ชมมาสเตอร์พีซศิลปะไทยสมัยใหม่ จากขรัวอินโข่ง ถึง Crybaby ครั้งแรกเปิดคลังสะสมของ พิริยะ วัชจิตพันธ์ สู่สาธารณชน
- พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทประมูลงานศิลปะ The Art Auction Center นำผลงานมาสเตอร์พีซกว่า 100 ชิ้นในคอลเลกชันส่วนตัวมาจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก
- นิทรรศการจัดแสดงไทม์ไลน์ของศิลปะสมัยใหม่ของไทยตั้งแต่ยุคขรัวอินโข่ง จิตรกรในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงคาแรคเตอร์สุดฮิต Crybaby ของศิลปินอาร์ตทอยผู้โด่งดัง มอลลี่-นิสา ศรีคำดี
- ผลงานหาชมยากที่นำมาจัดแสดงมีตั้งแต่ยุคบุกเบิกและยุคบั้นปลายชีวิตของศิลปินชั้นครู เช่น งานของ เขียน ยิ้มศิริ ประกิต บัวบุศย์ เฟื้อ หริพิทักษ์ ชลูด นิ่มเสมอ ถวัลย์ ดัชนี และ มณเฑียร บุญมา
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทประมูลงานศิลปะ The Art Auction Center สนใจศึกษาเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ของไทยอย่างจริงจังจนกลายเป็นนักสะสมผลงานศิลปะตัวยงด้วยคอลเลกชันหายากกว่า 500 ชิ้นพร้อมกับบทบาทคอลัมนิสต์ศิลปะในนามปากกา “ตัวแน่น” และนับเป็นครั้งแรกที่ พิริยะ ได้คัดเลือกชิ้นงานไฮไลต์ราว 100 ชิ้นจากคลังสะสมส่วนตัวมาจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในนิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art History
นิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art History จัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม-31 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ย้อนเล่าไทม์ไลน์ของศิลปะสมัยใหม่ของไทยตั้งแต่ยุคขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ริเริ่มใช้เทคนิคเขียนทัศนียภาพ (perspective) แบบตะวันตก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีการว่าจ้างช่างเขียนและสถาปนิกต่างชาติเข้ามารับราชการในสยาม
ถัดมายุค อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้อุทิศตนในการพัฒนาวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยและบรรดาศิษย์เอก เช่น เฟื้อ หริพิทักษ์ จำรัส เกียรติก้อง และ เขียน ยิ้มศิริ ต่อด้วยยุคบุกเบิกศิลปะอิมเพรชชันนิสต์ (impressionism) เช่น ผลงานของ ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ และ มีเซียม ยิบอินซอย และไล่เรียงไปตามยุคศิลปะแนวต่างๆ เช่น นามธรรม (abstract) เหนือจริง (surrealism) และคิวบิสต์ (cubism) เช่นงานของ ชลูด นิ่มเสมอ จ่าง แซ่ตั้ง ถวัลย์ ดัชนี และ ประสงค์ ปัทมานุช จนถึงยุคงาน conceptual และ installation art ของ มณเฑียร บุญมา และงานศิลปินรุ่นใหม่ผู้สร้างสรรค์คาแรคเตอร์สุดฮิตอย่าง Crybaby ของ มอลลี่-นิสา ศรีคำดี และ Mardi โดย Alex Face
จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการภาพศิลปะมาตกแต่งคอนโดมิเนียมที่เพิ่งสร้างเสร็จในพ.ศ.2556 พิริยะซึ่งยอมรับว่าในขณะนั้นเขารู้จักงานศิลปินไทยแค่สองคนคือ ถวัลย์ ดัชนี และ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้ตัดสินใจซื้อภาพวาดรูปช้างของ ถวัลย์ ดัชนี มาจากนักสะสมท่านหนึ่ง จากนั้นจึงเริ่มตระหนักว่างานศิลปะนั้นนอกจากจะมีคุณค่าทางจิตใจที่ถือเป็นกำไรสำหรับเขาแล้วยังมีมูลค่าเพิ่มอีกด้วยในแง่การลงทุน ทำให้ พิริยะ เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างจริงจังและตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บงานให้ครบสมบูรณ์ตามไทม์ไลน์ของศิลปะสมัยใหม่ของไทย อีกทั้งวางแผนจะนำคอลเลกชันสะสมมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวในอนาคต
ยุคบุกเบิกผสมผสานเทคนิคศิลปะตะวันตกในภาพเขียนไทย
ผลงานไฮไลต์ที่ พิริยะ นับเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่ของไทยคือ ภาพเขียนของขรัวอินโข่ง (ราวสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4) ผู้ริเริ่มแหวกขนบการเขียนภาพแบบประเพณีไทยนิยมโดยสร้างมิติของภาพด้วยหลักทัศนียภาพแบบศิลปะของตะวันตก มีการใช้แสงเงาแทนการตัดเส้น และใช้สัญลักษณ์เป็นปริศนาธรรมแทนการวาดพุทธประวัติ ในภาพสีฝุ่นบนแผ่นไม้ที่นำมาจัดแสดงจิตรกรวาดการแต่งกายของบุคคล ทิวทัศน์ อาคารบ้านเรือนแบบตะวันตกในโทนสีหม่นและสันนิษฐานว่าขรัวอินโข่งผู้ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แต่ได้มีโอกาสถวายงานรัชกาลที่ 4 น่าจะได้เห็นเครื่องราชบรรณาการที่ต่างประเทศนำมาถวาย ภาพอาคารบ้านเรือน บุคคล ข้าวของเครื่องใช้จากภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงอิทธิพลของตะวันตกที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในช่วงนั้นทำให้นำเทคนิคแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้กับศิลปะไทย
ผลงานชิ้นสำคัญที่จัดแสดงใกล้กันคือภาพสีน้ำมันบนแผ่นไม้ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” (ปี 2477) โดย พระเทวาภินิมมิต (ชื่อเดิม : ฉาย เทียมศิลปไชย) จิตรกรสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5-7 เป็นภาพพระนารายณ์ขณะบรรทมมีพระพรหมผุดขึ้นมากลางพระนาภี (สะดือ) ด้านข้างปรากฏภาพพระแม่ลักษมี โดยทั้งหมดประทับบนหลังอนันตนาคราชท่ามกลางเกษียรสมุทร ภาพนี้สะท้อนให้เห็นการเริ่มเขียนภาพบุคคลตามหลักกายวิภาคและการสร้างมิติตามหลักทัศนียภาพแบบตะวันตกผสมผสานกับรูปแบบศิลปะไทย
ช่างเขียนฝรั่งกับราชสำนักสยามในช่วงจักรวรรดินิยม
เมื่อมีการเปิดประเทศและขยายการค้ากับชาวต่างชาติมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับการปรับปรุงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศเพื่อรอดพ้นจากภัยคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก จึงเริ่มมีการว่าจ้างช่างเขียนและสถาปนิกต่างชาติเข้ามารับราชการในสยาม อีกส่วนหนึ่งของนิทรรศการจึงจัดแสดงผลงานของศิลปินต่างชาติที่เกี่ยวเนื่องกับราชสำนักสยามโดยเริ่มจาก ภาพเขียนสีน้ำมันพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ราวทศวรรษ 2420) ที่ไม่ปรากฏนามศิลปิน แต่สันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในศิลปินชาวยุโรปที่รัชกาลที่ 5 ทรงส่งภาพพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมฉลองพระองค์และเครื่องประดับไปเพื่อใช้เป็นแบบวาด
“รูปในภาพวาดตรงกับภาพที่ถ่ายโดย ฟรานซิส จิตร ช่างภาพราชสำนัก จึงสันนิษฐานว่ามีการส่งภาพถ่ายนี้ไปให้ศิลปินยุโรปวาดกลับมา แต่สังเกตให้ดีจะเห็นว่าผิวในภาพวาดเป็นสีชมพูเรื่อๆ แบบฝรั่งซึ่งเพี้ยนจากภาพถ่าย ภายหลังรัชกาลที่ 5 จึงว่าจ้างให้ศิลปินต่างชาติเดินทางมาสยาม เช่น ศิลปินอิตาลี จูเซปเป เทอร์ชี เพื่อวาดภาพพระบรมวงศานุวงศ์” พิริยะกล่าว
ภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบซึ่งภายหลังการอนุรักษ์จึงสามารถระบุได้ว่าเป็นภาพเขียนของ จูเซปเป เทอร์ชี (Giuseppe Turchi) ด้วยปรากฏอักษรเขียนว่า “Turchi” บริเวณมุมซ้ายล่างเป็น พระสาทิสลักษณ์ขณะทรงพระเยาว์ของ 3 เจ้าฟ้า คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา และสันนิษฐานว่าภาพนี้น่าจะวาดในราว พ.ศ.2438 ก่อนที่ศิลปินจะเสียชีวิตในปีนั้นที่ประเทศสิงคโปร์
หนึ่งในศิลปินต่างชาติคนสำคัญคือ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ศิลปินชาวอิตาลีผู้เดินทางมาถึงสยามเมื่อ พ.ศ.2454 เนื่องจากได้รับการว่าจ้างจากราชสำนักสยามให้เดินทางมาเขียนภาพพระราชกรณียกิจของบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ผลงานของคินีในคอลเลกชันของพิริยะที่นำมาจัดแสดงคือ ภาพเขียนสีน้ำมันรูปเทวดาฝรั่งและเทวดาไทย ที่อยู่ในภาพเดียวกัน ในภาพไม่ปรากฏชื่องานและปีที่วาด แต่คาดว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาทำงานในสยามและได้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมส่วนตัวหลายชิ้นขณะพำนักที่นี่ รวมถึงคอลเลกชันภาพเขียนบนกระจกสี (stained glass) ที่เขาวาดเมื่อปี 2460 ภายหลังกลับไปอยู่ที่อิตาลี พิริยะกล่าวว่าเขาต้องเดินทางไปถึงบ้านของคินีที่อิตาลีกว่าจะได้ภาพเขียน งานสเกตช์ งานกระจกสี เครื่องปั้นดินเผา มาอยู่ในคอลเลกชันสะสม
คินียังมีศิษย์เอกคือ คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) ผู้ช่วยในการเขียนภาพประดับพระที่นั่งอนันตสมาคมและรับผิดชอบโครงการจนแล้วเสร็จ เนื่องจากคินีต้องเดินทางกลับก่อนกำหนด เพราะภรรยาของเขาเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2456 ริโกลีผู้เชี่ยวชาญในการวาดภาพเหมือนบุคคลเดินทางมาสยามพร้อมภรรยาและในนิทรรศการจัดแสดง ภาพเหมือนของภรรยาเขานามว่า ออร์โซลีนี (Orsolini) ที่วาดเมื่อ พ.ศ.2464
อาจารย์ฝรั่งกับคำสอน “นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร”
อีกห้องจัดแสดงอุทิศแด่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย” และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งเป็นสถาบันศิลปะระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศ ส่วนผลงานปั้นหล่อและออกแบบอนุสาวรีย์ที่สำคัญ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
อาจารย์ศิลป์ (นามเดิม คอร์ราโด เฟโรจี : Corrado Feroci) ประติมากรจากเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี เดินทางมาสยามพร้อมครอบครัวเมื่อ พ.ศ.2466 ในปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งช่างปั้น งานแรกที่เป็นบททดสอบของโพรเฟสเซอร์หนุ่มคือการปั้นพระบรมรูปของรัชกาลที่ 6 ตามพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ปรากฏว่า “สอบไม่ผ่าน” อาจารย์ศิลป์จึงได้กราบทูลขอคำปรึกษาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จฯ จึงได้ทรงกรุณาเป็นแบบให้จนฝีมือของอาจารย์ศิลป์เป็นที่ประจักษ์แก่เหล่าข้าราชการ ภายหลังท่านจึงได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 6 และถวายงานปั้นโดยพระองค์เสด็จฯ มาเป็นแบบด้วยพระองค์เอง โดยเริ่มต้นจากการสร้างงานด้วยการปั้นหล่อเฉพาะพระเศียร ต่อมาเมื่อเสด็จสวรรคตจึงมีการสร้างประติมากรรมพระบรมรูปเต็มพระองค์เพื่อประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดรและสวนลุมพินี
ในนิทรรศการยังจัดแสดง พระบรมรูปปั้นรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2468) เหรียญที่ระลึกงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และตาลปัตร (พ.ศ.2493) ต้นแบบเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกนิวัตพระนคร เมื่อครั้งรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อ พ.ศ.2481 และ ต้นแบบเหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ยังมีภาพสเกตช์การออกแบบลวดลายต่างๆ ของอาจารย์ศิลป์ที่ปรากฏในหนังสือทริสดีแห่งองค์ประกอบ และ พิริยะ ได้ภาพเหล่านี้อย่างบังเอิญจาก “รถซาเล้งรับซื้อของเก่า”
สภาพเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและอัตราเงินเดือนที่อาจารย์ศิลป์ได้รับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจนทำให้ท่านต้องจากเมืองไทยที่ท่านผูกพันและใช้ชีวิตมาเกือบ 30 ปีกลับไปบ้านเกิดที่อิตาลีใน พ.ศ.2492 แต่ในปีเดียวกันนั้นเองทางกรมศิลปากรได้ทำเรื่องขอให้ทางรัฐบาลเห็นชอบและอนุมัติปรับอัตราค่าจ้างชาวต่างประเทศใหม่ทำให้อาจารย์ศิลป์ได้กลับมาทำงานที่ไทยอีกครั้ง
“ในช่วงที่กลับไปอิตาลี ท่านได้เขียนจดหมายถึงลูกศิษย์คือ เขียน ยิ้มศิริ ในจดหมายมีคำลึกซึ้งกินใจมากมาย เช่น ตัวเขาเป็นฝรั่ง แต่หัวใจและเลือดเนื้อเป็นคนไทย และบ้านของเขาคือประเทศไทย” พิริยะกล่าวและในนิทรรศการได้นำจดหมายบางฉบับมาจัดแสดงด้วย
ภาพเขียนบรมครูตั้งแต่ยุคแรก ยุคดิ้นรนจนถึงยุคบั้นปลายชีวิต
สำหรับศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์จัดแสดงภาพเขียนสีน้ำมันของศิลปินชั้นครูมากมาย เช่นเฟื้อ หริพิทักษ์ และ ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ สองศิลปินผู้ร่วมบุกเบิกศิลปะแนวนี้ในเมืองไทย และ มีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินหญิงผู้ไม่เคยเรียนศิลปะมาก่อนและเริ่มวาดภาพในวัย 40 ปี
หนึ่งในภาพหายากคือภาพสีน้ำมันบนแผ่นไม้ “Blooming Sakura in Ueno Park” ของจิตรซึ่งวาดในขณะที่เขาได้ทุนไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น โดยเขาได้เดินทางไปที่นั่นใน พ.ศ.2484 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นจะโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ และนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
“อาจารย์จิตรต้องติดอยู่ที่ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก (พ.ศ.2484-2488) และภาพเขียนในช่วงนั้นหายากมาก เพราะงานส่วนใหญ่ท่านฝากภาพไว้ที่บ้านพักของที่ปรึกษาของสถานทูตไทยในโตเกียวและถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร หลายภาพก็ถูกเผาเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในภาวะแร้นแค้นช่วงสงคราม คงเหลือเพียงภาพขนาดเล็กที่ท่านเก็บติดตัวไว้ เช่น ภาพที่นำมาจัดแสดงวาดใน พ.ศ.2488 ด้วยฝีแปรงฉับพลัน หลังจากกลับไทยเมื่อสิ้นสุดสงครามโลก ท่านได้ใช้ด้านหลังของแผ่นไม้ในภาพนี้บันทึกภาพพระปรางค์วัดราชบูรณะที่อยุธยาใน พ.ศ.2490 ก่อนเหตุการณ์กรุแตก” พิริยะอธิบาย
อีกชิ้นงานที่พิริยะกล่าวว่า “เหมือนหนึ่งแถมหนึ่ง” คือผลงานของ ประหยัด พงษ์ดำ ปรมาจารย์ด้านภาพพิมพ์ผู้มีชื่อเสียงจากงานภาพพิมพ์แกะไม้รูปสัตว์ต่างๆ โดยเริ่มแรกพิริยะได้ซื้อภาพสีน้ำมันบนแผ่นไม้ชื่อ “กลัว” (พ.ศ.2500) เป็นภาพโทนสีเข้มรูปนกกำลังกกไข่และแมวที่จ้องตะครุบลูกนก แต่เมื่อจะนำมาใส่กรอบใหม่เขาพบว่าด้านหลังมีภาพร่างที่ยังวาดไม่เสร็จเป็นรูปชายหญิงคู่หนึ่งในลักษณะกำลังตระเตรียมบางอย่าง
“รูปด้านหลังอาจดูเหมือนไม่ใช่งานของอาจารย์ประหยัด แต่จริงๆ แล้วมีความคล้ายงานในยุคแรกที่ได้อิทธิพลจากงานของ ปอล โกแก็ง (Paul Gauguin) ศิลปินที่ท่านชื่นชอบ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสไตล์ของตัวเองอย่างที่เราคุ้นเคย ภาพด้านหลังนี้อาจเป็นภาพชุดต่อเนื่องจากภาพ ‘ช่างปั้นหม้อ’ ที่ได้รับเหรียญทองแดงในงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ พ.ศ.2499 ก็เป็นได้” พิริยะสันนิษฐาน
ในนิทรรศการยังจัดแสดงภาพยุคแรกของศิลปินชื่อดังมากมาย เช่น งานหายากยุคเขียนสีของ ถวัลย์ ดัชนี ในช่วงที่เขาไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ (พ.ศ.2506-2512) ดังภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่รูปไก่ชื่อ “Despair Eclipse of Intellect” (พ.ศ.2511) และภาพสีน้ำมันแนวนามธรรม “ครอบครัว” (พ.ศ.2509) โดย ประเทือง เอมเจริญ รวมไปถึงภาพในช่วงปลายชีวิตของศิลปิน เช่น ภาพ “กล้วยไม้” (พ.ศ.2533) ขนาดยาวเกือบ 4 เมตร โดย ทวี นันทขว้าง ซึ่งคาดว่าเป็นรูปสุดท้ายที่ท่านวาดก่อนเสียชีวิตและยังไม่ได้เซ็นชื่อ
สปอตไลต์บนเวทีนานาชาติและศิลปินรุ่นใหม่มาแรงแห่งยุค
ศิลปินที่บุกเบิกศิลปะแนว conceptual และ installation art คือ มณเฑียร บุญมา ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในการสร้างศิลปะจัดวางเกี่ยวกับความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนาเพื่อเยียวยาร่างกายและจิตใจจากการสูญเสียภรรยาด้วยโรคมะเร็งดังเช่นผลงาน “สถูป” (พ.ศ.2537) รวมไปถึงงานคอนเซปชวลและนามธรรมของ จ่าง แซ่ตั้ง ผู้ศึกษาศิลปะด้วยตัวเองและใช้มือ ขา และแปรงละเลงสีแทนพู่กันเหมือนงาน performance art ภายหลังเสียชีวิต งานของเขาได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นศิลปินไทยคนแรกที่มีนิทรรศการเดี่ยวจัดแสดง ณ Centre Pompidou กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลาย พ.ศ.2566 นอกจากนี้ยังมีงานของศิลปินไทยที่โด่งดังในเวทีต่างประเทศ เช่น งานเหมือนตัวเองเชิงเสียดสีสังคมของ ชาติชาย ปุยเปีย ภาพเขียนขนาดใหญ่แนวใบปิดหนังสมัยก่อนของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล และภาพธงชาติไทยโดย นที อุตฤทธิ์
ปิดท้ายด้วยผลงานของศิลปินรุ่นใหม่มาแรงในยุคนี้ เช่น ประติมากรรมรูปบ้านหลังใหญ่ Memory House ของ Alex Face-พัชรพล แตงรื่น ที่มีประติมากรรมคาแรคเตอร์สุดฮิตของเขา คือ Mardi ขนาดใหญ่อยู่ภายในบ้านเพื่อสะท้อนความทรงจำบ้านของเขาในวัยเด็ก และขาดไม่ได้คือ คาแรคเตอร์ Crybaby ของ มอลลี่-นิสา ศรีคำดี ศิลปินอาร์ตทอยผู้โด่งดัง ในนิทรรศการนี้เป็น Crybaby ขนาดใหญ่ติดตั้งบริเวณสนามหญ้าของหอศิลป์ในลักษณะเหมือนตัวจมลงไปในดินและเหลือเพียงส่วนหัว แขน และขาทั้งสองข้างโผล่ขึ้นมา ผลงานนี้เคยจัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในไทยของมอลลี่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2565 และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น
Fact File
- นิทรรศการ “200 Years Journey Through Thai Modern Art History” จัดแสดงระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม-31 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์และวันอังคาร)
- อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณร นักบวชในศาสนาอื่น และผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เข้าชมฟรี
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2233 7939 และ 06-5097 9909 หรือ FB : TheNationalGalleryThailand