บันทึก โนราโรงครู พิธีกรรม ความเชื่อ ที่เชื่อมสัมพันธ์ของชาวโนรา
- ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน โนรา เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
- โนรา ถือเป็นรายการ “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ลำดับที่ 3 ของไทยต่อจาก นวดไทย (พ.ศ. 2562) และโขน (พ.ศ. 2561)
- โนราไม่ได้มีเพียงการร่ายรำ แต่ยังมี โนราโรงครู ซึ่งเป็นพิธีกรรม ความเชื่อ และการเชื่อมสายสัมพันธ์ของคนในตระกูลโนรามาช้านาน
การแสดงพื้นถิ่นปักษ์ใต้ โนรา รวมทั้งพิธีกรรม โนราโรงครู กลับมาสู่ความสนใจของคนไทยอีกครั้งหลังจากที่ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน โนรา (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ให้เป็นรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในวาระการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ของ ยูเนสโก ครั้งที่ 16 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 2021
โนรา ถือได้ว่าเป็น “นาฏยลักษณ์ปักษ์ใต้” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ประกอบไปด้วยการร่ายรำที่แข็งแรง กระฉับกระเฉง การขับกลอนด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ ระหว่างการแสดง ผู้ขับร้องต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบในการด้นกลอนสด และมีการเจรจาด้วยสำเนียงท้องถิ่นปักษ์ใต้ พร้อมลูกคู่และดนตรีร้องรับในจังหวะที่คึกคักฉับไว ร่วมด้วยเรื่องราวที่นำมาจากนิทาน ตำนาน และวรรณกรรมพื้นบ้าน ส่วนเครื่องแต่งกายก็สะท้อนให้เห็นถึงงานช่างฝีมือจากลูกปัดโนราและลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นปักษ์ใต้เช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีคณะโนราอาชีพอยู่จำนวน 387 คณะ โดย 70% กระจุกตัวอยู่มากบริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นดินแดนต้นกำเนิดของโนรา นอกจากนี้ยังมีกระจายตัวไปยังจังหวัดพัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช อีกทั้งมี 12 สายตระกูลหลักที่ทำหน้าที่สืบทอดท่ารำโนราในแบบฉบับเฉพาะของแต่ละสายตระกูล
โนรา เป็นมากกว่าแค่การแสดง เพราะโนรายังได้รวมเอาเรื่องความเชื่อ พิธีกรรม และสายสัมพันธ์ของชาวโนราและชาวปักษ์ใต้เข้าไว้ด้วยกัน นั่นจึงเป็นที่มาของ โนราโรงครู หรือ โนราลงครู พิธีกรรมสำคัญของตระกูลผู้สืบสานโนรา ซึ่งฝ่ายภาพนิตยสารสารคดี ได้มีโอกาสบันทึกภาพ โนราโรงครู ที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยคำว่า โนราโรงครูไม่ใช่เพียงแค่การพบปะสานสัมพันธ์ของลูกหลานตระกูลโนราหรือเพียงแค่บูชาครูนาฏศิลป์ตามธรรมเนียม แต่โนราโรงครูยังถูกผูกโยงไว้ความเชื่อเรื่อง “ครูหมอโนรา” และ “ตายาย” ในความหมายของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วเข้าไว้ด้วยกัน
ตามความเชื่อของชาวโนรา ตายาย มีฤทธิ์ทั้งให้คุณและให้โทษแก่ลูกหลาน เมื่อตายายทำหน้าที่ดูแลลูกหลานให้เป็นอยู่เย็นเป็นสุข ลูกหลานก็จะต้องตอบแทนด้วยการถวายเครื่องเซ่นและเชิญตายายมาเข้าทรงในพิธี โนราโรงครู ในวัฒนธรรมโนรานั้นตายายมีทั้งที่ปรากฏในตำนาน และตายายที่เคยมีตัวตนจริงๆ บนโลกมนุษย์ ตายายที่ปรากฏในตำนานหรือที่เรียกกันว่า ครูหมอโนรา เป็นตายายที่ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานกำเนิดโนรา ซึ่งลูกหลานโนราแต่ละตระกูล อาจนับถือครูหมอโนราต่างกันไปตามชุดตำนานที่สืบทอดกันมาในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ตำนานนางนวลทองสำลี ตำนานตายายพราหมจันทร์ ตำนานเจ้าแม่อยู่หัว เป็นต้น ด้านครูหมอโนราที่ลูกหลานเชิญมาร่วมพิธีมักมีด้วยกัน 12 องค์ ได้แก่ พระเทพสิงหรหรือพ่อเทพสิงหร ขุนศรีศรัทธาหรือขุนศรัทธา พระม่วงทองหรือตาม่วงทอง หม่อมรอง พระยาสายฟ้าฟาด พรานบุญ แม่ศรีมาลา แม่นวลทองสำลี แม่แขนอ่อนฝ่ายขวา แม่แขนอ่อนฝ่ายซ้าย แม่ศรีดอกไม้ และแม่คิ้วเหิน
มีผู้สันนิษฐานว่า แต่เดิมชาวบ้านในแถบคาบสมุทรสทิงพระน่าจะนับถือเฉพาะ ตายาย ที่เคยมีตัวตนในโลกมนุษย์ และทำพิธีเซ่นไหว้ผีรวมทั้งเข้าทรงตายายกันมาแต่โบร่ำโบราณ จนกระทั่งการร่ายรำโนราซึ่งเป็นนาฏศาสตร์สายอินเดียได้เดินทางมาถึงคาบสมุทรสทิงพระ เมืองท่าสำคัญของภาคใต้ในอดีต การผสมผสานทางความเชื่อและวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา และตายาย เนื่องจากโนราเองก็ต้องไหว้ครูหมอโนรา ส่วนชาวบ้านก็ต้องไหว้ตายาย เมื่อชาวบ้านหัดรำโนราก็เลยมีความเชื่อที่ว่าต้องไหว้ทั้งครูหมอและตายาย และกลายเป็นขั้นตอนสำคัญของพิธีโนราโรงครูในที่สุด
อย่างที่กล่าวไว้ว่าใน โนราโรงครู จะต้องมีพิธีขอบคุณตายายที่ช่วยดูแลลูกหลาน โดยพิธีจะมีขึ้นตามกำหนดเวลาที่ตกลงกับตายาย ผ่านร่างทรงในการตั้งโรงครู เช่น อีก 3 ปี หรือ 5 ปี หรือถ้าใครบนบานศาลกล่าวเอาไว้แล้วได้ดังปรารถนา ก็จะต้องรีบแก้บนในทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงกำหนดที่ตกลงกันไว้
ตามปรกติพิธีโรงครูจะมีทั้งหมด 3-4 วัน แต่เนื่องจากการตั้งโรงครูแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเตรียมการนานและใช้เงินมาก ทั้งในการปลูกสร้างโรง จ้างคณะโนรา เตรียมเครื่องเซ่นไหว้ และอาหารเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน บางครั้งเมื่อถึงกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้กับตายาย แต่ทางเจ้าภาพยังไม่พร้อม ลูกหลานก็อาจจะตั้งโรงครูเล็กหรือพิธีค้ำครู (เป็นพิธีแบบย่นย่อโดยใช้เวลาเพียงหนึ่งวัน หนึ่งคืน) ให้ก่อน เพื่อไม่เป็นการผิดสัญญาอันเป็นเหตุให้ถูกตายายลงโทษ และหากพร้อมเมื่อไรจึงประกอบพิธีโนราโรงครูพิธีใหญ่ตามมา
โนราโรงครู ยังมีขั้นตอนที่สำคัญสุดอยู่ในวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันส่งครู อิงกับความเชิงไสยศาสตร์ของคณะโนราในการส่งวิญญาณตายายกลับสู่ภพหน้าอย่างสงบสุข และกำจัดวิญญาณฝ่ายร้ายไม่ให้วนเวียนอยู่ใกล้บ้านเจ้าภาพ สืบเนื่องจากผีในวัฒนธรรมภาคใต้มีหลายพวก เมื่อทำพิธีชุมนุมครูในวันแรก จะมีความเชื่อที่ว่ามีผีที่ต้องการและไม่ต้องการให้มาร่วมงาน ผีที่ต้องการให้เข้าร่วมพิธีก็เช่น ผีเทวดา หรือผีตายาย ซึ่งจะสามารถเข้ามาอาศัยในโรงโนราได้
ส่วนผีที่ไม่ต้องการ เช่น ผีตายโหง ผีไม่มีญาติ จะอยู่ด้านนอก ดังนั้นในวันส่งครู โนราจะต้องส่งผีทั้งหมดกลับสู่โลกวิญญาณ ห้ามมายุ่งเกี่ยวกับมนุษย์ ถ้าเป็นผีฝ่ายดีอย่างผีครูหมอ ผีทิศ ก็เพียงแต่เจรจาบอกกล่าวไม่ต้องตีต้องไล่ แต่ถ้าเป็นผีฝ่ายร้าย พวกผีตายพรายตายโหง ตามความเชื่อจะจัดผีเหล่านี้เป็นพวกผีที่พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องและไม่ค่อยยอมไป บางครั้งต้องใช้ไม้หวายตีขับไล่ ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าส่งผีกลับสู่โลกวิญญาณไปหมดแล้ว ชาวโนราจึงมีความเชื่อว่า ถ้าโนราคนใดมีอาคมไม่เก่งพอ ไล่ผีไม่ไป ผีจะวนเวียนเกาะกินความสุขความเจริญ ของเจ้าบ้านจนล่มจมไปในที่สุด และหนทางแก้ไขมีทางเดียวคือ ต้องเชิญคณะโนราที่มีความเก่งกว่ามาทำพิธีแก้ ด้วยเหตุนี้พิธีส่งครู จึงเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
จะเห็นได้ว่า โนรา ไม่ได้เป็นแค่การร่ายรำที่สวยงาม แต่โนรายังผูกโยงด้วยความเชื่อ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมพื้นถิ่น สายสัมพันธ์ของผู้คน รวมทั้งการเรียงร้อยประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของปักษ์ใต้เข้าไว้ด้วยกัน เฉพาะพิธี โนราโรงครู ก็ได้ร้อยเรียงเรื่องราวชีวิตชาวโนราไว้ได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งแม้ว่าคณะโนราในปัจจุบันจะลดน้อยลง แต่ก็ได้แต่หวังลึกๆ ว่าการที่โนราได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจะทำให้โนราได้รับการสนับสนุนและสืบสานต่อยอดอย่างไม่รู้จบเช่นกัน
ภาพ : ฝ่ายภาพนิตยสารสารคดี
อ้างอิง : นิตยสารสารคดี มกราคม 2544