หมุนอาร์ตทอย ชมศิลปะวัตถุไฮไลต์ RCB Auctions เปิดห้องประมูลรอบพรีวิว เตรียมพร้อม Live Auction 5 ต.ค.
Arts & Culture

หมุนอาร์ตทอย ชมศิลปะวัตถุไฮไลต์ RCB Auctions เปิดห้องประมูลรอบพรีวิว เตรียมพร้อม Live Auction 5 ต.ค.

Focus
  • Arts and Antiques Live Auction จัดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม 2567 เวลา ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ที่ห้องประมูล RCB Auctions ชั้น 4 ของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
  • การประมูลครั้งนี้นอกจากจะจัดเต็มชิ้นงานแอนทีคและของสะสมหายากกว่า 200 รายการแล้ว ยังมีการเปิดตัวอาร์ตทอยคอลเล็คชัน Norasingha  ที่ถอดดีไซน์มาจาก “เทพนรสิงห์” ลวดลายเอกลักษณ์ของเครื่องเบญจรงค์ไทยโบราณ

เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับรอบพรีวิวก่อนเปิดการประมูลของแอนทีคและของสะสม Arts and Antiques Live Auction จัดโดย RCB Auctions หรือ อาร์ซีบี อ๊อคชั่นส์ บริษัทประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งจะจัดการประมูลแบบ Live Auction ขึ้นในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2567 ครั้งนี้นอกจากจะจัดเต็มชิ้นงานแอนทีคและของสะสมหายากกว่า 200 รายการแล้ว ความน่าสนใจคือการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และคุณค่าจากอดีตสู่ปัจจุบันผ่านความร่วมสมัยของอาร์ตทอยคอลเล็คชันพิเศษ Norasingha ที่ถอดดีไซน์มาจาก “เทพนรสิงห์” ลวดลายเอกลักษณ์ของเครื่องเบญจรงค์ไทยโบราณ หนึ่งในวัตถุไฮไลต์ของการประมูลครั้งนี้ พร้อมกันนั้นก็ได้จัดทอล์ค RCB Auctions Talk#3: Norasingha จากทวยเทพบนงานเบญจรงค์ สู่ศิลปะอาร์ตทอย ขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ชวนนักสะสมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในเครื่องถ้วยเบญจรงค์ลายโบราณ เครื่องกระเบื้องลายคราม และลายน้ำทองที่นำมาเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของงานประมูลครั้งนี้ด้วย

Live Auction
อาร์ตทอยคอลเล็คชันพิเศษ Norasingha  ที่ถอดดีไซน์มาจาก “เทพนรสิงห์” บนเครื่องเบญจรงค์
Live Auction

“การจะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องราวและคุณค่าทางประวัติศาสตร์จำเป็นต้องมี ‘ล่าม’ เป็นสื่อกลาง ซึ่งอาร์ตทอยลายเทพนรสิงห์ที่ทาง RCB Auctions ร่วมกับ Argo Creation เปิดตัวอาร์ตทอยในทั้งหมด 3 ลวดลายให้ได้จับจองก็สามารถทำหน้าที่ล่ามเชื่อมโยงองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์จากอดีตสู่ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมอาร์ตทอยที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องกระเบื้องเบญจรงค์ต้องมีหลายสี ทำไมต้องเป็นสีทองที่ถอดมาจากลายน้ำทอง ทำไมต้องเป็นสีน้ำเงินขาวเครื่องลายคราม ทำไมต้องเป็นเทพนมนรสิงห์ ให้ความน่ารักของอาร์ตทอยพานักสะสมและคนรุ่นใหม่อยากจะกลับไปหาคำตอบ เพื่อที่จะค้นพบว่าเครื่องเบญจรงค์เหล่านี้ไม่ได้มีแค่เรื่องมูลค่า แต่ยังเป็นวัตถุพยาน เป็นหลักฐานถึงความมั่งคั่งของสยามที่มีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา การสะสมเครื่องถ้วยเบญจรงค์เหล่านี้จึงเป็นการเก็บรักษาประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน”

Live Auction
บรรยากาศ RCB Auctions Talk#3: Norasingha จากทวยเทพบนงานเบญจรงค์ สู่ศิลปะอาร์ตทอย
Live Auction

อาจารย์ธนพันธุ์ ขจรพันธุ์ นักวิชาการอิสระ และนักสะสมผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องกระเบื้อง ย้อนเล่าถึงเหตุผลที่ RCB Auctions เปิดตัวอาร์ตทอยเป็นครั้งแรกในคอลเล็คชัน Norasingha บนเวที RCB Auctions Talk#3: Norasingha จากทวยเทพบนงานเบญจรงค์ สู่ศิลปะอาร์ตทอย โดยมี Peacho หรือ พิชญาพร จีระตานนท์ ศิลปินจาก Argo Creation เป็นผู้ออกแบบ และอาจารย์ธนพันธุ์เป็นผู้ร้อยเรียงประวัติศาสตร์เครื่องเบญจรงค์ไทยโบราณประสานไปในงานอาร์ตทอย ซึ่งคอลเล็คชัน Norasingha มีทั้งหมด 3 แบบ ถอดสีมาจากเครื่องเบญจรงค์ เครื่องลายคราม และลายน้ำทอง พร้อมลดทอนความน่าเกรงขามของเทพนรสิงห์แห่งป่าหิมพานต์ที่ปรากฏอยู่ทั้งในงานประติมากรรมและบนเครื่องเบญจรงค์ไทยโบราณ เป็นเทพนรสิงห์ครึ่งคนครึ่งสิงห์ตากลมโต เปิดให้ได้หมุนที่ห้องประมูล RCB Auctions ชั้น 4 ของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ตั้งแต่วันนี้ยาวไปถึงสิ้นปี 2567

Live Auction
ชามเบญจรงค์เขียนลายเทพนมนรสิงห์
RCB Auctions

นอกจากเปิดตัวอาร์ตทอยเทพนรสิงห์แล้ว ตอนนี้ทาง RCB Auctions ยังได้เปิดให้ผู้สนใจในประวัติศาสตร์ของแอนทีคโดยเฉพาะเครื่องเบญจรงค์เข้ามาชมชิ้นงานในรอบพรีวิวก่อนการประมูลได้ฟรี! โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านของแอนทีคคอยเล่าประวัติศาสตร์ เทคนิคช่างโบราณให้ได้ฟังอย่างละเอียด ฟีลเหมือนไปดูของโบราณในพิพิธภัณฑ์อย่างไรอย่างนั้น

RCB Auctions
จานเบญจรงค์แลทองลายพระยาสุนทรฯ

สำหรับชิ้นงานไฮไลต์ในการประมูล Arts and Antiques Live Auction วันที่ 5 ตุลาคม 2567 ก็เช่น จานเบญจรงค์แลทองลายพระยาสุนทรฯ เป็นเบญจรงค์ไทยซึ่งถูกผลิตในรูปทรงสไตล์ยุโรป ถือเป็นรูปทรงพิเศษหายากชนิดนอกตำราการสะสมเลยทีเดียว ต่อด้วย ชามเบญจรงค์เขียนลายเทพนมนรสิงห์ ลายเอกลักษณ์ของเครื่องเบญจรงค์ไทยโบราณที่นักสะสมเครื่องกระเบื้องต้องมีติดตู้ เป็นถ้วยชามเบญจรงค์เชื่อมยุคสมัยจากปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยในห้องประมูลจะได้เห็นลายเทพนมและนรสิงห์ในเวอร์ชันที่หลากหลาย เพราะเป็นลายที่ช่างไทยคิดและส่งต่อให้ช่างจีนทำ ผลลัพธ์จึงเป็นเทพนมและนรสิงห์ในจินตนาการของช่างจีนที่อาจจะตาเรียวเล็กบ้าง พุงพลุ้ยบ้าง หรือมีความคล้ายเทวดาจีนบ้าง ถือเป็นเสน่ห์ของเครื่องเบญจรงค์ลายนี้เลยก็ว่าได้ อีกทั้งเครื่องเบญจรงค์ที่มีความผสมผสานระหว่างไทย จีน เหล่านี้ ล้วนเป็นหลักฐานการเชื่อมสัมพันธ์ที่เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์โบราณถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการระหว่างประเทศและราชสำนักไทยและจีน

RCB Auctions
ชามมีฝาปิดเบญจรงค์ลายน้ำทอง เขียนลายด้านในเป็นรูปผู้หญิงและคนรับใช้ในสวนสไตล์กวางตุ้ง แต่ด้านนอกกลับเขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์แบบไทย
RCB Auctions
โถมีฝาปิดเบญจรงค์ลายพุ่มข้าวบิณฑ์เขียนทับคราม

และมากกว่าลวดลายของเบญจรงค์ที่เป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ ในการประมูลครั้งนี้ยังมีเครื่องกระเบื้องเบญจรงค์ในหลากหลายเทคนิคอย่าง โถมีฝาปิดเบญจรงค์ลายพุ่มข้าวบิณฑ์เขียนทับครามรวมทั้งเครื่องเบญจรงค์ที่สะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมของสยามอย่างชามมีฝาปิดเบญจรงค์ลายน้ำทอง เขียนลายด้านในเป็นรูปผู้หญิงและคนรับใช้ในสวนสไตล์กวางตุ้ง แต่ด้านนอกกลับเขียนลายพุ่มข้าวบิณฑ์แบบไทย

กระถางกำยานสามขากระเบื้องเคลือบน้ำเงินขาวเขียนลายทิวทัศน์สไตล์จีนจากศตวรรษที่ 19
ชามกระเบื้องเคลือบน้ำเงินขาวลายด้านนอกและด้านในลายวัตถุมงคลและเถาดอกบัวตามขนบศิลปะช่างจีนนิยมเขียนตราล้องานในยุคเก่า

ในส่วนของเครื่องลายครามนั้นน่าสนใจตรงที่มีความหลากหลายเชิงเทคนิคและความหมาย ทั้งความมงคล ความเชื่อทางศาสนา ชีวิตหลังความตาย แม้แต่การบูชาสวรรค์ก็ยังคงใช้เครื่องลายครามเป็นเครื่องบูชา รวมทั้งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันจวบจนทุกวันนี้ โดยชิ้นงานไฮไลต์ในหมวดเครื่องลายคราม เช่น ชามกระเบื้องเคลือบน้ำเงินขาวลายด้านนอกและด้านในลายวัตถุมงคลและเถาดอกบัวตามขนบศิลปะช่างจีนนิยมเขียนตราล้องานในยุคเก่า กระถางกำยานสามขากระเบื้องเคลือบน้ำเงินขาวเขียนลายทิวทัศน์สไตล์จีนจากศตวรรษที่ 19

ชุดน้ำชาจักรีลายดอกเดซี่บนพื้นสีขาว
ชุดชามมีฝาปิดเบญจรงค์ลายน้ำทองเขียนลายดอกบัวและดอกไม้บนพื้นสีเทอร์คอยซ์

และที่จะขาดไม่ได้ในงานประมูลครั้งนี้คือ ลายน้ำทอง ซึ่งนอกจากจะสื่อความหมายมงคลแล้วก็ยังเป็นเทคนิคโบราณที่ซับซ้อน เช่น ชุดน้ำชาจักรีลายดอกเดซี่บนพื้นสีขาว ชุดชามมีฝาปิดเบญจรงค์ลายน้ำทองเขียนลายดอกบัวและดอกไม้บนพื้นสีเทอร์คอยซ์ เป็นต้น

Peacho หรือ พิชญาพร จีระตานนท์ ศิลปินจาก Argo Creation เป็นผู้ออกแบบอาร์ตทอย

สำหรับนักสะสม ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าเรื่องเครื่องกระเบื้องโบราณ รวมทั้งแฟนอาร์ตทอยไทยสามารถแวะไปชมไฮไลต์งานประมูล Arts and Antiques Live Auction ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 4 ตุลาคม 2567 และสามารถเข้าร่วมงานประมูลได้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2567 เวลา ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป พร้อมหมุนอาร์ตทอยนรสิงห์กลับไปเป็นเจ้าของได้ที่ห้องประมูล RCB Auctions ชั้น 4 ของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก

Fact File

  • Arts and Antiques Live Auction จัดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม 2567 เวลา ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ที่ห้องประมูล RCB Auctions ชั้น 4 ของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก นอกจากนี้ท่านสามารถประมูลทางออนไลน์บนเว็บไซต์ www.rcbauctions.com และแอพลิเคชั่น RCB Auctions
  • สำหรับผู้ที่สนใจชมของแอนทีคและของสะสมในรอบพรีวิวก่อนวันประมูล สามารถเข้ามาชมได้ฟรีที่ ห้องประมูล RCB Auctions ชั้น 4 ของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ตั้งแต่วันนี้ถึง 4 ตุลาคม 2567 หรือพรีวิวออนไลน์ผ่านลิ้งค์ e-catalog https://www.rcbauctions.com/auctions/catalogues/

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"