พาชม 7 อังมอเหลา คฤหาสน์เก่าของเถ้าแก่ภูเก็ต
- มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ตได้จัดทำหนังสือ “อังมอเหลา บ้านเก่าเถ้าแก่ภูเก็ต” เพื่อเผยแพร่ความงดงามของอังมอเหลาหรือคฤหาสน์ของคหบดีภูเก็ตจำนวน 7 หลัง ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ตและการก่อร่างสร้างตัวของชาวจีนฮกเกี้ยนจนกลายเป็นคหบดีผู้มั่งคั่ง
- อังมอเหลา เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปผสมจีนที่นิยมสร้างในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 โดยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากทางปีนัง
- ในเมืองภูเก็ตปัจจุบันมีอังมอเหลาหลงเหลืออยู่ประมาณ 20 กว่าหลัง
จุดเช็กอินยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือนภูเก็ตคงหนีไม่พ้นกลุ่มตึกแถวสองชั้นแบบชิโนยูโรเปี้ยนในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งนอกจากจะสะท้อนอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างจีนกับยุโรปแล้ว ยังบอกเล่าเรื่องราวการก่อร่างสร้างตัวของชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาตั้งรกรากยังเกาะภูเก็ต แหล่งทรัพยากรแร่ดีบุกของประเทศไทยในอดีต เช่นเดียวกับคฤหาสน์ที่เรียกว่า อังมอเหลา
เมื่อทำธุรกิจจนฐานะร่ำรวยกลายเป็นคหบดีชาวจีนภูเก็ตโดยเฉพาะในช่วงที่การทำเหมืองแร่เฟื่องฟูในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และต้นรัชกาลที่ 6 เหล่าคหบดีได้ขยับขยายที่อยู่อาศัยโดยซื้อที่ดินเพิ่มและก่อสร้างคฤหาสน์หรือที่ชาวจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า อังมอเหลา ในรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างยุโรปกับจีนโดยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากทางปีนัง ซึ่งในสมัยนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษและถือเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคนี้
ในภาษาจีนฮกเกี้ยนคำว่า “อังมอ” แปลว่า “ผมแดง” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกชาวต่างชาติที่เชื้อสายยุโรปหรือชาวผิวขาวโดยที่มิได้ระบุเชื้อชาติหรือสัญชาติ ส่วนคำว่า “เหลา” หมายถึง “ตึก” หรือ “คฤหาสน์” คำว่า อังมอเหลา จึงมีความหมายว่า คฤหาสน์แบบฝรั่ง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ตึกฝรั่ง
“ในเมืองภูเก็ตปัจจุบันมี อังมอเหลา หลงเหลืออยู่ประมาณ 20 กว่าหลัง อังมอเหลายุคแรกๆที่สร้างในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 คือ บ้านของพระพิทักษ์ชินประชา (ปัจจุบันให้ร้านอาหาร Blue Elephant เช่าพื้นที่) และบ้านของหลวงอำนาจนรารักษ์ ซึ่งอยู่มุมถนนสตูลตัดกับถนนดีบุก บางหลังก็ทรุดโทรมไปตามเวลา หลายหลังถูกรื้อทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็มีหลายหลังที่ได้รับการอนุรักษ์จากเจ้าของจนกลับมาโอ่อ่าสวยงามเหมือนในอดีต” นายแพทย์โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากัน กล่าว
ทางมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ตจึงได้จัดทำหนังสือชื่อ “อังมอเหลา บ้านเก่าเถ้าแก่ภูเก็ต” โดยนายแพทย์โกศลรับหน้าที่บรรณาธิการในการรวบรวมสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของอังมอเหลาจำนวน 7 หลัง ประกอบด้วย บ้านพระพิทักษ์ชินประชา บ้านชินประชา บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์ บ้านทองตัน บ้านหงษ์หยก บ้านพระอร่ามสาครเขตร และจวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
หนังสือจำนวน 104 หน้าจัดทำเป็นปกแข็งและมีเนื้อหา 2 ภาษาคือภาษาไทยและภาษาอังกฤษพร้อมภาพประกอบสี่สี โดยจัดพิมพ์จำนวนทั้งสิ้น 1,300 เล่มเพื่อมอบให้แก่สถาบันการศึกษา สถานที่ราชการ ห้องสมุดและหน่วยงานที่สนใจ
“ก่อนหน้านี้เราเคยทำหนังสือชื่อ ‘บ้านเก่าที่เรารัก(ษ์)’ เกี่ยวกับเตี้ยมฉู่ หรือตึกแถวในย่านเมืองเก่า ปีนี้เราจึงสานต่อเรื่อง อังมอเหลา เพราะยังไม่เคยมีหนังสือที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอังมอเหลาที่เขียนโดยคนภูเก็ต ทางเราได้งบประมาณจากเทศบาลนครภูเก็ต บ้านแต่ละหลังมีประวัติยาวนานและกว่าจะได้เข้าแต่ละบ้านได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กรุ่นลูกรุ่นหลานจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็น หนังสือเล่มนี้จึงพยายามรวบรวมประวัติของบ้าน รวมไปถึงลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งเพื่อสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงหากมีการบูรณะซ่อมแซม หรืออนุรักษ์ เพราะหลายหลังเมื่อทรุดโทรมก็มีการทุบทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย” ประภาพรรณ อึ่งตระกูล ประธานมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดทำหนังสือ
คฤหาสน์ทั้ง 7 หลังที่ปรากฎในหนังสือมีความสวยงามอย่างไรบ้าง มาชมกันเลย
01 บ้านพระพิทักษ์ชินประชา
คฤหาสน์หลังใหญ่สีเหลืองครีมซึ่งปัจจุบันให้ร้านอาหารไทย Blue Elephant เช่าพื้นที่ เป็นบ้านที่อำมาตย์ตรีพระพิทักษ์ชินประชา (ตันม้าเสียง) ต้นสกุลตัณฑวณิชผู้ร่ำรวยจากกิจการเหมืองแร่ดีบุกและค้าขายกับปีนัง สร้างขึ้นราว พ.ศ.2447 ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นเรือนหอให้บุตรชายคนโตคือขุนชินสถานพิทักษ์
พระพิทักษ์ชินประชาสร้างบ้านไว้ในบริเวณเดียวกันไว้ถึง 2 หลังด้วยกันบนเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ โดยบ้านหลังแรกคือบ้านพระพิทักษ์ชินประชา ส่วนอีกหลังคือบ้านชินประชาซึ่งสร้างหลัง พ.ศ.2454
ลักษณะสถาปัตยกรรมของบ้านพระพิทักษ์ชินประชาเป็นแบบนีโอคลาสสิก (Neo-classic) มีหลังคาทรงปั้นหยาและมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ลักษณะภายนอกที่โดดเด่นคือมุขรูปเหลี่ยมตรงกึ่งกลางอาคารและราวลูกกรงปูนปั้นสีขาวใต้แนวหน้าต่าง
02 บ้านชินประชา
บ้านชินประชา สร้างขึ้นภายหลังบ้านพระพิทักษ์ชินประชาบนที่ดินแปลงเดียวกัน ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ของตระกูลตัณฑวณิชและยังเป็นที่อยู่อาศัยของทายาทด้วย
“บ้านนี้มีฉิ่มแจ้ (ลานเปิดโล่งเพื่อรับแสงธรรมชาติ) บริเวณกลางบ้านกว้างมากซึ่งภายหลังปรับปรุงเป็นบ่อเลี้ยงปลา มีเสาแบบคอรินเทียน (Corinthian) ขนาบข้างและมีช่องโค้ง (Arch) บันไดไม้ที่นี่โดดเด่นมากเพราะใต้บันไดแกะสลักเป็นรูปดอกไม้แบบยุโรปผสมจีนปิดทองสวยงาม” นายแพทย์โกศลกล่าว
บริเวณโถงกลางบ้านตกแต่งด้วยกระเบื้องพิมพ์ลายรูปเรขาคณิตสไตล์วิกตอเรียนจากอังกฤษซึ่งนำเข้ามาจากทางปีนังเนื่องจากการค้าขายทางเรือผ่านเกาะปีนังมายังภูเก็ตในสมัยนั้นเฟื่องฟู เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษเมืองจีนยังได้รับการถนอมรักษาไว้อย่างดี ส่วนห้องครัวยังมีเตาก่ออิฐและแท่นบูชาเทพเจ้าเตาไฟ (จ้าวฮุ่นกง) รวมไปถึงเครื่องครัวและภาชนะแบบโบราณ
“บ้านชินประชายังมีความน่าสนใจตรงที่หน้าต่างไม้บานเกล็ดแบบยุโรปและประตูสีฟ้าครามตัดกับตัวบ้านสีขาวมีระเบียงบ้านกว้างบริเวณชั้นบน หลังคายังปูด้วยกระเบื้องกาบกล้วยแบบจีนโบราณกล่าวกันว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เคยเสด็จมาเสวยพระสุธารสที่บ้านชินประชา แต่ไม่ยืนยันเพราะไม่มีหลักฐานทางหอจดหมายเหตุ”
03 บ้านหลวงอำนาจนรารักษ์
บริเวณปลายถนนดีบุกเป็นที่ตั้งของคฤหาสน์สีเหลืองครีมซึ่งเคยเป็นบ้านพักของหลวงอำนาจนรารักษ์ (ตันยกกวด) ต้นสกุลตัณฑเวส ซึ่งเป็นเศรษฐีทำเหมืองแร่อยู่ที่อำเภอกะทู้และเป็นผู้ที่ริเริ่มให้เกิดพิธีกินผักเพื่อปัดเป่าสิ่งรังควานจนกลายเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ประจำปีของชาวภูเก็ต
ถึงแม้ตัวอาคารจะทรุดโทรมไปตามเวลา แต่นายแพทย์โกศลกล่าวว่าบ้านหลังนี้ยังคงสภาพดั้งเดิมอยู่มากและเป็นตัวอย่างของการออกแบบโดยยึดหลักแบบสมมาตร (Symmetrical Balance) ซึ่งประกอบด้วยมุขด้านหน้าและปีกซ้ายขวาได้อย่างสมบูรณ์ รวมไปถึงลวดลายปูนปั้นที่ยังคงความงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาอังมอเหลาในย่านเมืองเก่าภูเก็ต
“อังมอเหลาหลังนี้มีรูปทรงที่สมบูรณ์ที่สุดหลังหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ มี French Window มีปูนปั้นสไตล์โรมัน หัวเสาแบบคอรินเทียน (Corinthian) แกะสลักเป็นรูปดอกไม้และใบไม้คล้ายหัวผักกาด พื้นกระเบื้องนำเข้ามาจากปีนัง ที่โดดเด่นที่สุดคือลายปูนปั้นตามเสามีสภาพสมบูรณ์มากเป็นลวดลายสัตว์มงคลจีนเช่น ค้างคาง สิงโต กิเลน และหงส์ ส่วนหน้าบันแกะสลักเป็นรูปโลกในกรอบวงกลมล้อมด้วยลายเถาองุ่นและพรรณไม้แบบตะวันตก”
หลวงอำนาจนรารักษ์ สร้างบ้านหลังนี้ในราว พ.ศ.2458 เป็นรูปแบบผสมผสาน (Eclectic Style) ระหว่างสถาปัตยกรรมแบบยุโรปกับจีน โดยมีซุ้มโค้งป้าน (Three Centered Arch) บริเวณมุขเทียบรถซึ่งรองรับด้วยเสากลมเซาะร่องตามแนวตั้ง ซุ้มหน้าต่างทั้งแบบโค้งครึ่งวงกลม (Semi-circular Arch) และแบบจั่วสามเหลี่ยม (Pediment) ในขณะที่ลายปูนปั้นภายนอกอาคารสอดแทรกลวดลายมงคลตามคติความเชื่อแบบจีนรวมไปถึงประตูไม้ทางเข้าบ้านภายใต้มุขเทียบรถยนต์แกะสลักอย่างวิจิตร ปัจจุบันยังคงมีลูกหลานอาศัยอยู่ในบ้านและไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าชม
“ภายในบ้านทาสี Blue เพราะชาวเพอรานากันไม่ถือการใช้สีโทน Indigo แบบฝรั่ง ในขณะที่คนจีนถือว่าเป็นสีอัปมงคล” นายแพทย์โกศลกล่าว
04 บ้านหงษ์หยก
คฤหาสน์ของ ตระกูลหงษ์หยก ตั้งอยู่ริมถนนเทพกระษัตรีเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกและโดดเด่นด้วยมุขรูปโค้งขนาดใหญ่รองรับด้วยเสากลมสองฝั่งที่เป็นทั้งระเบียงและมุขเทียบรถยนต์
บ้านหงษ์หยกเป็นอังมอเหลายุคหลังเพราะสร้างในปี พ.ศ.2473 ช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 โดยหลวงอนุภาษภูเก็ตการ(ตันจิ้นหงวน) ผู้ประสบความสำเร็จในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองในเหมืองแร่และเป็นผู้ร่วมบุกเบิกเรือขุดแร่ ปัจจุบันเป็นที่พักอาศัยของครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นและได้รับการดูแลรักษาอย่างดีและยังเป็นสถานที่สำคัญในการจัดพิธียกน้ำชาและไหว้ฟ้าดินในงานวิวาห์ของชาวภูเก็ตบาบ๋า
“บ้านหงษ์หยกเป็นคฤหาสน์ทรงยุโรป มีระเบียงกว้างชั้นบนและน่าจะนำรูปแบบบ้านจากทางปีนังมาผสมผสาน เป็นยุคที่นำการก่อสร้างแบบอุตสาหกรรมเข้ามาคือการใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก มีการก่อสร้างมุขโค้งถึง 3 ช่วงเสา มีการลงเสาเข็มซึ่งแตกต่างกับการก่อสร้างแบบเดิมคือการก่ออิฐฉาบปูน” นายแพทย์โกศลกล่าว
จากมุขเทียบรถก่อนเข้าสู่ตัวบ้านจะมีพื้นเฉลียงหน้าบ้านปูด้วยกระเบื้องโมเสกแบบวิกตอเรียนจากอังกฤษประตูทางเข้าหลักเป็นบานเปิดคู่แบบโบราณซ้อน 2 ชั้น และเมื่อเข้าไปภายในจะพบห้องโถงรับแขกกลางบ้านตกแต่งอย่างโอ่อ่าโดยมีซุ้มโค้งขนาบสองข้าง
เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดสั่งมาจาก Bangkok House Furnishing Company บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีชื่อเสียงของสยามในยุคนั้น อีกห้องที่สวยงามคือห้องรับประทานอาหารตกแต่งด้วยโต๊ะยาวแบบฝรั่งตั้งอยู่ตรงกลางพร้อมเก้าอี้โทนสีเหลืองนวลจำนวน 20 ตัว และเคยใช้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมืองมามากมายหลายคณะ
05 บ้านทองตัน
บ้านทองตัน เมื่อแรกสร้างด้านหน้าติดถนนเทพกระษัตรีและเป็นบ้านสองชั้นแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ในราว พ.ศ.2458 ต่อมามีการต่อเติมอาคารด้านหลังเพิ่ม ครั้นเมื่อบ้านหลังแรกทรุดโทรมได้มีการรื้อถอนออกไปทำให้ปัจจุบันเหลือเพียงอาคารที่ต่อเติมภายหลังและใช้ทางเข้าออกด้านถนนดีบุกแทน
รูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านทองตันที่สร้างโดยขุนชนานิเทศ (ตันเซียวเซอะ) ต้นสกุลทองตัน ผู้ร่ำรวยจากกิจการเหมืองแร่และเป็นผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์รายแรกๆในภูเก็ต เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้นแบบผสมผสานยุโรปกับจีนแต่มีความเรียบง่ายกว่าอังมอเหลาหลังอื่น ๆ
ประตูทางเข้าบ้านเป็นบานไม้ทึบแบบจีนทาสีแดงแต่ด้านบนประยุกต์เป็นช่องแสงกรุกระจกสีแบบตะวันตก ภายในห้องโถงขนาดใหญ่ตั้งโต๊ะบูชาบรรพบุรุษแบบจีนทำจากไม้จำหลักลายปิดทอง นอกจากนี้ยังมีลานเปิดโล่งรับแสงธรรมชาติหรือฉิ่มแจ้และมีบ่อน้ำโบราณอยู่ ซุ้มโค้งบริเวณก่อนทางขึ้นบันไดประดับด้วยลายปูนปั้นนูนต่ำรูปค้างคาวคู่แบบจีนซึ่งหมายถึงโชคลาภ
“บ้านหลังนี้มีเครื่องเรือนที่น่าสนใจคือตู้ไม้ฝังผนังที่มีหน้าบานเป็นกระจกใสไว้โชว์ของมีค่า บันไดไม้ภายในบ้านมีทรงกว้างตามความเชื่อของจีนว่านำมาซึ่งโชคลาภ ราวลูกกรงเหล็กหล่อตรงระเบียงหน้าบ้านทาสีแดงสันนิษฐานว่าไม่น่าจะหล่อที่นี่แต่น่าจะสั่งมาจากทางอังกฤษ เป็นลวดลายเหมือนสับปะรดเพราะตามความเชื่อของชาวฮกเกี้ยนสับปะรดหมายถึงโชคลาภลายปูนปั้นบริเวณหน้าจั่วเป็นรูปนกเหยียบบนลูกโลกผสมกับช่ออุบะสไตล์วิกตอเรียน โรงรถของที่นี่ยังคงสภาพดั้งเดิมโดยหลังคาเป็นโครงสร้างไม้แบบโบราณและมุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย”
06 บ้านพระอร่ามสาครเขตร
อาคารสีขาวสองชั้นภายในรั้วเดียวกับสำนักงานของบริษัทการบินไทยบนถนนระนองเคยเป็นบ้านพักของอำมาตย์ตรีพระอร่ามสาครเขตร (ตันเพ็กฮวด) ต้นสกุลตัณฑัยย์ คหบดีผู้ร่ำรวยจากธุรกิจเหมืองแร่และสวนยางพาราในสมัยรัชกาลที่ 6
ผังอาคารเป็นแบบไม่สมมาตร คือด้านหน้าอาคารมุขเทียบรถอยู่เกือบกึ่งกลาง ส่วนปีกอาคารด้านซ้ายและขวาจงใจออกแบบให้แตกต่างกัน เสาแบบคอมโพสิต(Composite Column) โดยรอบอาคารเป็นงานประยุกต์ปูนปั้นสไตล์ยุโรปผสมกับภาพมงคลตามความเชื่อแบบจีน เช่น ส้ม ทับทิม และลูกท้อ
นายแพทย์โกศลเสริมว่า การตกแต่งอาคารยังได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบบาโรก (Baroque) เช่นช่องแสงกระจกรูปวงรีเหนือช่องหน้าต่างชั้นบนและการประดับลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้บริเวณผนัง สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างคือช่องลูกฟักกระจกมีกรอบคิ้วรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนตรงกลางตามสไตล์ศิลปะแบบอาร์ตเดโก (Art Deco) ปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีโดยบริษัทการบินไทย
07 จวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต สร้างราวปี พ.ศ.2455 โดยสันนิษฐานว่าผู้สร้างเป็นบริษัทฝรั่งที่มารับสัมปทานทำเหมืองแร่ดีบุกและสร้างอาคารนี้เพื่อให้เป็นที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง เมื่อหมดสัญญาจึงคืนที่ดินและบ้านให้แก่ทางการไทย
“อังมอเหลาส่วนใหญ่มีลักษณะรูปแบบเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น ยกพื้นสูง มีชานกว้างรับอากาศแบบบังกะโล มีมุขหน้า มีช่องโค้งหรือ Arch ผสมกับช่องลมแบบจีน บ้านหลังนี้ก็เช่นกันได้สร้างแบบบ้านพักตากอากาศของฝรั่งสมัยนั้นตามแบบปีนัง” นายแพทย์โกศลอธิบาย
จวนผู้ว่าฯแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับแรมของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวงเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคใต้ในปี พ.ศ.2502
เครดิตภาพ : มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต
Fact File
- หนังสือ “อังมอเหลา บ้านเก่าเถ้าแก่ภูเก็ต” จัดทำโดยมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อมอบให้แก่สถาบันการศึกษา สถานที่ราชการ ห้องสมุดและหน่วยงานที่สนใจ
- รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อคุณขวัญ โทรศัพท์ : 088-757-2913