เที่ยวไทยในเมืองโบราณ 3 มิติ กับเทคโนโลยี AR และ VR ผ่าน AR Smart Heritage
Arts & Culture

เที่ยวไทยในเมืองโบราณ 3 มิติ กับเทคโนโลยี AR และ VR ผ่าน AR Smart Heritage

Focus
  • AR Smart Heritageเป็นแอปพลิเคชันใหม่ล่าสุดที่กรมศิลปากรร่วมกับ ศ.เกียรติคุณ สันติ เล็กสุขุม พัฒนาขึ้นเพื่อพาผู้ที่สนใจด้านประวัติศาสตร์ชมโบราณสถานสำคัญของไทยในรูปแบบ 3 มิติ
  • แอปพลิเคชันAR Smart Heritage ได้นำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) มาใช้ในการนำเสนอข้อมูลมรดกวัฒนธรรม แม้ไม่ได้ไปยังสถานที่จริงก็สามารถชมได้เสมือนจริง

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ชวนเที่ยวเมืองไทยแบบย้อนยุคผ่านโบราณสถานที่สำคัญของประเทศในรูปแบบ 3 มิติ ด้วยเทคโนโลยี AR และ VR บนแอปพลิเคชันใหม่ล่าสุดอย่าง AR Smart Heritage ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมไทยในอดีตของโบราณสถานในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งแม้ปัจจุบันจะเหลือเพียงเศษอิฐ เศษฐานราก แต่โลกดิจิทัลสามารถนำความรุ่งเรืองของยุคสมัยในอดีตกลับมาสู่ปัจจุบันได้อีกครั้ง

AR Smart Heritage

แม้แอปพลิเคชันใหม่ล่าสุดนี้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ในยุคดิจิทัลที่ใช้ในการเที่ยวชมโบราณสถาน แต่จุดเริ่มต้นนั้นต้องย้อนเวลาไปราว 30 กว่าปีก่อน เมื่อครั้งที่โลกดิจิทัลยังไม่หลุดออกมาจากกรอบของจินตนาการ ครั้งนั้น ศ.เกียรติคุณ สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เริ่มต้นศึกษาค้นคว้าแอปพลิเคชันAR Smart Heritage ได้เขียนรูปแบบสถาปัตยกรรมบนกระดานดำให้นักเรียนในชั้นเรียนดูพร้อมคิดว่า

“มันคงจะเป็นประโยชน์มากกว่านี้หากสถาปัตยกรรมมันหมุนได้ เผยให้เห็นมิติโครงสร้างที่ชัดเจนยิ่งขึ้น”

AR Smart Heritage

หลังจากนั้น ศ.เกียรติคุณ สันติ เล็กสุขุม ก็เริ่มออกเดินทางไปยังโบราณสถานต่างๆ ในสถานที่จริงเพื่อเขียนแบบจำลองของสถาปัตยกรรมโบราณในยุคต่างๆ ของเมืองไทย และค่อยๆ พัฒนาจนเกิดเป็นแอปพลิเคชันซึ่งนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) มาใช้ในการนำเสนอข้อมูลมรดกวัฒนธรรม ที่มากกว่าแค่ตามองเห็น เพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์การเข้าชมและศึกษาแก่ประชาชน ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

AR Smart Heritage

การใช้งานแอปพลิเคชันAR Smart Heritage นั้นไม่ซับซ้อน เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจาก App store หรือ Play store แล้วกดเลือกโบราณสถานที่ต้องการศึกษาก็จะสามารถเห็นภาพโบราณสถานที่เลือกอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์ในรูปแบบ 3 มิติ นอกจากนี้ยังสามารถกดฟังคำบรรยายหรืออ่านข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆได้อีกด้วย

หากมีโอกาสไปเยือนในสถานที่จริงยังสามารถใช้AR Smart Heritage เปิดภาพ 3 มิติทับซ้อนกับภาพจริงที่อยู่ตรงหน้า เท่านี้ก็จะสามารถเห็นโครงสร้างทั้งหมดทางสถาปัตยกรรมของอาคารโบราณสถานดังกล่าวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (เพราะบางสถานที่เหลือเพียงฐานราก) แต่ถ้าต้องกักตัวล็อคดาวน์กันอีกครั้ง AR Smart Heritageก็จะสามารถพาออกไปท่องเที่ยวโบราณสถานทั่วไทยได้แบบไม่ต้องออกจากบ้าน ทว่าสามารถรับชมได้สมจริงครบทุกองศา

ตัวอย่างภาพที่ปรากฏในAR Smart Heritage

AR Smart Heritageเริ่มต้นเปิดใช้งานในกลางเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งโบราณสถานที่ทางAR Smart Heritage จะพาไปเที่ยวนั้นประกอบไปด้วยวัดวังในเมืองมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จำนวน 11แห่งรวมถึง วัดราชบูรณะ ต่อกันที่โบราณสถานใน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จำนวน 10 แห่ง สถานที่สำคัญใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จำนวน 9 แห่ง และ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อีกจำนวน 6 แห่ง

​นอกจากโบราณสถานที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักแล้ว กรมศิลปากรยังได้พัฒนาระบบนำชมโบราณสถานที่เป็นแหล่งเข้าถึงยาก หรือไม่ได้เปิดให้เข้าชมเนื่องจากการอนุรักษ์ แต่ถือเป็น Unseen Heritage ที่ควรค่าแก่การศึกษาหาข้อมูล โดยทางกรมศิลปากรได้นำสถานที่เหล่านั้นไปผูกเข้ากับAR Smart Heritage เช่นกัน นำชมด้วยระบบ Virtual Reality ผ่านกล้อง VR

ประเดิมด้วย กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และ อุโมงค์วัดศรีชุม ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งจะช่วยให้สามารถรับรู้บรรยากาศเสมือนได้เข้าชมจริง นับเป็นก้าวสำคัญของกรมศิลปากรในการให้บริการนำชมโบราณสถานรูปแบบใหม่ ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงง่าย กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความสนใจในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

วัดช้างรอบในปัจจุบัน (ภาพบน) เปรียบเทียบกับวัดช้างรอบที่แสดงผลในAR Smart Heritage (ภาพล่าง)

ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ สันติ เล็กสุขุม เล่าว่า การสร้างแอปพลิเคชันAR Smart Heritage ชิ้นนี้อาจมีข้อจำกัดด้านหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง เนื่องจากข้อมูลโบราณสถานบางแห่งที่หลักฐานเชิงประจักษ์หลงเหลืออยู่น้อยมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยการตั้งสมมติฐานบนพื้นฐานของหลักฐานเอกสารที่มีอยู่ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรม ส่วนโบราณสถานชิ้นไหนที่มีข้อมูลน้อยจนไม่สามารถนำมาจินตนาการต่อได้ถึงโครงสร้างจริงที่เคยเป็น ก็ต้องอาศัยการสังเกตจากพระราชวังหลวงในกรุงเทพฯ แล้วนำทั้งหมดมาปรับให้พอดี คำนวณความน่าจะเป็นแล้วจึงนำโครงสร้างมาจินตนาการถอยหลังย้อนเวลากลับไป ดังนั้นภาพที่เห็นจึงไม่ใช่ภาพของสถานที่นั้นจริงๆ แต่เป็นภาพที่เกิดจากการตั้งข้อสันนิษฐาน

ศ.เกียรติคุณ สันติ เล็กสุขุม ทิ้งท้ายถึงจุดประสงค์หลักของแอปพลิเคชันนี้ว่าAR Smart Heritage สร้างมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจอดีตของสภาพโบราณสถานและจินตนาการความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้คิดวิเคราะห์ต่อไป และเพื่อเข้าใจในคุณค่าของโบราณสถานนั้นๆ

“โบราณสถานแต่ละที่มีความหมายและมีกรมศิลปากรเป็นผู้ให้ความหมาย ถ้ามันเป็นแค่อิฐแล้วกรมศิลปากรไม่ยอมทำอะไรเพิ่ม มันก็จะเป็นแค่อิฐแล้วเลือนหายไป ดังนั้นหน้าที่ของกรมศิลปากรจึงต้องบูรณะให้มันใหม่ขึ้นแข็งแรงขึ้น เพื่อให้มันอยู่ต่อไปและแอปพลิเคชันนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้โบราณสถานยังคงสืบเนื่องต่อไป และกระจายไปได้ทั่วโลก”


Author

วิวิศนา อับดุลราฮิม
Introvert ผู้เสพติดการอ่านนิยายดราม่า ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตไปกับการติ่ง k-pop และ c-pop