Taylor O สตูดิโอออกแบบที่หยิบความเป็นไทยมาเล่าเรื่องใหม่ผ่าน Re-Thai
Brand Story

Taylor O สตูดิโอออกแบบที่หยิบความเป็นไทยมาเล่าเรื่องใหม่ผ่าน Re-Thai

Focus
  • Re-Thai คือแคมเปญโดย Taylor O ที่มี เต-ธีรพล โอเจริญ โปรดักต์ดีไซน์เนอร์อยู่เบื้องหลัง จุดเริ่มต้นเกิดจากความสนุกที่อยากหยิบจับโปรดักต์ไทย ๆ มารีดีไซน์ใหม่ให้มีความร่วมสมัยเพื่อบอกเล่าเรื่องใหม่ในสไตล์ของตัวเอง
  • ระนาด และ ขิม คือสองผลงานแรกในแคมเปญที่ Taylor O ปล่อยคอนเซปต์ดีไซน์ออกมา ด้วยสไตล์โมเดิร์นและฟังก์ชันการใช้งานที่คำนึงถึงคนรุ่นใหม่ ทำให้สองโปรดักต์นี้ได้รับการพูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย
  • แคมเปญ Re-Thai คาดว่าจะมีผลงานราว 10 ชิ้น ที่จะเผยแพร่ออกมาเดือนละหนึ่งครั้ง

ถ้าสิ่งสิ่งนี้อยู่ในยุคนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? นี่คือคำถามตั้งต้นของแคมเปญ Re-Thai ซึ่งหลายคนน่าจะเห็นหน้าค่าตามาบ้างแล้วกับ 2 ไอเดียแรกที่ เต-ธีรพล โอเจริญ หรือ Taylor O โปรดักต์ดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังได้ปล่อยภาพคอนเซปต์ดีไซน์ออกมาผ่านช่องทางออนไลน์ นั่นคือ ระนาด 2021 และ ขิม Portable สองเครื่องดนตรีไทยที่ได้รับการตีความและรีดีไซน์ใหม่ให้มีความร่วมสมัย ใส่ฟังก์ชันให้คนรุ่นใหม่สามารถเอื้อมถึง แม้ว่าแคมเปญนี้จะเป็นเพียงคอนเซปต์ดีไซน์แต่หลังจากที่ผลงานปล่อยออกมาก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี บ้างทำให้คิดถึงการกลับไปเล่นเครื่องดนตรีไทย และบ้างถึงขนาดอยากกดคิวรอหากได้รับการต่อยอดผลิตออกมาจริง ๆ วันนี้ Sarakadee Lite เลยขอชวนเต Taylor O เจ้าของแคมเปญมาพูดคุยถึงโปรเจกต์และสิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ของ Re-Thai

Taylor O
เต-ธีรพล โอเจริญ

“แคมเปญ Re-Thai เริ่มต้นขึ้นมาด้วยความเป็นโปรดักต์ดีไซเนอร์ของผมที่มองสิ่งนู้นสิ่งนี้รอบตัวแล้วรู้สึกอยากที่จะออกแบบไปหมด ทีนี้พอมองไปแล้วเราเห็นของที่มีมาตั้งแต่เกิดหรือไปที่ไหนก็เห็น ซึ่งสิ่งนั้นดู ไท๊ยไทย มีความเวรี่ไทยมาก ๆ ออกไปไหนก็จะเจอ สมมติไปร้านก๋วยเตี๋ยว เราก็จะเห็นเก้าอี้กลม ๆ เสียส่วนใหญ่ ทำให้สิ่งนี้ดูเป็นไทยมากแต่จริง ๆ ไปต่างประเทศเขาก็อาจจะใช้กันก็ได้ เราเลยรู้สึกว่ามีของเหล่านี้หลายอย่างมาก สมมติหากย้อนเวลากลับไปอาจจะสิบปีร้อยปี ก็จะมีของชิ้นหนึ่งที่ในตอนนั้นกับตอนนี้ยังหน้าตาประมาณนั้นอยู่ ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะครับ สิ่งนั้นอาจจะถูกพัฒนามาจนนิ่งไปแล้ว แต่ด้วยช่องว่างเหล่านี้เอง เราเลยรู้สึกว่ามันน่าสนุกมากเลย ถ้าจะหยิบของเหล่านี้มาลองรีดีไซน์เล่าเรื่องดูใหม่ ลองคิดค้นดูใหม่ว่าถ้าของสิ่งนี้มาอยู่ในยุคนี้ตอนนี้จะมีหน้าตาประมาณไหน จะออกแบบให้สามารถร่วมสมัยได้บ้างไหม เลยเกิดเป็นแคมเปญสนุก ๆ ขึ้นมามากกว่าครับ” เตเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการนำความเป็นไทยที่คุ้นเคยมาคิดใหม่

Re-Thai
Re-Thai
ระนาด 2021

เมื่อลงตัวในคอนเซปต์ที่เขารู้สึกว่าท้าทายและสนุกที่จะได้ลอง ระนาด ก็ได้กลายเป็นโปรดักต์ชิ้นแรกด้วยเหตุผลที่เขามองว่าระนาดคือเครื่องดนตรีไทยที่มีภาพจำชัดเจนมากจากรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ เราจึงได้เห็นภาพ ระนาดไฟฟ้า ที่มีความโมเดิร์นทั้งด้วยโทนสีดำและดีไซน์ที่ร่วมสมัยจากการตัดทอนบางอย่างลง 

“สำหรับระนาดเมื่อออกมาแล้วคนจะให้ความสำคัญในเรื่องของเสียงว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวผมยังไม่ค่อยมั่นใจเหมือนกันนะครับเพราะว่ายังไม่ได้มีการผลิตออกมาจริง ๆ แต่หลังจากที่หาข้อมูลและออกแบบผลงานออกมา เราก็ได้มีโอกาสคุยกับครูบาอาจารย์หลายท่านรวมถึงอาจารย์ขุนอิน (ขุนอิน ณรงค์ โตสง่า) ด้วยครับ เลยได้สอบถามและขอคำแนะนำจากท่าน สุดท้ายแล้วผมคิดว่าพอขึ้นชื่อว่าเป็นระบบไฟฟ้า จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยปรับเสียงให้ออกมาแบบดั้งเดิมได้หรืออาจจะเพิ่มมิติเสียงใหม่ ๆ ได้ด้วย สิ่งที่คนคอนเซิร์นกันเยอะอีกอย่างหนึ่งคือมีส่วนที่เรียกว่าตะกั่วถ่วงระนาดที่เขาจะบอกว่าหลุดบ่อยหรือพกพายาก แต่พอถูกรีดีไซน์แล้วก็สามารถแก้ Pain Point เหล่านี้ได้ด้วยเหมือนกัน” เตกล่าวถึงระนาดไฟฟ้าที่ดีไซน์โดยมีต้นแบบคือระนาดเอก ซึ่งเขาใช้เวลาในการออกแบบราว 1 เดือนหลังจากรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น

Re-Thai
ขิม Portable

ขิม Portable คือโปรดักต์ชิ้นที่สองที่ตามมาในอีกราว 1 เดือน แต่ครั้งนี้จุดเริ่มต้นของการดีไซน์ต่างกันออกไป เพราะหลังจากผลงานชิ้นแรกมีการพูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียล นอกจากคำกล่าวชม ขณะเดียวกันเขาเองก็ได้รู้อินไซต์ของผู้ใช้งานเครื่องดนตรีไทยประเภทต่าง ๆ ที่เคยประสบปัญหา ซึ่งเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งที่มีคนพูดถึงในอันดับต้น ๆ คือ ขิม ที่ได้กลายมาเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของแคมเปญนี้

“ขิมมีโจทย์หนึ่งที่เราคิดขึ้นมาหลังจากที่ลองรีเสิร์ชข้อมูลแล้ว ส่วนตัวผมไม่เคยเล่นขิมเลยนะครับ แต่พอมองดูจริง ๆ เหมือนเป็นการคิดจินตนาการเสียส่วนใหญ่ว่าคนที่ใช้น่าจะมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง เราสอบถามและหาข้อมูลด้วย เรามองว่าขิมมีขนาดที่อาจจะยาวหน่อย เขามีแพ็กเกจของเขาเหมือนกีตาร์ไฟฟ้า ซึ่งสำหรับเราก็คิดว่าน่าจะพกพาได้ประมาณหนึ่งแล้ว แต่เราเองไม่ได้อยากแค่รีดีไซน์อย่างเดียว เราอยากแก้ Pain Point หรือทำให้มันดีขึ้นได้ เลยมองว่าถ้าจะตอบโจทย์ยุคใหม่ให้ได้มากขึ้น น่าจะมาเน้นที่คำว่าพกพาอีกรอบหนึ่งเลยเคาะว่าอยากลองทำให้มีขนาดเล็กลง”

Re-Thai

“จริง ๆ เราก็ต้องบอกว่าไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะทำให้ประสบการณ์ในการเล่นเปลี่ยนไปหรือเปล่า เพราะพอทำให้ขนาดเล็กลงแล้วเลยทำให้หลายอย่างดูจะเปลี่ยนโพซิชันไปด้วย แต่จุดหนึ่งคือเมื่อออกมามีขนาดค่อนข้างเล็กทำให้อาจจะดูเป็นโปรดักต์ไลฟ์สไตล์เลยก็ได้ ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นความบังเอิญที่สุดท้ายแล้ว เราได้มาเห็นฟีดแบ็กในตอนหลังว่าสิ่งที่ออกแบบมาสามารถตอบ Pain Point ที่คนเล่นมีปัญหาอยู่จริง ๆ นั่นคือปัจจุบันพกพาได้แต่ยังหนักมากอยู่ หรือเรื่องที่เราตั้งใจทำเป็นขิมไฟฟ้า สามารถปรับจูนเสียงแบบอัตโนมัติได้ กลายเป็นว่าหลายคนดีใจหากสมมติได้ผลิตจริงแล้วออกมามีฟังก์ชันนี้ เพราะว่าขิมมีสายและตัวหมุนเยอะมากทำให้การตั้งสายแต่ละครั้งอาจจะต้องใช้เวลานาน กลายเป็นว่าพอเป็นระบบไฟฟ้าก็ดูจะตอบปัญหาเหล่านี้ได้เลย” 

เตเล่าถึงการดีไซน์ผลงานชิ้นล่าสุดในแคมเปญ Re-Thai โดยคาดว่าในอนาคตจะมีผลงานออกมาราวเดือนละ 1 ชิ้น ซึ่งหากตรงตามแผนที่วางไว้จะมีผลงานออกมาทั้งหมดราว 10 ชิ้น 

“สิ่งที่เราดีใจมากเลยคือ เรามองว่าสิ่งนี้ทำให้เราเองก็อาจจะมีส่วนเล็ก ๆ ในการช่วยอนุรักษ์เครื่องดนตรีไทยในรูปแบบใหม่ของเราเหมือนกัน พอเห็นฟีดแบ็กที่ออกมาเราดีใจที่เห็นคนแชร์ไปแล้วบอกว่าเขาไม่ได้จับดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็กอาจจะเป็น 10-20 ปี พอเห็นสิ่งนี้ทำให้เขาอยากกลับมาเล่นอีกครั้ง ซึ่งเขาไม่ได้บอกว่าอยากจะเล่นของเรานะครับ เขาแค่พูดว่าอยากกลับไปเล่นระนาดที่เขาเคยเล่น หรือต้องเอาระนาดที่บ้านมาเช็ดทำความสะอาดและลองเล่นใหม่แล้ว บางคนไม่เคยเล่นก็บอกว่าต้องไปหาเรียนแล้ว หรือบอกว่าถ้าโปรดักต์นี้มีโอกาสผลิตขึ้นมาจริง ๆ จะต้องซื้อเลย มันทำให้รู้สึกว่าโปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จมาก ๆ แล้วครับ แม้ยังไม่ได้ผลิตจริงก็ตาม เพราะมันทำให้ชื่อนี้ได้ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง” เตกล่าว ก่อนที่เราจะถามต่อถึงมุมมองเรื่องความขลังของเครื่องดนตรีไทยที่มีการพูดถึง

“จริง ๆ เรื่องนี้ในตอนแรกเราเองก็คอนเซิร์นเหมือนกันนะครับ แต่สุดท้ายเรามองว่าเราพยายามทำให้ออกมาเหมาะสมที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าพูดถึงความขลังเรามองว่าสิ่งที่เราออกแบบมาอย่างระนาดหรือขิม ความขลังอาจจะเกิดจากโปรดักต์ตัวนี้มีระยะเวลาที่ยาวนาน มีประวัติ มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและมีครูบาอาจารย์ แต่พอเราออกแบบใหม่แล้วเราคิดว่าความขลังนั้นยังคงอยู่นะครับ ต่อให้โปรดักต์นี้ได้ออกมาแล้วจริง ๆ ตัวเครื่องดนตรีเดิมก็จะยังอยู่ เพียงแค่สิ่งนี้คือการเล่าเรื่องแบบใหม่ เป็นโปรดักต์ใหม่เท่านั้นเอง นอกจากนั้นแล้วผมมองว่าบางทีมันอาจจะเดินไปด้วยกันก็ได้ เดินคู่ขนานกันไป ส่งเสริมซึ่งกันและกันด้วยสตอรีหรือการพัฒนา สิ่งเก่ายังคงมีการอนุรักษ์ไว้ ส่วนสิ่งนี้เป็นเหมือนการเล่าเรื่องใหม่เชิงสร้างสรรค์ด้วยการตีความแบบใหม่ให้ร่วมสมัยเท่านั้นเอง”

นอกจากแคมเปญ Re-Thai ที่กล่าวถึง พาร์ตหลักของ Taylor O คือสตูดิโอออกแบบที่มีผลงานออกมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่เราจะเห็นความโมเดิร์นที่โดดเด่นอยู่ในผลงานตามสไตล์ที่เขาชื่นชอบ รวมถึงสีดำที่เขาเองชอบเป็นพิเศษด้วย แต่ประเด็นสำคัญที่ Taylor O ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ชิ้นงานโปรดักต์ดีไซน์ นั่นคือเสน่ห์ของความท้าทายในหลายมิติที่มีมากกว่าความสวยงาม ซึ่งหากใครติดตามจะแอบเห็นเขาอัพเดตถึงอีกโปรเจคต์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือแบรนด์ Mutay (มูเต)

Mutay

“มูเต จะเป็นอีกพาร์ตหนึ่ง เรากำลังทำแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ พอดีผมได้มีโอกาสร่วมงานกับพี่คนหนึ่งที่เคารพ เขาเป็นเอเจนซีชื่อพี่กอล์ฟ Nawin Consultant แบรนด์มูเตที่จะเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วคล้าย ๆ กันกับ Re-Thai คือเราอยากนำความเชื่อหรือความศักดิ์สิทธิ์มาเล่าเรื่องใหม่ให้เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์สำหรับคนรุ่นใหม่ ตัวแรกที่เราตั้งใจจะทำออกมาคือหิ้งพระ โดยที่หลังจากนี้จะมีหลายโปรดักต์เลยที่กำลังจะออกมาภายใต้แบรนด์นี้ หวังว่าอาจจะออกมาให้เห็นกันปีหน้าครับ”

“ส่วนตัวผมต้องบอกว่าทุกวันนี้ยังเก็บสะสมประสบการณ์เรื่อย ๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องลองทำและเรียนรู้อีกเยอะเลย แต่ตอนนี้เรียกว่าเริ่มเห็นทางที่เราสนใจคือการออกแบบโปรเจกต์ที่ได้ปล่อยไอเดีย และจะยิ่งสนุกขึ้นอีกถ้าเราได้ปล่อยไอเดียกันทั้งคู่ทั้งเราเองและฝั่งของลูกค้าด้วย พอเราโอเพ่นกันทั้งคู่ งานส่วนใหญ่จะออกมาสดใหม่ ทำให้เรามักจะเติบโตขึ้นในงานเหล่านี้เสมอ อีกอย่างหนึ่งผมชอบงานที่เผยแพร่ออกไปแล้วอิมแพ็กต่อสังคม เป็นการคิดเพื่อสังคมด้วย เช่นงานหนึ่งที่เราได้มีโอกาสทำร่วมกับ BBDO Bangkok ที่สร้างสรรค์ให้ HomePro อีกที จริง ๆ ผมไปเป็นส่วนหนึ่งในทีมเท่านั้นเอง บรีฟของงานนี้คือการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อผู้บกพร่องทางสายตาหรือผู้สูงอายุ ที่เฟอร์นิเจอร์มินิมัลโดยทั่วไปอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับคนกลุ่มนี้ เพราะเขามองไม่เห็นและอาจเดินชน 

“เมื่อคุยกันในทีมเราเลยได้ไอเดียเรื่องคู่สี คือมีคู่สีที่เขาวิจัยมาแล้วว่าถ้าสีตัดกันประมาณ 7 ต่อ 1 เท่า ความแตกต่างกันนี้จะทำให้ผู้มีปัญหาทางด้านสายตามองเห็นได้ เราออกแบบและค่อย ๆ พัฒนาเพื่อตอบโจทย์สิ่งนี้ จนออกมาสำเร็จ มีผลลัพธ์ที่ค่อนข้างน่าพึงพอใจมาก เป็นงานที่มี Story Telling และออกแบบมาเพื่อกลุ่มคนหรือใครจริง ๆ ฉะนั้นทิศทางที่เราอยากจะไปต่ออย่างน้อย ๆ คืออยากได้ประสบการณ์และได้ฝากอะไรไว้ให้สังคมด้วยครับ” เตกล่าว เมื่อเราถามถึงเส้นทางโปรดักต์ดีไซเนอร์ที่เขามองไว้ในอนาคต ก่อนทิ้งท้ายถึงแคมเปญ Re-Thai ที่กำลังเกิดขึ้น

“เราเริ่มแคมเปญ Re-Thai ด้วยความสนุก ก่อนที่จะเผยแพร่ผลงานแรกออกไป เราไม่รู้ว่าฟีดแบ็กจะเป็นอย่างไร แต่เราคิดอย่างหนึ่งว่าถ้าโปรเจกต์นี้ได้ทำไปจนโปรเจกต์ค่อนข้างที่จะนิ่งแล้ว คนพอเห็นภาพแล้วว่า Re-Thai คืออะไร เราอยากจะชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ มาลองจอยกัน คิดว่าต้องสนุกแน่ ๆ ครับ เพราะจากตอนนี้ที่ได้คุยกับหลาย ๆ คน พอเขาพูดไอเดียมาผมก็นึกไม่ถึงเหมือนกัน รู้สึกว่าอยากเห็นมากเลยว่าเขาจะตีความกันอย่างไร จริง ๆ โปรเจกต์นี้เป็นของทุกคนอยู่แล้ว ความจริงไม่จำเป็นเลยว่าจะต้องเป็นนักออกแบบ ผู้ที่สนใจก็สามารถลุยกันได้เลย มันคงน่าสนุกถ้าได้เห็นคนตีความคำนี้จากหลาย ๆ มุมครับ” 

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว