ครั้งแรกกับการเปิดคลังศิลปะกว่า 600 ชิ้นของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน Google Arts & Culture
- ผลงานศิลปะกว่า 600 ชิ้นในคลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากรจะเปิดให้ผู้สนใจได้ชมแบบออนไลน์บน Google Arts & Culture ในรูปแบบความละเอียดสูงสุดระดับกิกะพิกเซลที่บันทึกด้วย Art Camera
- หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นที่แรกของประเทศไทยที่ทางกูเกิลได้นำ Art Camera มาให้ใช้ในการบันทึกภาพผลงาน และคาดหมายว่าจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมแบบออนไลน์ได้ภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564
- คลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากรเก็บผลงานทรงคุณค่ากว่า 1,000 ชิ้นที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ การประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ และการประกวดศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ
นับเป็นครั้งแรกที่ผลงานศิลปะกว่า 600 ชิ้นในคลังสะสมศิลปกรรมของ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดให้ผู้สนใจได้ชมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่แสวงผลกำไร Google Arts & Culture ในรูปแบบความละเอียดสูงสุดระดับกิกะพิกเซลที่บันทึกด้วย Art Camera ซึ่งพัฒนาโดยกูเกิลเพื่อแสดงรายละเอียดของแต่ละชิ้นงานได้อย่างคมชัดมากที่สุด
โครงการความร่วมมือระหว่าง หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการเก็บรักษาคลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัย กับ Google Cultural Institute เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2562) โดยทางหอศิลป์ต้องการเผยแพร่ผลงานศิลปะให้เข้าถึงผู้ที่สนใจในวงกว้าง และทางกูเกิลเล็งเห็นความสำคัญของงานศิลปะในคอลเล็กชันของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นการขยายเครือข่ายพันธมิตรซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์ม Google Arts & Culture จัดแสดงคอลเล็กชันงานศิลปะของพิพิธภัณฑ์และองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรมทั่วโลกกว่า 2,000 แห่ง
“เรามีคลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยที่เก็บผลงานที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ (นับตั้งแต่การประกวดครั้งที่ 15 เมื่อ พ.ศ.2507) การประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ และการประกวดศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ จำนวนกว่า 1,000 ชิ้น โดยเก็บรักษาไว้ที่หอศิลป์สนามจันทร์ (ในวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม) แต่มีข้อจำกัดการเข้าถึง เมื่อเรามีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดตัวโครงการใหม่ที่ Google Arts and Culture ทำร่วมกับนิทรรศการ Great and Good Friends (นิทรรศการเนื่องในวาระครบรอบ 200 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ.2561) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยและประชุมหารือกันมาเรื่อย ๆ จนร่วมมือเป็นพาร์ตเนอร์ ทางกูเกิลยินดีให้ทางเรายืม Art Camera ซึ่งมีไม่กี่ตัวในโลกสำหรับบันทึกภาพความละเอียดสูงเพื่อใช้อัปโหลดการทำงานหลังบ้าน”
อาจารย์เต้-ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงจุดเริ่มต้นความร่วมมือของสององค์กร
Art Camera กับภาพคมชัดระดับกิกะพิกเซลสำหรับงาน 2 มิติ
หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงถือเป็นที่แรกของประเทศไทยที่ทางกูเกิลได้นำ Art Camera มาให้ใช้ในการบันทึกภาพผลงาน รวมทั้งชุดไฟและคอมพิวเตอร์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายพร้อมทั้งจัดอบรมเรื่องการใช้อุปกรณ์และการบันทึกรายละเอียดของแต่ละชิ้นงานให้ทีมงานของมหาวิทยาลัย
การบันทึกภาพทั้งหมดและฐานข้อมูลต่าง ๆ จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาและอนุมัติจากทางกูเกิลว่าจะเริ่มเปิดให้ชมได้เมื่อไร อาจารย์เต้คาดหมายว่าภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 คนรักศิลปะน่าจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ในการรับชมคอลเล็กชันสะสมของศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีผลงานชั้นเยี่ยมของศิลปินชื่อดังมากมายเช่น “ภาพเหมือน (สุวรรณี สุคนธา)” โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต (รางวัลเหรียญเงินในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 17 พ.ศ.2510) “ลำนำอรหันต์” โดย ประสงค์ ลือเมือง (รางวัลเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 34 พ.ศ.2531) และ “ภิกษุสันดานกา” โดย อนุพงษ์ จันทร (รางวัลเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53 พ.ศ.2550)
“Art Camera สามารถถ่ายได้เฉพาะผลงานที่เป็น 2 มิติ ส่วนผลงานประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผา และผลงานสื่อผสมที่มีลักษณะนูนต่ำนูนสูงหรือมีวัสดุแวววาวก็จะถ่ายไม่ได้ ทำให้จากผลงานสะสมกว่า 1,000 ชิ้น จึงต้องคัดเฉพาะงาน 2 มิติจากเวทีประกวดศิลปกรรมแห่งชาติและศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ที่บันทึกเข้าแพลตฟอร์ม Google Arts & Culture ได้ประมาณ 600 ชิ้น และเรื่องลิขสิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญดังนั้นในขั้นแรกจึงเป็นการนำเสนอเฉพาะผลงานที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของเท่านั้น” อาจารย์เต้กล่าว
เบื้องหลังการทำงานที่ต้องละเอียดทุกขั้นตอน
อาจารย์เต้เล่าถึงขั้นตอนการทำงานว่า เริ่มจากทำความสะอาดผลงานแต่ละชิ้น และหากงานใดเข้ากรอบกระจกก็ต้องถอดกรอบออกเพื่อไม่ให้มีแสงสะท้อน จากนั้นแยกชิ้นงานตามขนาดเพื่อสะดวกในการจัดไฟและปรับระยะกล้อง การถ่ายภาพต้องถ่ายในห้องที่ห้ามมีแสงเข้า Art Camera ที่บันทึกภาพระดับกิกะพิกเซลมีความแตกต่างจากกล้องความละเอียดสูงทั่วไปที่การทำงานของกล้องจะใช้คลื่นเสียงและเลเซอร์ในการกำหนดระยะของภาพเพื่อให้โฟกัสจุดเล็ก ๆ ในภาพได้อย่างแม่นยำ กล้องจะคำนวณและบันทึกภาพเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ หลายร้อยภาพและนำมาประมวลผลเป็นภาพใหญ่ที่มีความละเอียดสูงมาก กล้องจะใช้เวลาในการบันทึกภาพไม่ต่ำกว่า 20 นาทีต่อ 1 ชิ้นงาน
“งานแต่ละชิ้นต้องจัดไฟใหม่เพราะแสงสะท้อนไม่เท่ากัน งานส่วนใหญ่ของศิลปินในคลังสะสมมักเป็นเฉดสีดำทำให้จัดแสงยากพอสมควร เราพยายามแยกผลงานตามขนาดเพื่อที่จะได้ถ่ายเป็นเซต ๆ ไปโดยไม่ต้องปรับระยะกล้องและแสงไฟมากนักจะช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น กล้องจะถ่ายจากซ้ายไปขวาและบนลงล่างโฟกัสไปเรื่อย ๆ และประมวลผลรวม เรามอนิเตอร์หน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ว่ามีจุดไหนไม่ชัด หากไม่ชัดก็ถ่ายใหม่ บางชิ้นใช้เวลาร่วมชั่วโมง
“หลังจากนั้นเราจะส่งภาพให้ทางกูเกิลเป็นลอต ๆ ลอตละประมาณ 30-40 ภาพจากนั้นทางกูเกิลจะอัปโหลดขึ้นระบบคลาวด์และเปิดให้เราเข้าไปดูได้ก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามีจุดไหนยัง Error บ้างก็ต้องถ่ายซ่อมใหม่ นอกจากนี้เราต้องทำตัวอย่างวิธีการคร็อปภาพเพราะทางกูเกิลจะเป็นฝ่ายที่คร็อปให้เนื่องจากภาพต้องไม่มีขอบและต้องไม่มีลายน้ำ เราก็ต้องเข้าไปเช็กทุกรูปว่าคร็อปถูกต้องหรือเปล่า”
ขั้นตอนที่สำคัญต่อมาคือการใส่รายละเอียดของแต่ละภาพใน Object Metadata ให้ถูกต้องอาทิ ชื่อผลงาน ชื่อศิลปิน ปีและเทคนิคการสร้างสรรค์ คำอธิบายผลงาน และ แฮชแท็กโดยในเบื้องต้นนี้รายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ
“ทางกูเกิลจะมีระบบหลังบ้านแบบออโตที่เช็กรายละเอียดทุกรูปว่าเราใส่ครบทุกหัวข้อหรือเปล่า ปัญหาคืองานของศิลปินที่เขาบังเอิญตั้งชื่องานเหมือนกันหรือตั้งชื่อแปลก ๆ ไม่มีความหมาย ทางกูเกิลก็จะขึ้นเลยว่าผิดเราก็ต้องไปปลดล็อกและแก้ให้ผ่าน หรือแฮชแท็กบางครั้งก็จะขึ้นให้อัตโนมัติเช่นรูปวัดจะขึ้นเลยว่า #architecture ซึ่งบางครั้งก็ไม่ตรงกับความหมายภาพ เราก็ต้องมาแก้ให้เหมาะสม”
ทัวร์งานศิลปะแบบเจาะลึกกับ “In Painting Tour”
ศักยภาพของภาพถ่ายความละเอียดสูงด้วย Art Camera จะแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดในเซกชันที่เรียกว่า In Painting Tour ซึ่งเป็นการนำชมรายละเอียดในจุดต่าง ๆ ของผลงานแต่ละชิ้น ผู้ชมสามารถซูมเข้าซูมออกเพื่อดูรายละเอียดของฝีแปรงและเท็กเจอร์โดยมีคำอธิบายในส่วนต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งศิลปินซ่อนความนัยบางอย่างในจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง
“เราจะเปิดตัวด้วย 10 ผลงานที่มีรูปแบบการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันไม่ได้คัดเลือกจากชื่อเสียงศิลปิน อาทิ จิตรกรรมประเภทที่เน้นให้เห็นฝีแปรง เช่น ผลงานของ สันต์ สารากรบริรักษ์ จิตรกรรมที่เน้นการใช้วัสดุผสม เช่น งานชื่อ ภิกษุสันดานกา ของอนุพงษ์ จันทร และจิตรกรรมที่มีรายละเอียดมากมาย เช่น งานของ ประสงค์ ลือเมือง และงานเทคนิคภาพพิมพ์ที่มองเห็นรายละเอียดลายเส้นจากทำแม่พิมพ์อย่างชำนาญ เช่น ผลงานของ บุญมี แสงขำ หลังจากนี้เราวางแผนว่าจะแนะนำเพิ่มเดือนละ 2 ชิ้น”
อาจารย์เต้ยกตัวอย่างงานภาพพิมพ์สีขาวดำรูปดอกไม้ชื่อ “ไฮเดรนเยีย” โดย บุญมี แสงขำ (รางวัลเหรียญเงินในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 64 พ.ศ.2561) ที่นำเสนอใน “In Painting Tour” ว่าภาพนี้นอกจากความสมจริงแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนและกระบวนการในการสร้างผลงานภาพพิมพ์ที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความประณีตเป็นอย่างมาก และยิ่งรายละเอียดในผลงานมีมากเท่าไร ความซับซ้อนในกระบวนการสร้างสรรค์ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
“สิ่งที่ทางกูเกิลเน้นย้ำคือห้ามทำอะไรเชิงพาณิชย์เด็ดขาด จะให้คนดาวน์โหลดรูปและเรียกเก็บเงินไม่ได้ ต้องทำเพื่อการศึกษา 100% เท่านั้น”
ชมนิทรรศการออนไลน์ในหลากหลาย Stories
การนำเสนองานตามธีมต่าง ๆ ที่เรียกว่า Stories เป็นอีกหนึ่งเซกชันที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจคล้ายกับการจัดนิทรรศการในแกลเลอรีออนไลน์ ทางหอศิลป์วางแผนจะเปิดตัวด้วย 8 เรื่องซึ่งส่วนหนึ่งมาจากนิทรรศการที่เคยจัดแสดงตามธีมต่าง ๆ จากคลังสะสมและอีกส่วนจะเล่าไทม์ไลน์ (Timeline) ของงานในคอลเล็กชันเพื่อให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ศิลปะช่วงหนึ่งในประเทศไทย
“Stories ตั้งต้นที่เราเตรียมไว้มีเรื่อง ‘สรรพนามธรรม’ (Miscellaneous Abstract) พูดถึงผลงานศิลปะนามธรรมจากเวทีศิลปกรรมแห่งชาติอันเป็นเวทีประกวดระดับชาติที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศที่ฉายภาพศิลปะสมัยใหม่ของไทยในกระแสหลักได้อย่างน่าสนใจ ต่อมาเป็นเรื่อง ‘กาย-กลาย’ (Kaya) พูดถึงการคลี่คลายรูปทรงมนุษย์มาสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ แต่ใน Stories จะเอามาเฉพาะงาน 2 มิติ จากนั้นเป็นเรื่อง ‘Spotlight’ ที่เน้นเรื่องของแสงและเงาที่ศิลปินใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน เราวางแผนว่าจะมี Stories ใหม่ ๆ ทุก 2-3 เดือนโดยเนื้อหาต้องมีความน่าสนใจและภาษาอังกฤษที่ใช้ต้องได้มาตรฐานผ่านการ Approve จากกูเกิล”
Virtual Tour กับ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ วังท่าพระ
นอกเหนือจากจัดแสดงงานในคลังสะสมผ่านแพลตฟอร์มของ Google Arts and Culture เฟสต่อไปที่ทางอาจารย์เต้และทีมงานวางเป้าหมายคือการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานและภาควิชาอื่นภายในมหาวิทยาลัย เช่น คณะสถาปัตยกรรม โดยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทย
“อีกลูกเล่นหนึ่งของกูเกิลที่เราสนใจคือ เกมเพื่อการเรียนรู้ โดยใช้ผลงานศิลปะในแขนงต่าง ๆ เป็นตัวต่อยอดการศึกษา ตอนนี้ทางหอศิลป์เราทำ Virtual Tourให้ผู้สนใจได้ชม หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (ในวิทยาเขตวังท่าพระ กรุงเทพฯ) ที่เพิ่งปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์ได้แบบ 360 องศา รวมถึงบริเวณสวนแก้วที่มีประติมากรรมกลางแจ้งด้วย เราจึงสนใจเรื่องการนำ VR (Virtual Reality) มาใช้เพราะอยากให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมแบบ Immersive”
ใน Virtual Tour ที่ทางหอศิลป์จัดทำและนำเสนอผ่านเว็บไซต์ของหอศิลป์ที่ www.art-centre.su.ac.th เป็นการพาชมสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอกของกลุ่มอาคารอนุรักษ์วังท่าพระ หรืออาคารท้องพระโรงซึ่งสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เพื่อเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และปัจจุบันเป็นหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ภาพถ่ายแบบ 360 องศาจากพื้นที่จริงของอาคารและบริเวณโดยรอบช่วยเปิดมุมมองใหม่ในจุดที่หลายคนอาจไม่เคยสังเกตมาก่อน พร้อมทั้งให้ข้อมูลการอนุรักษ์ซ่อมแซมเมื่อครั้งปรับปรุงล่าสุดและประวัติศาสตร์ของกลุ่มอาคาร
Virtual Tour ยังนำชมบริเวณสวนแก้วที่จัดแสดงประติมากรรมกลางแจ้งโดยศิลปินชั้นครู เช่น สนั่น ศิลากรณ์, เขียน ยิ้มศิริ และ ชลูด นิ่มเสมอ พร้อมให้รายละเอียดของแต่ละชิ้นงานรวมถึงประวัติศาสตร์ของศาลาดนตรี ศาลเจ้าแม่เฮงหลุย และภาพสวนแก้วในอดีต
เครดิตภาพ : หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
Fact File
- ติดตามข่าวสารอัปเดตเกี่ยวกับหอศิลป์และโครงการร่วมมือกับ Google Arts and Culture ได้ที่ www.facebook.com/ArtCentre.SilpakornUniversity