ทายาท อังคาร กัลยาณพงศ์ เตรียมเปิดบ้านเป็นหอจดหมายเหตุ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong
- อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ลูกสาวของจิตรกรและกวีเอก อังคาร กัลยาณพงศ์ กำลังจัดทำโครงการ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong รีโนเวตบ้านให้เป็นหอจดหมายเหตุเพื่อบอกเล่าชีวประวัติและการสร้างสรรค์งานของศิลปินผู้ล่วงลับที่ฝากผลงานยิ่งใหญ่ไว้ให้แผ่นดินมากมาย
- ข้าวของเครื่องใช้และผลงานของ ท่านอังคาร มากกว่า 10,000 ชิ้น กำลังจัดทำทะเบียนสำหรับ Archive และฐานข้อมูลระบบดิจิทัลเพื่อให้ผู้สนใจได้สืบค้นเป็นหมวดหมู่
- ปัจจุบันโครงการ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong คืบหน้าไปประมาณ 30% และคาดว่าจะเปิดให้เข้าชมได้ภายในปี พ.ศ.2565
บ้านเดี่ยว 2 ชั้นในซอยพระรามเก้า 59 กรุงเทพฯ สถานที่ที่เคยเป็นที่พำนักและสร้างสรรค์กวีนิพนธ์และงานจิตรกรรมมากมายของ อังคาร กัลยาณพงศ์ (พ.ศ.2469-2555) ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2532 สาขาวรรณศิลป์ และกวีซีไรต์ พ.ศ. 2529 กำลังได้รับการปรับปรุงโดยทายาทให้เป็น หอจดหมายเหตุ หรือ Archive เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาชีวิต ความคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์และกระบวนการทำงานของ ท่านอังคาร ชื่อที่คนในวงการศิลปะเรียกขานและยกย่อง
อุปกรณ์เดินป่าที่ท่านอังคารใช้ตั้งแต่วัยหนุ่มยามชื่นชอบการผจญภัยในป่า มีดพกและหมวกใบเก่ง ก้อนหินที่ชอบสะสม เศษอิฐจากซากโบราณสถานที่เก็บมาไว้บูชาขณะที่ท่านร่วมทำงานกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ในการตระเวนคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามโบราณสถานต่าง ๆ อุปกรณ์การสร้างสรรค์งานไม่ว่าจะเป็นปากกาคอแร้ง ขวดหมึก ปากกาหมึกดำ และดินสอสำหรับเขียนบทกวี แท่งชาร์โคล พู่กันและสีอะคริลิกสำหรับวาดภาพ ไม้รองมือขณะเขียนรูป ไม้เท้าที่ใช้ประจำ แว่นตาอันสุดท้าย รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ในช่วงปลายของชีวิต ภาพสเก็ตช์และรูปภาพที่ยังวาดไม่เสร็จ เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของข้าวของเครื่องใช้และผลงานที่มีมากกว่า 10,000 ชิ้นซึ่งจะถูกนำมาเรียงร้อยเรื่องราวใหม่เพื่อบอกเล่าชีวประวัติและการสร้างสรรค์งานของศิลปินผู้ล่วงลับที่ฝากผลงานยิ่งใหญ่ไว้ให้แผ่นดินมากมาย
“ภาพรวมของโครงการ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong เสร็จไปได้ประมาณ 30% คราแรกตั้งใจจะให้เสร็จภายในปีนี้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นปีหน้า ที่ช้าเพราะเราทำงานประจำและใช้เงินทุนส่วนตัวแล้วก็สถานการณ์โควิดด้วย ความคิดที่ว่าจะทำ Archive ให้พ่อมีมาตั้งแต่ตอนพ่อเสีย (พ.ศ.2555) แต่มาเริ่มจริงจังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราคิดว่าต้องทำให้สำเร็จให้ได้แม้จะไม่สมบูรณ์แบบเต็มร้อย” ขวัญ-อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ลูกคนที่สองของท่านอังคารผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุของพ่อ กล่าวกับ Sarakadee Lite ขณะเปิดบ้านที่กำลังปรับปรุงให้ชมบางส่วน
เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า ซบหน้าติดดินกินทราย
จะเจ็บจำไปถึงปรโลก ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ
(บางส่วนจากบทกวี “เสียเจ้า” โดย อังคาร กัลยาณพงศ์)
บริเวณห้องด้านหน้าของชั้นล่างยังเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่เตรียมทำทะเบียนสำหรับจัดทำ Archive โดยขวัญกล่าวว่าบริเวณนี้จะเป็นส่วนที่บอกเล่าชีวิตของ ท่านอังคาร ตั้งแต่วัยหนุ่มที่ชอบท่องไพรผ่านของใช้ต่าง ๆ เช่น หมวก เป้และกระบอกน้ำดื่ม และช่วงเริ่มต้นการทำงานสมัยติดตาม อาจารย์เฟื้อ บรมครูแห่งการอนุรักษ์จิตรกรรมไทย ไปคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามโบราณสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศในช่วงพ.ศ.2501-2507
“บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่พ่ออยู่ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2525 จนกระทั่งเสียชีวิต เป็นบ้านหลังแรกที่เป็นสินทรัพย์จริง ๆ ของท่าน และปัจจุบันขวัญกับน้องสาวก็อาศัยอยู่ที่นี่ เราคิดว่าสิ่งที่พ่อเขียนและสร้างมีอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนและเชื่อว่ามีหลายคนอยากเห็นว่าที่นี่มีอะไรที่อะเมซิ่งซ่อนอยู่บ้าง” ขวัญในวัย 40 ปีซึ่งปัจจุบันทำงานประจำในตำแหน่ง Digital Creator ที่ JWD Art Space กล่าว
จากห้องชั้นล่างได้มีการรีโนเวตบ้านโดยทำบันไดวนขึ้นไปยังชั้นสองซึ่งเต็มไปด้วยภาพวาด ภาพสเก็ตช์ กวีนิพนธ์ที่เข้ากรอบเรียบร้อยจำนวนมาก รวมไปถึงตู้ไม้ขนาดใหญ่ที่อัดแน่นด้วยอุปกรณ์สำหรับวาดรูปและเขียนบทกวี ตัวอย่างการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง สมุดร่างบทกวี หนังสือ ภาพสเก็ตช์ที่ไม่ได้ใช้ เอกสารจำนวนมากและกองหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเกี่ยวกับท่านอังคาร ภายในตู้ลิ้นชักเหล็กหลายหลังขวัญยังจัดเก็บภาพสเก็ตช์ต่าง ๆ ของพ่อแบ่งเป็นหมวดหมู่และพีเรียดและบทกวีจัดแบ่งเป็นเกรด A-D ตามสภาพความสมบูรณ์ของชิ้นงาน งานที่อยู่ในสภาพชำรุดมากจะส่งให้นักอนุรักษ์ซ่อมแซมให้กลับฟื้นคืนสภาพ
ในส่วนห้องทำงานของท่านอังคาร ขวัญกล่าวว่าเธอพยายามจำลองให้อยู่ในสภาพเหมือนจริงขณะที่พ่อทำงานให้ได้มากที่สุด
“ขวัญเป็นคนชอบถ่ายรูปและได้ถ่ายรูปพ่อไว้พอสมควร ตอนนั้นเราไม่ได้คิดว่าจะทำ Archive อะไร แค่อยากเก็บภาพเป็นความทรงจำ แต่ภาพเหล่านี้ช่วยให้เราเห็นรายละเอียดในห้องทำงานพ่อทั้งหมด เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งนอกจากโมเมนต์ความผูกพันส่วนตัว พ่อจะตื่นตั้งแต่ตี 4-5 มาอ่านโคลงและแต่งบทกวี” ขวัญผู้เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับพ่อเรื่อง “พ่ออังคาร ผู้มาจากดาวโลก” รำลึกถึงพ่อ
จากรูปที่ขวัญถ่ายไว้จะเห็นว่าในห้องทำงานเต็มไปด้วยกองหนังสือและเอกสารจำนวนมากรายล้อมตัวท่านอังคารไปหมด และภาพถ่ายขนาดใหญ่แสดงลวดลายรดน้ำปิดทองของตู้พระธรรมฝีมือช่างครูวัดเชิงหวายในสมัยอยุธยาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นตู้พระธรรมที่งดงามที่สุดในประเทศไทย ท่านอังคารชื่นชอบลวดลายกนกเครือเถาวัลย์ที่มีความอ่อนช้อยและซ้อนทับกันอย่างวิจิตรพร้อมกับลวดลายสิงสาราสัตว์ของตู้พระธรรมนี้อย่างมาก
นอกจากปรับปรุงบ้านเป็นหอจดหมายเหตุที่เปิดให้คนสนใจเข้าชม ฐานข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บในระบบดิจิทัลเป็น Digital Archive ด้วย
“ตั้งแต่พ่อยังมีชีวิต ขวัญทำ Facebook Page ชื่อ Angkarn Kallayanapong พยายามเลือกคอนเทนต์ที่ไม่ยาวไปและไม่ยากไป มีทั้งบทกวี ภาพวาดและเล่าเรื่องแบ็กกาวนด์ต่าง ๆ หลายแง่มุมที่หลายคนไม่รู้ เราค่อนข้างประหลาดใจว่ามีนักเรียน นักศึกษาสนใจงานพ่อพอสมควร เราจึงคิดว่าต้องทำ Digital Archive ด้วย เพื่อให้คนที่สนใจสามารถสืบค้นได้ตามหมวดหมู่ จัดทำให้ร่วมสมัยและไม่ยากจนเกินไป”
ขวัญได้น้องสาวคือ วิศาขา กัลยาณพงศ์ เข้ามาช่วยในการจัดทำ Archive ของพ่อแต่ทั้งคู่กล่าวว่าเครดิตส่วนใหญ่ต้องยกให้แม่คือ อุ่นเรือน กัลยาณพงศ์ (เสียชีวิตเมื่อปลายปี พ.ศ. 2563) ผู้เก็บข้าวของเครื่องใช้และผลงานทุกอย่างของพ่อและเป็นกำลังสำคัญในการเปิดบ้านเป็น พิพิธภัณฑ์บ้านจิตรกร กวี อังคาร กัลยาณพงศ์ ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะปิดตัวไป
“แม่เป็นคนแรกที่ทำ Archive ไว้ เราเข้ามาทำให้เป็นระบบและเป็นหมวดหมู่มากขึ้นเท่านั้น” ทั้งคู่กล่าว
ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์
ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฏ ใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ
เพียงกินนอนสืบพันธุ์นั้นฤๅ ชื่อว่าสิ่งประเสริฐเลิศล้ำ
หยามยโสกักขฬะอธรรม เหยียบย่ำทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์
(บางส่วนจากบทกวี โดย อังคาร กัลยาณพงศ์)
ขวัญกล่าวว่างานของท่านอังคารมีแนวคิดและรูปแบบปรับเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ สุขภาพ และสภาพสังคมในขณะนั้น ในช่วงปี พ.ศ.2490-2507 ซึ่งเป็นการทำงานยุคแรก ๆ นิยมใช้ปากกาคอแร้งเป็นหลักในการทำงาน และเป็นช่วงที่ได้ติดตามอาจารย์เฟื้อไปในการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยโบราณทำให้ได้อิทธิพลด้านการใช้ลายเส้นไทยที่ละเอียดและอ่อนช้อย
ช่วงปี พ.ศ.2508-2520 เป็นช่วงสำคัญที่ขวัญเรียกว่า “ช่วงค้นหาตัวเอง” เนื้อหาทั้งในกวีนิพนธ์และงานจิตรกรรมมีความเข้มข้นและแสดงพลังวัยหนุ่มซึ่งสะท้อนผ่านลายเส้นที่หนักแน่น เช่น ภาพชุดชาร์โคลชื่อ “มนุษย์ละลาย” (Melt Man) จำนวน 3 ภาพ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในคอลเล็กชันของหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ (The National Gallery of Singapore) และเป็นช่วงเวลาที่โคลงฉันท์กาพย์กลอนที่แต่งไว้ได้นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือเช่น กวีนิพนธ์ ลำนำภูกระดึง บางกอกแก้วกำศรวล (นิราศนครศรีธรรมราช) และบางบทจากสวนแก้ว
“ย่าเป็นคนที่ปลูกฝังการรักการอ่านให้พ่อเพราะย่าชอบให้พ่ออ่านวรรณกรรมให้ฟัง เช่น เรื่องอิเหนา ท่านจึงซึมซับในโคลงฉันท์กาพย์กลอนมาตั้งแต่เด็ก สมบัติของย่าที่พ่อได้มาคือ ครก และท่านเก็บไว้อย่างดีเพื่อเป็นพลังใจในการสร้างสรรค์ผลงาน
“เวลาเขียนบทกวี ท่านจะเขียนบนกระดาษเปล่าและไม่ใช้ไม้บรรทัดในการตีเส้น ท่านปฏิเสธการใช้ไม้บรรทัดโดยบอกว่าให้มนุษย์เราเชื่อมั่นในตัวเอง ท่านเคยกล่าวว่าไม้บรรทัดจะเที่ยงตรงได้เท่าไรกันเชียว”
ช่วงต่อมาระหว่าง พ.ศ.2521-2530 เป็นช่วงที่สนใจเรื่องพุทธศาสนา ปรัชญา และจักรวาลทำให้เนื้อหามักสะท้อนคติชีวิต ปรัชญา และสัจธรรมผ่านรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ภาพวาดชาร์โคลชื่อ “เมฆมโนคติ”
ในช่วงบั้นปลายชีวิตตั้งแต่พ.ศ.2530 จนกระทั่งท่านเสียชีวิตจากภาวะไตวายเมื่อพ.ศ.2555 เป็นช่วงที่สายตาไม่ดีจากทั้งอายุที่มากขึ้นและปัญหาสุขภาพทำให้ภาพวาดลดทอนรายละเอียดลงไปมาก
“มีสเก็ตช์ที่ทิ้งเยอะมากเพราะท่านว่าดีไม่พอ แต่ท่านบอกว่าสิ่งที่ทำได้ต่อเนื่องทุกวันคือการเขียนบทกวี ก่อนท่านเสียไม่กี่วันท่านยังบอกว่ายิ่งแก่ยิ่งไหลมาเอง”
ฉันเอาฟ้าห่มให้ หายหนาว
ดึกดื่นกินแสงดาว ต่างข้าว
น้ำค้างพร่างกลางหาว หาดื่ม
ไหลหลั่งกวีไว้เช้า ชั่วฟ้าดินสมัยฯ
(บางส่วนจาก ปณิธานของกวี โดย อังคาร กัลยาณพงศ์)
ขวัญกล่าวว่าพ่ออายุ 50 ปีเมื่อเธอเกิด เธอได้เรียนวาดรูปกับพ่อบ้างแต่น้อยมาก แต่ได้ซึมซับกลิ่นอายศิลปะมาโดยตลอด ขวัญจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและต่อระดับปริญญาโทสาขาบริหารวัฒนธรรม คณะนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ไม่ได้ทำงานศิลปะแต่เธอคลุกคลีแวดวงศิลปะหลายปีในฐานะผู้ประสานงานนิทรรศการศิลปะ ผู้ช่วยคิวเรเตอร์ และคิวเรเตอร์ นอกจากนี้ยังมีผลงานเขียนหนังสือ เช่น เรื่องสั้นชื่อ“เงาลับจากปลายป่า” นิยายเรื่อง “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปี 2561 และรวมเรื่องสั้น “ในเงาคือเราผู้ซ่อนเร้น”
“ในขณะที่จัดทำ Archive เราก็เจอหลายสิ่งที่เซอร์ไพรส์ เช่น งานคัดลอกจิตรกรรมไทยโบราณบนกระดาษไขและกระดาษปอนด์ที่ท่านยังเก็บไว้ บทกวีที่เราไม่เคยเห็น ภาพร่างชาร์โคลที่เราไม่รู้ว่าท่านวาดแบบนี้ด้วย เช่น รูปเสือ และงานจิตรกรรมหลายชิ้นที่ยังวาดไม่เสร็จเพราะถ้าวาดแล้วไม่ดีท่านก็จะลบแล้ววาดใหม่ ท่านว่าความคิดใหม่จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภาพวาดหนึ่งชิ้นใช้เวลาค่อนข้างนาน”
ขวัญกล่าวว่าส่วนที่ยากที่สุดของโครงการนี้คือการรีโนเวตอาคารเพราะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการแสดงงานโดยคำนึงถึงความชื้น แสงแดด ฝุ่นและระบบป้องกันการโจรกรรม เป็นต้น
“เราต้องค่อย ๆ แก้ปัญหาไปด้วยเงินทุนส่วนตัวที่จำกัด ยังไม่ได้ของบประมาณสนับสนุนจากทางภาครัฐแต่คิดว่าควรจะลองยื่นขอดู เราอยากปูทางทำโครงการนี้เพราะถ้าเราไม่ทำใครจะทำ ต่อไปเมื่อไปอยู่ในมือใครบริหารก็จะง่ายขึ้น เฟสต่อไปก็จะทำคาเฟ่และอาร์ตชอปภายในบริเวณบ้าน”
Art and Archive of Angkarn Kallayanapong คาดหมายว่าจะเป็นแหล่งรวบรวมทุกมิติของชีวิตและผลงานของท่านอังคารผู้ได้ชื่อว่ากวีสามภพชาติตามที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับมกุฎ อรดี ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2529 ว่า
“ผมเชื่อว่าในภพชาติก่อนผมเคยเขียนบทกวีมาก่อน แล้วมาในภพชาตินี้ผมก็เขียนกวี และผมจะยังเป็นกวีเป็นศิลปินอีกในภพชาติต่อไป”
Fact File
- ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong ได้ที่ Facebook : Angkarn Kallayanapong
- อังคาร กัลยาณพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ.2484 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2488 รุ่นเดียวกับประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) และ ท่านกูฎ-ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ
- ท่านอังคารมีเหตุให้เรียนไม่จบต้องลาออกกลางคันและใช้ชีวิตอย่างยากแค้นและหาเลี้ยงชีพจากการทำงานศิลปะเล็ก ๆ น้อย ๆ และแต่งกลอนขาย จนกระทั่งอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรชักชวนให้ไปช่วยในโครงการคัดลอกจิตรกรรมไทยตามโบราณสถานต่าง ๆ จนทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมไทยและพัฒนาฝีมือสร้างสรรค์งานอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
- ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา ท่านอังคารได้สร้างสรรค์จิตรกรรมชิ้นใหญ่และจิตรกรรมฝาผนังสำหรับสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงแรมเพรสซิเดนท์ โรงแรมเอราวัณ ธนาคารแห่งประเทศไทย วิทยาลัยพยาบาลสระบุรี โรงเรียนเตรียมทหารเก่า (ปัจจุบันผนังงานที่มีผลงานถูกทุบทิ้งไปแล้ว) และประพันธ์บทกวีจำนวนมาก
- พ.ศ. 2529 อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ (S.E.A. Write) จาก ปณิธานกวี และกระทรวงวัฒนธรรมยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี 2532
- อังคาร กัลยาณพงศ์ เสียชีวิตจากภาวะไตวายในวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555