ย้อนประวัติศาสตร์เสบียงอาหารสงครามที่พัฒนาสู่ อาหารอวกาศ ยุคปัจจุบัน
- อาหารอวกาศ ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากห้องวิจัยด้านอวกาศเท่านั้น แต่พัฒนาการของ อาหารอวกาศ ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับพัฒนาการของเสบียงอาหารยามสงครามที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
- หนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญในวงการ อาหารอวกาศ แต่มักจะถูกลืมคือเทคโนโลยี MRE (Meal, Ready-to-Eat) หรือชุดอาหารอเนกประสงค์พร้อมรับประทาน ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นเสบียงพิเศษสำหรับใช้งานในกองทัพสหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังได้กลายมาเป็นวิธีการเก็บรักษาและปรุงอาหารที่เหนือชั้นกว่าอาหารกระป๋อง และกลายมาเป็นเทคโนโลยีหลักในถุงยังชีพของประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของ อาหารอวกาศ ยุคนี้
ในปี พ.ศ.2564 นี้เรื่องราวของ อาหารอวกาศ ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางกับพัฒนาการที่ไปไกลมากกว่าเรื่องฟังก์ชันด้านโภชนาการหรือความอิ่มท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ทีมวิจัยเอกชนนาม KEETA สามารถผ่านเข้ารอบไปได้ในการแข่งขัน Deep Space Food Challenge ของ NASA และ CSA ซึ่งเป็นงานแข่งระดับโลกในการสรรหาทางออกใหม่ ๆ ในการผลิต แปรรูป และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอาหารสำหรับใช้ในภารกิจสำรวจอวกาศในอนาคต
ทั้งนี้สำหรับหัวเรือใหญ่ที่ศึกษาวิจัย อาหารอวกาศ อย่าง NASA เริ่มหันมาพัฒนาคอนเซ็ปต์ อาหารอวกาศ ให้มีความอร่อยและหน้าตาน่ากินไม่แพ้อาหารบนโลกนั้นก็เพื่อให้นักบินอวกาศได้กินอาหารที่ไม่เพียงแต่ให้คุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน แต่ต้องให้ความสุขทางใจไปพร้อมกับฟังก์ชันเสริมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสะดวก ความ ปลอดภัยและความง่ายในการเตรียมการ ซึ่งความพยายามนี้ก็มีต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกอวกาศ และเป็นพัฒนาการที่ต่อยอดมาจากเสบียงอาหารยามสงคราม อีกกลยุทธ์ที่จะตัดสินว่าสงครามครั้งนั้นใครจะชนะหรือแพ้
ในประวัติศาสตร์การสงคราม สิ่งที่พัฒนาอยู่ตลอดนอกจากอาวุธและยุทธวิธีก็เห็นจะไม่พ้น “เสบียงอาหาร” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่อาจไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ในอารยธรรมโบราณ ถึงแม้มนุษย์จะเรียนรู้การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และแปรรูปอาหารกันได้พอสมควรแล้ว แต่เทคโนโลยีด้านการถนอมอาหารนั้นยังไปได้ไม่ไกลเสียเท่าไร จริงอยู่ที่ยุคโบราณเริ่มมีอาหารแห้งบางประเภทให้ได้ใช้เพื่อดำรงชีพในแต่ละฤดูกาล แต่เวลาเกิดสงครามซึ่งเป็นเรื่องกะทันหัน เสบียงส่วนใหญ่ก็มักจะประกอบไปด้วยอาหารสดแทบทั้งหมดที่ต้องถูกขนย้ายไปยังสมรภูมิจากแหล่งผลิตอยู่ดี นอกจากจะต้องกังวลเรื่องการเน่าเสียแล้ว การส่งเสบียงที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องก็ย่อมเสี่ยงต่อการถูกโจมตีอีก ซึ่งนี่กลายเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายในสงครามนั้น ๆ ไปได้โดยปริยาย และเป็นเหตุผลให้สงครามยุคแรก ๆ นั้น ทหารหรือนักรบมักจะยึดเอาที่ดินที่ได้มาเพื่อทำเกษตรกรรมต่อไปเลยในตัว ในลักษณะของการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้น ๆ ต่อให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
นวัตกรรมอย่างการรมควันถนอมอาหารด้วยน้ำเกลือหรือการหมักก็ค่อย ๆ มีตามมาเมื่ออารยธรรมต่าง ๆ เริ่มมีองค์ความรู้มากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ให้คุณค่าอาหารได้ครบถ้วนเท่าที่ควรและยังติดปัญหาสำคัญอย่างการแจกจ่ายและความสะดวก (จะแบกไปคนเดียวก็เอาเรื่องอยู่ครับ ทำให้ครัวสนามต้องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)
หลังจากลองผิดลองถูกกันอย่างไม่หยุดยั้งมาเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปี จุดเปลี่ยนที่นับได้ว่าสำคัญที่สุดในด้านการถนอมอาหารก็มาถึงจนได้ในปี ค.ศ. 1809 เมื่อ นิโคลัส แอปเพิร์ต (Nicolas Appert) ได้คิดค้นกระบวนการบรรจุกระป๋องขึ้นมาได้สำเร็จ โดยใช้องค์ความรู้ในสาขาการทำขนมและหมักเบียร์ซึ่งตัวเขาเองใช้ประกอบเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว ผลงานชิ้นนี้สามารถตอบโจทย์ของรัฐบาลฝรั่งเศสในตอนนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะฝรั่งเศสกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของสงครามนโปเลียน ซึ่งข้อจำกัดด้านอาหารกลายเป็นเรื่องร้ายแรงมากสำหรับกองทัพที่ขยายขนาดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคนี้ โดยทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้เงินรางวัลแก่ นิโคลัส แอปเพิร์ดเป็นมูลค่าถึง 12,000 ฟรังก์ นับว่ามีมูลค่าสูงมากในตอนนั้น แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับขนาดของกองทัพที่ขยายใหญ่ขึ้น
เวลาผ่านไปไม่นาน อาหารกระป๋องก็กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของสังคมที่ถูกใช้กันแพร่หลายนอกเหนือไปจากในด้านการทหาร ทางฝั่งประชาชนเองก็ชื่นชอบความสะดวกและความสามารถในการเก็บรักษาอาหารไว้ในบ้านได้เป็นปี ๆ ของอาหารกระป๋อง (ก่อนที่จะมีตู้เย็นใช้กันแบบจริงจัง) จนครั้งหนึ่งเคยเป็นถึงเครื่องแสดงฐานะทางสังคมเลยทีเดียว โดยเฉพาะในบริเวณทวีปยุโรป ก่อนจะแพร่ขยายไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงระหว่างและหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วยให้ประสิทธิภาพของอาหารกระป๋องนั้นรุดหน้าไปไกลยิ่งขึ้น ตัวเลือกของอาหารเพิ่มขึ้นอย่างหลากหลายไม่แพ้กับรูปทรงและขนาดของบรรจุภัณฑ์ อาหารประเภทเนื้อและผักหรือผลไม้สดที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอะไรที่เก็บได้ยากสุด ๆ กลายมาเป็นสิ่งที่หากินได้ตลอดทั้งปี ไม่เพียงแค่นั้น การค้นพบถึงเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็น “ตัวการ” ที่แท้จริงในการทำให้อาหารเน่าเสียโดย นายแพทย์หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ก็ได้ปฏิวัติทั้งวงการแพทย์และการผลิตอาหารไปด้วยอย่างพร้อมเพรียงกัน
อาหารกระป๋องเดินทางมาถึงจุดพีกสุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่1 เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่สงครามกระทบกับทุกคนจริง ๆ ในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (ไม่เว้นแม้แต่พลเรือน ) ปัญหาการขาดแคลนอาหารนั้นร้ายแรงหนักกว่าเก่าด้วยจำนวนทหารที่เพิ่มขึ้นถึงหลักล้านจากทั้งจากฝ่ายสัมพันธมิตรและมหาอำนาจกลาง ผนวกกับการสู้รบที่ดุเดือดมากยิ่งขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่เอี่ยมอย่างรถถังเครื่องบินปืนกลและแก๊สพิษ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ โดยเฉพาะแนวหน้าที่ต้องสู้กันในระดับดาบปลายปืนในสนามเพลาะที่เต็มไปด้วยซากศพและหลุมระเบิด (ใครอยากได้ฟีล แนะนำให้ไปชมภาพยนตร์เรื่อง 1917 ครับ) พอสถานการณ์ดูจะย่ำแย่ชนิดที่ไม่มีใครจะจินตนาการได้แล้ว ทางกองทัพของทั้งสองฝ่ายจึงเริ่มทดสอบและปรับปรุงพัฒนาเสบียงของตนเองกันแบบจริงจัง หลังจากมีการร้องเรียนถึงคุณภาพอาหารกระป๋องที่ย่ำแย่แบบสุด ๆ เหมือนเน้นผลิตมาเพื่อจำนวน จนทำเอาทหารแนวหน้าขาดทั้งสารอาหารและแรงในการออกรบ พร้อมกับเพิ่มปัญหาสุขภาพจิต ไปจนถึงทำเอาขวัญกำลังใจที่มีน้อยอยู่แล้วให้ดิ่งลงเหวไปอีกหลังจากที่ทหารเหล่านี้ต้องกินอาหารกระป๋องที่รสชาติแย่ยิ่งกว่าหนังรองเท้าเสียอีก
ผลลัพธ์ที่ออกมาคือได้อาหารกระป๋องรุ่นใหม่ที่เป็นเสบียงสำหรับสงครามที่มีคุณภาพดีมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากจะมีความทนทานและถูกสุขลักษณะแล้ว การจำแนกประเภทและจัดสรรเมนูอาหารก็หลากหลายและดียิ่งขึ้น มีการนำเอาอาหารที่มีเอกลักษณ์อย่างเนื้อปรุงรสหรือแม้กระทั่งสปาเกตตีและของหวานมาอัดใส่กระป๋องโดยเฉพาะพร้อมกันกับเครื่องปรุงรสและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในบางกรณี และบางเวอร์ชันของอาหารกระป๋องเหล่านี้ก็มีการแพ็กรวมเข้าด้วยกันจบครบเป็นอาหารหนึ่งมื้อได้จริง ๆ แทนที่อาหารกระป๋องแบบเดิมที่มักจะหนีไม่พ้นวัตถุดิบแบบเดี่ยว ๆ
การบุกเบิกครั้งนี้ทิ้งมรดกไว้ให้วงการอาหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 แบบเต็ม ๆ เพราะถึงแม้ว่าการส่งเสบียงที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจะทำให้ครัวสนามนั้นกลายเป็นเหมือนสวรรค์กลางสมรภูมิที่ช่วยให้ทหารแนวหน้าเข้าถึงอาหารสดได้จนเป็นเรื่องปกติ แต่กระนั้นอาหารกระป๋องและอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่น ๆ ก็ยังคงเป็นที่นิยมและแพร่หลายทั้งในกองทัพและประชาชนทั่วไป (ที่ในหลายประเทศนั้นมีมูลค่าสูงมากในตลาดมืด) การใช้งานในวงการทหารนั้นก็ถูกขยับขยายไปทั้งบนชุดชูชีพของกองทัพเรือไปจนถึงชุดอาหารฉุกเฉินของกองทัพบก แม้แต่กองทัพอากาศเองก็มีชุดเครื่องมือยังชีพและอาหารอัดกระป๋องติดเครื่องบินไว้ด้วยเช่นกัน กลายเป็นว่าอาหารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอะไรที่ยากลำบากมากในการแจกจ่าย ได้ถูกแทรกซึมเข้าไปอยู่ในแทบทุกสมรภูมิอย่างเป็นระบบกว่าที่เคยเป็นมาเสียอย่างนั้น ชนิดที่ว่าถ้าหน่วยของคุณไม่มีอาหารสดหรือเสบียงหลักเหลือเลย ก็ยังพอมีโอกาสที่ใครสักคนจะมีชุดอาหารกระป๋องติดตัวมาไว้ในภารกิจภาคสนามด้วยแน่นอน
ในที่สุด เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อไตรภาคีอักษะ มาตรฐานของอาหารกระป๋องและการถนอมอาหารในกองทัพก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง ด้วยข้อมูลมหาศาลที่ได้มาจากสงครามในครั้งนั้นทำให้ชาติมหาอำนาจใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาก็พร้อมที่จะพัฒนาเสบียงให้เป็นมากกว่าแค่อาหาร แต่ต้องเป็นเครื่องมือที่ทำลายขีดจำกัดของอาหารกระป๋องให้ได้ด้วย!
บรรพบุรุษของ “ชุดอาหารอเนกประสงค์” เกิดขึ้นในกองทัพสหรัฐฯ
หมุนเข็มนาฬิกาต่อมาในช่วงปลายสงครามเย็น สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตกลายเป็นคู่ปรับกันในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด เครื่องบินใบพัดที่เคยเหินเวหาเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนกลายมาเป็นเครื่องบินไอพ่นที่บินโฉบได้ด้วยความเร็วเหนือเสียง อาวุธยุทโธปกรณ์ที่เคยมีอยู่ได้รับการพัฒนากลายเป็นขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ที่แต่ละฝ่ายสามารถลบอีกฝั่งออกจากแผนที่โลกได้ในเวลาไม่กี่อึดใจ การเข้ามาของยุคปรมาณูและการแข่งขันด้านอวกาศยิ่งกลายมาเป็นแรงกดดันที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเร่งขยายอำนาจผ่านสงครามตัวแทนอย่างสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนามจนกลายเป็นการสู้รบของอุดมการณ์ประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์กันอย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ในยุครอยต่อระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1950-1980 กองพลาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกองทัพสหรัฐอเมริกายังคงใช้งานชุดเสบียงและเทคโนโลยีการผลิตที่มีเหลือมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 ถึงแม้จะถูกปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นมาแล้ว แต่ด้วยความที่เสบียงยังคงอยู่ในรูปกระป๋องอยู่ ข้อจำกัดเดิมก็เริ่มจะมีผลมากยิ่งขึ้นในช่วงที่สงครามนั้นพัฒนารูปแบบไปอย่างรวดเร็ว อาหารกระป๋องที่ครั้งหนึ่งเคยตอบโจทย์ทั้งในด้านการทหารและพลเรือน มาตอนนี้ดูเหมือนจะไปต่อไม่ไหวแล้วในฝั่งของกองทัพ
ผมต้องขอยกตัวอย่างชุดเสบียงที่ชื่อว่า Meal, Combat, Individual ration (MCI) หรือชุดอาหารเพื่อการรบส่วนบุคคล ซึ่งถูกผลิตและใช้งานตั้งแต่ ค.ศ. 1958-1980 ในรูปของอาหารสดและแห้งที่ถูกบรรจุมาในกระป๋องขนาดมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดเพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง โดย MCI มีการเพิ่มเมนูและรูปแบบของอาหารมากขึ้น และจัดสรรเป็นชุด ๆให้แยกได้ง่าย เช่นกระป๋องชุดเนื้อขนมปังและของหวาน รวมถึงชุดอุปกรณ์เครื่องใช้จิปาถะอื่น ๆ เพื่อการบริโภค
คีย์เวิร์ดของ MCI นั้นอยู่ที่คำว่า “กระป๋อง” เพราะถึงของข้างในจะถูกพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าสมัยสงครามโลกครั้งที่2 แต่บรรจุภัณฑ์ที่เหมือนเดิมชนิดที่แยกกันไม่ออกนี่เอง หมายความว่าข้อจำกัดเก่า ๆ ก็ยังคงตามมาถึงอยู่ดี เริ่มต้นกันที่น้ำหนัก กระป๋อง MCI ชุดหนึ่งรวมกันสามารถหนักได้เป็นกิโล (นั่นแค่หนึ่งมื้อนะครับ) ยิ่งรวมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับความล้ำสมัยของสมรภูมิก็ทำให้จำนวนอุปกรณ์ที่ทหารราบนายหนึ่งต้องขนนั้นเพิ่มตามไปอีก น้ำหนักรวมจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ตัวการคือเสบียง MCI ซึ่งกำจัดทิ้งไม่ได้อีก เพราะถ้าทิ้งอาหารไปก็นับว่าจองตั๋วออกจากสนามรบล่วงหน้าไว้เลย
ประการต่อมาคือเรื่องของความสะดวกครับ กระป๋องใด ๆ นั้นถ้าจะใช้ก็ต้องเปิด ไม่ว่าจะด้วยมีดหรืออุปกรณ์อื่นก็ตามถ้าเป็นเมื่อก่อนที่สมรภูมิรบนั้นขยายวงด้วยอัตราเร็วที่ไม่มาก ทหารแนวหน้าก็ยังมีเวลาได้นั่งพักและงัดกระป๋องกัน แต่ในยุคนั้นแล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนก็มีสิทธิ์โดนจรวดพุ่งอัดได้จากฐานยิงที่ห่างไปเป็นร้อยกิโลเมตร การเคลื่อนพลจึงต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและเวลาอันมีค่าก็ไม่ควรจะต้องมาเสียไปกับการงัดกระป๋องเลยตั้งแต่แรก และพองัดได้แล้วเสบียงบางชุดอย่างพวกเนื้อที่เป็นเมนูและแหล่งพลังงานหลักก็ต้องถูกเอามาปรุงสุกอีก เสียเวลาในการตั้งเตาสนามหรือก่อกองไฟ ที่อาจจะล่อตาล่อใจศัตรูที่อยู่แถวนั้นได้เป็นอย่างดีผ่านแสงสว่างวาบของเปลวเพลิง และพอพูดถึงไฟแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงอันตรายโดยตรงของไฟที่ตามมาอีกใช่ไหมล่ะครับ เตาแก๊สมีสิทธิ์ที่จะระเบิดได้ และการโดนไฟลวกในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานก็เป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าการบริโภค MCI จำเป็นต้องยุ่งกับไฟ ปัญหาต่อเนื่องอีกสารพัดก็พร้อมจะประเดประดังเข้ามาได้เช่นเดียวกัน
ประการสุดท้าย คือ ตัวกระป๋องโลหะนั้นต้องกลายมาเป็นภาระเมื่อใช้งานเรียบร้อยแล้ว เพราะฝ่ายศัตรูอาจจะเก็บไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เพราะลำพังทหารสหรัฐอเมริกาเองยังเอากระป๋อง MCI เปล่าไปทำเป็นหม้อสนามเล็ก ๆ เลยทำให้ต้องมีการรวบรวมไปกำจัดหรือรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด แถมท้ายอีกหนึ่งด้วยเสียงกระป๋องเปล่าที่กระทบกันก็สามารถล่อศัตรูมาได้ไม่แพ้กับกองไฟที่ต้องใช้ปรุงอาหารในขั้นตอนก่อนหน้าเลย ทหารสหรัฐอเมริกาถึงกับต้องจำใจยอมสละถุงเท้าหรือผ้ามาห่อกระป๋อง MCI เอาไว้เพื่อไม่ให้เกิดเสียง เป็นการเปลืองทรัพยากรเพิ่มเติมโดยใช่เหตุเสียอีก
โดยสรุปแล้ว MCI นับว่าเป็นความล้มเหลวอย่างใหญ่หลวงของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ไม่สามารถพัฒนาเสบียงให้ทันกับความก้าวหน้าของยุคสมัยได้ ด้วยแรงกดดันและเสียงตอบรับในแง่ลบจากกองพลต่อ MCI นี้เองที่ทำให้การพัฒนาและวิจัยเพื่อคิดค้นหาเสบียงรุ่นใหม่ที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดของอาหารกระป๋องได้กลายมาเป็นเป้าหมายอันดับ1ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐในช่วงปลาย ค.ศ. 1960
เจ้าชุดเสบียงใหม่นี้ยังต้องมีคุณภาพกับความสามารถที่ดียิ่งกว่า MCI แบบเทียบกันไม่ติดและถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็ควรจะถูกผลิตในลักษณะของอาหารแห้งแต่สามารถรับประทานได้ในรูปของอาหารเปียกหรือใกล้เคียงอาหารสดที่สุด (คุณผู้อ่านสามารถจินตนาการถึงมาม่าทรงเครื่องได้เลยครับ คอนเซ็ปต์คล้าย ๆ กัน)
หลังจากที่ทุ่มงบประมาณไปพอสมควร ในที่สุดก็เกิดเป็น MRE (Meal, Ready-to-Eat) หรือ ชุดอาหารอเนกประสงค์พร้อมรับประทาน ที่ใช้ทั่วไปสำหรับกองทัพในปี ค.ศ. 1986 ด้วยฝีมือของนักประดิษฐ์หลายท่านทั้งในภาคพลเรือนและกองทัพ ไม่ว่าจะเป็น ดร.อับดุล ราห์มาน (Dr.Abdul Rahman) บิดาแห่งMRE ดร.ราอูโน เอ. แลมปิ (Dr.Rauno A. Lampi) และหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนอีกหลายเจ้าก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาหรือผลิต MRE ด้วยเช่นกัน นับว่าเป็นผลโดยตรงจากการวิจัยและคิดค้นอย่างต่อเนื่องในยุคช่วงรอยต่อนี่เลยก็ว่าได้ครับ
ส่วนผสมของความสะดวกทนทานและรสชาติ ผ่านเทคโนโลยีสุดล้ำ
MRE ย่อมาจากคำว่า Meal Ready-to-Eat หรือแปลตรงตัวเป็นไทยได้ว่า “ชุดอาหารพร้อมรับประทาน” โดยคำนี้ใช้กล่าวถึงชุดเสบียงประเภทพิเศษที่ถูกผลิตโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐสำหรับใช้งานในกองทัพ โดยลักษณะของ MRE นั้นจะเป็นชุดบรรจุภัณฑ์พลาสติกอเนกประสงค์ที่ภายในประกอบไปด้วยอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรือพร้อมปรุงอีกหลายชิ้นที่รวมกันไว้เป็นแพ็กเดียวพร้อมกับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
MRE นั้นมีความทนทานสูงและสะดวกในการใช้งาน สามารถให้สารอาหารที่ครบถ้วนเหมาะกับผู้ใช้ทั้งในด้านรสชาติและวัตถุดิบสามารถอุ่นร้อนได้ในตัวผ่านชุดอุ่นอาหารเคมีที่ถูกจัดสรรมาให้และสามารถคงสภาพไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็นหรือต้องใช้กระบวนการพิเศษใด ๆ ในการจัดเก็บ ต่างจาก MCI ที่ถึงจะเก็บได้นาน (แบบอาหารกระป๋อง) แต่ดันต้องผ่านกรรมวิธีหลายอย่างก่อนจะรับประทานได้ และที่สำคัญคือไม่สามารถจบงานได้ด้วยกระป๋องหรือบรรจุภัณฑ์ชิ้นเดียวแบบที่ MRE ทำได้
ในปัจจุบันคำว่า MRE ได้ถูกนำมาใช้อธิบายถึงผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันที่มีขายให้แก่ประชาชนทั่วไป หรือ ชุดอุปกรณ์เอาตัวรอดในสภาวะฉุกเฉิน (Emergency Kit) ด้วยเช่นกัน รวมถึงมักจะใช้ร่วมกับเสบียงลักษณะเดียวกันที่ประเทศอื่น ๆ พัฒนาหรือได้ลิขสิทธิ์ไปใช้ด้วย แต่ถึงอย่างนั้น MRE ของสหรัฐอเมริกาก็ยังนับว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการเสบียงอเนกประสงค์ในศตวรรษที่ 21 นี้อยู่ดี
แน่นอนว่าเอกลักษณ์ของ MRE ที่นอกจากจะเป็นหนึ่งในระบบเสบียงแรก ๆ ในประเภทนี้แล้ว คือเทคโนโลยีที่แฝงอยู่ภายในครับ องค์ความรู้ที่ได้มาจากยุค MCI ผนวกรวมกับต้นแบบและชุดทดลองต่าง ๆ อย่างชุดเสบียง Long Range Patrol (LRP) ที่ใช้สำหรับชุดลาดตระเวนระยะไกล ก็เป็นพื้นที่ให้ได้ลองนวัตกรรมหลายอย่าง เช่นการลองใช้อาหารที่ถูกกำจัดของเหลวออกให้แห้งกับพวกถุงห่ออาหารที่มาแทนที่กระป๋อง เป็นต้น
เทคโนโลยีสำคัญที่สุดอันดับแรกของ MRE คือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซึ่งเราเรียกกันว่า Retort Pouch (RP) หรือ ถุงภาชนะบรรจุประเภทอ่อนตัวได้ ที่ขึ้นรูปมาจากชั้นพลาสติกร่วมกับชั้นฟอยล์โลหะ หรือวัสดุผสมชนิดอื่น ๆ ทำให้ตัวถุงนั้นมีความทนทานสูงมาก และเหนียวพอที่จะรับแรงกระแทกหรือการทิ่มแทงจากวัสดุภายนอกได้ อีกทั้งยังทนต่ออุณหภูมิในช่วงประมาณ -51°C ถึง 49°C คุณสมบัติทั้งหมดนี้ได้มาโดยที่ยังคงความเบาของบรรจุภัณฑ์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าถุง RP นั้นมีความปลอดภัยในการบรรจุอาหารทั้งที่เป็นของแข็งหรือของเหลวและถ้าเป็นถุงที่ใช้กับ MRE ก็มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นไปอีกสามารถพกไปลุยในสมรภูมิได้อย่างไร้กังวล
เทคโนโลยีลำดับต่อมาคือชุดอุปกรณ์อุ่นร้อนสำหรับปรุงอาหารที่เรียกกันว่า Flameless Ration Heater (FRH) เจ้าถุงร้อนที่หน้าตาดูห่างไกลจากเตาแคมป์ปิ้งสนามแบบสุด ๆ นี้ ทำงานด้วยหลักการของปฏิกิริยาเคมีระหว่างผงแมกนีเซียม เหล็ก และ เกลือ ที่เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำที่เติมลงไปแล้วก็จะคายความร้อนออกมาจนเพิ่มอุณหภูมิได้ถึงประมาณ 40°C ในระยะเวลาไม่นานผ่านปฏิกิริยารีดอกซ์ (Redox Reaction)
FRH อาจจะให้อุณหภูมิได้ไม่มากพอที่จะปรุงอาหารดิบให้สุกได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหากับชุดอาหารที่มากับ MRE เลยครับ เพราะแทบทั้งหมดถูกปรุงสุกมาก่อนแล้ว แล้วค่อยมาผ่านกรรมวิธีถนอมเพื่อจัดเก็บและผลิตเป็นชุดอาหารสำหรับ MRE ดังนั้นเป้าหมายของ FRH คือการทำให้ผู้ใช้งานสามารถกินอาหารร้อน ๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น หรือปรุงอาหารพิเศษบางประเภทได้ในสนามรบ โดยไม่ต้องห่วงอันตรายหรือข้อเสียจากเปลวไฟเลยแม้แต่น้อย
ในแง่ของเทคโนโลยีที่ใช้กับอาหารภายในนั้นต้องบอกเลยครับว่ามีความแตกต่างเยอะมาก บางเมนู เช่น พิซซ่า ใช้เวลาทดสอบกันเป็นปีกว่าจะได้ผลออกมาเป็นที่พึงพอใจในการรีดของเหลวออกบางส่วนเพื่อถนอมอาหารไว้ให้ได้ ทั้งยังต้องกลับมามีสภาพเดิมด้วยตอนที่จะรับประทาน ซึ่งอย่างหลังนี่แหละครับที่ยากจริงแต่บางเมนูอย่างพวกผลไม้แห้งหรือซีเรียลนั้นกลับไม่เป็นปัญหาเท่าไรในตัวอาหารเอง เพราะสามารถคงสภาพเอาไว้ได้นานอยู่แล้ว การวิจัยและคิดค้นเมนูใหม่ ๆ สำหรับ MRE ในปัจจุบันนั้นจึงมีความหลากหลายจริง ๆ ครับ โดยขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและพัฒนาต่อเมนูอาหารชนิดนั้น ๆ เลย บ้างก็ได้รับเสียงตอบรับดีในด้านรสชาติ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็โดนก่นด่าแบบไม่ยั้งจากผู้ใช้อย่างไรก็ตามเมนูอาหารที่ใช้ใน MRE นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ช่วยตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคที่เป็นมังสวิรัติหรือมีข้อจำกัดในด้านศาสนาและ ทำให้มีเวอร์ชันย่อย ๆ ของ MRE เพิ่มมาอีกเพียบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แกะกล่อง MRE ดูส่วนผสมให้ชัดๆ
MRE 1 ชุดต้องให้พลังงานกับผู้ใช้ได้อย่างต่ำที่ประมาณ 1,200 แคลอรี (5,000 kJ) โดยภายในมักจะประกอบไปด้วย
- อาหารชุดหลัก
- อาหารชุดรอง (เครื่องเคียง)
- ชุดของหวาน
- ชุดขนมปัง หรือ แครกเกอร์
- ชุดซอสทาประเภทต่าง ๆ สำหรับใช้กับขนมปัง หรือ แครกเกอร์
- ชุดเครื่องดื่มสำเร็จรูปละลายน้ำ
- อุปกรณ์สำหรับรับประทาน (ช้อน)
- ชุดอุ่นร้อน (Flameless Ration Heater: FRH)
- ชุดผสมเครื่องดื่ม
- ชุดอุปกรณ์เสริม (หมากฝรั่ง ชุดไม้ขีดไฟกันน้ำ ทิชชูผ้าเปียก เครื่องปรุงรสอาหาร ผงกาแฟสำเร็จรูป)
อาหารส่วนใหญ่มักจะถูกเสริมแร่ธาตุหรือสารอาหารเข้าไปมากกว่าอาหารปกติ การใช้งานชุด MRE ได้แบบครบถ้วนจะต้องมีน้ำดื่มสะอาดในปริมาณหนึ่งด้วยนะครับ (บางส่วนในเมนูอาจจะกินได้เลย) เพื่อที่จะใช้ผสมกับอาหารและใช้งานชุดอุ่นร้อน
สำหรับเมนูล่าสุดของ MRE แต่ละชุดนั้นมีให้เลือกตั้งแต่สปาเกตตีซอสเนื้อวัวพาสตาทาโกมังสวิรัติเปปเปอโรนีพิซซ่า (ที่สุดของเมนูยอดนิยม)ทูนาเลมอนพริกไทยผักโขมและเห็ดกับซอสครีม (ที่สุดของเมนูยอดแย่)และอื่น ๆ อีกรวมแล้ว 24 เมนู
สำหรับใครที่สนใจอยากจะรับชมรีวิวอย่างละเอียดของเสบียงอาหารเหล่านี้ ผมขอแนะนำช่อง YouTube Steve1989MREInfo ของคุณ Steven Andrew Thomas ที่รีวิวชุดเสบียงอาหารตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (ใช่ครับ ผมไม่ได้พิมพ์ผิด) มาจนถึงยุคปัจจุบันเลย รับรองว่าคุณผู้อ่านน่าจะติดใจในสไตล์การพรีเซนต์และความถึกของกระเพาะเจ้าของช่องแน่ ๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องอย่าลืมนะครับว่า MRE นั้นถูกจัดว่าเป็นชุดเสบียงพิเศษที่ไม่มีทางมาแทนอาหารสดที่ถูกจัดทำออกมาจากห้องครัวได้แน่ ๆ การใช้งาน MRE โดยปกติจึงถูกจำกัดเอาไว้ที่ประมาณ 21 วันเท่านั้นในแต่ละรอบภารกิจ
จากพื้นโลกสู่ห้วงอวกาศ
ถึงแม้ว่านักบินอวกาศจะไม่ต้องมาห่วงเรื่องผลกระทบของการส่งเสบียงในการสงคราม หรือมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เสบียงพิเศษอย่าง MRE จนเป็นกิจวัตรไปได้ เทคโนโลยีหลายอย่างที่ใช้กับ MRE ก็ถูกนำมาใช้ในห้วงอวกาศเพื่อผลิต อาหารอวกาศ ด้วยเช่นกันครับ โดยเฉพาะกับเจ้าถุง RP ที่สามารถช่วยเก็บอาหารเอาไว้ได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับเทคโนโลยีการถนอมอาหารที่ถูกนำมาใช้จนเป็นมาตรฐานของ อาหารอวกาศ ในปัจจุบัน
เนื่องด้วยในสถานีอวกาศนานาชาติอันเป็นสถานที่ปฏิบัติงานหลักของมนุษยชาติ เราพอที่จะมีพื้นที่ให้อุปกรณ์สำหรับประกอบอาหารได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงมีการส่งเสบียงขึ้นไปได้ตลอดเวลาอยู่แล้วการจะต่อยอดจากพื้นฐานที่มีอยู่จึงเป็นเรื่องปกติ
การแข่งขันในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะทำให้อาหารเป็นมากกว่าอาหาร แต่ตอบโจทย์ในแง่ของความสุนทรีย์ได้ไม่ต่างจากที่เราสามารถทำได้บนพื้นโลกจึงกลายมาเป็นภารกิจหลักในตอนนี้ครับ แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นการกำจัดเทคโนโลยี MRE ออกไปเลยเสียทีเดียวนะครับ เพราะคำตอบของโจทย์นี้มีมากมายจริง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเลือกเดินไปในทางไหน การแข่งขัน Deep Space Food Challenge ของ NASA และ CSA เป็นหนึ่งในหลายงานที่ทำให้เราได้เห็นว่าคำตอบเหล่านั้นกำลังจะมาถึงในอีกไม่นานเกินรอ และวันที่อาหารหลอดในห้วงอวกาศจะได้ลอยคู่กับ “ตัวเลือก” ที่พวกเราอาจจะคาดไม่ถึงก็ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แล้วครับ
บทส่งท้าย
ในการ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่นชื่อดังเรื่องโดราเอมอน ที่เล่าถึงแมวหุ่นยนต์สีฟ้าที่ย้อนเวลากลับมาช่วยเด็กหนุ่มนามโนบิตะพร้อมด้วยของวิเศษสารพัดจากเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 22 มีหลายครั้งหลายคราวที่ของวิเศษจำนวนหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารขึ้นมาให้ได้ดั่งใจนึก ไม่ว่าจะเป็นผ้าปูโต๊ะวิเศษ หรือเครื่องผลิตอาหารจากอากาศในเต็นท์พักแรมยักษ์ และอีกหลากหลายตอนในมังงะที่เล่าถึงการผจญภัยของโนบิตะและอาหารจากเครื่องมือเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้เคยเป็นเพียงภาพฝันในสมัยที่ ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ(Hiroshi Fujimoto) และ โมโตโอ๊ะ อาบิโกะ (Motoo Abiko) สองนักเขียนในนามปากกา ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujiko Fujio)ได้จินตนาการไว้ในช่วงที่โดราเอมอนถูกตีพิมพ์สู่สาธาณชนในสมัยปี ค.ศ. 1970 แต่ในปัจจุบันที่กาลเวลาล่วงเลยไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ของวิเศษเหล่านั้นก็ค่อย ๆ ทยอยกลายเป็นจริงขึ้นมาแล้วเช่นกัน อย่าง MRE ในยุคปัจจุบันก็เปรียบเทียบได้กับแคปซูลอาหารพร้อมกินในเรื่อง หรือเครื่องปรินต์เนื้อที่เรามีในตอนนี้ก็แทบไม่ต่างจากชุดผลิตอาหารสารพัดนึก สิ่งเหล่านี้กำลังบอกเล่าให้เราเห็นถึงอนาคตของเทคโนโลยีอาหารที่เดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ตามกาลเเวลา ผ่านความต้องการอันสุดแสนจะเรียบง่ายที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ และในวันที่วงการที่ล้ำสมัยที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอย่างการสำรวจอวกาศได้ถูกผนวกเข้ากับงานวิจัยในการผลิตอาหารที่ต้องสะดวกปลอดภัยใช้งานได้ยาวนานและถูกปากทุกคนแล้วนั้นนวัตกรรมที่ตามมาจึงเป็นอะไรที่น่าติดตามทีเดียว
ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นอะไรที่ล้ำกว่า MRE ในอีกไม่กี่สิบปีนี้ก็ได้ หรือในวันที่เทคโนโลยี อาหารอวกาศ ได้ไปไกลถึงดวงจันทร์และดาวอังคารแล้วละก็ ผลลัพธ์ที่ได้กลับคืนมาให้แก่คนบนโลกย่อมยิ่งใหญ่ไม่แพ้กับเทคโนโลยีสาขาอื่น ๆ แน่นอน
ตราบใดที่กองทัพยังเดินด้วยท้อง (อันนี้ไม่เล่นมุกนะครับ) และสิ่งมีชีวิตยังต้องใช้พลังงานในการดำรงชีวิตอยู่ มนุษย์อย่างเรา ๆ ย่อมไม่หยุดยั้งในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหาร อย่างที่พวกเราทำกันมานับตั้งแต่วันแรกในการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์นี้…
Fact File
- การหาซื้อ MRE ที่ใช้ในการทหารของสหรัฐอเมริกานั้นนับว่าก้ำกึ่งผิดกฎหมาย เพราะโดยปกติแล้วกระทรวงกลาโหมสหรัฐไม่ต้องการให้มีการปล่อยชุด MRE ออกขายในตลาดภาคพลเรือน แต่เนื่องด้วยว่าไม่มีกฎหมายจริง ๆ รองรับหรือคาดโทษ การซื้อขาย MRE ของกองทัพจึงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะผ่านช่องทางการขายออนไลน์ ซึ่งชุด MRE เหล่านี้ก็มีที่มาที่หลากหลายมากทั้งจากที่กองทัพเอามาแจกในช่วงภัยพิบัติ หรือถูกโละมาจากสต็อกของฐานทัพบางแห่งเพราะใกล้หมดอายุก็มีเหมือนกัน
อ้างอิง
- https://www.dla.mil/TroopSupport/Subsistence/Operationalrations/mre.aspx
- Welcome to MREInfo
- https://science.howstuffworks.com/mre.htm
- https://www.nasa.gov/vision/space/livinginspace/spacefood_feature.html#:~:text=The%20same%20retort%20pouch%20technology,to%20Eat%20(MRE)%20Program.&text=You%20can%20have%20a%20meal,and%20bread%20pudding%20in%20space.
- https://www.nasa.gov/press-release/nasa-announces-winners-of-deep-space-food-challenge
- http://rutgersmodernmiddleeast.blogspot.com/2016/12/the-father-of-mre-by-nick-scurato.html
- https://en.wikipedia.org/wiki/Meal,_Ready-to-Eathttps://en.wikipedia.org/wiki/Canning