แกะรอยจดหมายลับ กุญแจสำคัญ ทวงคืนทับหลัง จากอเมริกาสู่ไทย
- ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว อยู่ในโครงการดำเนินงานติดตามโบราณวัตถุของไทยกลับคืนสู่ประเทศ หลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุ เมื่อราวมิถุนายน 2560 และสำเร็จในเดือนมิถุนายน 2564
- ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น มีอายุกว่า 1,000 ปี
แฟ้มเอกสารหนา 2 เล่มจากพิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่รวบรวมข้อมูล ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว เป็นข้อมูลชิ้นสำคัญที่ทางรัฐบาลไทยใช้สู้คดีในการ ทวงคืนทับหลัง ทั้งสอง ซึ่งถูกลักลอบนำออกจากไทยไปเมื่อราว 50 ปีก่อน โดยมีหน่วยงานฝ่ายสหรัฐอเมริกาที่รับผิดชอบคดีนี้ ได้แก่ สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (HSI) ซึ่งได้เข้าตรวจสอบ และขอทำสำเนาเอกสารชุดนี้ ก่อนส่งมายังคณะผู้ติดตาม ทวงคืนทับหลัง ของไทย และกลายเป็นที่มาของความสำเร็จในการส่งทับหลังปราสาทหนองหงส์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ดินแดนมาตุภูมิเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
ดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหนึ่งในทีมติดตาม ทวงคืนทับหลัง ถอนหายใจยาว ขณะเปิดแฟ้มทีละหน้า เพราะเวลาร่วม 5 ปี ในการติดตาม หลายครั้งแทบจะหมดหวัง แต่ทีมงานก็พยายามต่อสู้จนพบจดหมายชิ้นสำคัญที่เป็น “จิกซอว์ไขความลับคดี”
สู้คดีด้วยจดหมายโบราณ
“การติดตาม ทวงคืนทับหลัง ระยะแรกเราส่งข้อมูลวิชาการและตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ทางพิพิธภัณฑ์ก็พร้อมจะสู้คดี โดยอ้างว่า ได้ทับหลังมาก่อนปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะมีการตื่นตัวและมีการออกกฎหมายที่มีข้อห้ามการค้าโบราณวัตถุระหว่างประเทศ แต่ทางไทยเรายื่นคัดค้าน โดยใช้จดหมาย เอกสารเก่าที่มีบันทึกการส่งมอบโบราณวัตถุไปยังต่างประเทศ เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองโบราณวัตถุมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ช่วงปี พ.ศ.2477 (ค.ศ.1934) ดังนั้นถ้ามีการนำออกไปต่างประเทศหลังกฎหมายฉบับนั้นจะต้องมีใบส่งมอบนำออก แต่ถ้าไม่มีถือว่าเป็นการลักลอบนำออกอย่างผิดกฎหมาย”
ดิษพงศ์ย้อนถึงการทำงานในช่วงแรกที่มีงานยากคือการค้นหาเอกสารโบราณต่างๆ เพื่อนำมายืนยันว่าทับหลังทั้งสองชิ้นที่ทางพิพิธภัฑณ์ Asian Art Museum จัดแสดงอยู่นั้นได้มีการลักลอบนำออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย
การแกะรอยทวงคืน จากจดหมายโบราณของไทยอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเอกสารกระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน และต้องมีการค้นคว้าอย่างหนัก ก่อนนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อใช้ต่อสู้คดี ขณะที่ไทม์ไลน์การหายไปของทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์มีการสันนิษฐานว่า หายไปช่วง พ.ศ.2509 และถูกส่งไปขายยังประเทศอังกฤษ ให้แก่นักสะสมที่ชื่อ เอเวอรี บรันดิจ (Avery Brundage)โดยจุดนี้เป็นอีกจิกซอว์สำคัญในการเชื่อมโยงคดี เพราะหากยังจำได้ เอเวอรี บรันดิจ คือนักสะสมที่ได้ครอบครองทับหลังปราสาทกู่สวนแตงจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายเช่นกันก่อนที่จะมีการทวงคืนกลับสู่ประเทศไทย
จากการค้นคว้าเอกสารเก่าได้พบจดหมายขอทวงคืน ทับหลังปราสาทกู่สวนแตง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อ พ.ศ.2510 เป็นจดหมายทวงคืนทับหลัง ออกโดย ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งตอนนั้นทำงานอยู่ในกรมศิลปากรและได้มีคำสั่งให้ทำจดหมายทวงคืนทับหลังจาก นายเอเวอรี บรันดิจ และมีการส่งคืนทับหลังชิ้นนี้ในปี พ.ศ.2513 อันเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นพบเอกสารสำคัญอื่นๆ เกี่ยวกับโบราณวัตถุของไทย ที่ถูกเก็บซ่อนไว้ของนักสะสมชาวยุโรปผู้นี้
“จดหมายขอทวงคืนทับหลังปราสาทกู่สวนแตง ทีมงานใช้เวลาค้นหาอยู่นาน เพราะค้นจากเอกสารเก่าในกรมศิลปากร และหลายสถานที่เก็บก็ไม่พบ จนมาเจอที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเราต้องนำมาแปลภาษาอังกฤษ เพื่อให้เห็นการเชื่อมโยงว่า ก่อนหน้านี้ นายเอเวอรี บรันดิจ มีการซื้อโบราณวัตถุที่ลักลอบนำออกไปอย่างผิดกฎหมาย และไทยได้รับกลับคืนมาแล้ว ส่วนทับหลังปราสาทหนองหงส์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น ที่อยู่ในคอลเลกชันสะสมของ นายเอเวอรี บรันดิจ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการลักลอบนำออกไปเช่นกัน”
สิ่งที่ตอกย้ำข้อสันนิษฐานนี้ คือจดหมายของนายเอเวอรี บรันดิจที่สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (HSI) ไปพบเข้าโดยนายเอเวอรี บรันดิจได้เขียนจดหมายไปถึง 2 บริษัทค้าโบราณวัตถุ ที่กำลังจะนำทับหลังปราสาทหนองหงส์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น มาขายให้เขา โดยเนื้อความในจดหมายที่เอเวอรี บรันดิจส่งไปยังบริษัทนายหน้าค้าโบราณวัตถุ ซึ่งอยู่ในอังกฤษและฝรั่งเศสมีใจความโดยสรุปว่า ตอนนี้รัฐบาลไทยมีหนังสือถึงตน ในการทวงคืนทับหลังชิ้นหนึ่ง (ทับหลังกู่สวนแตง) ที่อยู่ในความดูแลของเขา โดยขอความเห็นจาก 2 บริษัทที่กำลังจะนำทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้นมาขายว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และจะเกิดปัญหาตามมาเช่นนี้อีกหรือไม่
ทั้งนี้ยังได้พบหลักฐานเพิ่มเป็นจดหมายตอบกลับของทั้งสองบริษัทมายังนายเอเวอรี บรันดิจ ว่า ไม่ต้องกังวลกับปัญหาเหล่านั้น เพราะถ้ามีการลักลอบนำออกมา จะต้องมีการแจ้งความดำเนินคดี(ในขณะนั้นทางไทยยังไม่ทราบว่ามีการลักลอบนำทับหลังออกไปจึงไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี) และขอให้เชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหาตามมา
สุดท้าย นายเอเวอรี บรันดิจ ตัดสินใจซื้อทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้นเข้าไปอยู่ในคอลเลกชันส่วนตัวของเขาโดยข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์Asian Art Museumมีเอกสารที่ระบุไว้ในชัดเจนว่านายเอเวอรี บรันดิจได้ซื้อทับหลังปราสาทเขาโล้น ราคา 8,000 ฟรังก์พร้อมกับวัตถุโบราณอื่นๆ อีก 12 ชิ้น รวมเป็นเงินทั้งหมด 15,000 ฟรังก์ ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการนำทับหลังปราสาทเขาโล้นมาจัดแสดงในที่ต่างๆ และมีการหล่นแตกหักเป็น 3 ท่อน ก่อนมีการซ่อมแซมให้เหมือนเดิม
ส่วนข้อมูลจากแฟ้มการซื้อขายทับหลังปราสาทหนองหงส์พบว่ามีการตั้งราคาประเมินไว้ที่ 15,000เหรียญสหรัฐ แต่จบสุดท้ายซื้อในราคา 2,650เหรียญสหรัฐ โดยหลังจากซื้อทับหลังทั้งสองชิ้น นายเอเวอรี บรันดิจ ก็ปล่อยให้หลายพิพิธภัณฑ์ยืมไปจัดแสดง ก่อนจะมาติดตั้งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Asian Art Museum เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
จะเห็นได้ว่าการสืบค้นหาจดหมายเก่าเหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้คดี ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ ความเชื่อมโยงกันของทับหลังแต่ละชิ้น จนนำมาสู่การทวงคืน3 ทับหลัง คือ ปราสาทกู่สวนแตงปราสาทเขาโล้นและปราสาทหนองหงส์ ซึ่งแม้จะได้คืนต่างช่วงเวลา แต่ก็ทำให้เห็นรอยรั่วของขบวนการลักลอบการนำศิลปวัตถุออกนอกประเทศได้ชัดเจนขึ้น
ไขปมลักลอบออกนอกประเทศ
สำหรับการติดตามขอคืนทับหลังเขาโล้นและปราสาทหนองหงส์ รวมทั้งโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกนอกประเทศ เริ่มจากการออกมาเรียกร้องของกลุ่มสำนึก 300 องค์ ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการอิสระ ในช่วงปี พ.ศ.2559 จากนั้นกรมศิลปากรจึงมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามทวงคืนโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบออกไปยังต่างประเทศ โดยดิษพงศ์เล่าว่าแรกเริ่มเป็นการค้นหาข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อหาว่ามีโบราณวัตถุของไทยกระจายอยู่ที่ไหนบ้าง โดยเน้นไปที่พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา ที่มีการเก็บข้อมูลโบราณวัตถุจัดแสดงและเผยแพร่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตอย่างเปิดเผย
พร้อมกันนั้นก็พุ่งประเด็นไปที่การตามหาทับหลังปราสาทหนองหงส์ ซึ่งอยู่ในลิสต์แรกๆ ของโบราณวัตถุที่ต้องการทวงคืน เพราะทางไทยเองมีภาพถ่ายการสำรวจในอดีตยืนยันเป็นหลักฐาน หากทางต่างประเทศต้องมีการส่งเอกสารข้อมูลยืนยันก็สามารถทำได้ทันที
ส่วนทับปราสาทเขาโล้น เมื่อค้นหาไปลึกๆ ก็พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่าจะถูกลักลอบนำออกไปเหมือนกันและอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ที่ตั้งของปราสาททั้งสอง แม้อยู่คนละจังหวัด แต่ใกล้กันแค่ภูเขากั้น สามารถขับรถถึงกันแค่ 30 นาที จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะถูกลักลอบนำออกไปในช่วงเดียวกันหรืออาจจะเป็นขบวนการเดียวกัน
เพราะถ้าดูไทม์ไลน์การหายไปของทับหลังปราสาทของไทยจะมีช่วงเวลา และเส้นทางการหายใกล้เคียงกัน ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า อาจจะเกี่ยวโยงกับหน่วยงานต่างชาติที่เข้ามาตั้งหน่วยงานในพื้นที่ในช่วงเวลานั้น อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงนั้นถือเป็นช่องโหว่ในการลักลอบนำวัตถุโบราณออกไปนอกประเทศจำนวนมาก แม้ไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองโบราณสถานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ก็ตาม แต่กลับเกิดเหตุลักลอบขโมยหรือขุดค้นในโบราณสถานหลายแห่ง รวมทั้งกรุวัดราชบูรณะที่โด่งดังด้วย
สำหรับพื้นที่ตั้งของ 2 ทับหลัง เดิมติดชายแดนที่มีการสู้รบ ดังนั้นคนที่ลักลอบนำออกไปน่าจะเป็นคนที่มีอิทธิพล และต้องมีคนไทยที่เป็นคนชี้เป้า เพราะโบราณวัตถุที่หายหลายชิ้น มักมีอยู่ในภาพถ่ายของกรมศิลปากรที่ได้ทำการสำรวจโบราณสถานแถบชายแดนก่อนหน้านั้น และเมื่อชาวต่างชาตินำโบราณวัตถุเหล่านี้ออกประเทศไปได้ จะมีการเปลี่ยนมืออย่างรวดเร็ว โดยนายหน้าจะมีการชุบตัวโบราณวัตถุก่อนส่งไปขายให้แก่นักสะสมและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ
สำหรับประเทศไทยในตอนนี้แม้จะมีกฎหมายดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมทั้งกฎหมายที่กำกับการซื้อขายโบราณวัตถุ แต่บทเรียนจาก 5 ปี ในการติดตามทวงคืนทับหลังทำให้รู้ว่าการจะได้คืนมาไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญการดูแลรักษาของชุมชนที่อยู่รอบโบราณสถานคืออีกหัวใจสำคัญที่จะทำให้โบราณสถาน โบราณวัตถุอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ต่อไป
Fact File
- ทับหลังถือเป็นโบราณวัตถุและหลักฐานสำคัญที่ใช้ที่บ่งบอกอายุและยุคสมัยของตัวปราสาทได้ ซึ่งทับหลังปราสาทหนองหงส์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น สามารถบ่งบอกได้ว่าพื้นที่ตั้งของปราสาทดั้งเดิมน่าจะอยู่ในพื้นที่การปกครองของเขมรโบราณ แม้ค่อนข้างห่างไกลจากพระนครเขมร ที่มีหินทรายเนื้อดีขนาดใหญ่ให้เลือกใช้สร้างปราสาทได้อย่างฟุ่มเฟือย แต่ลวดลายของช่างแกะสลักน่าจะเป็นช่างหลวงที่ร่างลายตามขนบแล้วให้ลูกมือที่เชี่ยวชาญในการแกะสลักแต่ละด้านทำงานต่อ