หมอศิลปะ “ขวัญจิต เลิศศิริ” ผู้มีภาพเขียนอายุกว่า 200 ปีเป็นคนไข้
- ขวัญจิต เลิศศิริ เป็นหนึ่งในสามช่างอิสระของไทยที่ทำงานอนุรักษ์และซ่อมงานศิลปะซึ่งถือว่ามีน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้นั่นก็คืองานศิลปะที่ป่วย
- การอนุรักษ์งานศิลปะเหมือนการดูแลคนไข้ ต้องทำทะเบียนประวัติและรักษาให้ถูกโรคถูกวิธีเพื่อเสริมภูมิต้านทานให้แข็งแรงขึ้น
- งานอนุรักษ์ศิลปะ ต้องใช้ความรู้ทั้งศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ และการรื้อฟื้นภูมิปัญญาครูช่างไทยในอดีต
เมื่อศิลปะโบราณวัตถุโดยเฉพาะงานจิตรกรรมเสื่อมสภาพ ชำรุดเสียหาย หรืออาการเข้าขั้นโคม่าเรียกว่าแทบละเอียดเป็นผุยผง ชื่อของ ขวัญจิต เลิศศิริ มักเป็นชื่อแรกๆ ที่คนในวงการศิลปะเรียกหาในฐานะ หมอศิลปะ ให้มาช่วยจ่ายยาหรือถึงขั้นผ่าตัด
ไม่ว่าจะเป็นผ้าพระบฏที่สภาพเปื่อยยุ่ย ภาพจิตรกรรมเขียนบนผ้าและผนึกบนแผ่นไม้ ที่วัดยองแยง จ.นครราชสีมา เขียนโดยช่างสกุลเดียวกับที่วาดจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระแก้ว สภาพไม้ผุพังเพราะการทำลายของปลวก หรืองานชุดภาพคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามโบราณสถานต่างๆ ที่อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ใช้กระดาษแก้วในการคัดลอกและปัจจุบันชำรุดกรอบเปราะแตกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ งานเหล่านี้ล้วนผ่านการผ่าตัดครั้งใหญ่โดย หมอศิลปะ ที่ชื่อ ขวัญจิต เพื่อให้กลับฟื้นคืนสภาพและต่ออายุสมบัติของชาติ
“งาน อนุรักษ์ เปรียบเสมือนการดูแลคนไข้ ยิ่งงานเก่าเหมือนเราดูแลคนแก่ในบ้าน เราไม่ได้ทำให้คนแก่ต้องแต่งตัวดี แต่งหน้าสวยหรือดูมีอายุอ่อนวัย แต่ทำอย่างไรให้เขาได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม มีภูมิต้านทานและแข็งแรงขึ้นและรู้ที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเพื่อยืดอายุของเขา” ขวัญจิตเน้นถึงหลักการทำงานอนุรักษ์ที่เธอมีประสบการณ์มากว่า 28 ปี
เปิดคลินิก หมอศิลปะ
หลังจากเรียนจบด้านจิตรกรรมไทยจากโรงเรียนเพาะช่าง เธอเข้ารับราชการที่กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 17 ปีก่อนย้ายไปประจำในตำแหน่งนายช่างศิลปกรรมอาวุโส ที่กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม สำนักโบราณคดีอีก 10 ปีในสังกัดของกรมศิลปากร ปัจจุบันขวัญจิตลาออกมารับงานอิสระและปรับพื้นที่บางส่วนบริเวณบ้านพักอาศัยที่จังหวัดอยุธยาเป็นห้องทำงานขนาดใหญ่ที่เธอเรียกว่า “ห้องปฏิบัติการอนุรักษ์” อันเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือทั้งสำหรับงานศิลปะและงานช่างจัดวางอย่างเป็นระเบียบ
โต๊ะยาวขนาดใหญ่ที่ตั้งกลางห้องทำหน้าที่เหมือนเตียงผ่าตัดและคนไข้อาการสาหัสที่กำลังได้รับการรักษาคือผ้าพระบฏ 13 ชิ้น ว่าด้วยเรื่องเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ จากวัดพระงามในจังหวัดอยุธยาที่ภาพเกือบทั้งหมดโดนปลวกกินและแข็งติดกันเป็นก้อนด้วยดินปลวก ผู้ป่วยรายถัดมาคือภาพจิตรกรรมในกรอบ ภาพสัตว์หิมพานต์ เทคนิค สีฝุ่น บนกระดาษข่อย 4 ภาพจากวัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ที่ไม่เคยได้นำลงมาทำการอนุรักษ์มาก่อนเลยตลอด 200 กว่าปีที่แขวนอยู่เหนือกรอบประตูหน้าต่างภายในพระวิหารหลวง
ในการรักษาผ้าพระบฏ ขวัญจิตและทีมงานบรรจงแกะผ้าที่ม้วนติดกันเป็นก้อนทีละชั้นๆ และทำความสะอาดโดยใช้มีดผ่าตัดและเหล็กปลายแหลมค่อยๆ สะกิดเอาดินปลวกออก จากนั้นจะเสริมผ้าด้วยกระดาษญี่ปุ่นไร้กรดเพื่อเสริมความแข็งแรง และเย็บเนาบนผ้าผืนใหม่เพื่อให้แขวนได้เหมือนเดิม
“เรื่องราวแต่ละกัณฑ์ยังอ่านได้และสียังสวยมากคาดว่าเป็นงานที่เขียนในสมัยรัชกาลที่ 4 ทุกครั้งที่เอางานโคม่ากลับมาบ้าน สามีจะล้อว่าเอาผีเข้าบ้านอีกแล้ว ทำไมงานผุๆ ชิ้นหนึ่งที่พระกำลังจะทิ้งเราถึงอยากอนุรักษ์มาก เพราะสิ่งนี้แสดงถึงภูมิปัญญาช่างไทยที่มีการกลั่นกรองความคิด ออกแบบ จินตนาการให้เป็นรูปจากคำพูดหรือจากตำราพุทธศาสนา บ้านเรามีของพวกนี้เยอะมากและโดนทิ้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์”
ผู้ป่วยติดเตียงอายุ 200 ปีที่ชื่อจิตรกรรมสัตว์หิมพานต์วัดสุทัศน์ฯ
ส่วนภาพจิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษ 4 ภาพ ที่กำลังดำเนินการอนุรักษ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์ภาพในกรอบ จิตรกรรมภาพสัตว์หิมพานต์ที่แขวนประดับอยู่เหนือกรอบประตูและหน้าต่างภายในพระวิหารหลวงของวัดสุทัศน์ฯ ที่เธอทำต่อเนื่องมาตลอด 7 ปี ภาพชุดนี้มีทั้งหมด 48 ภาพแต่ชำรุดเสียหายไป 2 ภาพที่ประดับเหนือช่องประตูกลางทางเข้าด้านหน้า ซึ่งเป็นประตูใหญ่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ภายในพระวิหารหลวง เมื่อครั้งเกิดเหตุไฟไหม้บานประตูไม้แกะสลักฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 ในปี 2502
เนื่องจากภาพชุดนี้ติดตั้งไว้สูงห่างไกลจากสายตา ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด จึงไม่ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางทั้งที่เป็นงานฝีมือชั้นสูงของช่างหลวงในราวสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มีการอนุรักษ์ซ่อมแซม ภาพจำนวน 22 ภาพได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้วและนำไปติดตั้งยังตำแหน่งเดิม
ภาพชุดนี้มีอายุกว่า 200 ปีและไม่เคยนำลงมาเพื่ออนุรักษ์ซ่อมแซม ในอดีตตัวอาคารพระวิหารชำรุดทรุดโทรมมาก หลังคารั่ว ปลวกและแมลงกัดทำลาย ทำให้ภาพจิตรกรรมในกรอบชุดนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก บางภาพอยู่ในแนวทางน้ำฝน กระดาษบวมฉีกขาดจากการหดตัวของแผ่นไม้ที่ตรึงภาพอยู่ มีปลวกแมลงกัดทำลายและทิ้งคราบดินปลวก เชื้อรา สีซีดจางและหลุดลอก คราบสกปรกและฝุ่นละอองหนาทึบ ในแผนดำเนินการอนุรักษ์ ทีมงานของขวัญจิตจะทยอยนำภาพลงมาอนุรักษ์ซ่อมแซม ครั้งละประมาณ 3 ภาพ
ภาพที่เธอกำลังซ่อมแซมบางภาพอยู่ในขั้นตอนการถมซ่อมชั้นรองพื้นด้วยดินสอพองและกาวเมล็ดมะขามเพื่อปิดประสานช่องโหว่ของรองพื้นเดิมที่ชำรุด และเพื่อรองรับการเขียนสีซ่อมใหม่ บางภาพอยู่ระหว่างการเขียนสีซ่อมโดยเติมเฉพาะบนชั้นรองพื้นดินสอพองใหม่เท่านั้นด้วยวิธีการดิ่งเส้นคัดน้ำหนักสีด้วยพู่กันปลายเล็กเรียวให้ดูกลมกลืนกับของเก่า เพื่อให้สามารถแยกได้ว่าส่วนไหนเติมใหม่และส่วนไหนเป็นของเก่าดั้งเดิม
“ใช้พู่กันเบอร์ 0 พิเศษ เพื่อคัดน้ำหนักสีให้เนียนละเอียด เราต้องคัดน้ำหนักให้กลมกลืนแต่ไม่ไปเขียนทับฝีมือครู ถ้าดูในระยะหนึ่งจะเห็นว่าสีกลมกลืนแต่ถ้าดูใกล้ๆ จะเห็นว่านี่คือรอยซ่อม หลักการอนุรักษ์สากลระบุว่าสีหรือวัสดุใดๆ ที่เราใช้ต้องสามารถเอาออกได้ (remove) ในอนาคต ทำไมเราถึงไม่ใช้สีฝุ่นในการเขียนสีซ่อมเพราะสีฝุ่นทึบแสงและน้ำหนักมาก เวลาเขียนสีซ่อมนั้นทำให้กลมกลืนกับของเก่าได้ยาก เราจึงใช้สีน้ำเกรดอาร์ตติสที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้วว่าไม่ซีดจางในระยะเวลาสั้น หากวันข้างหน้าในอนาคตสีที่เราเขียนซ่อมไว้มีปัญหาก็สามารถซับออกได้หรือ เขียนซ่อมใหม่ได้”
ทำทะเบียนผู้ป่วย
ขั้นตอนการอนุรักษ์ที่สำคัญคือการบันทึกหลักฐานเหมือนการทำทะเบียนผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยมีสภาพเป็นอย่างไร เขาเจ็บป่วยตรงไหนและหมอรักษาอย่างไร ให้ยาอะไรไปบ้าง ขวัญจิตเน้นว่า “งานอนุรักษ์ไม่มีอะไรที่ดีที่สุด อาจดีในยุคนี้แต่อนาคตอาจมีเทคนิควิธีการที่ดีกว่า” และพึงระลึกเสมอว่า“เราไม่ใช่คนสุดท้ายที่จะซ่อม”
“งานชิ้นหนึ่งเมื่อเราลงมือทำไปแล้วเป็นการเปลี่ยนแปลงตลอดกาล วัสดุและวิธีการที่เราใช้อาจจะดีในวันนี้ แต่อีก 50 ปีข้างหน้าอาจมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า เราจึงต้องคิดเผื่อคนในอนาคตที่เขาต้องมาแก้ไขสิ่งที่เราทำเอาไว้ได้ เช่นกาวที่ใช้ยึดตรึงภาพ เราเลือกใช้กาวเชื้อน้ำคือ กาวที่ใช้น้ำเป็นองค์ประกอบในการทำละลาย เช่นกาวแป้งสาลีที่สกัดโปรตีนออก กาวเม็ทธิลเซลลูโลส เป็นต้น เพราะสามารถถอดงานออกได้โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับชิ้นงาน คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ มักคิดว่ากาวที่ดีที่สุดต้องเป็นกาวที่แข็งแรงที่สุด อันนี้คือผิดพลาดมาก”
ขวัญจิตทำงานร่วมกับ สุริยะ เลิศศิริ ผู้เป็นสามีซึ่งจบด้านประติมากรรมสากลจากสถาบันเดียวกันและลาออกจากงานประจำที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อมาช่วยงานของภรรยาร่วมกับทีมงานอีก 5 คน
สุริยะกล่าวเสริมว่า “ปัญหาที่เจอตอนนี้คือเราต้องไปซ่อมงานที่คนก่อนคิดว่าจะเป็นการซ่อมที่ไม่มีใครทำแล้ว มันเลยยาก เราต้องระมัดระวังในการเลือกวัสดุที่จะนำมาใช้ในการอนุรักษ์ เช่นกระดาษเราก็ต้องใช้กระดาษไร้กรดเพื่อไม่ให้วัสดุสร้างปัญหาให้กับชิ้นงาน หรือการเข้ากรอบเราใช้เทปลินินที่ถอดออกได้”
การอนุรักษ์คือสหวิชา
ขวัญจิตย้ำว่างานอนุรักษ์นั้นเป็น “สหวิชารวมทั้งศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน” ในขณะที่รับราชการเธอโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ได้ไปฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ของยูเนสโก ได้ไปศึกษาดูงานอนุรักษ์และได้ร่วมงานกับนักอนุรักษ์จากหลายประเทศ
“งานอนุรักษ์เป็นงานพิเศษ เพราะต้องนำเอาความรู้ด้านศิลปะผนวกกับวิทยาศาสตร์เพื่อมาวินิจฉัยวิเคราะห์ปัญหา คล้ายกับหมอวินิจฉัยอาการคนป่วย หากเราจบการศึกษาทางด้านศิลปกรรมและมองแค่ในมุมของช่าง อาจส่งผลให้เราทำการวินิจฉัยผิดพลาดได้ เมื่อต้องตัดสินใจเลือกใช้วิธีการและสารเคมีต่างๆ เพื่อทำการรักษา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะเข้ามาช่วยเรา เพื่อช่วยให้รักษาจ่ายยาให้ถูกโรค”
สุริยะสำทับว่า “เราเป็นคนเรียนศิลปะมาถึงเราเป็นศิลปินไม่ได้ แต่เราเป็นหมอศิลปินได้ เราสามารถเป็นคนดูแลงานศิลปะให้มีอายุต่อไปได้”
เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาช่วยในการทำงานอนุรักษ์มีหลากหลายทั้งวัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เช่นกล้องกำลังขยายสูง กล้องอินฟาเรด เครื่องสแกนเลเซอร์ เครื่องรีดร้อนคล้ายเตารีดขนาดเล็กช่วยเอากาวออก เครื่องโต๊ะลมดูด (suction) เป็นอุปกรณ์ช่วยในการผนึกภาพ หรือใช้ในกระบวนการล้างกรดบนผ้าและกระดาษ แต่ถึงจะมีเทคโนโลยีดีอย่างไรก็ยังต้องพึ่งพาทักษะมนุษย์
ภูมิปัญญาครูช่างไทย
ถึงแม้เทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ จะช่วยให้งานอนุรักษ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่ขวัญจิตรู้สึกทึ่งตลอดการทำงานหลายสิบปีคือ ภูมิปัญญาของช่างไทย ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาวัสดุพื้นถิ่น หรือเทคนิควิธีการนำมาประยุกต์ใช้ เช่นก่อนเขียนจิตรกรรมฝาผนังช่างโบราณมีเทคนิคการเตรียมพื้นผนังโดยการฉาบปูนขาวหมักที่ได้จากการเอาหินปูนมาเผาไฟและนำไปหมักแช่น้ำแรมเดือน และนำมาทับน้ำเมื่อหมาดๆ นำมาผสมทรายละเอียด กาวหนังสัตว์และน้ำอ้อย ก่อนเอามาฉาบบนผนังอิฐซึ่งการฉาบแต่ละครั้งจะไม่ฉาบหนามาก รอให้แต่ละชั้นแห้งสนิท ปูนโบราณจึงแกร่งมาก
“จริงๆ แล้วปูนโบราณของไทยล้วนเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของปูน ให้กลับไปเป็นหินปูนที่แกร่ง การนำเอาหินปูน (Calcium Carbonate) มาเผาไฟให้ปูนสุกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี เมื่อหินปูนถูกเผาความร้อนจะขับเอาคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำออกจากหินปูนให้กลายเป็น ปูนขาว (Calcium Oxide) ในกระบวนการนี้ปูนขาวจะทำปฏิกิริยากับน้ำจนเกิดเป็นปูนหมัก (Calcium Hydroxide) ผลที่ได้คือ เนื้อปูนเหนียวและมีความแข็งแรง แล้วคนโบราณรู้ได้อย่างไร”
ส่วนผนังที่มีความเป็นกรดและด่างสูง จะมีฤทธิ์ในการกัดกร่อนแล้วทำปฏิกิริยากับสีทำให้สีซีดจางเร็วหรือเพี้ยนไปจากเดิม คนโบราณมีเทคนิคในการเตรียมผนังคือ เมื่อฉาบผนังเสร็จเขาจะทิ้งเป็นแรมเดือน และก่อนจะเตรียมชั้นรองพื้นเขียนจะเอาใบขี้เหล็กมาต้มเพราะในน้ำใบขี้เหล็กมีฤทธิ์เป็นกรด ช่างโบราณจะเอาน้ำใบขี้เหล็กมาล้างผนัง (ปะสะ) 7 วันต่อเนื่องและทดสอบว่าผนังใช้ได้หรือยังโดยใช้ขมิ้นขีดทดสอบ
“ขมิ้นกับปูนไม่ถูกกันถ้าปูนยังเป็นด่างเมื่อขีดขมิ้นลงไปบนผนังปูน จะปรากฏเป็นสีแดง ถ้าผนังปูนยังเป็นสีแดงก็ต้องล้างผนังต่อ แต่ถ้าขีดแล้วผนังปูนเป็นสีเหลืองแสดงว่าผนังใช้งานได้แล้ว ถ้านำเทคนิคของช่างโบราณนี้มาเทียบกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ กระบวนการนี้คือการสะเทินกรดที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันทั่วโลกว่า เป็นการปรับค่าพีเอช (pH) ทำให้วัสดุมีค่าเป็นกลาง ขมิ้นเปรียบเสมือนกระดาษลิตมัสใช้ทดสอบค่าความเป็นกรดและด่าง คนไทยรู้เรื่องนี้มากว่า 100 ปีแล้ว”
กาวเมล็ดมะขามสำเร็จรูป
คนโบราณยังมีเทคนิคการรองพื้นด้วยกาวเมล็ดมะขามผสมดินสอพอง เพราะกาวเมล็ดมะขามมีลักษณะพิเศษคือยอมให้ความชื้นผ่านเข้าออกได้ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ผนังหายใจได้” เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นของเมืองไทยเพราะคนโบราณเรียนรู้ธรรมชาติ ความชื้นเป็นปัญหาใหญ่ การที่ใช้วัสดุที่แข็งแรงเกินไปย่อมไม่สามารถต้านทานได้ การยอมต่างหากที่จะอยู่ได้อย่างปลอดภัย
“ตอนนี้เราทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิม วงการอนุรักษ์สมัยนี้นิยมใช้กาวที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นพลาสติกไปผนึกผนังเพราะหวังว่าจะทำให้งานแข็งแรง แต่อย่าลืมว่าธรรมชาติเมื่อออกตรงนี้ไม่ได้ก็จะหาทางไปออกตรงอื่น ตรงที่เราผนึกไว้แข็งแรงก็จริงความชื้นออกไม่ได้แต่มันก็จะหาทางออกอื่น โดยเฉพาะจุดที่อ่อนแอ ทำให้บริเวณใกล้เคียงเสียหายแทน เราเคยคิดว่าเราน่าจะหยุดซ่อมสัก10 ปีไหม แล้วกลับมาทบทวนว่าที่เราบูรณะไปในอดีตสร้างความเสียหายอะไรไปบ้าง เราจะเดินหน้าตามฝรั่งต่อไปหรือหันกลับมาทบทวนสิ่งที่เรามี หันกลับมาดูว่าคนโบราณเราใช้อะไรทำไมจิตรกรรมฝาผนังบางแห่งอยู่ได้เป็น 100 ปี มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในภูมิปัญญานั้น”
นี่จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่องกาวเมล็ดมะขาม ที่ขวัญจิตทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อถอดรหัสโครงสร้างและคุณสมบัติของกาวจากธรรมชาติ จนสามารถพัฒนาการผลิตกาวเมล็ดมะขามสำเร็จรูปได้
“การเตรียมกาวเมล็ดมะขามแบบดั้งเดิม กว่าจะได้กาวใช้เวลานานมาก บูดเสียง่าย คนถึงหันไปใช้ของสำเร็จรูปแทน เรารู้ว่าที่ญี่ปุ่นเขาพัฒนากาวแป้งสาลีโดยสกัดโปรตีนออก ทำให้กาวมีประสิทธิภาพดีขึ้นและอยู่ได้นานขึ้น กาวเมล็ดมะขามก็สามารถทำได้เช่นกันและเราประสบความสำเร็จในการผลิตกาวสำเร็จรูปแต่สิ่งที่ยากคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้กาวเป็นที่ยอมรับและถูกนำไปใช้ทั้งการสร้างสรรค์งานยุคใหม่และการอนุรักษ์”
รักษาสุขภาพก่อนป่วยหนัก
ขวัญจิตกล่าวว่า งานชิ้นสำคัญหลายชิ้นเกิดความเสียหายจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทั้งจากเลือกใช้วัสดุ การเข้ากรอบ การจัดเก็บจัดแสดง หรือการเคลื่อนย้าย ทั้งๆ ที่งานหลายชิ้นอายุไม่เกินร้อยปี แต่สภาพเสียหายหนักมาก
“บ้านเรายังขาดความรู้เรื่อง การอนุรักษ์เชิงป้องกัน เราควรรู้ว่างานของเรามีจุดเปราะบางตรงไหน เช่นกระดาษ หรือจิตรกรรม อ่อนแอกับความชื้นและรังสียูวีที่ไม่ได้ทำให้ภาพบวม ซีดจางเท่านั้น แต่มันทำลายโครงสร้างทางเคมีของวัสดุ การเข้ากรอบก็เป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเรามากเพราะนักสะสม ผู้ดูแล คนเข้ากรอบขาดความรู้ความเข้าใจ ส่วนใหญ่คิดแค่ยึดตรึงให้เรียบเอากาวทาให้แน่นเพื่อให้ได้กรอบสวย ไม่ได้ใส่ใจว่าอนาคตจะแกะออกยังไง ให้ค่ากับความสวยงามมากกว่าความปลอดภัยของชิ้นงาน เสียหายต่อภาพมาก นักสะสมต้องเรียนรู้ในการดูแล เพราะเมื่องานป่วยมาหาเราหากป่วยเพียงเล็กน้อย เราก็แค่จ่ายยาไม่ต้องถึงขั้นผ่าตัด เราพยายามถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ผ่านทาง Facebook ของเราอยู่เสมอ เพื่อช่วยเตือนให้เขาตระหนักรู้”
ศิลปะป่วยมีมากแต่นักอนุรักษ์มีเพียงหยิบมือ
การขาดแคลนบุคลากรด้านการอนุรักษ์นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ถ้าไม่นับบุคลากรในหน่วยราชการ ขวัญจิตกล่าวว่ามีคนที่ทำงานอย่างเธอในเมืองไทยน้อยมาก
“นักอนุรักษ์หรือ Conservator เป็นตำแหน่งใหญ่และสำคัญมาก ในต่างประเทศตำแหน่งนี้คุณต้องมีปริญญา ต้องผ่านหลักสูตรอนุรักษ์อย่างน้อย 7 ปี แต่ในอดีตเราไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนวิชานี้ในบ้านเรา เราเองจึงต้องใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงาน การฝึกอบรม การศึกษาดูงานและการทำงานร่วมกับนักอนุรักษ์ทั้งในและต่างประเทศ”
มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดหลักสูตรอนุรักษ์ระดับปริญญาโทมาได้ 4 รุ่นมีคนเรียนเพียงรุ่นละ 4-5 คน ขวัญจิตได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษอยู่เนืองๆ และห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ ของเธอได้ถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษา
“ปัญหาคือเมื่อศึกษาจบมาแล้ว ทาง ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ยังไม่รับรองคือไม่มีตำแหน่งนักอนุรักษ์ในระบบราชการ ในกรมศิลปากรมีแค่ตำแหน่งนายช่างศิลปกรรมกับนักวิทยาศาสตร์ เราจึงมีปัญหาเรื่องการสร้างบุคลากรมารับช่วงงาน”
สุริยะเสริมว่า “การสอนระดับปริญญาโทไม่ได้สร้างนักปฏิบัติงาน เป็นการสอนนักบริหาร ควรมีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับมัธยมต่อเนื่องจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ตอนนี้เรามีการสอนแต่ตรงหัวในขณะที่ตรงล่างกับตรงกลางด้วนแหว่ง”
การสร้างบุคลากรเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญเร่งด่วน ในแต่ละปีทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่คนที่จะมีความรู้พร้อมในการลงมือทำงานด้านนี้น้อยมาก งานอนุรักษ์ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ทั้งด้านภาคทฤษฏีและการปฏิบัติ “หากองค์กรที่เกี่ยวข้องไม่มีความจริงใจในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และจิตสำนึกที่ดีออกมาทำงานอนุรักษ์แล้ว มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศเราจะวิกฤติแน่” ขวัญจิตกล่าว
จงอย่าให้ศิลปินซ่อมงาน
ก่อนรับงานอนุรักษ์แต่ละครั้งสุริยะกล่าวว่า ทางทีมต้องตรวจสอบและเข้าใจงานที่จะทำก่อนว่าพวกเขามีทักษะที่จะซ่อมงานชิ้นนั้นเพียงพอหรือไม่
“ถ้าไม่ชำนาญแล้วไปทำ คุณจะกลายเป็นนักทำลายตัวฉกรรจ์ อย่างเราถ้าตรงไหนเราไม่มั่นใจเราจะหยุดเพราะมีความเสี่ยง งานบางชิ้นอยู่กับเราหลายปีเพราะเรายังหาทางทำไม่ได้ เราจะรอจนกว่าจะมีความรู้หรือมีเทคโนโลยีที่ทำได้ถึงจะทำต่อ”
ขวัญจิตสำทับว่าจากประสบการณ์ของเธอ “อย่าให้ศิลปินซ่อมงานเก่าของตัวเองเด็ดขาด” เพราะศิลปินจะมองเห็นแต่ข้อบกพร่องของภาพตัวเอง และพยายามจะแก้ไขโดยคิดว่าการเขียนเติมจะทำให้งานสมบูรณ์เพราะคิดว่าของเก่าไม่สวยพอ ผลงานหลายชิ้นเสียคุณค่าไปเลยเพราะการเขียนซ่อม ศิลปินมักมองความบกพร่องของชิ้นงานมากกว่าการพิจารณาปัญหาที่แท้จริง
“เคยซ่อมงานชิ้นหนึ่งในหอศิลป์พีระศรี ศิลปินเจ้าของภาพเมื่อรู้ว่าจะมีการอนุรักษ์ภาพก็มาขอจะเอางานไปซ่อมเอง เราบอกเขาว่าเราอนุญาตให้ไม่ได้ เพราะถึงแม้เคยเป็นผลงานของเขาก็จริงแต่เป็นผลงานที่เขาเขียนสมัยเป็นนักเรียนศิลปะ ถึงเขาจะเห็นว่างานมีข้อบกพร่องแต่เขาจะเอาความรู้สึก ณ วันนี้ไปแก้งานในอดีตไม่ได้ และผลงานชิ้นนี้ปัจจุบันเป็นสมบัติของชาติไปแล้ว ถ้าเราอนุญาตให้เขาซ่อมเราก็มีความผิด”
โครงการอนุรักษ์ต่อเนื่องอีกหนึ่งโครงการที่ขวัญจิตดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 คือการช่วยราชการเป็นที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์ โบราณวัตถุสิ่งของและเอกสารจดหมายเหตุในวังสระปทุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และของเล่นส่วนพระองค์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ของรัชกาลที่ 8 และ 9 ที่วังแห่งนี้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เธอยังถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ในวังสระปทุมให้สามารถดูแลรักษาโบราณวัตถุให้ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์
Fact File
- ติดตามเรื่องการอนุรักษ์เชิงป้องกันและผลงานอนุรักษ์ของขวัญจิตเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : KwanjitLertsiri