หลงเฉียนไทยแลนด์ คณะสิงโตที่เริ่มต้นจากชมรมเล็กๆ ของเด็กมัธยมวัดนวลฯ
Brand Story

หลงเฉียนไทยแลนด์ คณะสิงโตที่เริ่มต้นจากชมรมเล็กๆ ของเด็กมัธยมวัดนวลฯ

Focus
  • หลงเฉียนไทยแลนด์ คณะเชิดสิงโตและมังกรที่มีจุดเริ่มต้นจากชมรมสิงโตภายในโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ขยายมาสู่การตั้งคณะสิงโตรับงานแสดงจริงจังที่มีลูกทีมเป็นเยาวชนเกือบทั้งหมด
  • จากชมรมเชิดสิงโตในโรงเรียน ใน ค.ศ. 2016 ได้มีคณะสิงโตหลงเฉียน ประเทศสิงคโปร์เข้ามาให้ความรู้ ยกระดับการเชิดสิงโตสู่สากล

การเชิดสิงโต มังกร เป็นการแสดงและกิจการที่มักตกทอดสืบสานกันภายในครอบครัวชาวจีน รับไม้ต่อจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก แต่สำหรับคณะสิงโต หลงเฉียนไทยแลนด์ กลับแตกต่างตรงจุดเริ่มต้นที่เกิดขึ้นจากความชอบ ความหลงใหลในการเป็นผู้ชม และแม้เริ่มแรกครอบครัวจะไม่ได้สนับสนุน แต่ ต้น-วรัตถ์นันท์ เพชรน้ำเอก ก็มักพาตัวเองเข้าไปอยู่ในจักรวาลของการเชิดสิงโตอยู่เสมอจนเป็นที่มาของการก่อตั้งชมรมในโรงเรียน และขยายมาเป็น คณะสิงโต มังกร หลงเฉียนไทยแลนด์ ที่มีลูกทีมเป็นกลุ่มนักเรียนและเยาวชนราว 60 คน

หลงเฉียนไทยแลนด์
คณะสิงโต มังกร หลงเฉียนไทยแลนด์

“ผมชอบการเชิดสิงโตมาตั้งแต่เด็กและเป็นคนที่พยายามหาโอกาสที่จะเล่นสิงโตมาตลอด แต่ที่บ้านไม่ให้เล่นเพราะเขาเป็นห่วง ต้องยอมรับว่าภาพของคณะสิงโตสมัยก่อนอาจไม่เหมือนตอนนี้ คนนอกที่มองเข้าไปจะรู้สึกว่าคณะสิงโตมีความเป็นแก๊งสเตอร์ มีความมาเฟียเล็กๆ ก็ว่าได้ ที่บ้านก็เลยไม่ให้เล่น แต่เราก็พยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นให้ได้ ยิ่งบ้านอยู่ตลาดพลูซึ่งเป็นแหล่งรวมของคณะสิงโต ก็จะเห็นสิงโต มังกรแห่ผ่านหน้าบ้านทั้งปี เราก็ยิ่งชอบ ยิ่งอยากดู”

หลงเฉียนไทยแลนด์

วรัตถ์นันท์ ย้อนเล่าถึงความหลงใหลในศิลปะการเชิดสิงโตและมังกรที่มีมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งตลาดพลูเป็นย่านที่มีชาวคณะสิงโตอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 50 คณะ ไม่นับรวมช่างทำหัวสิงโต คนทำเสื้อผ้าสิงโต ดังนั้นท่วงทำนองเสียงกลองเชิดสิงโตแห่งย่านตลาดพลูที่ดังต่อเนื่องยาวนานจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ชุมชนจึงสามารถเขย่าหัวใจให้คนตลาดพลูหลงใหลในการเชิดสิงโตได้ไม่ยาก และวรัตถ์นันท์ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่จดจำท่วงท่าและท่วงทำนองการเชิดสิงโตมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งถึงงานวันกีฬาสีโรงเรียนจึงได้โอกาสนำสิงโตไปเล่นในโรงเรียน

หลงเฉียนไทยแลนด์
ต้น-วรัตถ์นันท์ เพชรน้ำเอก ผู้ก่อตั้ง หลงเฉียนไทยแลนด์

“ตอนนั้นอายุประมาณ 15 ปี ที่โรงเรียนก็มีเพื่อนที่เล่นอยู่คณะสิงโตคณะโน้น คณะนี้อยู่แล้ว พอเขารู้ว่าเราจะทำสิงโตในงานกีฬาสี ทุกคนก็อยากมา อยากแสดง คือตอนนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่าเขาเล่นสิงโตไปเพื่ออะไร แต่ชอบและอยากเล่นก็อาศัยครูพักลักจำเขามา จบกีฬาสีครูก็มาสอบถามว่าอยากทำชมรมสิงโตต่อไหม เราได้โอกาสก็รวมเพื่อนๆ ที่ชอบการเชิดสิงโตทำชมรมกันขึ้นมา”

ชมรมเชิดสิงโต วัดนวลนรดิศ รุ่นแรกเริ่มต้นด้วยการที่เด็กๆ ฝึกฝนกันเองแบบครูพักลักจำ กระทั่งเริ่มมีสปอนเซอร์จากศิษย์เก่า คณะสิงโตจึงเติบโตขึ้น กระทั่งได้มีการจับมือกับคณะหลงเฉียนประเทศสิงคโปร์เพื่อถ่ายทอดความรู้การเชิดสิงโตที่ถูกต้องตามหลักสากล

หลงเฉียนไทยแลนด์

“พอเราทำจริงจังเป็นชมรม เราก็เริ่มหาความรู้มากขึ้น และมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเห็นว่ามีเด็กๆ สนใจเข้าชมรมเยอะแต่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาสอนก็เลยแนะนำสมาคมสิงโตที่ประเทศสิงคโปร์ให้รู้จักชื่อ คณะหลงเฉียน จากนั้นก็เชิญอาจารย์ทางสิงคโปร์มาสอนให้กับชมรมของมวัดนวลฯ มีการเซ็น MOU (Memorandum of Understanding หรือ บันทึกความเข้าใจ) กับทางโรงเรียนจริงจัง นำอุปกรณ์ที่เป็นสากลพร้อมเสื้อผ้ามาให้ และที่สำคัญคือส่งอาจารย์มาสอนเชิดสิงโตที่วัดนวลฯ ทุกเดือน จนกระทั่งมีการก่อตั้งคณะหลงเฉียนไทยแลนด์ขึ้นเมื่อ ค.ศ.2016”

จากจุดเริ่มต้นเพียงโชว์สั้นๆ ในงานกีฬาสี มาวันนี้ชมรมเชิดสิงโต วัดนวลฯ ได้เดินทางเข้าสู่ปีที่ 15 ส่วนคณะ หลงเฉียนไทยแลนด์ ก็เดินทางเข้าสู่ปีที่ 6 ซึ่งการเกิดขึ้นของหลงเฉียนไทยแลนด์เป็นประตูที่นำเด็กๆ ในชมรมออกมาเปิดประสบการณ์จริงนอกโรงเรียน โดยลูกทีมของหลงเฉียนไทยแลนด์ก็คือ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันของชมรมเชิดสิงโต วัดนวลฯ รวมทั้งยังมีศิษย์จากชมรมสิงโต โรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ มาสมทบ

หลงเฉียนไทยแลนด์

“สิงโตคณะอื่นจะสืบต่อกันแบบลูกหลาน ส่วน หลงเฉียนไทยแลนด์ จะส่งต่อกันแบบรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง อย่างผมเองก็ยังกลับไปสอนที่ชมรมสิงโตของวัดนวลฯ อยู่ และก็ขยายไปที่โรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ ซึ่งเด็กๆ ที่นั่นเห็นว่าวัดนวลฯ มีชมรมสิงโตก็ขอครูให้พาไปดูงานที่วัดนวลฯ แล้วก็กลับมาตั้งชมรมสิงโตของตัวเอง ซึ่งผมก็ไปถ่ายทอดความรู้ให้ ส่วนคณะหลงเฉียนไทยแลนด์ก็เป็นคณะสิงโตที่ไม่มีพนักงานประจำยกเว้นผม ลูกทีมที่มาเชิดสิงโตก็มาจากเยาวชนของชมรมสิงโตทั้งสองโรงเรียน มีทั้งที่จบไปแล้ว และที่กำลังเรียนอยู่ หรืออย่างที่อายุน้อยสุดที่มาฝึกกับเราคือประถม 4 น้องเขาไลน์มาเลยว่าถ้าเขาขึ้น ป.4 เขาขอมาฝึกสิงโตนะ และน้องเขาก็มาจริงๆ จะสังเกตได้ว่าปกติเราจะไม่ค่อยรับงานจันทร์ถึงศุกร์ เพราะน้องๆ ในทีมต้องเรียนหนังสือกัน

เมื่อลูกทีมหลงเฉียนไทยแลนด์ มาจากเยาวชนในรั้วโรงเรียนที่อยู่ในวัยกำลังค้นหาตัวเอง ความท้าทายที่ตามมาคือการผลิตนักเชิดสิงโตในช่วงรอยต่อระหว่างรุ่น

“ความท้าทายของหลงเฉียนไทยแลนด์คือการฝึกเด็กๆ ซึ่งเป็นรุ่นต่อรุ่น เด็กที่จบมัธยมแล้วเขาก็จะมีทางเดินของตัวเอง ก็อาจจะไม่ได้กลับมาที่คณะสิงโตแล้ว เป็นจุดที่เราต้องทำใจแต่แรกแล้วว่าจะต้องมีคนออกจากคณะไป แต่เวลาซ้อมเราไม่เคยกั๊ก บางคณะอาจจะคิดว่าคนเชิดคนนี้อาจจะอยู่ไม่นานก็จะไม่ให้ความรู้ทั้งหมด แต่เราคือให้เต็มที่ ความท้าทายของเราจึงเป็นเรื่องที่ว่าเมื่อเด็กจบไปแล้วถ้าเราไม่ได้ถ่ายทอดต่อสู่รุ่นใหม่จะเป็นรอยต่อที่ยาก ส่วนในชมรมเองผมก็จะพยายามปั้นให้รุ่นพี่สามารถสอนรุ่นน้องได้เองด้วย ซึ่งอันนี้ผมคิดไกลไปถึงว่าการเชิดสิงโตมันต้องไม่ได้สร้างรายได้แค่การแสดง การสอนเชิดสิงโตก็จะต้องสร้างรายได้ไม่ต่างจากครูสอนนาฏศิลป์ หรือครูดนตรี ผมก็เลยจะปั้นเด็กๆ ให้สอนให้เป็นด้วย ถ้าอยากจะพัฒนาวงการเชิดสิงโตก็จะต้องพัฒนาทั้งระบบ”

สำหรับการเข้ามาของคณะหลงเฉียนสิงคโปร์นั้น วรัตถ์นันท์มองว่าเป็นข้อดีที่จะพัฒนาการเชิดสิงโตในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับสากล เริ่มตั้งแต่การซ้อมที่ไม่ใช่มาถึงและจะต่อตัว หรือสวมหัวแล้วเล่นเลย แต่วรัตถ์นันท์บอกว่าต้องเริ่มจากการปรับพื้นฐานสร้างความแข็งเรงให้ร่างกายก่อนที่จะไปสู่การเชิด หรืออย่างเสื้อผ้าก็ต้องมียูนิฟอร์มของคณะชัดเจน สร้างให้เป็นมาตรฐานใหม่ ลดความเป็นแก๊งสเตอร์ที่เคยถูกมองให้มีความเป็นสากลและมืออาชีพมากขึ้น

“ทุกครั้งที่จะเริ่มซ้อมต้องมีการวอร์มร่างกายเหมือนเล่นกีฬาชนิดหนึ่งเลย เน้นจัดระเบียบร่างกายให้เป็นแล้วค่อยฝึกหัว ฝึกเชิด ผมยอมรับว่าของเราอาจจะฝึกช้ากว่าคณะอื่น เพราะต้องสร้างกำลังแขน กำลังขาให้เด็กๆ ไม่ใช่มาถึงแล้วจะเอาหัวสิงโตครอบให้เล่นเลย ต้องฝึกการใช้มือเปล่าขยับท่าทางให้ได้ก่อน ส่วนการเล่นของเราจะเน้นเชิดแบบสากลที่ไม่เน้นกายกรรมต่อตัว ปกติคณะเราจะเป็นการเชิดสิงโตอวยพร สิงโตค่ายกล มังกรลีลา ตีกลองมงคล แล้วผมเองก็ออกแบบยูนิฟอร์มที่ร่วมสมัยมากขึ้นทั้งเสื้อผ้า รองเท้า ต้องเป็นดีไซน์เดียวกันทั้งทีม”

อีกสิ่งที่เปิดโลกของการเชิดสิงโตสู่สากลจริงๆ คือการพาเยาวชนในทีมออกไปร่วมแสดงกับคณะหลงเฉียนที่สิงคโปร์เป็นประจำทุกปี ซึ่งถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องการเดินทางเพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตรุษจีนของทุกปี เยาวชนของคณะหลงเฉียนไทยแลนด์จะได้บินไปร่วมเก็บประสบการณ์การแสดงที่สิงคโปร์เป็นเวลาราว 2 สัปดาห์ด้วยกัน

“ปกติตรุษจีนทุกปีเราจะพาเด็กๆ ในคณะไปแสดงที่ประเทศสิงคโปร์ร่วมกับคณะหลงเฉียนที่โน่น เพราะตรุษจีนที่สิงคโปร์เขาฉลองกันยาว คณะสิงโตจะมีงานเชิดสิงโตติดต่อกันตั้งแต่ 15 วัน ถึงหนึ่งเดือน และวันหนึ่งๆ เขาเล่นกันเป็น 10 ที่ คณะไหนที่มีเครือข่ายต่างประเทศเขาก็จะรวบรวมคนเอาไปแสดงที่โน่น ในไทยเองเต็มที่ก็มีงานไม่เกิน 5 วัน ปกติเราก็จะรับงานตรุษจีนที่ไทยประมาณ 3-5 วัน เสร็จแล้วก็จะบินไปสิงคโปร์อยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ เล่นทุกวัน เหมือนได้พาเด็กๆ ไปเรียนรู้สนามจริงที่โน่นด้วย ให้เห็นความคึกคักของศิลปะการแสดงสาขานี้ว่าเป็นอย่างไร”

จากจุดเริ่มต้นแบบครูพักลักจำ มาวันนี้วรัตถ์นันท์ถือว่าเดินทางมาได้ไกลบนเส้นทางของศิลปะการแสดงแขนงที่เริ่มจะเหลือผู้เล่นน้อยลงไปทุกที ซึ่งเมื่อถามต่อว่าอะไรที่ทำให้เขาอยู่กับการเชิดสิงโตได้ยาวนานถึง 15 ปีทั้งในฐานะผู้แสดงและผู้สอน วรัตถ์นันท์ ตอบสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า

“พอเราชอบแล้วเราก็เลิกดูไม่ได้”

Fact File

  • ติดตามความเคลื่อนไหวของคณะสิงโต มังกร หลงเฉียนไทยแลนด์ facebook.com/THLongQuan

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว