พาทัวร์ 7 Artists in Residence ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
Arts & Culture

พาทัวร์ 7 Artists in Residence ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

Focus
  • ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก วางตำแหน่งตัวเองเป็นห้างสรรพสินค้าและศูนย์กลางงานศิลปะมาตั้งแต่ยุคแรกที่เปิดดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น แกลเลอรี และอ็อกชันเฮาส์ ระดับมาตรฐานสำหรับการประมูลศิลปวัตถุ
  • ล่าสุดเมื่อกันยายน พ.ศ.2563 ริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก ได้เปิดตัว AIR หรือ Artists in Residence สตูดิโอสร้างสรรค์งานและแกลเลอรีเข้าไว้ด้วยกัน 7 แกลเลอรี 7 สไตล์ ทั้งศิลปินกลุ่มและศิลปินเดี่ยว

River City Bangkok วางตำแหน่งตัวเองเป็นศูนย์กลางงานศิลปะมาตั้งแต่ยุคแรกที่เปิดดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น แกลเลอรี และอ็อกชันเฮาส์ ระดับมาตรฐานสำหรับการประมูลศิลปวัตถุ และล่าสุดเมื่อกันยายน พ.ศ. 2563 วงการศิลปะไทยก็ตื่นเต้นอีกครั้งกับจิ๊กซอว์ชิ้นใหม่ที่เรียกว่า AIR หรือ Artists in Residence ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศ แต่ก็นับว่าใหม่มากในเมืองไทย เพราะ Artists in Residence คือการผนวกรวมทั้งสตูดิโอสร้างสรรค์งานและแกลเลอรีเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 3 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผนวกรวมสตูดิโอย่อยๆ 7 แกลเลอรี 7 สไตล์โดยมีทั้งศิลปินกลุ่มและศิลปินเดี่ยว มาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ปรับเปลี่ยนแหล่งชอปชมศิลปะให้เป็นศูนย์ศิลปะหรืออาร์ตเซ็นเตอร์ ที่เข้ากับวิถีชีวิตและแนวศิลปะที่ร่วมสมัยมากขึ้นด้วยรูปแบบที่คล้ายคลึงกับห้างสรรพสินค้าไลฟ์สไตล์ มากกว่าแกลเลอรีศิลปะและพิพิธภัณฑ์ดั้งเดิม

Artists in Residence ชัดเจนว่าในพื้นที่ของแต่ละแกลเลอรีผนวกสตูดิโอต้องมีศิลปินอยู่ประจำ เพื่อนำเสนอผลงานของพวกเขา ไปพร้อมๆ กับการสร้างงานจริงเหมือนยกสตูดิโอจากบ้านมาให้ผู้ชมและผู้สนับสนุนศิลปะสามารถมาชม มาซื้องาน และมาเรียนรู้ศิลปะกับศิลปินตัวจริง บางแกลเลอรีอาจมีเวิร์กชอปศิลปะ ศิลปินบางรายก็ยินดีที่จะให้ผู้ชมมาสร้างบทสนทนาเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับศิลปะไปด้วยกัน

สำหรับ Artists in Residence ในต่างประเทศเราอาจจะได้เห็นโรงแรม หรือบ้านส่วนตัวที่เปิดให้ศิลปินต่างถิ่นเข้ามาทำงานโดยอาจจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย ส่วน Artists in Residence ในอาร์ตเซ็นเตอร์ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก แห่งนี้เป็นการรวมศิลปิน 7 สไตล์มาทำงานใน 7 ห้องแกลเลอรีกึ่งสตูดิโอคละความหลากหลายทั้งวัยและแนวทางการสร้างผลงาน มีทั้งศิลปินเดี่ยวและกลุ่ม จัดแสดงทั้งผลงานชิ้นงานเด่นและผลงานที่สร้างสรรค์ล่าสุด

เริ่มจากศิลปินนักวาดภาพรุ่นเยาว์วัย 14 ปี เพ้นท์ฟ้า ชาญชุติวาณิช แห่งแกลเลอรี PAINT FAH (เพ้นท์ฟ้า)ที่มีผลงานเป็นส่วนตัวและพลังสร้างสรรค์ในการทำงานเป็นศิลปินอาชีพศิลปินแนวนามธรรม(abstract) ชลัช ฉวีสุขที่สร้างงานศิลปะผนวกกับศาสตร์การทำสมาธิใน 956 CONTEMPORARY ART ส่วน GALLERY HOCเป็นพื้นที่ที่ 3 ศิลปิน 3 แนว รุ่นใหม่ จากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาสร้างงานจิตรกรรมด้วยเทคนิคอื่นๆ นอกเหนือจากพู่กันและสี

สายศิลปะแนวสตรีตอาร์ตก็มีให้ชมใน TY Gallery (ตี้แกลเลอรี) โดย ก้องศักดิ์ พูนผลวัฒนาภรณ์ ศิลปินที่ผสมงานกราฟิตี้และคอลลาจบนผ้าใบ รวมทั้งงานประติมากรรม ที่สร้างสรรค์คาแรกเตอร์ฟิกเกอร์ร่วมสมัย

ขณะที่ ไพฑูรย์ จูมี แห่ง J02 Gallery สร้างงานจิตรกรรมภาพใบหน้าคนด้วยเทคนิคเฉพาะตัวที่ใช้วัสดุที่คาดไม่ถึงอย่างยางพารา มาสร้างงานที่ให้พื้นผิวมีเลเยอร์และวัตถุมีความสวยงามแปลกตา และสุดท้ายคือศิลปินต่างชาติที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯชื่อ โอลกา ตาปิโอลา (Olga Tapiola) นักจิตวิทยาและศิลปินชาวยูเครน ผู้สร้างสรรค์งานสะท้อนจิตวิทยาส่วนตัวในชีวิตประจำวัน งานอะคริลิกบนผ้าใบของเธอ เปิดให้ผู้ชมได้ร่วมสังเกตการณ์และสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นในศิลปะได้ที่แกลเลอรี Things That Bring You Joy

Artists in Residence

PAINT FAH

Artist: เพ้นท์ฟ้า ชาญชุติวาณิช

Art Pieces: ศิลปะภาพวาดบุคคล สีอะคริลิกสีน้ำมัน

ศิลปินนักวาดภาพรุ่นเยาว์วัย 14 ปี เพ้นท์ฟ้า ชาญชุติวาณิช แห่งแกลเลอรี PAINT FAH (เพ้นท์ฟ้า) ที่รู้ตัวว่าอยากวาดรูปอย่างเดียวตั้งแต่ 6 ขวบ หลังจากได้ดูงานศิลปะและลองขีดเขียนๆ และผู้ปกครองสนับสนุนจนศิลปินตัวน้อยมีผลงานเป็นส่วนตัวและพลังสร้างสรรค์ในการทำงานเป็นศิลปินอาชีพแนวทางเน้นภาพวาดด้วยสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ ด้วยฝีแปรงอิสระและสะท้อนความอารมณ์ความรู้สึกจากสถานการณ์และผู้คนรอบตัว ผ่านภาพวาดพอร์ตเทรตของตัวเอง คุณแม่ คุณย่าและภาพบุคคลในสังคมทั่วไปผลงานชิ้นเด่นที่แสดงเป็นงานวาดภาพใบหน้าตัวเอง เพื่อสะท้อนภาพวัยรุ่น วัย 14 ปี ของตัวศิลปินเอง ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหน้าตาและมีอารมณ์ความรู้สึกที่ต่างไปในชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยอารมณ์แสดงผ่านสีหน้าหลากหลายและแสงสว่างจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งศิลปินบอกว่ามันคือองค์ประกอบของชีวิตวัยรุ่นยุคนี้เทคนิคของเพ้นท์ฟ้าล่าสุด มีการใช้สีหลาย ๆ สีที่เป็นสีเหลือ ๆ มาป้ายลงในเฟรม (ผืนผ้าใบ) ก่อนจะเริ่มวาด 

งานศิลปะของเพ้นท์ฟ้ายังมีการแตกไลน์เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าพิมพ์ลายภาพวาด กระเป๋าผ้าพิมพ์ลาย ปกสมุดบันทึก และเสื้อคลุมพิมพ์ลายภาพวาด ที่เป็นฝีมือตัดเย็บของคุณแม่ของเพ้นท์ฟ้าในแกลเลอรีและสตูดิโอด้วย

เราจะเริ่มทำงานที่นี่หลังจากกินข้าวกลางวันเสร็จ ทำไปเรื่อยๆจนถึง 6โมงค่อยกลับบ้าน (การมีคนมาดู)เราก็เฉยๆนะ คนมาดู เราก็ทำงานไป แต่ไม่ค่อยได้คุย เพราะเราอยากได้สมาธิมากกว่า มีคนจ้องแล้วรู้สึกประหม่า คุณพ่อพาไปดูงานนิทรรศการภาพศิลปะภาพวาด เราก็อยากรู้ว่าเขาวาดยังไง ก็ศึกษาไปเรื่อยๆ เริ่มจากวาดหุ่นนิ่ง จากนั้น เราก็วาดคนที่เราเห็นแล้วอยากวาด วาดรูปคุณพ่อคุณแม่ก็วาด และตอนนี้หันมาวาดตัวเอง(เซลฟ์พอร์ตเทรต) เป็นใบหน้าที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ที่เราเริ่มจะเป็นวัยรุ่น อย่างรูปนี้ค่อนข้างชอบเพราะเป็นใบหน้าเราทะเล้นดี วาดออกมาแล้วชอบ ที่เห็นเป็นขาวๆ เพราะบอกถึงว่าเราเป็นวัยรุ่นแล้วนะมีสิว ใช้ผงพิเศษแปะสิว ก็วาดออกมา” เพ้นท์ฟ้า ชาญชุติวาณิช, PAINT FAH

Artists in Residence

Ticha Art by BAAN SILOM

Artist: กลุ่มแกลเลอรีบ้านสีลม(BAAN SILOM)

Art Pieces: ศิลปินสร้างสรรค์ภาพวาดศิลปะร่วมสมัย 

กลุ่มแกลเลอรีบ้านสีลม (BAAN SILOM) นำเสนองานจิตรกรรมตั้งแต่งานจิตรกรรมไทยดั้งเดิมไปจนถึงงานแนวนามธรรม ภาพที่เป็นทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามภาพแนวนามธรรม งานภาพวาดสมัยใหม่ งานจิตรกรรมไทยดั้งเดิมเพิ่มเติมด้วยเทคนิคเฉพาะตัวในการสร้างสรรค์ภาพ ของศิลปิน 9 ท่าน ประกอบด้วย บันลือศักดิ์ สัจจาเจริญไชย, ช่อทิพย์ ศรีสวัสดิ์พงษ์, วสันต์ คร้ามศรี, กันยา บัดสีมา, สราวุธ ศรีมังคละ, สุชาติไกรทอง, วิญญา จันทะพล, พิชาติ เจียมรัตนสกุล และถาวรัตถ์ สมรรคจันทร์ ผู้ชมจะได้สัมผัสบรรยากาศการทำงานที่บ้านของศิลปิน และยกอาร์ตมาร์เก็ตจากบ้านสีลม มาเป็นหน้าร้านงานศิลปะเพื่อการตกแต่งหรือสะสมที่ริเวอร์ซิตี้ ทางกลุ่มจัดให้ศิลปินหมุนเวียนกันมานั่งประจำที่ AIR วันละ 2-3 คน ผู้มาเยี่ยมชมจะได้พบกับศิลปินที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“ทิชาอาร์ตเกิดจากการรวมกลุ่มศิลปิน ทุกคนมีงานของตัวเอง เลือกงานหมุนเวียนมาให้ดู คนมาดูก็ได้เห็นหลายๆแบบ และเลือกได้ตามแนวถนัด เรามีผู้จัดการร้านดูแลเรื่องการซื้อ-ขายสำหรับผลงานศิลปินทุกคนในแกลเลอรีนี้ได้เลย” สุชาติ ไกรทอง,Ticha Art by BAAN SILOM

Artists in Residence

956 CONTEMPORARY ART

Artist: ชลัช ฉวีสุข

Art Pieces: ภาพวาดศิลปะแนวนามธรรม (abstract)

ชลัช ฉวีสุข ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะผสานศาสตร์การทำสมาธิ ในแกลเลอรี 956 CONTEMPORARY ART ซึ่งมีผลงานล่าสุดอย่าง “Abstract Meditationism” ผลงานที่เปิดให้ผู้ชมได้ชมและสนทนาเกี่ยวกับศิลปะกับศิลปินโดยตรง

โดยศิลปินได้เล่าถึงการใช้สมาธิในการทำงานศิลปะของเขาว่า “งานศิลปะและการปฏิบัติกรรมฐานก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ตอนหลังผมลองตั้งใจเอามารวมกัน ก่อนทำงานศิลปะชิ้นหนึ่งๆ ผมจะนั่งสมาธิ อาจจะเป็นแค่นั่งบนเก้าอี้สงบจิตสงบใจ จนเข้าสู่ภาวะฌานจิตละเอียดขึ้น และแยกความรู้สึกบวกกับลบ ทำให้ผมแยกเอาพลังด้านบวกมาทำงาน…การต่อสีการคอมโพส(วางองค์ประกอบ)สีมาจากความรู้สึก คนทำงานศิลปะอาจจะห่วงว่างานจะไม่สวย แต่เราทำมาพอสมควรเราจะปล่อยให้มันออกมาจากข้างในจริงๆการทำงานศิลปะต้องมั่นใจ และเช็กว่าจิตเราต้องเป็นบวก และทำออกมาไม่ว่าจะเป็นสีอะไรความรู้สึกที่เป็นบวกนั้นเราอาจจะคิดว่ามันต้องแทนด้วยสีฟ้าน้ำเงิน แต่ในกระบวนการทำจริงมันอาจจะเป็นสีน้ำตาลหรือสีทองก็ได้”

บรรยากาศของสตูดิโอผนวกแกลเลอรีที่ศิลปินมองเป็นสำนักงานส่วนตัว ผู้ชมถูกเชื้อเชิญให้มาเป็นส่วนหนึ่ง การได้สัมผัสเสียงดนตรีบรรเลงแนวแจ๊สคลออยู่เบื้องหลังไซต์งานของศิลปินกับแคนวาสตั้งบนเฟรมขนาดใหญ่กลางห้อง ศิลปินจะเริ่มงานวาดเมื่อใด ให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ และหากต้องการสนทนา ศิลปินยินดีต้อนรับ

“มันเป็นทูเวย์คอมมูนิเคชัน (สื่อสารสองทาง) การที่เราอยู่บ้านหรือสตูดิโอแบบไม่มีใครเข้ามา มันก็คือการสร้างงานให้เสร็จแล้วค่อยเอามาโชว์ แต่การมีคนเข้ามาระหว่างผมทำงานไปด้วย มันเป็นการทำให้ผมเติบโต บางคนเป็นวิศวกรเคมีมาดูงานมาแลกเปลี่ยนเรื่องสี และอีกสิ่งหนึ่งคือคนดูที่มาดูเขาอาจจะมาที่นี่เพื่อเป็นที่พักใจ เข้ามาแล้วมีความสุข อยากมานั่งมาเสพงาน ไม่ต้องซื้อก็ได้” ชลัช ฉวีสุข, 956 CONTEMPORARY ART

Artists in Residence

GALLERY HOC

Artist: พระนาย เกษมถาวรศิลป์, สุนิษา อัศวินรุ่งโรจน์, กุลเชษฐ์ ขาวไชยมหา

Art Pieces: จิตรกรรมร่วมสมัย

ในแกลเลอรี “GALLERY HOC” เป็นพื้นที่ 3 ศิลปิน 3 แนว จากมหาวิทยาลัยศิลปากรพระนาย เกษมถาวรศิลป์ สร้างงานจิตรกรรมที่มีลูกเล่นบนพื้นผิวงานวาดสีอะคริลิกบนผ้าใบ ถ่ายทอดผ่านภาพใบหน้าเด็ก ซึ่งได้แรงดลใจหลักๆมาจากลูกสาวของศิลปินเอง งานของพระนายยังเน้นบรรยากาศ สะท้อนการปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างคนกับธรรมชาติแวดล้อม

สุนิษา อัศวินรุ่งโรจน์ ศิลปินปักผ้าที่สร้างลายปักให้เป็นเสมือนภาพวาดด้วยฝีเข็มและเส้นด้าย เทคนิคมีทั้งคอลลาจผ้าและใช้ลวดลายของเส้นด้ายเดินเส้นแทนการระบายสีด้วยพู่กันเนื้อหาเป็นสัตว์น้อยน่ารักและธรรมชาติสวยงามรอบตัว

กุลเชษฐ์ ขาวไชยมหา ศิลปินสร้างงานจิตรกรรมแนวเหนือจริง เทคนิคสีน้ำมันและบางชิ้นงานเป็นเทคนิคสื่อผสมที่มีสีสันทั้งความงามและความอัปลักษณ์สะท้อนมุมมองถึงมนุษย์กับธรรมชาติที่ต้องอยู่ร่วมกัน ทั้งบนบกและในทะเล

ศิลปินทั้งสาม ยกสตูดิโอ ย้ายทำเลจากทำงานที่บ้านมาไว้ที่นี่ เปิดโอกาสให้ตัวศิลปินได้พบปะศิลปินและผู้ชมศิลปะหลากหลายได้ง่ายขึ้น

“ขณะที่เราสร้างผลงานอยู่ ผู้มาเยี่ยมชมมีโอกาสจะได้เห็นสิ่งที่เราทำขึ้น… บางทีคนไทยมาดูศิลปะแล้วจะเกรงใจเห็นเราทำงานก็จะเดินเงียบๆ พวกเราก็จะบอกว่า ซักถามได้นะครับ ว่าเราทำอะไรยังไง เพราะคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ๆ ได้” กุลเชษฐ์ ขาวไชยมหา,GALLERY HOC

Artists in Residence

TY GALLERY 

Artist: ก้องศักดิ์ พูนผลวัฒนาภรณ์

Art Pieces: ศิลปะสตรีทอาร์ตร่วมสมัย

TY Gallery (ตี้แกลเลอรี) จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยก้องศักดิ์ พูนผลวัฒนาภรณ์ ผลงานของเขามีทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม โดยเทคนิคที่ใช้ในงานจิตรกรรมเป็นการผสมงานพ่นสีแบบกราฟิตี้และคอลลาจบนผ้าใบ ล้อไปกับเรื่องราวสะดุดใจในสังคมรอบตัว ส่วนงานประติมากรรมเป็นการสร้างคาแรกเตอร์ถ่ายทอดอารมณ์บุคลิกของคนร่วมสมัย เป็นตัวฟิกเกอร์คาแรกเตอร์เฉพาะตัว คลี่คลายจากงานแนวการ์ตูน จึงมีอารมณ์ของความตลกสนุกสนานงานที่แสดงในแกลเลอรีมีทั้งงานใหม่และงานเก่าเก็บที่สะท้อนตัวตนและเส้นทางการเป็นศิลปินของก้องศักดิ์ ซึ่งเริ่มต้นจากการขายชิ้นแรกตัวฟิกเกอร์คาแรกเตอร์ “หยดน้ำ”ได้ เพียง 1,500 บาท ซึ่งเป็นน้ำหยดแรกที่หล่อเลี้ยงให้เขาก้าวต่อในเส้นทางศิลปินในวัยปลายยี่สิบถึงต้นสามสิบ 

นอกจากก้องศักดิ์แล้ว ใน TY Gallery ยังมีงานของศิลปินอีกคนที่มาร่วมแสดง เป็นส่วนเติมเต็มให้แกลเลอรีมีชีวิตชีวามากขึ้น

สำหรับการทำงานในสตูดิโอ เน้นงานที่เป็นการปั้นฟิกเกอร์คาแรกเตอร์ในสเกลเล็ก เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นขั้นตอนการขึ้นตัวพิมพ์ก่อนจะพัฒนาเป็นฟิกเกอร์สมบูรณ์เพราะการทำงานพ่นสีทั้งคอลลาจและกราฟิตี้นั้นมีข้อจำกัดเรื่องสารเคมีและกลิ่นของวัสดุสีสเปรย์ ที่ต้องใช้พื้นที่โล่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก 

“ก่อนหน้านี้ผมมีร้านของตัวเอง เพิ่งมารู้ตัวว่ามีงานที่ทำแล้วเก็บไว้เอง ฟิกเกอร์คาแรกเตอร์บางตัวที่ไม่ได้เอาออกมาแสดงหรือเอาออกมาขาย การมีแกลเลอรีที่นี่ก็ได้โอกาสเอางานเหล่านั้นมาแสดงด้วย ก้องศักดิ์ พูนผลวัฒนาภรณ์,TY Gallery

J02 Gallery

Artist: ไพฑูรย์ จูมี

Art Pieces: ศิลปะภาพวาดเหมือนบุคคลเน้นเทคนิคเลเยอร์ของการลงสี

แกลเลอรี ไพฑูรย์ จูมี สำหรับผลงานที่จัดแสดงในแกลเลอรีนี้จะมีทั้งงานวาดและการลงสีอะคริลิกบนผืนผ้าใบและมีการใช้เทคนิคการทำเลเยอร์ให้วัตถุในภาพดูสวยงามมากขึ้น กระบวนการทำงานในการวางเลเยอร์ของภาพอย่างน้อย 3 ชั้นเกิดขึ้นที่สตูดิโอแห่งนี้ แม้จะมีข้อจำกัดในด้านสถานที่เพราะเป็นสตูดิโอแกลเลอรีติดแอร์กลางห้าง แต่ศิลปินได้เลือกเทคนิคที่สามารถใช้วัสดุและวัตถุดิบอย่างยางพารา มาทดแทนกระบวนการที่ต้องใช้น้ำในการล้างสีและการต้องใช้แสงแดดเพื่อทำให้เลเยอร์แต่ละชั้นแห้ง เพื่อสร้างเลเยอร์บนภาพวาดใบหน้าหญิงสาว ที่สะท้อนความรู้สึก องค์ประกอบใบหน้าของนางแบบที่แสดงรูปลักษณ์ติดตาของผู้หญิงไทยและความเป็นตะวันออก ซึ่งเป็นจุดเด่นในงานของศิลปินคนนี้

“บางคนเข้ามาดูและอยากให้วาดภาพใบหน้าของเขาหรือภาพหน้าแฟนเขา(ผู้หญิง) แต่อยากให้มีเทคนิคแบบนี้ ได้ฟีลแบบภาพที่เราแสดงอยู่ ในแนวของผมนะ แต่ให้เป็นใบหน้าเขา” ไพฑูรย์ จูมี,J02 Gallery

artists in residence

ThingsThatBringYouJoy

Artist: โอลกา ตาปิโอลา (Olga Tapiola)

Art Pieces: ศิลปะภาพวาดสีอะคริลิกแนวนามธรรม

เป็นแกลเลอรีแสดงงานเดี่ยวของนักจิตวิทยาและศิลปินชาวยูเครน ชื่อ โอลกา ตาปิโอลา (Olga Tapiola) นักจิตวิทยาและศิลปินชาวยูเครนผู้สร้างสรรค์งานสะท้อนจิตวิทยาส่วนตัวในชีวิตประจำวัน งานอะคริลิกบนผ้าใบของเธอเปิดให้ผู้ชมได้ร่วมสังเกตการณ์และสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นในศิลปะได้ ที่ แกลเลอรี ThingsThatBringYouJoy (ธิงส์แดตบริงยูจอย) สะท้อนปรัชญาการทำงานทั้งจิตวิทยาบำบัดและงานศิลปะในการนำความสดใสมาสู่ผู้คน สีสดใสที่ใช้งาน เขียว ส้ม ชมพู น้ำเงิน บางครั้งไม่ใช่แค่ความสดใส แต่เป็นความร้อนแรงดุดัน (volatile) ที่ชีวิตพานพบในสถานการณ์ต่างๆผลงาน 8 ชิ้นที่จัดแสดงในเฟสแรกของการเปิดคอมมูนิตี้อาร์ตแห่งนี้ ใช้ชื่อ “Dancing through difficulties, dancing towards the unknown”เป็นงานที่สร้างขึ้นช่วงกรุงเทพฯ ปิดเมืองป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงครึ่งปีแรกของพ.ศ.2563 และงานภาพแนวนามธรรม ถ่ายทอดความประทับใจ ความทรงจำ ความรู้สึกจากสิ่งที่พบเจอในชีวิต โอลกาออกตัวว่า เธออาจจะไม่ถนัดการสอนศิลปะ แต่ยินดีต้อนรับผู้สนใจเยี่ยมชมและพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นได้ เพราะบางครั้งเธอก็ชอบที่จะ “วิเคราะห์งานศิลปะของตัวเอง” และการมีคนดูมาแลกเปลี่ยนช่วยบ่มเพาะการเติบโตในฐานะศิลปินของเธอด้วย

“ความงามของภาพนามธรรมก็คือ ตอนนี้คนนั่งมองภาพตรงนี้เห็นอย่างนี้ แต่เมื่อคุณกลับมาดูมันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ คุณจะเห็นองค์ประกอบอื่นๆในภาพที่ต่างไปเพิ่มอีก ตอนฉันวาดภาพนี้ฉันนึกถึงฤดูใบไม้ผลิ แต่ฤดูนั้นของฉันเป็นโทนสีส้ม เพราะฉันชอบสีนั้น แต่ก็มีแตะๆสีชมพูลงไปบ้าง” โอลกา ตาปิโอลา, ThingsThatBringYouJoy

Fact File

Gallery

  1. PAINT FAH (Room 311)
  2. BAAN SILOM (Room 312)
  3. 956 CONTEMPORARY ART (Room 313)
  4. Gallery Hoc (Room 314)
  5. Ty Gallery (Room 317)
  6. J02 Gallery (Room 318)
  7. Things That Bring You Joy (Room 357-358)

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม