามาเป็นสัญญะขั้วตรงข้ามของวัยและความเชื่อ
ขยับลงมาที่ชั้น 8 เข้มข้นในประเด็นทางสังคมและการเมือง เริ่มจากภาพสีน้ำมัน I Feel It Coming โดย ลำพู กันเสนาะ ศิลปินสาวชาวไทยที่โดดเด่นด้านงานจิตรกรรมที่มีลายเซ็นเป็นคาแรกเตอร์ของตัวละคร ซึ่งทำให้ภาพเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกผ่านความหนักแน่นของฝีแปรง ผลงานชุดนี้ลำพูได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่รายล้อมทั้งแง่มุมทางสังคม การเมืองและโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้น โดยยังมีผลงานอีกชุดหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่ The Parq
สุลิยา ภูมิวงศ์ ศิลปินชาวลาวหยิบเรื่องของความรู้ตัวและไม่รู้ตัวมานำเสนอผ่านชิ้นงาน Flows ศิลปะจัดวางของฝูงสัตว์สามมิติสีจัดจ้านประกอบกับวิดีโอ ที่ดูแล้วเสมือนชวนให้ผู้ชมตระหนักถึงการไหลตามกระแสที่ไหลเวียนอยู่มากมายในปัจจุบัน ห้องถัดกันไปศิลปินชาวอเมริกันที่ช่ำชองในวงการภาพถ่ายเสมือน แอนเดรส เซอร์ราโน (Andres Serrano) ก็มากับชุดภาพถ่ายโดนัลด์ ทรัมป์ขนาบข้างด้วยภาพหญิงชาวจีน วางตรงข้ามด้วยภาพคิวปิดและไซคีแสดงถึงความสัมพันธ์ที่พัวพันของสองขั้วอำนาจอย่างอเมริกากับจีน ลืมบอกว่าใครสนใจศิลปะการเมือง ผลงานที่จัดแสดงใน BACC นั้นมีอีกหลายชิ้นที่เนื้อหาเข้มข้นมาก ๆ
ใครที่เป็นแฟนภาพยนตร์ของ เป็นเอก รัตนเรือง เดินไปถึงสุดทางของชั้น 8 จะพบกับ Two Little Soldiers เรื่องราวของทหารสองนายที่ไม่ได้ถูกเลือกไปปฏิบัติงานในเมืองหลวงและหญิงสาวคนหนึ่งในชนบทห่างไกลชุดผลงานนี้เริ่มต้นมาจากสคริปต์ของหนังไฮบริดที่เป็นเอกยังไม่รู้ปลายทางว่าจะออกมาเป็นแบบไหน เลยทดลองทำออกมาเป็นสตอรี่บอร์ดซีนย่อย ๆ ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ที่ถูกแขวนอยู่โดยรอบห้องฉายหนังขนาดย่อม ข้างกันมี QR Code ซึ่งสแกนแล้วจะแสดงคลิปสั้น ๆ เบื้องหลังการทำงานในซีนนั้น ๆ ระหว่างตัวผู้กำกับกับนักแสดง
Dragonerpanzer (รถถังดรากูน) ประติมากรรมรถถังจากวัสดุพอร์ซเลนที่อยู่ติดกันเป็นผลงานของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวในศตวรรษที่ 18 การแลกเปลี่ยนของจักรพรรดิเฟรดเดอริค ออกัสตัสที่ 1 แห่งแซกโซนีที่นำทหารม้า 600 นายไปแลกกับแจกันเครื่องลายคราม 151 ชิ้นของจักรพรรดิเฟรดเดอริค วิลเลียมที่ 1 แห่งปรัสเซีย ซึ่งทำให้เกิดการตีความ ตั้งคำถามถึงอำนาจ ความเชื่อ ความศรัทธาไปจนถึงคุณค่าของศิลปะที่อาจเป็นเพียงเครื่องมือให้ได้มาซึ่งบางสิ่ง
ใครที่ชอบความแฟนตาซี หลงใหลในมังงะและอนิเมะ เราอยากชวนไปดู The Great Adventure of Material World ที่ ลู่หยาง (Lu Yang) ศิลปินชาวจีนแฝงเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา มิติของสวรรค์-นรก การผจญภัยและการบรรลุถึงอะไรบางอย่างไว้กับรูปแบบสนุก ๆ ของวิดีโอเกมที่เชื้อเชิญให้เราเข้าไปเล่นและข้ามมิติไปกับเธอ
P7 หรือ พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์ ศิลปินซึ่งเป็นที่รู้จักในกลุ่มสตรีตอาร์ตและกราฟิตี้มากับแก๊งหุ่น Ventriloquist ซึ่งปรับคาแรกเตอร์ใหม่ตามสไตล์และจินตนาการส่วนตัว หุ่นพากย์เสียงที่เขาจดจำในฐานะตัวร้ายในหนังสยองขวัญซึ่งแฝงไว้ด้วยความน่ารักและน่ากลัว เป็นสารปลายเปิดที่ศิลปินตั้งใจให้ผู้ชมได้คิดจินตนาการกับงานของเขาอย่างอิสระ
ลงมาที่ชั้น 7 ชฤต ภู่ศิริ นำเอาความอยากรู้อยากเห็นซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเป็นพื้นฐานมาเป็นกิมมิกเชื้อเชิญผู้ชมให้มีส่วนร่วมกับชิ้นงานผ่านการแอบมอง ซึ่ง พีค! (Peek!) เป็นผลงานภาพถ่ายที่เขานำไปใส่ไว้ในกล่องโดยผู้ชมจะเห็นได้เพียงเสี้ยวหนึ่งจากรูกุญแจเท่านั้น พร้อมกับการโยนคำถามว่าผู้ชมเห็นเรื่องราวนี้เป็นอย่างไร เพื่อสะท้อนการมองเห็นในโลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบันที่อาจบิดเบือนขึ้นอยู่กับการตีความของผู้เห็น
ภาพธนบัตรนานาชาติไซซ์ยักษ์เรียงรายอยู่เต็มผนังด้านหนึ่งของชั้น 7 ผลงานจิตรกรรมสีน้ำของ ตะวัน วัตุยา ศิลปินชาวไทยที่รักการเดินทางและชื่นชอบในธนบัตร ซึ่งไม่ได้มีแค่มิติของค่าเงิน แต่ยังทับซ้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผูกพันความเชื่อและศิลปะเอาไว้ด้วยกัน
The Parq
ใครแวะไปแถวย่านพระราม 4 The Parq เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่มีผลงานน่าสนใจอยู่เพียบ กดลิฟต์ขึ้นไปที่ชั้น 15 จากฝั่งขวาสุดจะพบกับตุ๊กตาของเล่นในแบบฉบับของ ณรงค์ ยศทองอยู่ ศิลปินชาวสงขลาที่พบเจอปัญหาขยะล้นชายหาดในบ้านเกิด เขาเริ่มเก็บขยะมาสะสม คัดแยกประเภทและจดบันทึกไว้อย่างเป็นระบบจากการมองเห็นว่าวัสดุบางชิ้นที่ทะเลพัดมามีมิติของเวลาและการเดินทางของวัสดุที่บางชิ้นอาจไม่ได้ถูกผลิตในประเทศไทย พร้อมกับการสร้างสรรค์ตุ๊กตาของเล่นจากวัสดุเหล่านั้นออกมาในชุด A Child’s World in the Days of Adults เพื่อย้อนไปสู่ความทรงจำในวัยเด็ก
ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ เป็นศิลปินอีกคนที่ในครั้งนี้นำสิ่งของเหลือทิ้งมาสร้างเป็นงานศิลปะสื่อเนื้อหาในประเด็นสิ่งแวดล้อม เขาจัดวางผลงานชุดนี้เป็นสองฝั่งของห้องจัดแสดง โดยใช้สำนวนหนีเสือปะจระเข้เป็นตัวเชื่อมในเชิงล้อเลียน เสียดสี กระตุ้นให้เห็นถึงภาวะของโลกที่เต็มไปด้วยอันตรายจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ
อีกหนึ่งผลงานที่ถือว่าห้ามพลาดคือ BLEU BLANC ROUGE ของ ยุรี เกนสาคู ซึ่งไปเป็น Artist Residencyที่ประเทศฝรั่งเศสมาเป็นเวลา 2 เดือน ในงานจิตรกรรมเธอหยิบยืมภาพ Liberty Leading the People ผลงานชิ้นสำคัญของ Delacroix ศิลปินชาวฝรั่งเศสมาสร้างสรรค์ใหม่ในสไตล์ของตัวเองด้วยสีสันที่สดใส ไปจนถึงเลือกแทนองค์ประกอบต่าง ๆ จากความสนใจที่สะสมมาไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ศิลป์ การ์ตูน วรรณกรรมหรือภาพยนตร์ที่เคยดู
วิดีทัศน์ Tightrope ของ ตาอุส มัคฮาเซวา ศิลปินหญิงชาวรัสเซียเป็นอีกชิ้นที่สอดแทรกเรื่องราวทางสังคมที่เธอเผชิญได้อย่างน่าสนใจ นโยบายของรัฐที่ไม่ให้ค่างานศิลปะ เกิดเป็นงานชิ้นนี้ที่เธอร่วมสร้างสรรค์กับนักไต่ลวดซึ่งต้องขนส่งภาพงานศิลปะจากภูเขาลูกหนึ่งสู่อีกลูกหนึ่งบนเส้นทางของลวดเส้นเดียว ที่นอกจากความหวาดเสียวยังมีสัญญะในเรื่องความสมดุลทั้งในแง่วัฒนธรรม คุณค่าของศิลปินและการถูกลืม
แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์ เล่าถึงการเผชิญหน้าและการดิ้นรนอยู่ในปรากฏการณ์ที่โลกปัจจุบันกำลังเผชิญผ่านตัวละครผู้หญิงที่กำลังอยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ ในชุดภาพถ่าย A Tale of Dystopia หรือ สวรรค์อันตรธาน ซึ่งเคยจัดแสดงมาแล้วเมื่อปี 2018 นอกจากนั้นผลงานชุดนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงผลงานชุด Winged ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่ล้ง 1919 ด้วย
ในปัจจุบันที่เราโยงใยถึงกันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน รีนา ไซนี คาลัต ศิลปินซึ่งพำนักอยู่ที่มุมไบเลือกนำเสนอปัญหา Global Crisis ความไร้พรมแดนที่พัวพันทับซ้อนกันอย่างวุ่นวาย ผ่านผลงาน Woven Chronicle ภาพแผนที่โลกที่ถูกดึงทึ้ง ระโยงระยางด้วยสายไฟ จัดแสดงประกอบเสียงอย่างเสียงจราจร เสียงเรือ เสียงไซเรน ที่ผลัดกันส่งเสียงอยู่ตลอด ซึ่งผลงานชิ้นนี้เองก็เกิดขึ้นจากการสื่อสารไร้พรมแดน เป็นการแก้ปัญหาโดยให้ทีม BAB เป็นฝ่ายประกอบชิ้นงานจากโครงสร้างที่ศิลปินส่งมา โดยอาศัยการสื่อสารผ่านโปรแกรม Zoom เนื่องจากปัญหาโควิด-19 ทำให้ศิลปินไม่สามารถส่งผลงานมาจัดแสดงเองได้
อนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor) ศิลปินชาวอินเดีย เป็นอีกหนึ่งศิลปินไฮไลต์ของปีนี้ ผลงานชุด Sphere ที่เขาเลือกนำมาจัดแสดงที่ The Parq ได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมคลาสสิก อลิซ อิน วันเดอร์แลนด์ การมองเข้าไปในผลงานของอนิชจึงเปรียบเสมือนการหลุดออกจากห้วงเวลาไปในอีกมิติหนึ่ง เหมือนกับตัวละครอลิซที่คลานเข้าไปในโพรงกระต่าย อันเป็นจุดเริ่มต้นของการท่องดินแดนมหัศจรรย์ นอกจากนี้อนิชยังมีผลงานชิ้นไฮไลต์อย่าง Push Pull ll อยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดโพธิ์และ Sky Mirror ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่วัดอรุณฯ อีกด้วย
Fact File
- บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale) จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่31 มกราคม พ.ศ. 2564 ใน 10 สถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร
- รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : BkkArtBiennale
- เว็บไซต์ : www.bkkartbiennale.com/
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) เปิดทำการเวลา 10.00-19.00 น. (ปิดวันจันทร์)
- The Parq เปิดทำการทุกวัน เวลา 10.00-20.00 น.