เปิดขายภาพ ช่วงสุดท้ายของชีวิต ถวัลย์ ดัชนี ซื้ออุปกรณ์การแพทย์สู้โควิด-19
Arts & Culture

เปิดขายภาพ ช่วงสุดท้ายของชีวิต ถวัลย์ ดัชนี ซื้ออุปกรณ์การแพทย์สู้โควิด-19

Focus
  • นี่เป็นครั้งแรกที่คนที่รักงานศิลปะจะได้ชมภาพวาดในช่วงสุดท้ายของชีวิต ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ประจำพ.ศ.2544
  • ไวรัสโควิด-19 ทำให้ ดอยธิเบศร์ ดัชนี ผู้เป็นบุตรชาย ได้นำภาพวาดของถวัลย์ ดัชนี ซึ่งวาดไว้ในช่วงท้ายของชีวิต และไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน มาจัดทำเป็นภาพชุดจำหน่ายเป็นครั้งแรก เพื่อนำรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายนำไปซื้อเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ สำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ในภาวะที่เราต้องฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน เราไม่ทิ้งกัน … ดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายของศิลปินชื่อดัง ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ประจำพ.ศ.2544 ขอเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยส่งผ่านน้ำใจของคนไทยด้วยกันผ่านโครงการ “สืบศิลป์สร้างสรรค์แบ่งปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19” โดยนำภาพวาดของพ่อซึ่งวาดไว้ในช่วงท้ายของชีวิตและไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนมาจัดทำเป็นภาพชุดจำหน่ายเป็นครั้งแรก เพื่อนำรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายนำไปซื้อเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ สำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ภาพชุดในชื่อ “จตุรธาตุพิฆาตภัย” จัดทำจำนวนทั้งสิ้น 500 ชุด ในราคาชุดละ 2,000 บาท โดยใน 1 ชุดประกอบด้วยภาพสัตว์ 4 ภาพ ได้แก่  นพสุบรรณ(ช้าง) ,กัณฐกะ(ม้า) ,นันทวิสาล(กระทิง)  และนิลกาลพยัคฆ์รา (เสือ) จัดพิมพ์บนกระดาษเกรดพรีเมียมอย่างดี ขนาด A2 (42X59 ซ.ม.)

“ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาที่คนไทยทุกคนต้องการความสามัคคี ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ เพื่อที่จะฝ่าฟันวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ผมทราบดีถึงความยากลำบากของทุกฝ่าย ทั้งที่อยู่ในฐานะของนายจ้างและลูกจ้าง ผมเองก็เป็นผู้นำองค์กรที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงเงินเดือนพนักงานทุกคน ซึ่งไม่รู้ว่าจะสามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปได้อีกนานแค่ไหน แต่สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ตอนนี้คือ “ศรัทธา” ที่เชื่อว่า ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ มีสติปัญญา มีความอดทน เราจะต่อสู้และผ่านจุดนี้ไปได้ ผมไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่อยากเห็นคนไทยทิ้งกัน”

ดอยธิเบศร์ ผู้รับช่วงดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านดำของพ่อในจังหวัดเชียงราย กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ

ถวัลย์ ดัชนี

ถวัลย์ (พ.ศ. 2482- พ.ศ. 2557) เป็นศิลปินที่มีเอกลักษณ์ทั้งผลงานและภาพลักษณ์ที่มักปรากฏกายในชุดสีดำพร้อมเคราสีขาว และเครื่องประดับทำจากกระดูกและเขาสัตว์พร้อมน้ำเสียงทรงพลังทว่าแฝงด้วยอารมณ์ขัน ผลงานที่เป็นซิกเนเจอร์และรู้จักกันดีคือภาพสัตว์แบบเอกรงค์ (monochrome) สีดำ ด้วยฝีแปรงหรือปากกาที่ถ่ายทอดกายวิภาคของสัตว์ด้วยเส้นสายที่ทั้งอ่อนช้อยและดุดันกึ่งเหนือจริง  ถวัลย์เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Nation เมื่อ พ.ศ.2547 ว่า

“ผมเคยใช้เวลาแค่ 6 วินาทีในการตวัดฝีแปรงรูปปีกนกอินทรีย์ และใช้เวลาทั้งหมด 18 วินาทีเพื่อได้ภาพที่สมบูรณ์”

นั่นเป็นเพราะถวัลย์ทุ่มเทกับการศึกษากายวิภาคของสัตว์แต่ละชนิดอย่างละเอียดและฝึกฝนการวาดจนชำนาญ อย่างที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “ผมใช้เวลา 3 เดือนที่ประเทศฟิลิปปินส์เพื่อสังเกตพฤติกรรมของนกอินทรีย์ขณะล่าเหยื่อและกินสมองลิง ผมยังเดินทางไปทะเลทรายที่อริโซน่าเพื่อสังเกตการเลื้อยคลานของงูในทะเลทราย เพราะฉะนั้นถ้าเราจะวาดรูปสัตว์เชิงสัญลักษณ์หรือเชิงเหนือจริง คุณต้องแม่นยำในกายวิภาคของสัตว์แต่ละชนิดก่อน คุณต้องวาดรูปงูให้เป็นก่อนจะวาดพญานาค ไม่งั้นพญานาคจะกลายเป็นงูก้นขบ หรือรูปสิงโตของคุณจะดูคล้ายสุนัข”

ประโยคติดปากที่ถวัลย์มักพูดเสมอเมื่อใครก็ตามถามถึงความหมายในผลงานของเขา คือ “ผมไม่เคยถามดวงดาวในห้วงเวหาว่าเปล่งแสงเพื่อใคร ไม่เคยถามนกที่ร้องเพลงว่าร้องทำไม เพราะมันคือธรรมชาติ ผมอยากให้คนดูรู้สึกบางอย่างขณะดูรูป ไม่ใช่พยายามหาความหมายของมัน เพราะความรู้สึกเป็นสิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ทั้งปวง”

ผู้สนใจสามารถสั่งจองภาพได้ที่ https://forms.gle/unN41q2WwbTHh7Gp8 โดยเข้าไปกรอกรายละเอียดที่อยู่การจัดส่ง พร้อมโอนเงินค่าภาพเข้าบัญชีโรงพยาบาลหรือองค์กรตามที่ท่านต้องการบริจาคโดยตรง จากนั้นส่งหลักฐานการโอนเงินไปที่ Line: @thawanduchanee  ทางโครงการจะดำเนินการจัดส่งภาพไปให้ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้

อ้างอิง

  • ·      https://www.nationthailand.com/life/30242493