333 Anywhere แกลเลอรีที่ทำให้ ศิลปะร่วมสมัย เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน
Arts & Culture

333 Anywhere แกลเลอรีที่ทำให้ ศิลปะร่วมสมัย เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน

Focus
  • 333 Anywhere เป็นแกลเลอรีที่แตกหน่อมาจาก 333 Gallery ซึ่งเปิดสาขาแรกเมื่อ 15 ปีที่แล้วบนถนนสุรศักดิ์ และขยายมาเปิดสาขา 2 ที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา
  • 333 Anywhere ไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่แสดงงานศิลปะร่วมสมัยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่บ่มเพาะและสนับสนุนศิลปินตามระบบแกลเลอรีแบบสากล

หลายคนบอกว่าศิลปะร่วมสมัยนั้นเข้าถึงยาก แต่สำหรับ 333 Anywhere แกลเลอรีน้องใหม่ในโกดัง Warehouse 30 กลับมองว่าศิลปะร่วมสมัยมีความน่าค้นหา และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดแกลเลอรีที่มุ่งหวังสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยและศิลปินรุ่นใหม่ให้ได้มีพื้นที่ในการแสดงงาน 

333 Anywhere เป็นแกลเลอรีที่แตกหน่อมาจาก 333 Gallery ซึ่งเปิดสาขาแรกเมื่อ 15 ปีที่แล้วบนถนนสุรศักดิ์และเน้นแสดงงานแอนทีคกับงานของศิลปินชาวเวียดนาม และขยายมาเปิดสาขา 2 ที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก เมื่อ 4 ปีที่แล้วโดยนำเสนองานของศิลปินไทยระดับมาสเตอร์และรุ่นกลาง

ธริศา วานิชธีระนนท์

ธีระ วานิชธีระนนท์ ผู้ก่อตั้ง 333 Gallery ได้ส่งต่อไม้ธุรกิจให้ลูกสาว ธริศา วานิชธีระนนท์ ให้เข้ามาดูแล 333 Anywhere อย่างเต็มตัวเพื่อให้ที่นี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ที่แสดงงานศิลปะร่วมสมัยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่บ่มเพาะและสนับสนุนศิลปินตามระบบแกลเลอรีแบบสากล

“เรามุ่งหวังที่จะขยายวงการศิลปะร่วมสมัยให้เข้าถึงง่ายขึ้น นักสะสมส่วนใหญ่ยังเก็บแต่งานของ Old Masters ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ที่มีฝีมือดีไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักจนบางคนต้องเลิกทำงานไป เราจึงมีการเซ็น Contract กับศิลปินที่เราเห็นว่าเขามีความสามารถ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานศิลปะไปตลอด และมีทัศนคติไปในแนวทางเดียวกับเรา โดยเราจะเป็นตัวแทนของเขา มีแผนการทำงานและแผนการตลาดที่ชัดเจน เราไม่ได้ให้เป็นเงินเดือนแต่ให้ความมั่นใจว่าแต่ละคนจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน” ธริศา กล่าวถึงโครงการปลุกปั้นศิลปินในสังกัด

“333 Avengers” คือชื่อกลุ่มศิลปิน 9 คนแรกในสังกัดของ 333 Anywhere ประกอบด้วย ดารากร สอนพูด (โก้), จิตติ จำเนียรไวย (หนุ่ม), วีรญา ยามันสะบีดีน (ไจโกะ), อนันต์ยศ จันทร์นวล (มาร์ค), ปองพล ปรีชานนท์ (ปอง), ปภัส สีแนม (พลู), ปาลฉัตร ยอดมณี (ไอซ์), ภูมินทร์ ภูผา (กีตาร์) และ ขจรศักดิ์ รุ่งสุริยัน (จร) ทั้งหมดทำงานประเภทจิตรกรรมและอยู่ในช่วงอายุ 24-47 ปี

“เราตามดูงานของพวกเขามาเป็นปีก่อนที่จะมีการคุยและเซ็น Contract งานของทุกคนต่างมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เมื่อดูแล้วเราจะไม่เกิดความสงสัยว่างานเหมือนคนนั้นหรือเหมือนคนนี้เลย การที่เรามีพันธมิตรเป็นแกลเลอรีในไต้หวัน มาเลเซีย และเวียดนาม และจะขยายเครือข่ายให้มากขึ้นรวมทั้งกลุ่มนักสะสมที่เรามีคอนเน็กชัน ทำให้เรามั่นใจว่าจะทำให้พวกเขาโตขึ้น เท่าที่ผ่านมา 2 ปีทุกคนก้าวหน้าขึ้นและเป็นที่รู้จัก มีงานเข้ามาทุกคน เป้าหมายของเราไม่ใช่ให้พวกเขาขายภาพได้มากขึ้นแต่เป็นการสร้างเครือข่ายและขยายฐานกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนมือซึ่งจะช่วยเพิ่ม Value ของงาน และตั้งเป้าว่าสุดท้ายแล้วงานของพวกเขาจะได้อยู่ในคอลเล็กชันของมิวเซียม” ธริศาในวัย 44 ปีกล่าวถึงความตั้งใจที่จะสร้างระบบการทำงานแบบแกลเลอรีที่ชัดเจนในเมืองไทย

สำหรับ วีรญา หรือ ไจโกะ เป็นศิลปินที่ทำงานแบบ Realistic และมีกลิ่นอายความเป็นสากลและเป็นคนหนึ่งที่ธริศากล่าวว่ามีงานล้นไปจนถึงสิ้นปีหน้า

“ไจโกะเป็นคนที่ทำงานขึ้นอยู่กับอารมณ์ เมื่อมาทำงานร่วมกันเราต้องช่วยเรื่องการวางแผนงาน การดีลกับลูกค้า ปกติไจโกะใช้เวลาในการวาดภาพสีน้ำมันภาพหนึ่งนานประมาณ 3-4 เดือน และเขาจะทำสเก็ตโครงภาพคร่าว ๆ ก่อนเพื่อเป็นเอาต์ไลน์ เราก็จะให้ลูกค้าจองงานตั้งแต่ยังเป็นสเก็ตเพราะนักสะสมมั่นใจว่าผลงานจริงออกมาดีกว่าสเก็ตแน่นอน ราคาภาพประมาณ 60,000-150,000 บาท สำหรับภาพขนาด 70 ซม. ถึง 1.4 เมตร ส่วนมาร์ค (อนันต์ยศ) กวาดรางวัลมาเกือบทุกการประกวดและภาพของเขามีรายละเอียดเยอะมาก งานมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร” ธริศาเสริมว่าปลายปีหน้ามีแพลนจะนำงานศิลปินไทยไปร่วมแสดงที่แกลเลอรีในไต้หวันซึ่งเป็นพันธมิตรกัน

จากประสบการณ์ที่ช่วยพ่อบริหารแกลเลอรีมาหลายปี ธริศากล่าวว่ามูลค่างานศิลปะร่วมสมัยโตขึ้นทุกปี อายุของนักสะสมลดลงและมีการซื้อขายทางออนไลน์มากขึ้น

“กลุ่มนักสะสมอายุ 25-55 ปี เป็นกลุ่มที่เราอยากสร้างคอนเน็กชันด้วยและดีลกันในระยะยาว งานศิลปะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าหุ้น มากกว่าทอง แต่ภายในวงเล็บว่าต้องเลือกถูก ส่วนข้อด้อยคือเปลี่ยนมือได้ยาก ไม่เหมือนเพชรและทอง สัดส่วนของนักสะสมที่ซื้อเพราะเป็น Passion และซื้อเพื่อการลงทุนมีพอ ๆ กัน ถ้าเป็นนักสะสมใหม่เราก็จะแนะนำให้ใจเย็นๆ ค่อย ๆ คิดว่าชอบสไตล์แบบไหน ให้ซื้อเพราะชอบก่อนจะได้ไม่เครียดเพราะอย่างต่ำ 5-6 ปี ราคาถึงจะขยับ”

333 Anywhere มีแผนจะเปิดตัวแกลเลอรีแบบออนไลน์ในปีหน้าซึ่งผู้ชมสามารถดูนิทรรศการที่จัดแสดงได้แบบ Virtual และซื้อผลงานผ่านระบบออนไลน์ได้เลย อีกทั้งยังมีโปรเจกต์ร่วมมือกับศิลปินหลายคนสร้างสรรค์งานประเภท Toy Art

ในส่วนนิทรรศการหมุนเวียน ทางแกลเลอรีตั้งเป้าให้มีการหมุนงานจัดแสดงทุกเดือนบนพื้นที่ขนาด 300 ตารางเมตร โดยเปิดตัวด้วยนิทรรศการ “The Process of Healing”ของศิลปินหน้าใหม่ ลาภินี (นาเดีย) บุษยาสกุลเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 และมีแพลนจะเชิญศิลปินที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาแสดงงานปีละครั้ง

“นาเดียเป็นศิลปินที่เพิ่งจบจากจุฬาฯ และยังเป็นหน้าใหม่มากๆ แต่เราดูงานเขาแล้วมีความน่าสนใจ มีแนวคิดใหม่ๆ นักสะสมหลายท่านถามว่าทำไมจึงกล้าเปิดแกลเลอรีด้วยงานของนาเดียซึ่งยังไม่มีชื่อเสียง แต่เราก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเรามองไม่ผิดเพราะงานของนาเดียที่แสดงในนิทรรศการขายได้เกือบหมด ในการจัดนิทรรศการก็ต้องยอมรับว่าเราต้องดูตลาดด้วย คนไทยส่วนใหญ่ยังชอบดูงานที่ดูแล้วรู้เรื่องและสวยงาม แต่งานบางงานที่ไม่น่าจะได้แต่เราว่าดีเราก็นำมาแสดงเช่น ชุดภาพวาดแนวนามธรรมของ อำนาจ วชิระสูตร (ในนิทรรศการชื่อ Elemental จัดแสดงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563) งานของอำนาจน่าจะไปได้ไกลในตลาดต่างประเทศ ในส่วนของคิวเรเตอร์ก็มีทั้งแบบรับเชิญและเราคัดเลือกงานเอง” 

ธริศาแสดงความเห็นถึงวงการแกลเลอรีในประเทศไทยว่า “บ้านเรามีสมาคมนักสะสม แต่ยังไม่มีสมาคมแกลเลอรีเหมือนอย่างในฮ่องกงที่ทำงานเกื้อกูลกัน เรามีแกลเลอรีทั้งเล็กและใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปแต่ยังไม่ได้รวมตัวกันมากนัก ในส่วนของเราจึงพยายามให้เกิดระบบแกลเลอรีว่าแกลเลอรีไม่ใช่แค่ที่จัดแสดงงานและคิดเปอร์เซ็นต์จากการขายเท่านั้น” 

Fact File


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว