วิชชุลดา กับโปรเจกต์เปลี่ยนห้องพักโรงแรมหรูเป็นแกลเลอรีอาร์ตจาก “วัสดุรอการใช้งาน”
Arts & Culture

วิชชุลดา กับโปรเจกต์เปลี่ยนห้องพักโรงแรมหรูเป็นแกลเลอรีอาร์ตจาก “วัสดุรอการใช้งาน”

Focus
  • วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHULADA (วิชชุลดา) เป็นหนึ่งในศิลปินที่มุ่งมั่นใช้ขยะ วัสดุเหลือใช้ มาสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อกระทุ้งสังคมให้หันมามองเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
  • A-waiting materials คือผลงานล่าสุดของวิชชุลดา แตกต่างจากครั้งอื่นด้วยการเปลี่ยนห้องพักหรูทั้งห้องของ โรงแรม เพนนินซูลา กรุงเทพฯ ให้กลายเป็นแกลเลอรีอาร์ตขนาดย่อม ทุกมุมแม้แต่ในอ่างอาบน้ำก็มีงานศิลปะจัดวางอยู่
  • ความน่าตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่งของงานนี้คือการนำวัสดุรอการใช้งาน หรือขยะ ที่มีความหลากหลายมาสร้างงานศิลปะที่เรียกว่ามีชิ้นเดียวในโลกเลยก็ว่าได้

“เพราะของทุกชิ้นมีค่า” ในความคิดของ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHULADA (วิชชุลดา) จึงไม่มีคำว่าขยะ สำหรับเธอขยะแท้จริงคือ “วัสดุรอการใช้งาน” ซึ่งจะเปลี่ยนฟังก์ชัน หน้าที่ไปตามอายุและคุณภาพของวัสดุ และนั่นจึงเป็นที่มาของนิทรรศการชุด A-waiting materials ที่ชวนผู้ชมรวมทั้งลูกค้าที่มาใช้ โรงแรม เพนนินซูลา กรุงเทพฯ หันมามองคุณค่าของขยะที่ถูกทิ้ง ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นงานศิลปะเก๋ๆ ได้อย่างน่าทึ่งมาก และที่น่าทึ่งกว่าคือการเทคโอเวอร์เปลี่ยนห้องพักหรูของ เพนนินซูลา กรุงเทพฯ ให้กลายเป็นแกลเลอรีอาร์ตขนาดย่อม ตั้งแต่ประตู เตียง โซฟา ตู้เสื้อผ้า พรม เพดาน หรือแม้แต่ในอ่างอาบน้ำก็ยังมีงานศิลปะจากขยะที่เธอเก็บสะสมไว้จัดแสดง

วิชชุลดา

“สะสมขยะไว้นานมากและเยอะมาก เพราะไม่ได้มองว่าเป็นขยะ แต่สิ่งเหล่านี้คือวัสดุรอการใช้งาน ที่ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้แล้ว ก็ถูกเปลี่ยนมาทำหน้าที่อื่นๆ หรืออย่างพอจบนิทรรศการนี้แล้ว วัสดุทั้งหมดก็จะถูกนำกลับไปใช้ในการสร้างงานครั้งต่อไป หรือถ้าชิ้นไหนรียูสด์ไม่ได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป”

เปลี่ยน “ขยะ” เป็น “วัสดุรอการใช้”

วัสดุรอการใช้งาน เป็นคำที่วิชชุลดาใช้นิยามถึง ขยะ วัสดุหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่ง A-waiting materials แม้จะเป็นการแสดงงานชิ้นใหญ่สุดของเธอ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอมองเห็นคุณค่าจากขยะ วิชชุลดาได้เริ่มใช้ขยะและวัสดุเหลือใช้สร้างงานมาตั้งแต่ยังเป็นนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากประสบการณ์ในครอบครัวที่เห็นพ่อแม่มักสะสมของเหลือใช้ ทำให้เธอค่อยๆ มองข้ามความเป็น ขยะ เข้าไปถึงเนื้อแท้ของ วัสดุ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก เศษผ้า ไม้ กระดาษ จากนั้นค่อยๆ ฟื้นคืนชีพวัสดุเหลือให้เหล่านั้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนทำให้ขยะกลายเป็นงานศิลปะที่สามารถสร้างมูลค่า และคุณค่าได้อีกครั้ง

วิชชุลดา

“ขยะส่วนหนึ่งมาจากการสะสม คือถ้าเดินทางไปไหน เจอขยะที่เป็นวัสดุแปลกๆ หรือวัสดุที่ตามหาอยู่ก็หยิบติดมือกลับบ้านมาเลย อีกส่วนคือการติดต่อแบรนด์เสื้อผ้า อุตสาหกรรมแฟชั่นว่าเขามีขยะเหลือใช้อะไรบ้าง เศษผ้า เศษกระดาษ และเราก็เอาของเหลือมาสร้างผลงาน คือเก็บสะสมขยะจนคิดว่าจะต้องสร้างห้องเก็บขยะอย่างจริงจังที่บ้านแล้ว”

วิชชุลดา

สำหรับโปรเจกต์ A-waiting materials ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรม Artist in Residence ของ โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ที่เปิดห้องพักให้ศิลปินหลากหลายแขนงได้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานในโรงแรมนั้น วิชชุลดาได้เปลี่ยนห้องพักหมายเลข 409 เป็นห้องจัดแสดงงานที่เต็มไปด้วยขยะในทุกพื้นที่ บอกเลยว่างานสวยจนลบคราบความคิดที่ว่าขยะคือสิ่งสกปรกควรทิ้งไปจากหัวได้เลย

วิชชุลดา

ขวดน้ำ เศษผ้า ฝาขวด รวมทั้งกล่องกระดาษคือสิ่งที่ศิลปินเลือกใช้ โดยขวดน้ำที่ว่าเป็นขวดพลาสติกทำจากข้าวโพดซึ่งใช้อยู่ในโรงแรมอยู่แล้ว ส่วนเศษผ้าในการแต่งห้อง เป็นเศษผ้าเหลือใช้จากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ปกติจะถูกทิ้ง แต่ศิลปินนำกลับมาเย็บรวมผืนเป็นพรมสีฉูดฉาดแต่งห้องพักหรูของโรงแรมตั้งแต่พื้นจรดเพดานอย่างไม่เคอะเขิน ซึ่งพรมสีสันจัดจ้านเหล่านี้เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่ วิชชุลดา ได้ลงพื้นที่จังหวัดพะเยาและขอนแก่น เพื่อทำงานร่วมกับชาวบ้านในการเปลี่ยนพรมจากเศษผ้าธรรมดาๆ ให้กลายเป็นพรมที่มีชั้นเชิงในงานดีไซน์จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้

เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว

เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว นอกจากการถมงานศิลปะจากขยะลงในห้องพัก 409 แล้ว ศิลปินยังมีงานชิ้นไฮไลต์ คือการนำขยะพลาสติกมาประกอบกันเป็นรูปทรงต้นไม้ใหญ่ติดตั้งอยู่กลางโถง The Lobby ของโรงแรมด้านบนต้นไม้ฉายไฟ LED หลากสียิงไปที่เพดานกระพริบวิบวับตามจังหวะเสียงเปียโนที่บรรเลงในพื้นที่ สร้างความแปลกตาให้กับสถาปัตยกรรมโรงแรมที่ตกแต่งด้วยสีทอง ครีม และไม้ดูหรูหรา เมื่อแสงสีแดง ม่วง เขียวและอื่นๆ จึงทำให้งานติดตั้งดึงดูดสายตาผู้ผ่านไปมาได้ดีทีเดียว แต่ดูแล้วก็จี๊ดใจว่าปริมาณขยะมันมีมากมายถึงเพียงนี้เชียวหรือ

เมื่อ A-waiting materials กำลังจะทำให้ผู้ชมงานตระหนักถึงความใกล้ตัวของปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม สำหรับวัสดุในงานแสดงนี้หากจบงานวิชชุลดาก็จะนำไปประกอบใหม่เป็นงานศิลปะชิ้นใหม่เพื่อแสดงออกถึงการใช้ซ้ำของวัสดุเหล่านี้ หากส่วนใดใช้ซ้ำไม่ได้ก็จะนำไปส่งโรงงาน Recycle เพื่อแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่นที่เกิดประโยชน์ต่อไป และส่วนที่ขายงานศิลปะบางส่วนโดยรายได้ 30% จะมอบให้องค์กรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยต่อไป

วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปิน

Fact File

งานจัดวางชุด A-waiting materials จัดแสดงที่ โรงแรม เพนนินซูลา กรุงเทพฯ สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา 10:00-17:00 น. ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เมษายน 2563


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์