เมืองลอยน้ำ : โปรเจกต์สร้างเมืองเตรียมรับภัยน้ำทะเลขึ้นสูงของปูซาน
Better Living

เมืองลอยน้ำ : โปรเจกต์สร้างเมืองเตรียมรับภัยน้ำทะเลขึ้นสูงของปูซาน

Focus
  • ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลหลายประเทศคิดแผนป้องกัน หนึ่งในนั้นคือ เมืองลอยน้ำ ของปูซาน เกาหลีใต้
  • โอเชียนิกซ์ (Oceanix) หรือ เมืองลอยน้ำ กำลังจะเริ่มสร้างใน ค.ศ.2022 ให้เป็นชุมชนลอยน้ำที่สามารถใช้ชีวิตอาศัยอยู่บนมหาสมุทรโดยไม่แตกต่างจากการอาศัยอยู่บนผืนดินทั่วไป
  • คาดว่าเมืองลอยน้ำต้นแบบของปูซานจะเสร็จสมบูรณ์และพร้อมเปิดรับให้ผู้คนได้อยู่อาศัยภายในปี ค.ศ. 2025

หลังจากที่มีรายงานหลายฉบับออกมาเตือนให้เมืองชายฝั่งทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเมืองจมน้ำ เพราะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลและหน่วยงานเอกชนในหลายประเทศต่างก็ไม่ลังเลที่จะผุดโปรเจกต์มากมายที่ตั้งเป้าให้กลายเป็นโซลูชันเตรียมรับมือกับน้ำท่วม ซึ่งรวมถึงโปรเจกต์ล่าสุดของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองปูซาน ของเกาหลีใต้ ที่มีชื่อเรียกว่า โอเชียนิกซ์ (Oceanix) หรือที่หลายคนเรียกกันว่า เมืองลอยน้ำ

Oceanix
ใต้เมืองลอยน้ำคือการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียด้วยธรรมชาติ

ทั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นปูซานได้เปิดเผยแผนการสร้าง เมืองลอยน้ำ ที่กำลังจะเริ่มลงมือทำในปี ค.ศ. 2022 โดยมีจุดประสงค์ให้เป็นชุมชนลอยน้ำที่สามารถใช้ชีวิตอาศัยอยู่บนมหาสมุทรโดยไม่แตกต่างจากการอาศัยอยู่บนผืนดินทั่วไป และเมืองลอยน้ำเมืองหนึ่งสามารถรองรับผู้คนได้มากถึง 10,000 คน และเป็นเมืองลอยน้ำต้นแบบที่จะตอบโจทย์ปัญหาของเมืองชายฝั่งทั่วโลกที่พยายามหาทางหลีกเลี่ยงจากการจมน้ำ

สำหรับโปรเจกต์ โอเชียนิกซ์ เป็นความร่วมมือระหว่างทีมนักออกแบบ สถาปนิก และวิศวกรชั้นแนวหน้านานาชาติ โดยมีเป้าหมายในการสร้างเมืองที่ไม่มีวันจมน้ำ ซึ่งตัวโปรเจกต์เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในปี ค.ศ. 2019 และทีมงานได้ใช้เวลาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในการมองหาพื้นที่เพื่อสร้าง เมืองลอยน้ำ ที่เป็นต้นแบบ จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2021 ทางทีมงานสามารถบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลท้องถิ่นปูซาน กับทาง UN-Habitat หน่วยงานเพื่อการพัฒนาเมืองและถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ ในการสร้าง เมืองลอยน้ำ ต้นแบบที่ชายฝั่งของเมืองปูซานในปี ค.ศ. 2022

Oceanix
การเชื่อมต่อชุมชนลอยน้ำเล็กๆ เป็นเมือง

ขณะนี้ตัวโปรเจกต์เมืองลอยน้ำได้ดำเนินการสร้างตัวโครงสร้างลอยน้ำในโรงงานไว้แล้ว และพร้อมนำไปติดตั้งไว้บนพื้นผิวมหาสมุทรนอกชายฝั่งของปูซานตามที่กำหนดไว้ โดยตัวแพลตฟอร์มจะปรับระดับขึ้นลงตามระดับน้ำทะเล และแพลตฟอร์มหนึ่งจะมีขนาด 5 เอเคอร์ (ราว 12 ไร่) สามารถสร้างบ้านให้ผู้คนอยู่อาศัยได้ 300 คน และความสูงของอาคารสูงสุดที่ 7 ชั้น

แม้แพลตฟอร์มหนึ่งจะมีพื้นที่จำกัด แต่ทีมนักออกแบบได้วางโครงสร้างให้แต่ละแพลตฟอร์มสามารถเชื่อมโยงกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ผ่านทางเดินและเส้นทางปั่นจักรยาน โดย BjarkeIngels Group (BIG) บริษัทด้านสถาปัตยกรรมของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโปรเจกต์โอเชียนิกซ์กล่าวว่า การที่แฟลตฟอร์มสามารถเชื่อมโยงกันได้ ทำให้สามารถต่อยอดขยายจากชุมชนขนาดเล็กกลายเป็นหมู่บ้านขนาดย่อม จนกระทั่งกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่

เมืองลอยน้ำ
สัตว์เลี้ยงและพืชยังคงมีได้บนเมืองลอยน้ำที่ยั่งยืนแห่งนี้

ทั้งนี้ในทางทฤษฎี เมืองลอยน้ำสามารถกลายเป็นมหานครขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้มากถึง 10,000 คน ภายในเมืองจะครบถ้วนไปด้วยโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแบบที่เมืองใหญ่ ๆ ควรมีอย่างครบครัน และมีทุกสิ่งที่ควรจะมี ตั้งแต่ร้านอาหาร โค-เวิร์กกิ้งสเปซ ไปจนถึงฟาร์ม (​Urban Farm) และพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการ

ยิ่งไปกว่านั้น เมืองลอยน้ำในโปรเจกต์โอเชียนิกซ์ สามารถเปลี่ยนและปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ตลอดเวลา ช่วยให้กลายเป็นเมืองลอยน้ำที่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ปูซาน เมืองท่าขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของประเทศเกาหลีใต้ ถือเป็นหนึ่งในมหานครที่ได้รับความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยในปี ค.ศ. 2020 กลุ่มกรีนพีซ เกาหลีใต้ ได้ออกโรงเตือนว่า มหานครปูซาน โดยเฉพาะเขตชายหาดแฮอุนแด (Haeundae Beach) มีสิทธิ์หายไปจากแผนที่โลกภายในปี ค.ศ. 2030 แม้จะยังไม่ได้จมน้ำ แต่ผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นก็เกิดขึ้นแล้ว โดยผลการศึกษาของวารสาร Sustainability พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงค.ศ. 2020 ปูซานได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เลวร้ายยิ่งกว่าที่อื่นในเกาหลีใต้

เมืองลอยน้ำ
เมืองลอยน้ำอย่างยั่งยืนคือการที่ผู้คนสามารถผลิตอาหารได้

เมืองลอยน้ำที่อยู่ได้ด้วยตนเอง

รายงานจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า เมืองต้นแบบของโลกอนาคตแห่งนี้เป็นเมืองที่ยึดหลักแนวทางการพึ่งพาตนเอง หรือ Self-Sustaining ที่บรรดาผู้อยู่อาศัยจะสามารถผลิตอาหารและพลังงานด้วยตนเอง และที่สำคัญยังมีระบบจัดการขยะและของเสียแบบเสร็จสรรพ ทำให้เมืองแห่งนี้เป็น เมืองไร้ขยะ (Zero Waste) อย่างแท้จริง

ขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่อาศัยจะได้รับการออกแบบให้เป็นที่สำหรับการเพาะปลูกเพื่อชุมชน มีการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการปลูกอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ และทำสวนปุ๋ยหมัก ในขณะที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำตั้งอยู่ในน่านน้ำโดยรอบ

ในส่วนของแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่พื้นที่ที่อยู่อาศัยก็สามารถติดตั้งกังหันลมลอยน้ำและแผงโซลาร์เพื่อใช้ผลิตพลังงาน หรือใช้เป็นพื้นที่ปลูกต้นไผ่ที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างบ้าน อาคาร หรือเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ในกรณีที่ต้องมีการขยายต่อเติมเพิ่มเติม

ทั้งนี้ BIG บริษัทเจ้าของโปรเจกต์โอเชียนิกซ์ยังเปิดเผยอีกว่า ผังเมืองลอยน้ำแห่งนี้ยังสามารถผลิตน้ำจืดได้เอง พร้อมมีโรงบำบัดน้ำเสียในสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงระบบสำหรับรวบรวมจัดเก็บน้ำฝน ซึ่งทางสถาปนิกยังได้ออกแบบและสร้างเผื่อการใช้ยานพาหนะ ซึ่งทั้งหมดจะใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ตั้งแต่แท็กซี่ระบบไฮโดรฟอยล์ไปจนถึงเรือข้ามฟากที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเชื่อมต่อละแวกใกล้เคียงกับส่วนอื่นๆ ของเมืองและแผ่นดินใหญ่

เมืองลอยน้ำ
การปลูกพืชในเมืองลอยน้ำคือสิ่งจำเป็น

ด้าน Itai Madamombe ผู้ร่วมก่อตั้งโปรเจกต์โอเชียนิกซ์ เปิดเผยว่า เมืองลอยน้ำต้นแบบของปูซานจะเสร็จสมบูรณ์และพร้อมเปิดรับให้ผู้คนได้อยู่อาศัยภายในปี ค.ศ. 2025 โดยนอกจากนครปูซานแล้ว ทางทีมงานได้มีการเจรจากับรัฐบาลอีก 10 แห่งเพื่อทดลองติดตั้งและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเมืองลอยน้ำแบบปูซาน

ขณะที่ทีมนักออกแบบเปิดเผยว่า ข้างใต้แพลตฟอร์มลอยน้ำไม่ได้มีไว้เพียงแค่เพื่อให้อาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ สามารถลอยอยู่บนน้ำได้เท่านั้น แต่ยังมีการติดตั้งแนวปะการังไว้ข้างใต้ เพื่อใช้เพาะปลูกสาหร่าย ทำฟาร์มหอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยเชลล์ หอยตลับ โดยตัวฟาร์มได้รับการออกแบบมาให้สามารถทำความสะอาดน้ำและเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศไปในตัว

แถลงการณ์ของ นายกเทศมนตรี ปาร์ค ฮง-จุน (Park Heong-joon) แห่งปูซาน แสดงความยินดีกับข้อตกลงที่เกิดขึ้น พร้อมกล่าวว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนที่เมืองตามแนวชายฝั่งต้องเผชิญ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปรับวิสัยทัศน์ใหม่ที่ให้ผู้คน ธรรมชาติ และเทคโนโลยีสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้

ส่วน ไมมูนาห์ โมห์ด ชาริฟ (Maimunah Mohd Sharif) ผู้อำนวยการ UN-Habitat กล่าวว่า เมืองท่าปูซานนับเป็นเมือง “ในอุดมคติ” สำหรับการสร้างเมืองลอยน้ำต้นแบบที่ยั่งยืน โดย เมืองลอยน้ำ แห่งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้มนุษยชาติมีกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่ออยู่กับสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป พร้อมย้ำชัดว่า แทนที่จะต้องต่อสู้กับน้ำ มนุษย์ควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับน้ำมากกว่า

ภาพ : Oceanix

อ้างอิง


Author

นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน