หม่อเส้งมิวเซียม จากร้านขายนาฬิกาสู่พิพิธภัณฑ์ของโบราณและอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
Brand Story

หม่อเส้งมิวเซียม จากร้านขายนาฬิกาสู่พิพิธภัณฑ์ของโบราณและอาคารอนุรักษ์ดีเด่น

Focus
  • ตึกแถว 2 ชั้นอายุร้อยกว่าปีในย่านเมืองเก่าภูเก็ตซึ่งเคยเป็นร้านขายนาฬิกาชื่อ หม่อเส้ง ได้รับการอนุรักษ์และปรับปรุงเป็นโรงแรม Woo Gallery & Boutique Hotel และพิพิธภัณฑ์ชื่อ หม่อเส้งมิวเซียม
  • หม่อเส้งมิวเซียม จัดแสดงเครื่องเรือน ของตกแต่งบ้าน และข้าวของเครื่องใช้โบราณซึ่งเป็นของสะสมของครอบครัวเจ้าของบ้านที่บอกเล่าวิถีชีวิตของคนภูเก็ตสมัยก่อนและประวัติศาสตร์ของพื้นที่
  • หม่อเส้งมิวเซียม ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ.2563-2564 ประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ระดับดี จากสมาคมสถาปนิกสยาม

หนึ่งในตึกแถว 2 ชั้นสไตล์ชิโน-โปรตุกิส (บางครั้งก็เรียก ชิโน-ยูโรเปียน) ที่โดดเด่นที่สุดหลังหนึ่งในย่านเมืองเก่าจังหวัด ภูเก็ต คือ Woo Gallery & Boutique Hotel (หวู แกลลอรี และบูทีค โฮเต็ล) ซึ่งทายาทรุ่นที่ 3 ได้อนุรักษ์และปรับปรุงตึกเก่าอายุร้อยกว่าปีของครอบครัวที่เคยเป็นร้านรับซ่อมและขายนาฬิกานำเข้าจากต่างประเทศในชื่อ ร้านหม่อเส้ง ให้เป็นทั้งโรงแรมแบบบูทีคและพิพิธภัณฑ์ชื่อ หม่อเส้งมิวเซียม ทำหน้าที่บอกเล่าวิถีชีวิตของคนภูเก็ตเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ผสานไปกับประวัติศาสตร์ของบ้าน และความรุ่งเรืองของเมืองเก่าภูเก็ต

ตึกแถวลักษณะนี้ชาวภูเก็ตเพอรานากัน หรือ บาบ๋า เรียกว่า “เตี่ยมฉู่” ซึ่งโดยปกติแล้วด้านหน้าของบ้านแต่ละหลังจะมีความกว้างราว 4-6 เมตร เนื่องจากในอดีตนั้นทางราชการคิดภาษีโรงเรือนตามความกว้างของบ้านทำให้เจ้าของบ้านมักสร้างบ้านให้มีหน้าแคบและตัวบ้านยาวตั้งแต่ 30-100 เมตร แต่อาคารของ Woo Gallery & Boutique Hotel นั้นโดดเด่นที่มีหน้าแคบ 7 เมตร ทว่ากลับมีความยาวถึง 106 เมตร จึงเป็นอาคารที่ลึกและตั้งอยู่ติดถนน 2 สายคือถนนถลาง และ ถนนพังงา

บริเวณบ้านฝั่งที่ติดถนนถลางซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของร้านนาฬิกา เจ้าของคนปัจจุบันคือ เผด็จ วุฒิชาญ ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ได้ซ่อมแซมปรับปรุงโดยพยายามคงสภาพให้ใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุดและปรับให้เป็น หม่อเส้งมิวเซียม เพื่อจัดแสดงของเก่าสะสมของครอบครัว เช่น เครื่องเรือน ของตกแต่งบ้าน จักรเย็บผ้าโบราณ และเครื่องเล่นแผ่นเสียงรวมถึงจัดแสดงวิธีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารในเชิงอนุรักษ์ที่เขาใช้เวลาร่วม 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560-2561

หม่อเส้งมิวเซียม ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ.2563-2564 ประเภทงานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน ระดับดี จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์เนื่องจากอาคารได้รับการปรับปรุงและฟื้นฟูตามหลักวิชาการทำให้สามารถรักษาองค์ประกอบสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้อย่างครบถ้วนทั้งโครงสร้าง วัสดุ หง่อคาขี่ (ทางเดินหน้าบ้านขนาดกว้าง 5 ฟุตจีนไว้สำหรับเป็นทางเดินสาธารณะเชื่อมตลอดตึกแถวเพื่อหลบแดดฝน) จิ่มแจ้ (ลานโล่งกลางบ้านและมีช่องแสงเพื่อเพิ่มความสว่างและถ่ายเทอากาศภายในบ้าน) บ่อน้ำ เตาไฟ ระเบียง และช่องลม

ส่วนบริเวณบ้านที่ติดถนนพังงาซึ่งเดิมเป็นห้องครัวและห้องอาหารของบ้านได้รื้อออกและสร้างเป็นอาคาร 3 ชั้นเชื่อมต่อกับบ้านฝั่งถนนถลางเพื่อเปิดให้บริการเป็นโรงแรมขนาด 12 ห้อง การปรับปรุงทั้งหมดใช้เงินลงทุนไปประมาณ 15 ล้านบาทก่อนจะเปิดให้บริการเป็น Woo Gallery & Boutique Hotel เมื่อ พ.ศ.2562

“ร้านหม่อเส้งดำเนินกิจการใน พ.ศ.2458 จากหลักฐานที่เรามีคือจดหมายจากร้านลงวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1915 ไปถึงรองกงสุลที่ปีนัง แต่ตัวบ้านมีมาก่อนหน้านั้นแล้วและผมคิดว่าบ้านหลังนี้น่าจะอายุมากกว่า 130 ปี สองห้องแรกของบ้านที่อยู่ฝั่งถนนถลางและเดิมเป็นร้านขายนาฬิกาเป็นการก่อสร้างแบบไม่มีเสา ไม่มีคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่เป็นการก่อสร้างแบบผนังดินอัดซึ่งเป็นสไตล์แบบจีนฮกเกี้ยนโบราณ ผมจึงต้องให้ช่างเสริมโครงสร้างเหล็กโดยสร้างผนังคอนกรีตเสริมขึ้นมาให้ห่างจากผนังเดิม 2 เซนติเมตร

“ผมตั้งใจเก็บบ้านส่วนที่เป็นร้านหม่อเส้งเดิมไว้ทั้งหมดเพราะต้องการทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนได้มาศึกษา ส่วนบ้านฝั่งที่ติดกับถนนพังงาเดิมเป็นการก่อสร้างแบบนีโอคลาสสิกและผมตัดสินใจรื้อออกเพื่อสร้างเป็นอาคารสำหรับโรงแรม” เผด็จกล่าวถึงการอนุรักษ์และปรับปรุงบ้านเก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ปู่ของเผด็จชื่อ นายหงอเลียดฉ่าน เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาจากมณฑลฝูเจี้ยน จีนแผ่นดินใหญ่ ผ่านทางสิงคโปร์และปีนังจนมาตั้งรกรากที่เมืองภูเก็ตและสามารถซื้อบ้านเลขที่ 78 ถนนถลาง เพื่อเป็นทั้งบ้านพักอาศัยและร้านขายนาฬิกาชื่อ หม่อเส้ง แปลว่า ตะวันฉายแสง

ร้านนี้นอกจากจะขายนาฬิกาแล้วยังนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศด้วย เช่น เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในบ้านโดยนำเข้ามาผ่านทางปีนังซึ่งเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น ปัจจุบันโต๊ะที่นายหงอเลียดฉ่านใช้ซ่อมนาฬิกา รวมไปถึงป้ายร้าน “หม่อเส้งแอนด์โก” (โก มาจากคำว่า company) ในภาษาจีน-ไทย-อังกฤษ และนาฬิกาจากต่างประเทศที่เคยจำหน่ายที่ร้านได้นำมาจัดแสดงในมิวเซียมด้วย

หม่อเส้งมิวเซียม

เผด็จกล่าวว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลังที่ 2 ของประเทศไทยโดยมีหลักฐานการออกโฉนดที่ดินโดยพระบรมราชานุญาตในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2458 ส่วนโฉนดที่ดินฉบับแรกของประเทศไทยเป็นโฉนดที่ดินซึ่งมีพระนาม “สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์” ทรงถือกรรมสิทธิ์ เป็นโฉนดเลขที่ 1 หน้าที่ 1 ที่ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพระราชวัง แขวงเมืองกรุงเก่า เมืองกรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

ร้านหม่อเส้งดำเนินกิจการเรื่อยมาจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเศรษฐกิจซบเซาจนต้องปิดตัวลง ภายหลังบ้านหลังนี้เปิดให้ร้านขายผ้าเช่า จนปีพ.ศ.2560 เผด็จได้เริ่มอนุรักษ์และชุบชีวิตบ้านที่เก่าทรุดโทรมให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง

ภาพ : Sarakadee Lite

หม่อเส้งมิวเซียม จัดแสดงเครื่องเรือนเก่าแก่ เช่น เตียงเหล็กซึ่งเสาเตียงพิมพ์ลายดอกไม้บนเนื้อโลหะ และเครื่องเรือนไม้แกะสลักอย่างหรูหราแบบจีนและยุโรป รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้โบราณเช่น เครื่องพิมพ์ดีดฟอนต์จุฬาลงกรณ์ซึ่งเป็นฟอนต์แรกที่ใช้ในเครื่องพิมพ์ดีดไทย เครื่องเล่นหลอดเสียงหรือ Phonograph ที่ประดิษฐ์โดยโทมัส อัลวา เอดิสัน ซึ่งสามารถบันทึกเสียงและเล่นเสียงได้ เก้าอี้โยกเด็กที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นได้ทั้งเก้าอี้นั่งกินข้าวและรถเข็น กล่องดนตรีจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่บรรจุเพลงถึง 8 เพลง ถ้วยกระเบื้องตราไก่จากประเทศจีน ปิ่นโตเคลือบจากประเทศญี่ปุ่น สวีเดนและสาธารณรัฐเช็ก และจักรเย็บผ้าโบราณที่ทางร้านหม่อเส้งเคยนำเข้ามาจำหน่าย

หม่อเส้งมิวเซียม
แจกันไหมฟ้า (ภาพ : Sarakadee Lite)

อีกหนึ่งไฮไลต์ของสิ่งของจัดแสดงคือ แจกันไหมฟ้า (Epergne) หรือที่ชาวฮกเกี้ยนเรียกว่า อีเปินฮั้ว ซึ่งเป็นแจกันแฮนด์เมดจากการเป่าแก้วให้เป็นพวงแก้วรูปทรงชดช้อยในหลากหลายสีสันและมักใช้เป็นเครื่องประดับตั้งอยู่กลางโต๊ะอาหารของบ้านคหบดีหรืออาจใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่ผลไม้ คอลเลกชันที่จัดแสดงที่หม่อเส้งมิวเซียมเป็นเครื่องแก้วเป่าที่สร้างสรรค์อย่างละเมียดละไมโดยช่างเป่าแก้วที่เกาะมูราโน ประเทศอิตาลี ในช่วงปีค.ศ.1900

“ไหมฟ้าเป็นแจกันไว้ปักดอกไม้และประดับตรงกลางบนโต๊ะอาหาร และยังนิยมให้เป็นของขวัญวันแต่งงานเพราะเป็นงานศิลปะที่หรูหราและมีราคา” เผด็จกล่าว

หม่อเส้งมิวเซียม
(ภาพ : Sarakadee Lite)

ค่าเข้าชม หม่อเส้งมิวเซียม ราคา 100 บาทสำหรับคนไทยและ 50 บาท สำหรับนักเรียนและนักศึกษา โดยเผด็จและครอบครัวจะเป็นผู้นำชมมิวเซียมด้วยตนเองเพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับรู้เรื่องราวความเป็นมาของบ้าน การอนุรักษ์ และประวัติศาสตร์ของสิ่งของต่าง ๆ ที่จัดแสดงอย่างละเอียดเต็มที่โดยใช้เวลาต่อรอบประมาณ 1.30 ชั่วโมง จำกัดไม่เกิน 25 คนต่อรอบและบรรยายได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

“เราเป็นมิวเซียมที่ไม่มีตัวหนังสือให้ผู้ชมอ่าน แต่เรามีคนบรรยายที่พร้อมจะอธิบายสิ่งที่แต่ละท่านสนใจ ก่อนจะเล่าประวัติศาสตร์แต่ละเรื่องได้ ตัวเราเองต้องรู้เรื่องให้ถ่องแท้ก่อน ผมจึงมีเอกสารอ้างอิงในเรื่องที่ผมเล่าเสมอ” เผด็จกล่าว

ส่วนโรงแรมมีห้องพักจำนวน 12 ห้อง แบ่งเป็น 2 รูมไทป์คือ ดีลักซ์และซูพีเรียและตกแต่งให้มีกลิ่นอายแบบวัฒนธรรมเพอรานากัน

เครดิตภาพ: Rungkit Charoenwat

Fact File

  • หม่อเส้งมิวเซียม ตั้งอยู่ภายใน Woo Gallery & Boutique Hotel เลขที่ 78 ถนนถลาง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
  • เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น
  • รายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ :076-353-719หรือ https://www.woogalleryhotel.com/

อ้างอิง

  • หนังสือ “บ้านเก่าที่เรารัก(ษ์)” จัดทำโดย มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ