4 ของขวัญแสนธรรมดา สู่แรงบันดาลใจเบื้องหลังความสำเร็จของคนดังระดับโลก
Faces

4 ของขวัญแสนธรรมดา สู่แรงบันดาลใจเบื้องหลังความสำเร็จของคนดังระดับโลก

Focus
  • เปิดแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังของขวัญชิ้นเล็ก ๆ อย่าง เข็มทิศอันลี้ลับของไอน์สไตน์ จดหมายเขียนสีน้ำถึงลูกชายของครูพี่เลี้ยง ตุ๊กตาหมีของขวัญวันคริสต์มาส และโต๊ะเขียนหนังสือของพ่อ ที่วันหนึ่งในจังหวะชีวิตที่เหมาะสมได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างสรรค์ชิ้นงานอันยิ่งใหญ่ระดับโลกขึ้นมาได้

แรงบันดาลใจมีอยู่รอบตัว ไม่เว้นแม้แต่ของเล่นหรือของขวัญชิ้นเล็ก ๆ ที่ดูแสนธรรมดา หาซื้อได้ทั่วไป แต่เมื่อของชิ้นนั้นถูกส่งให้ถึงมือผู้รับในจังหวะเวลาที่ใช่ ก็สามารถจุดประกายปูทางสู่ความสำเร็จในอนาคตได้ เช่นเดียวกับเรื่องราวของ ของขวัญ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าคนดังระดับโลกในสาขาต่าง ๆ ซึ่งบางชิ้นก็สามารถพลิกช่วงชีวิตที่รู้สึกย่ำแย่อย่างสุด ๆ ให้กลับมามีความหวังครั้งใหม่ได้

ของขวัญระดับโลก

01 “เข็มทิศ” ของพ่อสู่แรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

ย้อนไปตอนอายุ 5 ขวบ ขณะที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ป่วยติดเตียง เขาได้รับ “เข็มทิศ” เป็นของขวัญปลอบใจจากพ่อ ซึ่งมันอาจจะดูธรรมดามาก ๆ สำหรับเด็กคนหนึ่ง แต่ไอน์สไตน์กลับคิดว่า “มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ เบื้องหลังสรรพสิ่งอย่างแน่นอน”

ไอน์สไตน์เคยกล่าวรำลึกถึงความหลังครั้งนั้นว่า ในวันที่เขาได้รับเข็มทิศชิ้นนั้นเป็นของขวัญอยู่ในช่วงที่เขากำลังนอนป่วยอยู่บนเตียง มันเป็นประสบการณ์ที่แสนตรึงใจและเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเขาตลอดมา เขาอธิบายความรู้สึกไว้อย่างละเอียดว่า ในวันนั้นเขาตื่นเต้นจนตัวสั่นและมือเย็นเฉียบกับพลังอันลี้ลับจากการได้เห็นเข็มแม่เหล็กในเข็มทิศอันนั้น ขยับได้ราวกับถูกควบคุมด้วยพลังบางอย่างที่มองไม่เห็น และความพิศวงต่อความลี้ลับของเข็มทิศในวัยเด็กก็ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนความสนใจในโลกวิทยาศาสตร์ของเขาในอีก 20 ปีต่อมากับงานวิชาการเขย่าโลกของไอน์สไตน์ด้วยการค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1905 ตอนเขาอายุ 26 ปี รวมทั้งการพิสูจน์ว่าอะตอมและโมเลกุลเป็นอนุภาคที่มีอยู่จริง

ของขวัญระดับโลก

02 “ของขวัญถึงครูพี่เลี้ยง” จุดเริ่มต้นงานเขียนของ เบียทริกซ์ พอตเตอร์

ของขวัญสร้างแรงบันดาลใจอาจจะไม่ได้เป็นของที่เราได้รับมาเท่านั้น แต่บางครั้งของขวัญที่เราตั้งใจทำและมอบให้ผู้อื่นก็กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จได้เช่นกัน ดั่งเรื่องราวของนักเขียนหญิงและนักวาดภาพนิทานเด็กชาวอังกฤษ เบียทริกซ์ พอตเตอร์ (Beatrix Potter) ผู้ให้กำเนิดนิทานประกอบภาพวาดสุดคลาสสิก The Tale of Peter Rabbit หรือ ปีเตอร์ แรบบิท กระต่ายน้อยแสนซนซึ่งมีจุดเริ่มมาจากการเขียนนิทานประกอบภาพเรื่องสั้น ๆ ที่ถูกส่งเป็นจดหมายไปให้เด็กชาย 5 ขวบ ลูกของครูพี่เลี้ยงเก่าแก่เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจ

เบียทริกซ์ พอตเตอร์ ชอบเขียนเรื่องและภาพประกอบสีน้ำ โดยเฉพาะสัตว์น้อยน่ารักและภาพพืชพันธุ์ธรรมชาติที่เธอสังเกตเห็นในชีวิตประจำวัน ระหว่างที่อาศัยอยู่ที่ชนบทของอังกฤษนิทานพร้อมภาพวาดที่เธอเขียนเรื่องแรก ๆ เป็นเรื่องสั้นเกี่ยวกับกระต่ายน้อยแสนซน และเธอเขียนส่งไปเป็นของขวัญตอบแทนน้ำใจอดีตครูพี่เลี้ยงคนหนึ่งของเธอที่กำลังมีลูกชายวัย 5 ขวบ 

ครูพี่เลี้ยงคนนี้คงเห็นแววของลูกศิษย์คนนี้อยู่แล้ว จึงได้เขียนจดหมายกลับมากระตุ้นให้เบียทริกซ์เขียนนิทานสั้น ๆ นั้นให้สมบูรณ์เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่แบบนักเขียนอาชีพจริงจัง จดหมายแสดงความชื่นชมและกระตุ้นให้สาวน้อยเบียทริกซ์เดินหน้าวาดภาพเป็นนิทานจบเรื่องจากครูพี่เลี้ยงคนนั้น คงมีผลไม่มากก็น้อย เพราะต่อมาไม่นาน เบียทริกซ์ก็ลงมือวาดเขียนต้นฉบับ The Tale of Peter Rabbit จนเสร็จ ขณะที่อาศัยอยู่ที่บ้านแคมป์ฟิลด์ (Camfield Place) บ้านตากอากาศแถบชนบทที่เธอรักมากเพราะเป็นที่ที่มีความทรงจำในวัยเด็กระหว่างเธอกับธรรมชาติอันแสนงดงาม และเป็นฉากหลังของนิทานเรื่องนี้ด้วยเบียทริกซ์ พอตเตอร์ใช้ภาพวาดต้นฉบับเดิมของเธอจากจดหมายที่มีสัตว์ต่าง ๆ และเขียนเพิ่มเติมจนได้นิทานสอนใจว่าด้วยครอบครัวกระต่ายน้อยที่มีพระเอกคือ เจ้ากระต่ายแสนซน ปีเตอร์ แรบบิทจากนั้นก็ส่งงานไปเสนอสำนักพิมพ์ถึง 6 แห่ง แต่กลับถูกปฏิเสธทั้งหมดด้วยเหตุว่า “ภาพประกอบไม่ดึงดูดพอ”

แม้ว่าในปีแรก ๆ เบียทริกซ์จะถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ถึง 6 แห่ง แต่เธอไม่ท้อ เบียทริกซ์ลงทุนจัดพิมพ์นิทานปีเตอร์ แรบบิทเองและขายเองอยู่นานเป็นปีจึงมีนายทุนที่มองเห็นแววรุ่งมาลงทุนตีพิมพ์เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลักหมื่นเล่ม และส่งให้ชื่อของเบียทริกซ์ พอตเตอร์ เป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านวงกว้างขึ้น และกลายเป็นนักเขียนนักวาดนิทานคลาสสิกจากยุควิกตอเรียนที่เป็นต้นแบบนิทานเด็กกับชีวิตธรรมชาติ 

The Tale of Peter Rabbit เป็นเรื่องราวที่เธอเขียนจากสิ่งรอบตัวทั้งสัตว์ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ และมุมมองของเธอต่อความเป็นเด็กสะท้อนในนิทานเรื่องปีเตอร์ แรบบิทกระต่ายน้อยจอมซนที่เป็นเสมือนตัวแทนเด็กน้อยซุกซน ที่มีแม่คอยพร่ำบ่นไม่ต่างจากชีวิตเด็ก ๆ ทั่วไปบนโลกนี้ที่มีความเบื่อหน่ายยามแม่บ่นครอบครัวกระต่ายน้อยปีเตอร์ เป็นเสมือนภาพจำลองของเด็ก ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเนื้อหานี้มีความเป็นสากล เด็กทั่วโลกต่างภาษาสามารถเข้าใจเรื่องได้ง่ายและยังเพลิดเพลินกับภาพวาดสีสันสวยงาม แต่นิทานเรื่องนี้อาจจะไม่เกิดเลยก็ได้ถ้า เบียทริกซ์ไม่ได้เขียนมันเป็นนิทานสั้นประกอบภาพเป็นของขวัญตอบแทนน้ำใจครูพี่เลี้ยงและไม่ได้แรงกระตุ้นจากครูพี่เลี้ยงให้ต่อยอดพรสวรรค์ของเธออย่างจริงจัง

ของขวัญระดับโลก

3. “ของขวัญคริสต์มาส” ที่กลายมาเป็นวรรณกรรม หมีแพดดิงตัน

ต้นกำเนิดที่แท้จริงของวรรณกรรมหมีแพดดิงตัน เริ่มเมื่อปี ค.ศ. 1956 ไมเคิล บอนด์ (Michael Bond) ตากล้องรายการโทรทัศน์ของบีบีซี (BBC) ต้องควานหา “ของขวัญคริสตมาส” ให้ภรรยาในช่วงวินาทีสุดท้าย และได้ตุ๊กตาหมีขนฟูตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่บนชั้นขายของในห้างเซลฟริดจ์ส (Selfridges) ที่ลอนดอนเขาตั้งชื่อตุ๊กตาหมีตัวนั้นว่า “แพดดิงตัน” ตามชื่อสถานีรถไฟแพดดิงตันที่อยู่ใกล้บ้านของครอบครัวบอนด์ 

หลังจากที่รับตุ๊กตา “หมีแพดดิงตัน” เข้ามาเป็นสมาชิกในบ้าน ไมเคิล บอนด์ ก็เริ่มเขียนเรื่องราวของหมีน้อย พร้อมคิดจินตนาการว่าถ้าหมีตัวนี้ต้องผจญภัยในเมืองหลวงของอังกฤษเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง โดยเรื่องราวเริ่มจากหมีน้อยตัวหนึ่ง พลัดถิ่นมาจากป่าแอมะซอน ประเทศเปรู ซึ่งกำลังถูกทำลายด้วยไฟป่า เหตุการณ์น่าเศร้าครั้งนั้นทำให้หมีน้อยต้องหนีและพลัดหลงลงเรือมากับนักสำรวจชาวอังกฤษและข้ามทวีปมาจนถึงลอนดอน อันเป็นที่มาของภาพหมีน้อยนั่งเดียวดายอยู่บนกระเป๋าเดินทางหนังสีน้ำตาล บริเวณสถานีรถไฟแพดดิงตัน ชานเมืองลอนดอน พร้อมข้อความบนป้ายแขวนคอเขียนว่า “โปรดดูแลหมีตัวนี้ด้วย ขอบคุณ” (Please Look after this Bear, Thank you.)ต่อมาครอบครัวบราวน์ได้มาพบหมีน้อยเข้า จึงรับอุปการะหมีน้อยที่พูดจาภาษาคนได้และตั้งชื่อมันว่า หมีแพดดิงตัน ตามชื่อสถานีรถไฟ

ไมเคิล บอนด์ ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ในการเขียนเรื่องราวทั้งหมด 8 บท แต่ก็ไม่ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมาในทันที กระทั่งเวลาผ่านไป 2 ปี สำนักพิมพ์วิลเลียม คอลลินส์ (William Collins) ก็ได้จัดตีพิมพ์งานเขียนของบอนด์ในชื่อ A Bear Called Paddington เป็นฉบับปกแข็ง มีภาพประกอบวาดโดยเพ็กกี้ ฟอร์ตนัม (Peggy Fortnum) ออกวางแผงครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.1959 และในปีนั้นเอง A Bear Called Paddington ก็ได้รับรางวัลหนังสือวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นประจำปี จากสมาคมผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายวารสารและหนังสือในสหราชอาณาจักร และมีเรื่องราวภาคต่อชื่อ More about Paddington วางแผงในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

หนังสือ A Bear Called Paddington ขายได้มากกว่า 35 ล้านเล่มทั่วโลก และแปลมากกว่า 40 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย (สำนักพิมพ์ Stranger’s Book) และส่งให้ไมเคิล บอนด์ กลายเป็นนักเขียนพาร์ตไทม์มาเกือบ 10 ปี พร้อมกับเขียนเรื่องราวผจญภัยของเจ้าหมีแพดดิงตันต่อเนื่องมาจนถึง 14 เล่ม จนมีรายได้สะสมมากพอสมควร ปี ค.ศ. 1965 บอนด์จึงตัดสินใจเกษียณตัวเองจากงานตากล้องที่บีบีซีและมาทำงานเป็นนักเขียนเต็มตัว

หนังสือชุดหมีแพดดิงตันกลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกสำหรับเด็กทั่วโลก จากเรื่องราวการผจญภัยของหมีน้อยที่เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิตประจำวัน เป็นเหมือนโลกจำลองให้เด็ก ๆ ได้เตรียมใจพบเจอในอนาคต และเนื้อเรื่องยังสื่อให้เห็นความอ่อนโยน ความมีน้ำใจของคนรอบข้างที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหมีน้อยแพดดิงตันเสมอ

ของขวัญระดับโลก

4. “โต๊ะเขียนหนังสือ” ของขวัญแสนเรียบง่ายจากพ่อสู่การสร้าง Little Women

ใครจะคาดคิดว่า “โต๊ะเขียนหนังสือ” ที่แสนเรียบง่ายและธรรมดาอันเป็นของขวัญจากพ่อเมื่อปี ค.ศ. 1868 จะส่งให้ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott หรือ L.M. Alcott) กลายมาเป็นนักเขียนเจ้าของวรรณกรรมคลาสสิก “สี่ดรุณี” หรือ Little Women ปัจจุบันโต๊ะทรงครึ่งวงกลมตั้งติดผนังตัวนั้น ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และเรียนรู้ชีวิตนักเขียน จัดแสดงอยู่ภายในบ้านออร์ชาร์ด (Orchard House) ซึ่งปัจจุบันได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียนของลุยซา อัลคอตต์ เมย์

ทั้งนี้ขณะที่ผู้อ่านกำลังตื่นเต้นลุ้นเพลิดเพลินกับวิถีการเติบโตของสี่ดรุณีทั้งภายในและภายนอกจนถึงวัยผู้ใหญ่ การบริหารความสัมพันธ์ภายในและภายนอกของมาร์มี (แม่)ก็กลายเป็นเนื้อหาสากลที่ทุกคนเข้าถึงได้และสามารถตรึงใจผู้อ่านได้อยู่หมัด ร่วมด้วยเนื้อหาเรื่องการแสวงหาตัวตนที่เป็นปัจเจก และการตอกย้ำคุณค่าของหน่วยเล็ก ๆ อย่างครอบครัวที่คนในปัจจุบันยังคงเข้าถึงและสัมผัสได้ แม้บริบทสภาพสังคมแตกต่างจากสถานการณ์ต้นเรื่องของสี่ดรุณีแห่งตระกูลมาร์ชเมื่อกว่า 150 ปีก่อนแล้วก็ตาม

ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน เกิดวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1832 เติบโตในครอบครัวที่พ่อและแม่มีแนวคิดการใช้ชีวิตตามปรัชญาอุตรนิยม (Transcendentalist) ที่เชื่อในวิถีชีวิตอิงแอบและเคารพพลังธรรมชาติ อัลคอตต์ มีพี่น้องเป็นหญิงล้วน 4 คน ซึ่งเป็นต้นแบบตัวละครในงานเขียน Little Women และเธอก็มีน้องสาวที่เสียชีวิตด้วยอาการเจ็บป่วยตั้งแต่วัยเด็กเช่นเดียวกับเรื่องราวในสี่ดรุณีทั้งนี้วัยเด็กของอัลคอตต์ เติบโตในเมืองคอนคอร์ด (Concord) ครั้งนั้นเธอได้รู้จักกับเพื่อนบ้านและร่วมสังคมกับนักเขียนนักคิด นักปรัชญาชื่อดังแห่งยุคอย่างราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson)นักเขียน กวี และนักปรัชญา เจ้าของวาทะ “ความมั่งคั่งอย่างแรก คือ สุขภาพ”รวมถึง เฮนรี เดวิด ธอโร(Henry David Thoreau) เจ้าของผลงาน Walden และ นาธาเนียล ฮอว์ธอร์น (Nathaniel Hawthorne) นักเขียนเจ้าของนิยาย Scarlet Letter

ตัวละคร โจ มาร์ช ในสี่ดรุณีนั้น เป็นภาพตัวแทนของผู้เขียน เพราะโจเป็นสาวน้อยที่แหกขนบเป็นหญิงทันสมัยในศตวรรษที่ 20-21 ความคิดของเธอข้ามกรอบวิถีอิสตรีเดิม ๆ กับการตั้งคำถามหาคุณค่าของตัวเอง การแสวงหาทางเลือกอื่น ๆ ตามเจตจำนงเสรี ไม่ใช่เพียงตัวเลือกเดียวในครรลองของการมีความรักและแต่งงานกับผู้ชาย โจ มาร์ช ไม่ได้ปฏิเสธความรักและการแต่งงาน แต่เธอให้ความสำคัญกับรักโรแมนติกและการมีสิทธิ์เลือก มากกว่าเงื่อนไขอื่นใดที่อิงปัจจัยในการดำรงชีวิตในสังคม ซึ่งนั่นส่งให้พลังของงานเขียนนวนิยายอิงชีวประวัติของตัวเองมีเสน่ห์ล้ำลึกและเข้าถึงจิตใจผู้อ่านมาหลายยุคหลายสมัย และแม้ว่าในเรื่องราวของสี่ดรุณี บทบาทของพ่อจะหายไปจากชีวิตประจำวัน มีเพียงข่าวคราวจากการไปรบในสงครามกลางเมือง แต่สี่ดรุณีและแม่ของเธอก็เล่าถึงตัวละครพ่ออยู่เสมอ

สำหรับชีวิตจริง เอมอส บรอนสัน อัลคอตต์ (Amos Bronson Alcott) พ่อของลุยซาเป็นนักคิดนักปรัชญาและผู้ก่อตั้งชุมชนผู้นิยมใช้ชีวิตตามปรัชญาอุตรนิยม และของขวัญที่เขามอบให้ลูกสาวนักเขียนก็คือ โต๊ะไม้ที่เขาประกอบขึ้นเองกับมือ เป็นโต๊ะไม้บิวต์อินครึ่งวงกลมแบบลอยติดผนัง โอบเข้าเสาระหว่างหน้าต่างสองบาน หันหน้ารับแสงธรรมชาติและมองออกไปเห็นวิวต้นไม้ในสวนหลังบ้าน ที่บ้านออร์ชาร์ด เมืองคอนคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ซึ่งทั้งตัวบ้านออร์ชาร์ด และเมืองคอนคอร์ด เป็นฉากหลังในเรื่องราวของสี่ดรุณีรวมทั้งมี “โต๊ะเขียนหนังสือ” ของขวัญจากพ่อปรากฏอยู่ด้วย

แม้ว่าในภาพประกอบหนังสือ Little Women ที่ตัวละคร โจ มาร์ช ซึ่งเป็นภาพตัวแทนของลุยซา เมย์ อัลคอตต์ นั่งเขียนนิยายอย่างลืมวันลืมคืน (หน้า 44 ในฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์Boston ของ Roberts Bros.เมื่อปี ค.ศ.1870) จะเป็นโต๊ะลิ้นชักตั้งข้างหน้าต่าง แตกต่างจากโต๊ะของลุยซาตัวจริง แต่ก็ยังให้ความสำคัญของโต๊ะตัวนั้นที่เป็นสิ่งจุดพลังแห่งการสร้างสรรค์ของเด็กสาวทั้งตัวละครโจ มาร์ช และลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ผู้เป็นนักเขียนไม่ต่างกัน 

สามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ทางออนไลน์ได้ที่ vimeo.com/ondemand/peekinsideorchardhouse

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป