ศิลาเงินล้าน กับโลกสินทรัพย์ดิจิทัล ทำไมบางคนถึงยอมจ่ายเงินล้านเพื่อภาพศิลาที่จับต้องไม่ได้
- NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token หมายถึง สินทรัพย์เฉพาะที่มีมูลค่าในรูปแบบที่ไม่สามารถใช้แทนกันได้และมีการจำกัดกรรมสิทธิ์ โดยงานศิลปะที่ลงทุนในตลาด NFT ถูกเรียกว่า ศิลปะคริปโต (Cypto Art)
- “Somebody just paid $1.3 million for a picture of a rock” เป็นพาดหัวข่าวของ CNBC เอ่ยถึงงานศิลปะราคาสูงลิบของโลก NFT ที่ชื่อว่า ศิลา (Rock) ซึ่งดูเหมือนจะมีในเกมดิจิทัลทั่วไป แต่กลับสร้างมูลค่ามหาศาล
โลกออนไลน์ได้สร้างความสั่นสะเทือนต่อวงการสร้างสรรค์อีกครั้ง และครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นครั้งใหญ่มาก สำหรับช่องทางในการสร้างสรรค์งานและสร้างรายได้แบบใหม่ที่กำลังไฟลุกร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ แน่นอนว่าเรากำลังเอ่ยถึง NFT อักษรสามตัวที่ย่อมาจาก Non-Fungible Token หมายถึง สินทรัพย์เฉพาะที่มีมูลค่าในรูปแบบที่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ เปรียบเทียบได้กับ ข้อมูล (Data) + เหรียญ (Token) เป็นการถือครองข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเหรียญในฐานะตัวแทนของมูลค่า ซึ่งขณะนี้สินทรัพย์รูปแบบนี้เป็นตลาดที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตากับการสะสมสินทรัพย์ประเภทนี้ที่ไร้พรมแดน จับต้องไม่ได้ และไม่มีอะไรมาทดแทนกันได้ ดังนั้น ในฐานะสื่อกลางความหมายของ Non-Fungible จึงมีนัยถึงความไม่มีสิ่งแทน เป็นลักษณะของสินทรัพย์เอกเทศโดยถือว่าเป็น คริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) ประเภทหนึ่ง สรุปได้ว่า NFT คือการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินชนิดหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสินทรัพย์ทางข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล
อย่างที่กล่าวว่า NFT เป็นสิ่งที่มีมูลค่าเฉพาะที่ไม่มีอะไรมาทดแทนถึงสิ่งนั้น ๆ และมีกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่นงานศิลปะที่มีชิ้นเดียว หรือ จำกัดจำนวนของชิ้นงาน และจำกัดความเป็นเจ้าของ ศิลปะประเภทนี้ถูกเรียกว่า ศิลปะคริปโต (Cypto Art) ซึ่งมีลักษณะเด่นตรงที่งานศิลปะนี้สามารถเป็นสื่อกลางของเหรียญ (Token) สกุลดิจิทัล และมีมูลค่าที่ผูกอยู่กับตลาดเหรียญนั้น ๆ งานศิลปะจากไฟล์ภาพจึงกลายเป็นสื่อกลางของมูลค่าเหรียญเทียบเท่ากับงานศิลปะที่มีมูลค่าแลกเปลี่ยนได้และกลายเป็นสินทรัพย์แลกเปลี่ยนซื้อขายผ่านการครองกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเพียงหนึ่งเดียว หรือจำกัดจำนวนเจ้าของ ซึ่งทุกการซื้อขาย NFT ชิ้นงานนั้น ๆ จะมีการเก็บข้อมูลของเจ้าของในการเปลี่ยนมืออย่างต่อเนื่อง งานศิลปะในโลกออนไลน์แบบนี้จึงมีมิติทั้งเกมการสร้างสรรค์ และหมากกระดานของนักสะสม และนักลงทุนศิลปะ
ทำไมใครบางคนถึงยอมจ่ายเงินล้านเหรียญเพื่อภาพศิลาที่จับต้องไม่ได้
“Somebody just paid $1.3 million for a picture of a rock”
“บางคนพร้อมจ่าย 1.3 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเพื่อภาพศิลา” นี่เป็นพาดหัวข่าวของ CNBC เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยมีเนื้อข่าวถึงงานศิลปะพาณิชย์บันลือโลกออนไลน์ที่ชื่อ ศิลา หรือ Rock ซึ่งถูกจำหน่ายไปในราคา 400 Ethereum หรือราว 1.3 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่า ณ วันซื้อขาย) ปรากฏการณ์ศิลาเงินล้านจึงถูกจับตาในฐานะปรากฏการณ์ของมูลค่าเหรียญ Ethereum และการสร้างมูลค่าในโลกศิลปะแบบ NFT ข้อสังเกตที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือศิลาที่เป็นภาพของหินที่หลายคนมองว่าธรรมดามาก ๆ อย่างที่เราสามารถพบเห็นได้ในไอเทมบนเกมออนไลน์ แต่ทำไมหินด้าน ๆ ถึงกลับมีมูลค่าทางการสะสมลงทุนสูงมาก คำถามที่ตามมาและคาใจหลายคนก็คือ มิติของมูลค่าศิลปะรูปแบบ NFT นี้ยึดโยงกับอะไร
อย่างแรกคือราคาของโครงการศิลาดังกล่าวซึ่ง แอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ที่รายงานราคาของโครงการที่ชื่อว่า Ether Rock Price ระบุว่าริเริ่มตั้งแต่ ค.ศ.2017 มิติต่อมาคือความเป็นพาณิชย์ศิลป์ของศิลาที่ชวนเราตั้งคำถามถึง สุนทรียะของวัตถุศิลป์ โดยจุดเชื่อมโยงระหว่าง NFT ในกรณีศิลากับโลกศิลปะกายภาพนั้นคือภาพแทนของ ประวัติศาสตร์ และคำถามของการกำหนดราคาในงานศิลปะคงมีปัจจัยมากมายที่จะตอบแต่หนึ่งในนั้นคือ งานศิลปะที่มีราคาสูงส่วนหนึ่งมักมีภาพที่โยงกับภาพแทน (Representation) ของอดีต หรือประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผลิตซ้ำจนพบเห็นภาพนั้น ๆ ได้บ่อย
หนึ่งในกรณีตัวอย่างของงานศิลปะที่มีราคาแพงและได้รับการพูดถึงในบทความ Top 10 Most Expensive Paintings in the World as of 2021 ของเว็บไซต์ www.newbondstreetpawnbrokers.com จะเห็นได้ว่างานศิลปะราคาสูงทั้ง 10 อันดับของโลกนั้นล้วนเป็นงานในรูปแบบสุนทรียะที่คุ้นตาตามหนังสือเรียนศิลปะและผู้สร้างสรรค์ก็มักเป็นศิลปินเลื่องชื่อระดับโลกทั้งนั้น เช่น 3 อันดับแรกที่ถูกจัดว่าแพงสุดในบทความนี้ ได้แก่ อันดับ 3 คือ The Card Players ของ Paul Cézanne อันดับ 2 คือ Interchange ของ Willem de Kooning และแน่นอนว่าอันดับ 1 คือที่สุดของความคลาสสิกภาพวาดที่แพงที่สุดของ เลโอนาร์โด ดาวินชี (Leo-nardo da Vinci) กับภาพ SalvatorMundi ทั้งนี้หากสังเกตงานทั้ง 3 ชิ้นเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันและเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ” ในความหมายกว้างปฏิเสธได้ยากว่าใน วงกว้าง คำนี้เหนียวแน่นกับสื่อจิตรกรรมแม้ยุคนี้ศิลปะจะกระโดดข้ามศาสตร์ข้ามศิลป์ไปไหนต่อไหน
ข้อสังเกตข้างต้นเชื่อมโยงกับศิลาตรงที่หาก Salvator Mundi ของ เลโอนาร์โด ดาวินชี ยึดโยงกับภาพชินตาของศิลปะจิตรกรรมและฝีแปรงของศิลปินอย่างดาวินชีอย่างดีจากการฉายซ้ำทั้งในสื่อภาพยนตร์หนังสือเรียนศิลปะหรือจะงาน The Card Players ของ Paul Cézanne ที่พบเห็นการผลิตซ้ำได้ตามภาพแต่งบ้านหรือปกหนังสือหันมามองศิลาก็เป็นภาพชินตาและเป็นมิตรสำหรับคนที่เติบโตมาในยุคดิจิทัลด้วยรูปทรงที่ชินตา แม้ไม่เหมือนเปี๊ยบ แต่หากใครชื่นชอบการดูการ์ตูนและเล่นวิดีโอเกมคงชินตากับหินด้าน ๆ ที่อยู่ในหลากหลายเกมตั้งแต่เกมมหาชนอย่าง Pokemon จนถึงเกมมหากาพย์ Warcraft ก็ล้วนมีศิลา ดังนั้นศิลาจึงปรากฏบนประวัติศาสตร์ทางทัศนศิลป์มาในระยะเวลาระดับหนึ่งหากการเปิดหนังสือเรียนเจอภาพของเลโอนาร์โด ดาวินชีการเปิดเกมก็เจอหินด้าน ๆ ที่คล้ายกับ ศิลา
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่วิดีโอเกมถือว่าเป็นศิลปะโลกศิลปะดิจิทัลก็สามารถมีเส้นทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของตนขึ้นมานี่เป็นเพียงอีกหนึ่งสมมติฐานของที่มามูลค่าของงานศิลาในโลกของ NFT ที่อาจรับรองสมมติฐานนี้ให้หนักขึ้นได้ด้วยอีกโดยงานของ CryptoPunks ศิลปะชุดในโลก NFT พัฒนาโดยกลุ่ม Larva Labs โดยตามรายงานของ The Verge ได้เขียนถึงการจำหน่ายงานศิลปะชุด a collection of nine CryptoPunks ไปแตะที่ 16.9 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐและที่ยืนยันสมมติฐานของภาพแทนของประวัติศาสตร์คืองานชุด CryptoPunks เป็นงานแบบ 8BIT แบบที่พบเห็นได้ในเครื่องเกมยุคริเริ่มและเกมคอมพิวเตอร์ก่อน ค.ศ.2000 หากฝีแปรงของศิลปินนักประดิษฐ์ระบือนามดาวินชีจะให้ความงามแบบโหยหาอดีตจุดเหลี่ยมแห่งดิจิทัลก็คงให้สัมผัสคล้ายกันเป็นการระลึกสุนทรียะของประวัติศาสตร์ที่เกิดกันคนละช่วงเวลาและสถานที่
NFT กับการพลิกกระดานงานศิลปะยุคปัจจุบัน
หันกลับมามองในประเทศไทย ปัจจุบันเราได้เห็นกระแสในสังคมออนไลน์ที่ใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ กระจายแลกเปลี่ยน NFT กันอย่างคึกคักไม่ว่าจะ Opensea หรือ Foudation และล่าสุดคือ Solsea โดยในไทยตอนนี้นอกจากความสร้างสรรค์ที่พร้อมแล้วระบบการแลกเปลี่ยนค่าเงินก็ยังมีบริการรองรับด้วยเช่นกันอย่าง Bitkub และ Binance ที่เราสามารถพบเห็นบริการเปลี่ยนเหรียญเป็นเงินออกมาได้ระบบนิเวศส่วนนี้จึงทำให้ NFT ในไทยตอนนี้กำลังเป็นที่นิยม
นอกจากนั้นยังมีศิลปินระดับโลกมากมายที่ใช้พื้นที่นี้แสดงแลกเปลี่ยนผลงานเช่นผู้กำกับระดับตำนาน หว่องกาไว ก็ได้ลงผลงาน In the Mood for Love – Day One ฟุตเทจที่มาจากภาพยนตร์เรื่องดังของเขา In the Mood for Love หรืองาน The Currency ของศิลปินร่วมสมัยผู้ทำงานหลากหลายอย่าง Damien Hirst ก็ได้มีการสร้างผลงานมาเพื่อทดลองกับพื้นที่ NFT เช่นกัน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนชี้ไปให้เห็นถึงพื้นที่ใหม่ที่กำลังคึกคักจากทั้งศิลปินหน้าใหม่นักออกแบบเชิงพาณิชย์และศิลปินระดับดาราที่กระโจนเข้าสู่พื้นที่ NFT ทำให้สีสันของวงการศิลปะพาณิชย์แห่งนี้ฉูดฉาดน่าสนใจและชวนคิดต่อถึงอนาคตของมันยิ่งขึ้นทั้งการเป็นสินทรัพย์แบบ NFT และอนาคตของเงินเหรียญสกุลดิจิทัลว่านี่คือก้าวแรกของโลกอนาคตหรือแสงพลุวูบวาบที่ต้องลุ้นความสว่างวันต่อวัน
อ้างอิง
- www.cnbc.com/2021/08/23/people-are-paying-millions-of-dollars-for-digital-pictures-of-rocks.html
- twitter.com/etherrockprice
- www.newbondstreetpawnbrokers.com/blog/top-10-pieces-of-fine-art-ever-sold-on-auction/
- www.theverge.com/2021/5/11/22430254/cryptopunks-christies-sale-larva-labs
- www.heni.com/
- www.sothebys.com/en/series/wong-kar-wai-x-sothebys-a-modern-art-collaboration