10 ไฮไลต์เที่ยว อัลอูลา ปลายทางแหล่งโบราณคดีระดับโลกแห่ง ซาอุดีอาระเบีย
Lite

10 ไฮไลต์เที่ยว อัลอูลา ปลายทางแหล่งโบราณคดีระดับโลกแห่ง ซาอุดีอาระเบีย

Focus
  • ซาอุดีอาระเบียประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปลายปี ค.ศ.2019 ตามกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลักให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030
  • หนึ่งในเมืองที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมก็คือ อัลอูลา (AlUla) ปลายทางมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีระดับโลก
  • อัลอูลา เป็นหนึ่งในเมืองเก่าแก่ที่สุดบนคาบสมุทรอาระเบียที่มีหลักฐานทางโบราณคดีย้อนอายุไปได้กว่า 7,000 ปี

ทะเลแดง เทือกเขาอาซีร์ นครเจดดาห์ นครเมกกะ แหล่งโบราณคดีอัลฮิจญร์ คือภาพจำด้านการท่องเที่ยวเมื่อนึกถึง ซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาลอย่างน้ำมัน แต่ในวันที่เศรษฐีน้ำมันระดับโลกเริ่มปรับแผนเศรษฐกิจครั้งใหญ่ส่งผลให้ ซาอุดีอาระเบีย ประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปลายปี ค.ศ.2019 ตามกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลักให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 (Saudi Vision 2030) ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้กลายมาเป็นหนึ่งในแผนการสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยหนึ่งในเมืองที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมก็คือ อัลอูลา (AlUla) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีระดับโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ อีกทั้งมรดกโลก (UNESCO World Heritage Site) แห่งแรกในซาอุดีอาระเบียก็ตั้งอยู่ที่นี่ด้วยเช่นกัน เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้เมืองกลางหุบเขาที่ล้อมรอบด้วยทะเลทรายอย่าง อัลอูลา กลายเป็นจุดหมายใหม่ที่อยู่ในเช็กลิสต์ของนักเดินทางทั่วโลกได้ไม่ยาก

อัลอูลา

อัลอูลา เป็นหนึ่งในเมืองเก่าแก่ที่สุดบนคาบสมุทรอาระเบียที่มีหลักฐานทางโบราณคดีย้อนอายุไปได้กว่า 7,000 ปี อีกทั้งยังเคยเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรโบราณถึง 2 อาณาจักรด้วยกัน คือ ดาดัน (Dadan) และ ลิยัน (Lihyan) ไม่เพียงเท่านั้นด้วยทำเลที่ตั้งยังทำให้เมืองนี้มีความสำคัญด้านการค้าในฐานะอดีตเส้นทางค้าขายกำยานและธูปหอม เชื่อมดินแดนจากทางใต้ของคาบสมุทรอาระเบียไปจนถึงดินแดนอียิปต์

อัลอูลา
การสำรวจแหล่งโบราณคดีในเมืองอัลอูลายังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง

และสำหรับ อัลอูลา ในศตวรรษที่ 21 ได้ถูกวางให้เป็นปลายทางของธุรกิจ ศิลปะ วัฒนธรรม บันเทิง และจุดหมายใหม่ของการท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย มีทั้งเมืองโบราณเก่าแก่หลายพันปีไปจนถึงสถาปัตยกรรมโมเดิร์นสร้างด้วยโครงสร้างกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ได้เลือก Sarakadee Lite ชวนไปปักหมุด10 สถานที่เที่ยวไฮไลต์เมืองอัลอูลา รอเพียงน่านฟ้าเปิดเดินทางได้เมื่อไร ซาอุดีอาระเบีย คือปลายทางใหม่ที่นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด

อัลอูลา
เขตเมืองเก่าที่กำแพงบ้านต่อกันเป็นสี่เหลี่ยม
(ภาพ : Royal Commission for AlUla)

01 เขตเมืองเก่าอัลอูลา (AlUla Old Town)

อัลอูลา เป็นศูนย์กลางอาณาจักรเก่าแก่ และยังเป็นเมืองโบราณที่มีคนอาศัยอยู่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อาณาเขตที่เรียกว่าเมืองอัลอูลานั้นถูกแบ่งเป็น เขตเมืองเก่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณสถานสำคัญ และ เขตเมืองใหม่ เป็นย่านที่อยู่อาศัยและธุรกิจในปัจจุบัน โดยไฮไลต์แหล่งท่องเที่ยวสำคัญแน่นอนว่าอยู่ในเขตเมืองเก่าอัลอูลาที่เต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่สร้างจากหินสีน้ำตาลไม่ต่างจากสีของทะเลทราย ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยและร้านค้ารูปทรงสี่เหลี่ยมมีกำแพงติดกัน แบ่งเป็นบ้าน 900 หลัง ร้านค้า 400 ร้าน และจัตุรัสกลางเมืองอีก 5 จัตุรัส มองจากมุมสูงดูแล้วเหมือนเขาวงกต สามารถเดินลัดเลาะสัมผัสกลิ่นอายวิถีชีวิตชาวอัลอูลาเมื่อหลายพันปีก่อน

อัลอูลา
Musa Bin Nusayr Castle โดดเด่นอยู่กลางเขตเมืองเก่า
(ภาพ : www.experiencealula.com)

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าเมืองอัลอูลาก่อตั้งขึ้นก่อนสมัยคริสตกาลและรุ่งเรืองมาถึงศตวรรษที่ 12 (ค.ศ.1100-1190) ทั้งยังมีหลักฐานยืนยันว่าเมืองนี้เคยถูกใช้เป็นเส้นทางแสวงบุญเชื่อมจากกรุงดามัสกัส (Damascus) มายังนครเมกกะ (Makkah) ศูนย์กลางศาสนาอิสลาม ความใหญ่โตของเมืองอัลอูลายังมาจากประวัติศาสตร์ของเมืองที่เคยเป็นเมืองหลวงแห่งอารยธรรมชาวดาดันและลิยัน ทั้งยังเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าสำคัญของชาวนาบาเทียน (Nabataeans) ผู้สร้างนครเพตราในประเทศจอร์แดน ที่อยู่ทางตอนเหนือ

นอกจากกลุ่มของอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ที่มีกำแพงติดกันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองแล้ว อีกแลนด์มาร์กสำคัญในเขตเมืองเก่าคือ Musa Bin Nusayr Castle โบราณสถานที่สมบูรณ์ที่สุดที่เหลืออยู่ในเมืองเขตเก่าอัลอูลา โดบปราสาทแห่งนี้ย้อนอายุไปได้ราว 600 ปีก่อนคริสตกาล สร้างจากหินทรายสีแดงมีขนาดความสูงถึง 45 เมตร ไม่ต่างจากเนินเขาเตี้ยๆ และจากด้านบนของ Musa Bin Nusayr Castle นักท่องเที่ยวสามารถชมเมืองเก่าอัลอูลาที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาได้แบบพาโนรามาสวยอลังการ และจากมุมสูงนี้เองที่ทำให้เห็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนในเขตเมืองเก่าที่กำแพงบ้านแต่ละหลังเชื่อมติดกันดั่งป้อมปราการป้องกันเมือง สะท้อนถึงวิธีการป้องกันตัวเองของชุมชนในยุคอดีต โดยรอบตัวเมืองมีประตูเมืองถึง 14 ประตูเปิดรับผู้มาเยือนเข้าสู่อาณาเขตเมืองในตอนเช้า และปิดประตูเมืองในตอนเย็น ปัจจุบันเขตเมืองเก่ากลายเป็นเขตอนุรักษ์และเปิดให้ท่องเที่ยว ส่วนย่านที่อยู่ของคนท้องถิ่นอาศัยย้ายไปอยู่ในย่านเมืองใหม่ที่อยู่ใกล้กัน

อัลอูลา

02เมืองโบราณเฮกรา (Hegra Historical City)

เมืองโบราณเฮกรา (Hegra หรือชื่อภาษาอาหรับ Al-Hijr / Mada’in Salih) เป็นเมืองแห่งอารยธรรมยุคราช อาณาจักรแนบาเทีย (Nabataean Kingdom) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของนครเพตรา มหานครแห่งอารยธรรมแนบาเทียซึ่งเป็นที่ตั้งปราสาทหินทรายสีชมพูอันเลื่องชื่อในเขตประเทศจอร์แดนปัจจุบัน

เฮกรา ถือเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งแรกของ ซาอุดีอาระเบีย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ. 2008 และเป็นสถานที่ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในอัลอูลา ตัวเมืองโบราณเฮกรามีพื้นที่ 52 เฮกตาร์ มีหลักฐานว่ามีคนอาศัยอยู่ตั้งแต่เมื่อกว่า 2,200 ปีก่อน และเจริญรุ่งเรืองสุด ๆ ในช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง 200 ปีหลังคริสตกาล ส่วนปัจจุบันสิ่งที่หลงเหลือเป็นมรดกที่ชวนตื่นตา ได้แก่ สถาปัตยกรรมสลักหินหรือภูเขาหินซึ่งกระจัดกระจายอยู่กลางทะเลทราย สันนิษฐานว่าสถาปัตยกรรมสลักจากหินเป็น “สุสานของชนชั้นปกครอง” สมัยอาณาจักรแนบาเทียและที่น่าทึ่งก็ทีสุสานเหล่านี้มีมากกว่า 111 แห่ง แต่ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์มีราว 94 แห่ง โดดเด่นด้วยการตกแต่งสลักเสลาลวดลายหน้าประตูบนภูเขาหินทรายขนาดใหญ่อย่างวิจิตร

อัลอูลา

สุสานหินเหล่านี้คาดว่าสร้างในราว 100 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงช่วงคริสตศตวรรษแรก โดยศิลปะที่สะท้อนอยู่บนหินทรายบอกได้ถึงอิทธิพลหลายอารยธรรมทั้ง อัสซีเรียน อียิปต์ ฟินีเชียน กรีก และมีอักขระที่เป็นภาษาลิยัน ทามูดิก นาบีเชียน กรีกละติน รวมทั้งยังพบจารึกอักขระบนผาหินและมีภาพวาดในถ้ำสะท้อนวิถีวิชีวิตคนยุคนั้นด้วย นอกจากสุสานแล้วในอาณาบริเวณเมืองโบราณเฮกรามีบ่อน้ำโบราณและทางระบายน้ำก่อด้วยหินเป็นระบบระเบียบ สะท้อนความเจริญจากความเชี่ยวชาญของผู้คนยุคนั้นที่มีภูมิปัญญาในการจัดการน้ำสำหรับใช้ในทะเลทรายที่ร้อนแล้งเช่นนี้

อารยธรรมแนบาเทียร่วมสมัยกับอาณาจักรโรมันช่วงท้าย เห็นได้จาก ซากป้อมปราการป้องกันเมือง ประตูเมือง และหอคอย ที่ล้อมรอบตัวเมืองโบราณเฮกรา บ่งชี้ว่าเฮกราคือดินแดนใต้สุดของอาณาจักรโรมัน หลังจากที่อาณาจักรโรมันเอาชนะราชอาณาจักรแนบาเทียในคริสตศักราช 106

อัลอูลา

03 ปราสาทแห่งความเดียวดาย (Tomb of Lihyan Son of Kuza)

ในบรรดาสุสานหินกลางทะเลทรายเมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสตกาลที่ย่านสุสานหิน Mada’in Salih ในอาณาเขตเมืองโบราณเฮกรานั้น “สุสานของบุตรแห่งคูซา” (Tomb of Lihyan Son of Kuza) หรือฉายา ปราสาทแห่งความเดียวดาย (The Lonely Castle แปลจากภาษาอาหรับ Qasr Al Farid) ถือเป็นไฮไลต์ของสุสานหินที่สลักจากภูเขาหินทรายทั้งลูก เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมแบบแนบาเทีย (Nabataean อารยธรรมที่สร้างนครเพตรา) ที่โดดเด่นตั้งตระหง่านอยู่ในอาณาบริเวณของเมืองมรดกโลกเฮกรา จากปริศนาในกรรมวิธีการสลักเสลาหน้าผาหินจากส่วนบนลงล่าง เป็นสุสานของชนชั้นผู้ปกครอง ในยุคอารยธรรมของชาวนาบาเทียนและชาวลิยัน ช่วงอาณาจักรแนบาเทียและลิยันรุ่งเรือง จุดนี้ยังเป็นแลนด์มาร์กของการท่องเที่ยวที่ในบางโอกาสมีการจัดแสดงแสงสีเหนือสุสานให้นักท่องเที่ยวได้ชมเป็นไฮไลต์ของทัวร์มรดกโลกเมืองโบราณเฮกราด้วย

อัลอูลา
ภาพ : Royal Commission for AlUla

04 ดาดัน (Dadan)

ใจกลางเขตโอเอซิสกลางหุบเขาคือเมืองโบราณดาดัน ซึ่งประกอบด้วยโบราณสถานและหลักฐานที่แสดงที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งอาณาจักรดาดัน (Kingdom of Dadan) ช่วงราว 800-900 ปีก่อนคริสตกาล อีกทั้งพื้นที่ตรงนี้ยังเป็นอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรลิยัน (Kingdom of Lihyan) ช่วงราว 500-200 ปีก่อนคริสตกาล

อัลอูลา
สุสานสิงโต (ภาพ : Royal Commission for AlUla)

กล่าวได้ว่าอารยธรรมดาดันเป็นอารยธรรมเก่าแก่ของดินแดนอาหรับโบราณ และเป็นอารยธรรมเก่าที่สุดที่ค้นพบหลักฐานการดำรงอยู่ในเมืองอัลอูลา ไฮไลต์ในเมืองดาดันคืองานแกะสลักภูเขาหินทรายสีแดงขนาดใหญ่ที่ เรียกว่า สุสานสิงโต หรือ Lion’s Tombs ซึ่งมีบันไดจากพื้นราบขึ้นไปสู่ตัวสุสานด้านบน สันนิษฐานว่าสุสานหินสีน้ำตาลแดงที่สลักเป็นรูปสิงโต 2 ตัวอยู่ด้านหน้าทางเข้าของปราสาทที่ใหญ่โตเป็นภูเขากลางที่ราบนี้น่าจะเป็นสุสานของชนชั้นผู้ปกครองอาณาจักรสมัยนั้น

ภาพ : www.experiencealula.com

05 ห้องสมุดกลางแจ้งบนภูเขายามาล อิกมะห์ (Jabal Ikmah)

จารึกบนผาหินขนาดใหญ่สามารถพบเจอได้ทั่วเมืองอัลอูลา มีทั้งตัวอักขระโบราณหลากหลายภาษา จารึกบางชิ้นสามารถย้อนไปได้ไกลถึงยุคก่อนเกิดภาษาอาหรับ ตอกย้ำความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของอัลอูลา โดยจารึกบนผาหินที่สำคัญได้แก่บริเวณ ภูเขายามาล อิกมะห์ (Jabal Ikmah) ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองโบราณดาดัน ด้วยความที่บริเวณภูเขายามาล อิกมะห์พบจารึกบนผาหินจำนวนมาก ภูเขายามาล อิกมะห์จึงได้ฉายาว่า ห้องสมุดกลางแจ้ง เป็นห้องสมุดขนาดมหึมาที่มีการจารึกบนผาหินด้วยอักขระกว่าหลายร้อยตัวผสมผสานกับงานสลักหินเป็นรูปต่าง ๆ เป็นทางยาว เล่าเรื่องราวสะท้อนพิธีกรรม เช่น ภาพเครื่องดนตรี รูปร่างมนุษย์และสัตว์ สะท้อนวิถีชีวิตชาวลิยันและชาวดาดัน ที่ก่อร่างสร้างอารยธรรมในแถบนี้เมื่อราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล

06 ประติมากรรมแท่งหินทราย (Rock Formations)

ในอาณาเขตอัลอูลามีงานประติมากรรมขนาดใหญ่เป็นแท่งหินทรายขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และกระจายอยู่กลางทะเลทราย ประติมากรรมหินทรายเหล่านี้เกิดจากการกัดกร่อนตามธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นลม ฝน น้ำแดด จนได้เป็นรูปทรงแปลกตาชวนให้จินตนาการ และบางส่วนก็เป็นจุดตั้งแคมป์สำหรับนักท่องเที่ยว ไฮไลต์คือ หินรูปช้าง (Elephant Rock) หรือในภาษาอาหรับเรียกว่า Jabal AlFil ที่รูปร่างเหมือนช้างขนาดใหญ่สูง 52 เมตร เป็นจุดถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกที่อลังการมาก

หินรูปช้าง (Elephant Rock)

หรืออย่าง หินรูปทรงซุ้มโค้ง (The Arch) เป็นหินที่เป็นซุ้มประตูโค้งสามารถเดินลอดด้านล่างได้ แต่อีกมุมก็มองเหมือนเส้นโค้งกำลังทอดยาวพาดผ่านท้องฟ้าเหมือนรุ้งกินน้ำจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าหินสายรุ้ง (Rainbow Rock) นอกจากนั้นยังมี หินเต้นระบำ (Raqasat หรือ Dancing Rocks) อยู่ที่ Ragasat Valley มีลักษณะเป็นหินกลางทะเลทรายที่ถูกลมและน้ำกัดกร่อนแบบแกรนด์แคนยอน ลักษณะของแท่งหินสูงที่เรียงรายกันเองเอียงเหมือนท่าทางคล้ายคนกำลังเต้นรำอยู่กลางหุบเขาอย่างไรอย่างนั้น

ภาพ : Royal Commission for AlUla

07 มุสตาติล (Mustatil)

มุสตาติล (Mustatil) ในภาษาอาหรับแปลว่า สี่เหลี่ยมผืนผ้า นี่คือสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในอัลอูลา เป็นซากโบราณคดีในรูปแบบอนุสรณ์สถานที่เกิดจากการนำหินมาเรียงต่อกันเป็นเส้นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดมหึมาเท่าสนามฟุตบอล 5 สนาม มองจากมุมสูงจึงจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่จากการตรวจสอบอายุทางโบราณคดี มุสตาติลมีความเก่าแก่กว่าราว 7,200 ปี (ยุคหินใหม่ตอนปลาย หรือ Late Neolithic) เก่ากว่าเสาหินสโตนเฮนจ์ที่สหราชอาณาจักรซึ่งมีอายุราว 5,000 ปี และมาก่อนมหาพีระมิดในอียิปต์ที่มีอายุราว 4,800 ปี

การสำรวจมุสตาติล
(ภาพ : Royal Commission for AlUla)

มุสตาติล อนุสาวรีย์สี่เหลี่ยมผืนผ้ากลางทะเลทรายแห่งนี้เก่าแก่กว่าและเกิดก่อนอารยธรรมของชาวนาบิเทียนที่สลักเสลาหินมหึมาเป็นอาคารใช้สอยในเมืองโบราณเฮกราเสียอีก สันนิษฐานว่ามุสตาติลถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของมนุษย์สมัยโบราณ มุสตาติลที่ถูกค้นพบในอัลอูลามีมากกว่า 1,000 แห่ง มองเห็นได้จากมุมมองจากเครื่องบิน และเป็นหนึ่งใน “จุดดึงดูด” ที่ทางการซาอุดีอาระเบีย จัดเป็นส่วนหนึ่งของการชมพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งในอัลอูลานอกจากนี้การค้นพบมุสตาติล หลักฐานโครงสร้างเก่าแก่ที่สุดในการประกอบพิธีกรรมของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์กลางทะเลทราย ซาอุดีอาระเบีย เป็นผลงานสร้างชื่อและเป็นงานที่สถาบันวิจัยแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียให้ความสำคัญมาก

ซาอุดีอาระเบีย
ภาพ : Giò Forma

08 ตึกกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลก (MARAYA)

ณ กลางทะเลทรายหุบเขาอัชชาร์ (Ashar Valley) สิ่งก่อสร้างใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีแค่การต่อยอดแรงบันดาลใจจากหินทราย หรืออิงสถาปัตยกรรมตามอารยธรรมโบราณประจำถิ่นเท่านั้น แต่ที่อัลอูลายังมีอาคารยุคมิลเลนเนียมสุดโมเดิร์นที่ชื่อ มารายา (MARAYA) ตั้งอยู่ที่หุบเขาอาชาร์ที่มีแท่งหินรูปทรงต่าง ๆ เดินทางด้วยรถยนต์จากเขตเมืองโบราณเฮกราแค่ราว 15 นาที

MARAYA เป็นภาษาอาราบิก แปลว่า กระจก แนวคิดในการก่อสร้างที่ใช้วัสดุค่อนข้างแตกต่างจากอาคารทั่วไปในเมืองมาจากสถานะตามประวัติศาสตร์ของอัลอูลาที่เป็นจุดนัดพบทางอารยธรรมต่าง ๆ มากว่าหลายพันปีตัวอาคารถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแลนด์มาร์กของอัลอูลา ในแง่การสร้างสรรค์งานด้านวัฒนธรรม โดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมอบหมายงานออกแบบให้ Florian Boje สถาปนิกและนักออกแบบชาวอิตาลีแห่งบริษัท Giò Forma

ซาอุดีอาระเบีย
ภาพ : Giò Forma
ซาอุดีอาระเบีย

MARAYA โดดเด่นด้วยตัวอาคารรูปทรงกล่องลูกบาศก์ติดกระจกทั้งหลัง มีพื้นที่ 9,740 ตารางเมตรและได้รับการบันทึกจากกินเนสส์บุ๊กเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 ให้เป็นอาคารกระจกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และด้วยความที่ตัวอาคารติดกระจกใสทั้งหลังตั้งอยู่กลางทะเลทรายที่มีแต่พื้นทรายและภูเขาหินน้ำตาลแดง MARAYA จึงไม่ต่างจากชิ้นงานศิลปะอินสตอเลชันอาร์ตที่สะท้อนเงาของทิวทัศน์ภูเขาแท่งหินที่อยู่รายรอบ

นอกจากนี้ด้านในอาคารยังเป็นสถานที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะ คอนเสิร์ตรองรับได้ 550 ที่นั่งโดยศิลปินระดับสากลที่เคยจัดแสดงที่นี่ได้แก่อันเดรอาโบเชลลี (Andrea Bocelli) ไลโอเนลริชชี (Lionel Richie) และยานนี (Yanni) นอกจากนี้ยังรองรับการจัดงานประชุมระดับโลก รวมถึงรับจัดงานแต่งงานในระดับวีไอพี นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารไฟน์ไดนิงสุดหรูถึง 3 ร้านอยู่ในอาคาร ส่วนชั้นดาดฟ้าเปิดโล่งรับลมทะเลทราย สามารถมองเห็นวิวธรรมชาติของอัลอูลาได้สุดสายตาและเห็นดาวเต็มฟ้าเหนือทะเลทรายในยามค่ำคืน

ซาอุดีอาระเบีย
ภาพ : Royal Commission for AlUla

09 สถาบันวิจัย The Kingdoms Institute

บอกเลยว่าที่นี่คือสถาบันวิจัยที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยติดอันดับโลก โดยตัวสำนักงานตั้งอยู่ใจกลางทะเลทรายใน อัลอูลา แม้จะเป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ แต่กลับกลมกลืนด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้หินทรายตามแบบดั้งเดิมและเป็นเอกลักษณ์ของเมือง

โครงการสร้างสถาบันวิจัย The Kingdoms Institute เปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2020 จัดตั้งขึ้นด้วยการสนับสนุนจาก Royal Commission for AlUla (RCU) โดย RCUโดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและแหล่งรวมวัฒนธรรมทั้งองค์ความรู้ การสำรวจ และทำงานด้านการศึกษา มุ่งเป็นศูนย์กลางของโลกด้านการวิจัยทางโบราณคดีและการอนุรักษ์ เน้นงานวิจัยที่นำไปสู่การขยายขอบเขตความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในพื้นที่ โดยงานวิจัยโดดเด่นล่าสุดคือ โครงการวิจัยทางโบราณคดีทั่วเมืองอัลอูลา ซึ่งรวมถึงการค้นพบมุสตาติล สิ่งก่อสร้างหินยุคอารยธรรมมนุษย์ยุคหินใหม่อายุกว่า 7,000 ปี

ซาอุดีอาระเบีย
ภาพ : Royal Commission for AlUla

ตัวอาคารสำนักงานสร้างด้วยโครงสร้างหินทรายสีแดงบนพื้นที่ 28,857 ตารางเมตรตั้งอยู่ในเขตดาดันของเมืองอัลอูลาหินทรายสีแดงและสถาปัตยกรรมจะสะท้อนถึงอารยธรรมดาดัน (Dadan) โดยขณะนี้ตัวสำนักงานยังอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้างกำหนดเปิดใช้งานในปี ค.ศ. 2030 แต่ระหว่างนั้นทางสถาบันก็ยังคงทำงานในฐานะองค์กรวิจัย ภายใต้การดูแลของ RCU อย่างต่อเนื่อง โดยมีนักโบราณคดีกว่า 100 ชีวิตของสถาบันได้ลงมือสำรวจ ขุดค้น และศึกษาทั่วเมืองอัลอูลาแผนระยะยาวของ RCU คือการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองด้วยความระมัดระวัง รับผิดชอบ และยั่งยืน พร้อมกับอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้เมืองอัลอูลาเป็นจุดหมายปลายทางการอยู่อาศัย ทำงาน และท่องเที่ยว

เป้าหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดโครงการมากมายทั้งในด้านโบราณคดี การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และศิลปะ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการตอบสนองต่อความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังให้แก่ชุมชน และการอนุรักษ์มรดกตกทอดตามวิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบียโดยงานของสถาบันถูกถ่ายทอดผ่านสารคดีชุด Architects of Ancient Arabia ทางช่อง Discovery Channel https://bit.ly/3GBvqVX

ซาอุดีอาระเบีย

10.โอเอซิสแห่งอัลอูลา

บริเวณใจกลางทะเลทรายของอัลอูลาคือที่ตั้งของหุบเขาอัลลูลาซึ่งมีพื้นที่ที่เรียกว่า Wadi Al-Qura หรือ ดินแดนแห่งหมู่บ้านในหุบเขา (Valley of Villages) เป็นโอเอซิสกลางทะเลทราย แหล่งเพาะปลูกพืชผลประจำท้องถิ่น ทั้งข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต สวนมะกอก และไร่มะเดื่อ โอเอซิสแห่งนี้ชุ่มฉ่ำด้วยลำธารตามธรรมชาติ มีบ่อน้ำพุร้อนจากใต้ดิน ป่าอินทผลัมหลากหลายสายพันธุ์รวมทั้งพันธุ์บาร์นิ (Barni Date)ที่ขึ้นชื่อที่สุดในท้องถิ่นนี้

ซาอุดีอาระเบีย
โอเอซิสกลางทะเลทราย
(ภาพ: Royal Commission for AlUla)

ไฮไลต์ของพรรณไม้ในโอเอซิสที่ถูกดึงมาเป็นจุดขายการท่องเที่ยวล่าสุด คือ มะรุมอาหรับ (Moringa Peregrina) พืชดอกยืนต้นตระกูลมะรุม เป็นพืชท้องถิ่นของอัลอูลาที่มีอยู่มาก อัลอูลาจึงเป็นแหล่งผลิตน้ำมันมะรุมระดับพรีเมียมคุณสมบัติคล้ายน้ำมันอาร์แกนและให้ความชุ่มชื้นกว่ามะรุมสายพันธุ์อินเดีย ดังนั้นการเที่ยวทะเลทรายที่อัลอูลาจึงไม่ได้มีแค่ความเวิ้งว้าง หรือความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ แต่เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรและนิเวศของอัลอูลาและตระเวนชิมผลไม้ในฟาร์มต่าง ๆ ก็เป็นความสนุกที่ห้ามพลาด

Fact File

  • อัลอูลา อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ห่างจากกรุงริยาด 1,100 กิโลเมตร รุ่มรวยด้วยมรดกของมนุษย์และธรรมชาติอันแสนมหัศจรรย์ โดยพื้นที่ขนาด 22,561 ตารางกิโลเมตรของเมืองมีทั้งโอเอซิสเขียวชอุ่ม ภูเขาหินทรายตั้งตระหง่าน เมืองโบราณ และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของโลกอายุเก่าแก่หลายพันปี
  • ชาวนาบาเทียน (Nabataeans) ที่สร้างอารยธรรมรุ่งเรืองเป็นกลุ่มสุดท้ายในแคว้นอัลลูลา ก่อนอารยธรรมอิสลามจะเกิดในคาบสมุทรอาระเบีย เป็นชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทราย เชี่ยวชาญการค้าคุมเส้นทางค้าขายและคุมกิจการค้าขายไม้หอมและเครื่องเทศต่าง ๆ เช่น พริกไทยสด ขิง น้ำตาล ผ้าฝ้าย ครอบคลุมพื้นที่แถบอาระเบีย จอร์แดน เมดิเตอเรเนียน อียิปต์ ซีเรียและดินแดนเมโสโปเตเมียเดิม (อิรัก-อิหร่าน)
  • เมืองเฮกราเป็นเส้นทางผ่านการค้าที่สำคัญแต่โบราณ เมืองชายแดนใต้สุดของอาณาจักรแนบาเทียรุ่งเรืองมาตั้งแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1 จึงถูกยึดครองโดยอาณาจักรโรมัน และอัตลักษณ์ของชนเผ่านาบาเทียนสาบสูญไป จนกระทั่งนักโบราณคดีชาวสวิสได้ค้นพบ นครเพตรา ที่จอร์แดน เมื่อปี ค.ศ. 1812 เปิดตาให้ชาวตะวันตกได้เห็นหลักฐานความรุ่งเรืองของอารยธรรมแนบาเทีย และภาพของนครเพตราในเขตแดนของประเทศจอร์แดนถูกส่งต่อไปทั่วโลก ผ่านความนิยมของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Indiana Jones and the Last Crusade ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1989
  • แผนงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองอัลอูลาอยู่ในความรับผิดชอบของ Royal Commission for AlUla (RCU) ที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาแห่งอาณาจักรซาอุดีอาระเบียในเดือนกรกฎาคมค.ศ.2017 เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป