เปิดหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นใหม่ ที่ถูกค้นพบใต้กองเพลิง มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
Arts & Culture

เปิดหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นใหม่ ที่ถูกค้นพบใต้กองเพลิง มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส

Focus
  • มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส ที่เสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อ ค.ศ. 2019 กลับมาเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมความยิ่งใหญ่อีกครั้งนับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2024 เป็นต้นมา
  • การบูรณะครั้งใหญ่ใช้เวลากว่า 5 ปีด้วยการทำงานของผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพทั่วประเทศฝรั่งเศสและใช้งบประมาณกว่า 700 ล้านยูโร (ประมาณ 54 หมื่นล้านบาท)
  • ก่อนการบูรณะมีการสำรวจทางโบราณคดีและพบหลักฐานสำคัญ 2 อย่าง คือ ชิ้นส่วนของฉากกั้นหินแกะสลักแบบพอลิโครมในสมัยกลาง และโลงศพทำจากแผ่นตะกั่ว 2โลงในสภาพไม่บุบสลายที่ฝังอยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของมหาวิหาร

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส ที่เสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2019 กลับมาเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมความยิ่งใหญ่อีกครั้งนับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2024 เป็นต้นมา ภายหลังการบูรณะซ่อมแซมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้วยงบประมาณกว่า 700 ล้านยูโร (ประมาณ 2.54 หมื่นล้านบาท) โดยศาสนสถานสำคัญอายุกว่า 850 ปีของประเทศฝรั่งเศสแห่งนี้เป็นผลงานที่โดดเด่นที่สุดในสถาปัตยกรรมแบบโกธิคที่แสดงถึงประวัติศาสตร์และศิลปะของยุคกลางในยุโรปและใช้เวลาในการสร้างกว่า 100 ปี ดังนั้นการบูรณะซ่อมแซม นอเทรอดาม ให้กลับมาใกล้เคียงกับรูปแบบเดิมให้ได้มากที่สุดจึงถือเป็นโครงการบูรณะครั้งใหญ่ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศฝรั่งเศส  

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
นักวิจัยจากสถาบัน INRAP ขณะทำการสำรวจทางโบราณคดีบริเวณจุดตัดระหว่างโถงกลางและปีกซ้ายขวา

ย้อนกลับไปก่อนการบูรณะจะเริ่มขึ้น สถาบันวิจัยทางโบราณคดีเชิงป้องกันแห่งชาติ (Institut national de recherches archéologiques préventives) หรือ INRAP ได้ส่งทีมนักวิจัยอันประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่น นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์ นักเคมีวิทยา นักธรณีวิทยา นักพฤกษศาสตร์โบราณ และ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ไปสำรวจและดำเนินการขุดค้นซากโบราณสถานของ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส ที่เสียหายจากเพลิงไหม้ว่ามีโบราณวัตถุอะไรบ้าง เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อโบราณวัตถุชิ้นนั้นๆ มากไปกว่าเดิมและเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของ นอเทรอดาม เพื่อการศึกษาวิจัยต่อไป

การสำรวจทางโบราณคดีของ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส ทำทั้งด้านนอกและด้านในของมหาวิหาร จนพบว่าส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของมหาวิหารนั้นสามารถย้อนขึ้นไปจนถึงตอนต้นของสมัยโบราณและพบร่องรอยของบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยที่ระบุได้ว่าอยู่ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 1 อีกทั้งบริเวณห้องใต้ดินของตัวอาคารที่มีความลึกประมาณ 3.50 เมตร และด้านนอกบริเวณด้านหน้าของมหาวิหารยังพบร่องรอยของที่อยู่อาศัยและร้านค้าในสมัยโรมัน รวมถึงยังพบชิ้นส่วนของโบราณวัตถุที่มาจากสมัยกลาง ก่อนที่จะมีการสร้างวิหารจนทำให้สามารถพิสูจน์ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างฐานรากของส่วนต่างๆ ของมหาวิหารด้วยเช่นกัน

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
ชิ้นส่วนของฉากกั้นหรือประตูหินที่สลักรูปใบหน้าของนักบุญตกแต่งด้วยสีพอลิโครม
หนึ่งในสองโลงศพตะกั่วรูปคนที่ถูกค้นพบในซากโบราณสถาน

สิ่งที่ถือเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญระหว่างการบูรณะ นอเทรอดาม คือ การค้นพบ ชิ้นส่วนของฉากกั้นหินแกะสลัก ที่ยังคงรักษาสภาพสีของลวดลายการตกแต่งแบบ สีพอลิโครม (polychrome) ในสมัยกลาง และ โลงศพรูปคนทำจากแผ่นตะกั่ว จำนวน 2 โลง ที่ยังคงมีสภาพไม่บุบสลายและถูกฝังอยู่บริเวณที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของมหาวิหาร คือ บริเวณแขนกางเขนหรือจุดตัดระหว่างโถงกลางและปีกซ้ายและขวา (La croisée du transept) บริเวณโถงกลาง (La nef) และบริเวณแท่นบูชาหรือบริเวณประกอบพิธีกรรม (Le chœur) ซึ่งเป็นโซนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดจากไฟไหม้

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
ส่วนหนึ่งของฉากกั้นหรือประตูหินที่ถูกค้นพบและยังมีสีพอลิโครมปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

ค้นพบชิ้นส่วนฉากกั้นหินแกะสลักแบบพอลิโครมในยุคกลาง

ในระหว่างการรื้อถอนพื้นหินอ่อน นักโบราณคดีพบชิ้นส่วนขนาดเล็กและใหญ่นับพันชิ้นของหินแกะสลักลวดลายที่มีการตกแต่งด้วยสีหลายสีที่เรียกว่า พอลิโครม ไม่ว่าจะเป็นรูปใบหน้ามนุษย์ รูปมือ และรูปใบไม้ และจากผลการวิเคราะห์พบว่าชิ้นส่วนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ ฉากกั้นหรือประตูหิน ภายในตัวมหาวิหาร ที่เรียกกันว่า เลอ ฌูเบ (Le jubé)  

ในยุคกลางนั้นบริเวณโถงกลางกับแท่นพิธีนิยมสร้างฉากกั้นหรือประตูเพื่อแยกทั้งสองส่วนออกจากกัน ด้านหลังของฉากจะเป็นที่นั่งของนักบวชหรือบาทหลวง และส่วนที่อยู่ด้านหน้าหรือด้านนอกของฉากจะเป็นส่วนของคริสต์ศาสนิกชนทั่วไป โซนของบาทหลวงที่ถูกกั้นด้วย เลอ ฌูเบ ถือเป็นโซนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดภายในศาสนสถาน ฉากกั้นนี้จะสร้างด้วยไม้ หิน หรือเหล็กดัดก็ได้ และจะมีการแกะสลัก ฉลุลวดลาย ตกแต่งประดับประดาด้วยรูปนักบุญ ทูตสวรรค์ และลวดลายต่างๆ อย่างสวยงามด้วยการทาสีแบบพลิโครมที่เป็นการใช้สีที่มากกว่าหนึ่งสี

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
ชิ้นส่วนของฉากกั้นหรือประตูหินที่มีการแกะสลักเป็นรูปใบไม้
มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
ชิ้นส่วนของฉากหินกั้นหรือประตูหินที่มีการระบายสีแบบพอลิโครมในสมัยกลาง

เมื่อมีพิธีสวดมิสซาหรือพิธีกรรมสำคัญๆ บาทหลวงและนักบวชจะมารวมตัวกันในบริเวณแท่นพิธีจากนั้นประตูของฉากกั้นก็จะถูกปิดลง ส่วนผู้ที่เข้าร่วมพิธีคนอื่นๆ ต้องรวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าประตูไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ ขุนนาง หรือบุคคลทั่วไป เพื่อไม่ให้เห็นการประกอบพิธีกรรมหรือการพูดคุยกันของบรรดาบาทหลวง จึงถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะจากนิกายโปรเตสแตนต์ต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชาวคาทอลิก ซึ่งนำไปสู่การประชุมสังคายนาของนิกายโรมันคาทอลิกที่เมืองเตรนโต (Trento) ประเทศอิตาลี เพื่อชำระแนวคิดเกี่ยวกับความสำคัญของคัมภีร์ไบเบิลและธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตจักรคาทอลิก การสังคายนานี้มีระยะเวลายาวนานต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี และหนึ่งในมติของที่ประชุมคือให้มีการทำลายหรือทุบ ฉากกั้น หรือ Le jubé นี้ทิ้งไปเพื่อให้การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของคณะบาทหลวงสามารถมองเห็นและเป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาคริสต์ศาสนิกชนที่อยู่ในโบสถ์หรือมหาวิหารได้ ในกรณีของนอเทรอดามนั้น Le jubé สร้างขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 และถูกทุบทิ้งไปในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
ชิ้นส่วนของฉากกั้นหรือประตูหินแกะสลักเป็นรูปนักบุญ
มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
ชิ้นส่วนของฉากกั้นหรือประตูหินแกะสลักเป็นรูปนักบุญ

ประมาณ ค.ศ. 1860 มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ที่ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส นำโดย เออแฌน วีโอเล เลอ ดุก (Eugène Viollet-Le-Duc) และได้มีการพบชิ้นส่วนของฉากกั้นจากสมัยกลางนี้ด้วย แต่ชิ้นส่วนที่ขุดพบนั้นสีแบบพอลิโครมได้จางหายไปหมดแล้ว เหลือไว้เพียงแต่ลวดลายต่างๆ และสีธรรมชาติของหินที่นำมาสร้างเท่านั้น และชิ้นส่วนต่างๆ ที่ได้ขุดพบครั้งนั้นถูกกระจัดกระจายไปในที่ต่างๆ เช่น บางส่วนถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ บางส่วนถูกขายให้กับนักสะสมของเก่าหรือมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน และบางส่วนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์ก

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
ชิ้นส่วนของฉากกั้นหรือประตูหินที่มีการใช้สีแบบพอลิโครมในสมัยกลาง
ชิ้นส่วนของฉากกั้นหรือประตูหินที่มีการใช้สีแบบพอลิโครมในสมัยกลาง

สำหรับการค้นพบของทีมนักวิจัยจาก INRAP ในครั้งนี้ที่นำโดย คริสต็อฟ เบนีเย (Christophe Besnier)  ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเช่นรูปใบหน้า ส่วนลำตัวของนักบุญ แขน มือ และลวดลายใบไม้ต่างๆ ยังคงมีสีพอลิโครมของยุคกลางปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดทั้งสีแดงและสีน้ำเงิน จากการค้นพบดังกล่าวทำให้นักโบราณคดีเริ่มมีข้อมูลและความรู้ความเข้าใจจนสามารถปะติดปะต่อและสร้างแบบแปลนประกอบโครงร่างฉากหินของนอเทรอดามในยุคกลางขึ้นมาได้บางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตามทางทีมนักโบราณคดียังคงต้องใช้เวลาในการศึกษาและค้นคว้าต่อไป

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
โลงตะกั่วที่บรรจุศพของบาทหลวงอ็องตวน เดอ ลาปอต์ ที่มีแผ่นจารึกอยู่บนฝาโลง

โลงตะกั่วของบาทหลวงผู้มีบทบาทในการบูรณะแท่นสวดมนต์หลักของนอเทรอดาม

นักโบราณคดียังได้พบ โลงศพรูปคนที่สร้างจากแผ่นตะกั่ว จำนวน 2 โลง ในสภาพที่ไม่บุบสลายและมีการซีลปิดไว้อย่างมิดชิด โลงแรกนั้นไม่มีจารึกอะไรปรากฎอยู่เลย แต่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบุคคลจากแวดวงชั้นสูงที่เสียชีวิตประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16  ส่วนโลงที่สองนั้นมีแผ่นเหล็กจารึกระบุว่าเป็นโลงศพของ บาทหลวงอ็องตวน เดอ ลา ปอต์ (Antoine de la Porte) เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1710 เมื่ออายุ 83 ปี และเมื่อพิจารณาจากลักษณะของหลุมและการวางโลงศพนั้น นักโบราณคดีระบุว่าโลงศพถูกฝังอยู่ในหลุมเดิมโดยไม่มีร่องรอยของการเคลื่อนย้ายออกจากหลุมฝัง เพียงแค่ตัวโลงมีสภาพที่ค่อนข้างผุพังไปบ้าง แต่ฝาของโลงก็ยังมีการซีลปิดไว้อยู่ และบนฝาโลงพบเหรียญจำลองของผู้ที่นอนอยู่ในโลงนั้นด้วย

บาทหลวงเดอ ลา ปอต์ (ค.ศ. 1627-1710) เป็นผู้ทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเป็นผู้นำในพิธีสวดมิสซา ซึ่งจะมีการสวดถึง 7 ครั้งต่อวัน และเขาถือเป็นหนึ่งในบาทหลวงที่ปฏิบัติหน้าที่ที่นอเทรอดามมาอย่างยาวนานมากกว่า 50 ปี เขาจึงได้รับการเรียกขานว่าเป็น “บาทหลวงกาญจนาภิเษก” ซึ่งมีภาพเขียนที่เขาทำพิธีสวดมิสซาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ด้วย บาทหลวงผู้นี้ยังมีบทบาทสำคัญในการบูรณะซ่อมแซมและปรับเปลี่ยนแท่นพิธีสวดมนต์หลักของนอเทรอดามในคริสต์ศตวรรษที่ 18

ภาพบาทหลวงอ็องตวน เดอ ลา ปอต์ ขณะประกอบพิธีมิสซาที่นอเทรอดามแห่งปารีส วาดโดย Jean Jouvenet ที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์
นอเทรอดาม
รายละเอียดภาพบาทหลวงอ็องตวน เดอ ลาปอต์ วาดโดย Jean Jouvenet

ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1638 พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ได้เขียนพันธสัญญาที่เรียกกันว่า Le vœu de Louis XIII (เลอ เวอ เดอ หลุยส์ แทร็ซ) ซึ่งใจความหลักๆ คือการขอพรจากพระแม่มารี เพื่อให้ราชสำนักฝรั่งเศสมีรัชทายาทสืบบัลลังก์ และพระองค์จะสนับสนุนให้มีการปรับปรุงแท่นบูชาหลักในวิหารนี้ขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งตั้งให้นอเทรอดามเป็น วิหารแห่งชาติ ในฐานะที่มีความผูกพันกับราชสำนักฝรั่งเศสผู้ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการปกป้องและทำนุบำรุงต่อองค์พระแม่มารีและมหาวิหารของพระองค์ 6 เดือนต่อมาองค์รัชทายาทประสูติในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1638 ซึ่งก็คือพระเจ้าที่ 14 และต่อมาพระองค์ทรงต้องทำตามพันธสัญญานั้น เพราะว่าพระบิดาคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 สวรรคตก่อนที่การปรับปรุงแท่นบูชาจะเริ่มขึ้น

ในระหว่าง ค.ศ. 1701-1714 เป็นช่วงที่มีสงครามของการแย่งชิงบัลลังก์ในราชสำนักสเปนอันเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีปัญหาทางการเงิน และบาทหลวงเดอ ลา ปอต์ ผู้ซึ่งมีฐานะร่ำรวยเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับพระเจ้าแผ่นดินเพื่อนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงแท่นบูชาหลักของมหาวิหารและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของบริเวณที่สวดมนต์ประกอบพิธีกรรมจากแท่นบูชาคาทอลิกให้มีลักษณะของสถาปัตยกรรมสไตล์นีโอคลาสสิกที่สวยงาม ดังนั้นในช่วงนี้จึงมีการรื้อฉากหินที่กั้นระหว่างโถงกลางและที่สวดมนต์ประกอบออกไปตามพันธสัญญาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และตามมติสังคายนาแห่งเมืองเตรนโต ทว่าบาทหลวงเดอ ลา ปอต์ ก็ไม่มีโอกาสเห็นแท่นบูชาและการเปลี่ยนสไตล์ของบริเวณประกอบพิธีกรรมอันใหม่ของนอเทรอดาม เพราะเขาเสียชีวิตก่อนที่การก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นโลงศพของเขาจึงถูกฝังไว้ที่บริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ในฐานะที่เป็นชนชั้นปกครองของคณะสงฆ์และผู้มีบทบาทสำคัญของนอเทรอดาม

นอเทรอดาม
ความเสียกายหายในหลังไฟไหม้

สำหรับผลการวิเคราะห์โครงกระดูกนั้นพบว่าโครงกระดูกของเขายังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตในวัยชรา แต่สภาพฟันของเขายังคงดีอยู่โดยเฉพาะฟันกรามด้านบนซึ่งพบได้น้อยมากในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ข้างๆ โลงศพของเขายังพบชิ้นส่วนของฉากหินสมัยกลางเป็นจำนวนมาก ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า เพราะเขาเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและเสียชีวิตในช่วงที่มีการก่อสร้าง เศษของฉากหินถือว่าเป็นชิ้นส่วนศักดิ์สิทธิ์จึงไม่อยากทิ้งเสียไปเลยฝังชิ้นส่วนเหล่านี้ไว้และใช้ประโยชน์โดยถมเป็นฐานรากและปูพื้นของวิหารไปในตัวด้วย

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
บริเวณที่พบโลงศพซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นของ ฌออาคิม ดูว์ แบลเล กวีเอกในคริสต์ศตวรรษที่ 16

โลงตะกั่วของชายนิรนามที่สันนิษฐานว่าเป็นกวีชื่อดังในคริสต์ศตวรรษที่ 16  

ส่วนโลงศพตะกั่วอีกหนึ่งโลงที่ไม่มีการระบุชื่อและยังอยู่ในสภาพที่ไม่บุบสลาย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโลงศพของบุคคลสำคัญที่เสียชีวิตประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคที่มีการใช้ตะกั่วมาทำโลงศพกันอย่างแพร่หลาย และบริเวณที่พบโลงศพเป็นบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของนอเทรอดามที่มักจะสงวนไว้ให้กับบรรดาบาทหลวงคนสำคัญๆ ขุนนาง และคนชั้นสูงในสังคมเท่านั้น

นอเทรอดาม
ลักษณะและสภาพโลงในลักษณะที่ขุดพบ

ผลการพิสูจน์จากโครงกระดูกพบว่าโครงกระดูกที่บรรจุอยู่ข้างในเป็นโครงกระดูกของคนที่อยู่ในช่วงอายุ 25-45 ปีบริเวณหัวกะโหลกนั้นถูกผ่าและเปิดออก มีผ้าห่อศพที่เป็นเพียงผ้าผืนเดียวขนาดใหญ่ที่คลุมหรือห่อได้ทั้งร่าง มีซากใบไม้แห้งในกะโหลก รอบกะโหลกมีมงกุฎใบไม้วางอยู่และพบดอกไม้วางบริเวณช่องท้อง ทีมผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วย แพทย์นิติเวช นักมานุษยวิทยา และนักโบราณคดี ได้ทำการสแกนโครงกระดูกและพบว่าร่องรอยที่ถูกตัดส่วนของกะโหลกนั้นเป็นการตัดในแบบของผู้เชี่ยวชาญที่ตัดและยกสมองออกไปทั้งก้อน ต้นเหตุของการเสียชีวิตมาจากการที่ผู้ตายมีอาการปวดหัวค่อนข้างรุนแรงอย่างต่อเนื่องหลายเดือนซึ่งก็เป็นผลมาจากวัณโรค และบริเวณกระดูกเชิงกรานนั้นเป็นลักษณะของคนที่ขี่ม้าหรืออยู่บนหลังม้าตั้งแต่วัยเด็ก

นอเทรอดาม
การตรวจพิสูจน์ร่างที่ถูกบรรจุในโลงศพและแสดงให้เห็นว่าบริเวณกะโหลกศีรษะถูกตัดและเปิดออก

ผลจากการวิเคราะห์ทำให้ได้ข้อสรุป 2 ข้อ คือ อย่างแรกเจ้าของโครงกระดูกนี้เสียชีวิตในวัยประมาณ 30-40 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรังคือวัณโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต และข้อที่ 2 คือ บุคคลคนนี้เป็นอัศวินหรือคนที่ขี่ม้าอยู่เป็นประจำซึ่งอาจเป็นขุนนางหรือชนชั้นปกครอง ดังนั้นจึงไม่ใช่คนในวงการศาสนาแต่อย่างใด จึงนำไปสู่การสืบค้นจากสมุดบันทึกการตายของนอเทรอดาม จึงพบว่ามีโพรไฟล์ที่ตรงกับ ฌออาคิม ดูว์ แบลเล (Joachim du Bellay : ค.ศ. 1522-1560) กวีที่มีชื่อเสียงและนักขี่ม้าที่ได้รับการยกย่องในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผู้เสียชีวิตที่ปารีสด้วยสาเหตุจากวัณโรคและมีอาการหูหนวกก่อนเสียชีวิตอันเป็นผลมาจากอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และศพถูกฝังที่นอเทรอดามเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1560

นอเทรอดาม
ฌออาคิม ดูว์ แบลเล (Joachim du Bellay)

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส ในอดีตนั้นใช้เป็นที่ฝังศพของบุคคลสำคัญทางศาสนาและบุคคลชั้นสูงเท่านั้น มิใช่ที่ฝังศพของคนทั่วไป อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อยกเว้นบางอย่างที่อาจเรียกว่าเป็นบัตรผ่าน เช่น เป็นญาติใกล้ชิดกับพระสันตะปะปา กษัตริย์ หรือมาจากตระกูลที่ร่ำรวยและมีอิทธิพล ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นกรณีของ ฌออาคิม ที่ ตระกูลดูว์ แบลเล ของเขาถือว่าเป็นชนชั้นขุนนางและมีสมาชิกของตระกูลจากหลายรุ่นที่เป็นถึงพระคาร์ดินัลและมีความเกี่ยวข้องกับนอเทรอดาม โดยเฉพาะ คาร์ดินัล ฌ็อง ดูว์ แบลเล (Cardinal Jean du Bellay) ที่เป็นเหมือนบัตรผ่านให้มีการฝังศพของฌออาคิมภายในนอเทรอดามได้ และนำไปฝังใกล้ๆ กับบาทหลวงหลุยส์ ดูว์ แบลเล (Louis du Bellay) ลุงของเขาที่เป็นบาทหลวงและเสียชีวิตก่อนเขาประมาณ 20 ปี บริเวณวิหารสวดมนต์แซ็ง เครแป็ง (Saint Crépin) ที่อยู่ทางขวามือหลังแท่นบูชา

นอเทรอดาม
ความเสียหายภายในของมหาวิหาร

เมื่อตรวจสอบจากบันทึกรายชื่อคนตายของ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส ก็พบว่ามีการฝังศพของ เลอ แซเญอร์ เดอ กงนอร์ (Le seigneur de Gonnord)  ซึ่งเป็นชื่อที่เพื่อนๆ ของเขาตั้งให้ 2-3 เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต นั่นก็แสดงว่าศพของเขาถูกฝังที่นอเทรอดามจริง แต่บริเวณที่พบศพมิใช่บริเวณของวิหารแซ็ง เครแป็งตามที่มีการบันทึกไว้ ในประเด็นนี้นักโบราณคดีและผู้ดูแลเวชระเบียนคนตายของมหาวิหารสันนิษฐานว่า มีความเป็นไปได้ที่ระหว่างที่มีการปรับปรุงวิหารสวดมนต์แต่ละครั้งเพื่อที่จะฝังศพบาทหลวงหรือคนสำคัญคนอื่นๆ จึงมีความจำเป็นต้องย้ายโลงศพบางโลงออกไปเพื่อเปิดทางให้กับศพใหม่ที่เข้ามาก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ยังคงต้องใช้การสืบค้นหลักฐานข้อเท็จจริงด้านอื่นๆ ร่วมด้วย ก่อนที่จะสามารถสรุปหรือยืนยันสมมุติฐานดังกล่าว

นอเทรอดาม
เจ้าหน้าที่กำลังเคลื่อนย้ายโลงศพ

ในขณะที่การวิเคราะห์ด้านอื่นๆ ก็ยืนยันได้ว่าชายนิรนามผู้นี้เสียชีวิตจากวัณโรคและมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงและเรื้อรัง เพราะมีการค้นพบเศษใบไม้จำนวนมากซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาและบรรเทาอาการปวดดังกล่าว ส่วนผ้าที่ใช้ห่อศพนั้นก็เป็นผ้าผืนใหญ่ชิ้นเดียวที่ใช้ห่อศพได้ทั้งร่าง อย่างไรก็ตามข้อพิสูจน์ดังกล่าวในเบื้องต้นก็ยังไม่สามารถยืนยันหรือระบุตัวตนของเจ้าของโลงตะกั่วนี้ได้อย่างแน่นอนจึงเป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีที่จะต้องศึกษาวิเคราะห์และพิสูจน์เพิ่มเติมต่อไป

ทั้งฉากหินสมัยกลางนับพันชิ้นและโครงกระดูกของมนุษย์มากกว่า 100 โครงที่ค้นพบจากการสำรวจทางโบราณคดีเชิงป้องกันครั้งนี้ถูกนำไปเก็บรวบรวมไว้ในคลังหรือโกดังขนาดใหญ่ที่ Saint-Witz (แซ็. วีตซ์) แค้วน Val-d’Oise (วาล-ดวช) ที่เรียกว่า “วิหารแห่งความทรงจำของนอเทรอดาม” ซึ่งเปิดให้ทีมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญของไซต์งานวิทยาศาสตร์เข้าไปศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยเพื่อหาคำตอบให้กับสมมุติฐานต่างๆ และเพื่อเป็นข้อมูลเพื่อการศึกษาค้นคว้าในอนาคตต่อไป

เครดิตภาพ: Institut national de recherches archéologiques préventives (INRAP), La Direction régionale des affaires culturelles, Ile de France (La DRAC IDF) และ  GrandPalaisRmn (Musée du Louvre)

มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
ภาพระหว่างการบูรณะ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส

Fact File

  • พิธีเปิดอย่างเป็นทางการของ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส เริ่มขึ้นเมื่อหัวค่ำของวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2024 ตามเวลาท้องถิ่น พิธีเริ่มต้นด้วยเสียงระฆังของมหาวิหารและอาร์ชบิชอปแห่งปารีส มงซีเออร์โลร็อง อูลรีช (Mgr Laurent Ulrich) เป็นผู้นำทำพิธีทางศาสนาในการเปิดประตูของมหาวิหารด้วยการใช้ส่วนบนสุดของไม้เท้าประจำตำแหน่งเคาะประตูจำนวน 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้ง นอเทรอดามจะตอบด้วยบทสวด 121 จากคณะนักร้องประสานเสียงที่อยู่ด้านในของมหาวิหาร และครั้งที่ 3 ประตูของนอเทรอดามก็จะเปิดออกอันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามหาวิหารแห่งนี้ได้กลับมาเปิดให้กับคริสต์ศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปได้เข้าไปสวดมนต์และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงเปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมอีกครั้งหลังจากเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2019
  • จากนั้นประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มารง (Emmanuel Macron) ได้กล่าวสุนทรพจน์และแสดงความขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบูรณะซ่อมแซมมหาวิหารแห่งนี้ ก่อนที่จะมีพิธีการทางศาสนาอื่นๆ ตามมา เช่น การเจิมออร์แกนหลังใหญ่ การเจิมแท่นบูชา และพิธีสวดมิสซา และตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2024 เป็นต้นไป  ดามจะกลับเข้าสู่โหมดปกติเพื่อให้สาธารณชนเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 07.45-19.00 น.
  • อย่างไรก็ตามยังมีงานบูรณะ นอเทรอดาม บางส่วนที่ต้องดำเนินต่อ เช่น การบูรณะห้องเก็บเครื่องพิธีอันศักดิ์สิทธิ์และห้องสำหรับเตรียมพิธีการทางคริสต์ศาสนาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จใน ค.ศ. 2025 การติดตั้งกระจกสีทั้งหมด ใน ค.ศ. 2026 และโครงการพัฒนาและปรับภูมิสถาปัตย์บริเวณพื้นที่โดยรอบของมหาวิหารและลานด้านหน้าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน ค.ศ. 2027

อ้างอิง


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง