จับตา COP26 งานประชุมที่เป็นความหวังของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก
Better Living

จับตา COP26 งานประชุมที่เป็นความหวังของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก

Focus
  • งานประชุมสุดยอดโดยสหประชาชาติภายใต้หัวข้อด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก (COP26 หรือ UNCOP26) จัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 ณ เมือง กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเลื่อนจากปี 2020 อันเนื่องจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19
  • แม้จะอยู่ในสถานการณ์โลกระบาดแต่ UNCOP26 จะจัดแบบออนไซต์ในสถานที่จริงควบคู่ไปกับกิจกรรมออนไลน์ โดยมีตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมาร่วมประชุมถึงก้าวต่อไปของมนุษยชาติในการพยายามแก้ไขปัญหานี้

ปลายปี 2021 มีอีกอีเวนต์ด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่กำลังเป็นที่จับตานั่นก็คือ United Nations Conference of the Parties หรือเรียกสั้นๆ ว่า UNCOP เป็น การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ครั้งที่ 26 (เรียกสั้นๆ ว่า COP26 หรือ UNCOP26) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021 ณ เมือง กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร มีจุดประสงค์เพื่อหารือแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนหรือวิกฤติสภาพอากาศซึ่งกำลังเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่ส่งผลกับทุกประเทศ

บรรดาผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ถ่ายรูปร่วมกันในงานประชุม COP21 ก่อนที่จะลงนามในความตกลงปารีส
(ภาพ : Presidencia de la República Mexicana)

UNCOP จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1995 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยหนึ่งในผลงานเด่นจากงานนี้คือข้อตกลง พิธีสารเกียวโต ที่ว่าด้วยการบังคับให้ประเทศอุตสาหกรรมช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลง รวมทั้ง พิธีสารมอนทรีออล ที่ว่าด้วยการควบคุมยับยั้งและรณรงค์ให้ลดการผลิตและใช้สารที่ทำลายชั้นโอโซน ไปจนถึง ความตกลงปารีส เพื่อกำหนดมาตรการใหม่สำหรับลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ก่อนที่จะถึงจุดวิกฤติ ซึ่งก็ดูเหมือนจะได้รับเสียงตอบรับจากหลายฝ่ายในหลายแง่มุมทีเดียว หลายคนหันมาให้ความสนใจข้อตกลงเหล่านี้อีกครั้งจากการที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พยายามที่จะถอนตัวออกมาท่ามกลางเสียงไม่เห็นด้วยจากประชาคมโลก

ในแต่ละปี UNCOP จะหมุนเวียนจัดในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ในส่วนของการเข้าร่วมงานนั้นเน้นไปที่ตัวแทนและทูตจากทางสหประชาชาติและประเทศสมาชิก รวมถึงนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง แต่ในช่วงปีหลัง ๆ งานได้เปิดกว้างขึ้นในด้านการรับผู้เข้าชมภายนอกไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป องค์กร และบริษัทต่าง ๆ ไปจนถึงผู้จัดแสดงนิทรรศการที่เข้ามาโชว์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ในปัจจุบันการประท้วงหรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะที่ไม่รุนแรงและละเมิดกฎหมายก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นขนานกับงานประชุม โดยในทุกปีมักจะมีนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเดินทางมาส่งเสียงของพวกเขาช่วงงานนี้เช่นกัน

COP26
กลุ่มผู้ประท้วงในงาน COP25 เรียกร้องให้ประเทศญี่ปุ่นหยุดสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ภาพ :John Englart)

ปัจจุบันการประชุม UNCOP ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อสู้กับวิกฤติสภาพอากาศในระดับโลก พื้นที่ของงานที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็ดูเหมือนจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสภาวการณ์ของระบบนิเวศบนดาวเคราะห์ดวงนี้ที่คลับคล้ายคลับคลากับระเบิดเวลาเข้าไปทุกที

COP26 พิเศษอย่างไร

สำหรับประเด็นที่น่าจับตามองใน COP26 คงไม่พ้นการที่งานนี้เป็นงานประชุมใหญ่ระดับโลกงานแรกที่ได้จัดกันอย่างจริงจังหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางเจ้าภาพยังคงใช้สถานที่เดิมคือศูนย์ SEC Centre เมืองกลาสโกว์ และเนื่องด้วยปีนี้ประธานจัดงานเป็นสหราชอาณาจักร (ด้วยความร่วมมือกับอิตาลี) แขกเหรื่อในงานจึงเต็มไปด้วยบุคคลสำคัญระดับแนวหน้าอย่างสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเชื้อพระวงศ์ผู้นำประเทศนักอนุรักษ์นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และตัวแทนจากองค์กรทุกรูปแบบที่ขนเอาเรื่องทรัพยากรมานำเสนอในงานนี้เต็มที่

ในด้านการประชุมนั้น ปีนี้นับว่าเป็นปีสำคัญทีเดียว เพราะถือว่าครบรอบ  5 ปีของความตกลงปารีสที่ระบุไว้ว่าประเทศที่เข้าร่วมต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการ “ยกระดับ” มาตรการแก้ปัญหาให้โหดขึ้นกว่าเดิม กระบวนการนี้ถูกเรียกว่า “Ratchet Mechanism” ที่ต้องการกระตุ้นความร่วมมือระหว่างประเทศให้เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณผ่านการแสดงข้อมูลและแผนงานอย่างเป็นทางการของประเทศนั้น ๆ โดยต้องอ้างอิงจากสิ่งที่ทำมาแล้วและความเป็นไปได้ในอนาคต โดยมีเป้าหมายคือเข้าถึง Net Zero หรือการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อีกทั้งงานครั้งนี้ยังเป็นการครบรอบการประชุมครั้งที่ 16 ของพิธีสารเกียวโตอีกด้วย ซึ่งเราอาจจะได้เห็นการอัปเดตข้อตกลงใหม่ ๆ ออกมาให้เห็นก็เป็นได้ ไม่เพียงเท่านั้นทีมจัดงานยังถือโอกาสนี้ตัดเอาสปอนเซอร์ที่ไม่เข้าข่ายรักโลกออกไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลาย หรือหน่วยงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านความพยายามในการลดวิกฤติสภาพอากาศ บ่งบอกถึงความชัดเจนและจริงจังจากผู้จัด ซึ่งน่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ของงานในปีต่อ ๆ ไปอีกด้วย

COP26
พายุหมุนเขตร้อนเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากปัญหาวิกฤติสภาพอากาศ นำไปสู่ความเสียหายใหญ่หลวงต่อพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
(ภาพ :NASA)

ประชาชนทั่วไปก็สามารถเป็นส่วนร่วมกับงาน COP26

ด้วยการระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางข้ามประเทศไปชมงานอาจจะเป็นสิ่งที่ยากอยู่ อีกทั้งในงานเองก็มีการลดปริมาณผู้เข้างาน ถ้าไม่ใช่แขกรับเชิญหรือผู้ชมที่ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้านั้นนับว่ายากกว่าปกติหลายเท่า แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องข้อมูลเพราะคนทั่วโลกสามารถติดตามข่าวสารได้ที่สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ UNCOP26 ในส่วนข้อมูลของผู้แทนได้เลย นอกจากนี้หลายกิจกรรมมีนำเสนอควบคู่แบบออนไลน์สามารถเช็กความคืบหน้าของประเด็นประชุมได้ที่ทวิตเตอร์ทางการ และช่องยูทูบ ใครที่มีความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมงานอนุรักษ์การเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหัวข้อประเภทนี้ ผมบอกเลยว่าไม่ควรพลาด เพราะสามารถนำข้อมูลมาใช้เป็นกรณีศึกษาชั้นดีได้แน่นอน

เป้าหมายของพวกเราทุกคนคือการช่วยกันประชาสัมพันธ์เป้าหมายและข้อเท็จจริงที่สรุปออกมาจากงานนี้เพื่อให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้นในสังคมเกี่ยวกับปัญหาวิกฤติสภาพอากาศนั่นเองครับ ยิ่งในช่วงนี้แรงกดดันจากประชาชนอย่างเรา ๆ จำเป็นที่จะต้องมุ่งไปที่รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันแบบเต็มพิกัด เพราะเอาเข้าจริงแล้วผู้เล่นใหญ่กลุ่มนี้สร้างผลกระทบโดยตรงต่อความรุนแรงของปัญหานี้ชนิดที่คนธรรมดา ๆ เทียบไม่ได้เลย อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ข้ออ้างในการเปิดไฟทิ้งไว้หรือใช้ชีวิตแบบเรื่อยเปื่อยชนิดไม่สนใจทรัพยากรโลกหรอกนะครับ เพราะหน้าที่ในการยับยั้งวิกฤติสภาพอากาศนั้นยังคงถูกพูดได้เต็มปากว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนอยู่ดี เพียงแต่ถึงเวลา (สักที) ที่เราจะต้องจัดการกับตัวการ “ต้นเหตุ” กลุ่มนี้กันอย่างจริงจัง

งานบันทึกความตกลงปารีสในการประชุม COP21 ณ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลกประจำปี ค.ศ. 2016 ผู้พูดคือนาย John Kerry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
(ภาพ :U.S. Department of State)

จากภาวะโลกร้อนสู่วิกฤติสภาพอากาศ และอนาคตของคนรุ่นต่อไป

แน่นอนว่างานอย่าง UNCOP นั้นผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วเต็มที่ มีการสร้างทั้งข้อดีและข้อเสียตามมามากมายพอ ๆ กับคำชมและข้อครหา โดยงานอย่าง UNCOP เป็นเสมือนสนามประลองไอเดียและทดสอบมาตรการที่จะต้องถูกนำไปใช้โดยหลายประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละประเทศมีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติได้จริงแตกต่างกันเช่นประเทศพัฒนาแล้วย่อมมีความพร้อมในการลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ที่อย่าว่าแต่พลังงานดี ๆ เลยครับ คุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชาชนยังไปไม่ถึงไหนเลยในหลาย ๆ ด้าน การที่เรามีแผนที่เหมาะสมกับทุกคนโดยมุ่งเป้าไปที่จุดหมายเดียวกันจึงเป็นอะไรที่มีประโยชน์และจำเป็นอย่างมากในความร่วมมือระดับประชาคมโลก ไม่เพียงเท่านั้นนะครับ งานอย่าง UNCOP ยังช่วยสร้างความตระหนักรู้กระจายข่าวสารประชาสัมพันธ์เป็นฐานทรัพยากรและเปิดโอกาสอีกเพียบให้กับหลาย ๆ หน่วยงานและผู้คนรอบโลก

เกรตา ธันเบิร์ก ในงาน Climate March ค.ศ. 2019
(ภาพ :Lëa-Kim Châteauneuf)

แต่ข้อกล่าวหาในระยะหลังเกี่ยวกับงาน UNCOP ก็ดูเป็นอะไรที่ไม่ค่อยไกลจากความเป็นจริงด้วยเช่นกันครับ อย่างในกรณีของนักเคลื่อนไหวเยาวชนชื่อดังอย่าง เกรตา ธุนเบิร์ก (Greta Thunberg)ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับงานนี้ไว้ในทำนองที่ว่า

“งานเช่นนี้ดูจะไร้ความหวังในการช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เพราะผู้นำหรือตัวแทนต่าง ๆ ที่มาร่วมงานนั้นล้วนดีแต่พูด ไม่ก็แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประกอบกับงานด้านบริหารจัดการที่ช่วยปาดหน้าเค้กตอนจบไปอีก กลายเป็นว่าทุกคนมายินดีปรีดากับตัวเลขที่ไม่ได้แสดงออกถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้จริง ๆ จนท้ายที่สุดแล้วก็กลายเป็นว่าไม่มีใครเปลี่ยนแปลงอะไรเลย – แบบนี้ถึงเราจะมีงาน UNCOP เป็นล้านรอบก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาได้”

ทั้งนี้ความเห็นที่เกรตาให้ไว้เปรียบเสมือน “ความกลวง” ที่เป็นด้านมืดของงานลักษณะนี้ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมเลย ความกลวงนี่แหละที่จะยิ่งตามหลอกหลอนทุกคนไปได้อีกเรื่อย ๆ ตราบใดที่งานจบลงแล้ว แต่ไม่มีใครทำอะไรกันเลย

COP26
บรรยากาศภายในงาน COP25 (ภาพ:John Englart)

เอาเข้าจริงการปรับปรุงความตกลงปารีสที่ผมกล่าวไปแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมก็ยังไม่ได้ส่งการบ้านกันเลยด้วยซ้ำ คิดดูว่าขนาดงานถูกเลื่อนมาเป็นปีแล้วนะครับ หลายอย่างดูจะเป็นสัญญาลมปากเข้าให้แล้วจริง ๆ ท่ามกลางอุณหภูมิโลก (และการเมือง) ที่ระอุขึ้นเรื่อย ๆ ลองคิดจินตนาการว่าโลกจะแตกวันพรุ่งนี้แล้วแต่คนที่มีพลังในการหยุดยั้งมันได้กลับไปนอนเล่นที่บ้านหลังจากที่มาให้ความหวังเราดูสิครับ นี่เป็นอะไรที่เหมือนฝันร้ายชัด ๆ (แน่นอนว่าปัญหาวิกฤติสภาพอากาศโดยตัวมันเองก็เป็นฝันร้ายมากพออยู่แล้ว) เวลาทุกวินาทีที่เสียไปคือไฟป่าที่เพิ่มขึ้นน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายมากขึ้นกระแสน้ำทะเลที่เคลื่อนช้าลงและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม เอาเป็นว่ายิ่งอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเท่าไรจุดจบสำหรับพวกเราก็ดูเหมือนจะใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แล้วละครับ ทั้งที่ UNCOP ควรจะเป็นหัวหอกในการแก้ปัญหานี้แท้ ๆ

COP26
แสตมป์ที่ระลึกจากงาน COP1 ในปี ค.ศ. 1995 เป็นภาพกราฟิกอันเรียบง่ายที่ดูเหมือนจะสื่อถึงโลกสุดแสนขาวสะอาดและสายรุ้งที่สดใสนั้นอาจจะดูไกลห่างจากความเป็นจริงมากกว่าที่เราคิด (ภาพ : Deutsche Post AG)

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องทรัพยากรที่ต้องสูญเสียไปเยอะในการจัดงานระดับนี้ อันนี้ผมก็ไม่ปฏิเสธเหมือนกันครับ เพราะลำพังแค่สาธารณูปโภคพื้นฐานย่อมต้องถูกดึงมาใช้อยู่แล้ว นี่ยังไม่นับปัจจัยเสริมอย่างการเดินทางด้วยอากาศยานและรถยนต์นะครับ ยังดีที่ในช่วงหลัง ๆ ผู้จัดเริ่มแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อให้งานกลายเป็นตัวอย่างของ Net Zero ไปเลยในตัว และสร้างสมดุลด้านทรัพยากรที่ผลิตขึ้นกับใช้ไปให้เหมาะสมอีกด้วยผ่านเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ

ท้ายที่สุดแล้วความเห็นเกี่ยวกับตัวงานจะเป็นอย่างไรนั้น ผมคิดว่าคงไม่พ้นต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน สำหรับผมแล้วถ้างานนี้แค่ช่วยจุดประกายอะไรสักอย่างได้เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในระดับที่คนทั้งโลกให้ความร่วมมือกันอย่างแท้จริง เท่านี้ก็คงเพียงพอแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ยังคงอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีพวกเรา ความพยายามในการแก้ที่ต้นเหตุต้องมาจากการลงมือทำให้เร็วที่สุดแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นจากการประชุมหรือวิธีการอื่นใดก็ตาม เพื่อที่จะได้รื้อเอาความผิดพลาดทั้งหลายที่หมักหมมมาเป็นศตวรรษโดยฝีมือของพวกสิ่งมีชีวิตที่ขึ้นว่าฉลาดที่สุดเท่าที่เคยมีมาออกไปให้ได้นั่นเอง

ปัญหาวิกฤติสภาพอากาศอาจจะฟังดูเหมือนโจทย์ใหญ่เพียงข้อเดียวที่กำลังจะทำลายล้างการมีชีวิตอยู่ของมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ด้วยน้ำมือของพวกเราเอง แต่ในความเป็นจริงนี่เป็นกลุ่มก้อนของปัญหาที่ผูกมัดรวมกันอยู่ได้อย่างสลับซับซ้อนยิ่งกว่าสายหูฟังที่ถูกเอาไปปั่นในเครื่องซักผ้าเสียอีกครับ แถมกระทบกับทุกคนในระดับความรุนแรงที่ต่างกันไปอีกด้วย ที่ชัดเจนที่สุดคืออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นซึ่งนำไปสู่ภัยธรรมชาติที่ทำลายระบบนิเวศและแหล่งทรัพยากรอันมีค่าที่พวกเรามีส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มการระบาดของโรคและปัญหาสุขภาพลดคุณภาพชีวิตและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของผลลัพธ์จากปัญหาวิกฤติสภาพอากาศนะครับ ต้นเหตุของปัญหาแน่นอนว่ามากพอ ๆ กันเลย และเชื่อมโยงถึงกันเองอีก ตั้งแต่ทางเลือกด้านพลังงานและการบริหารทรัพยากร ไปจนถึงการพัฒนาองค์ความรู้และพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

แม้แต่แนวทางในการแก้ไขปัญหาก็ซับซ้อนซ่อนเงื่อนไม่แพ้กัน ตัวอย่างเช่นรถไฟฟ้าหรือการใช้ถุงผ้าที่เป็นข้อถกเถียงกันถึงความคุ้มค่าในระยะสั้นต่อปริมาณคาร์บอนที่ลดไปเทียบกับที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ซึ่งเราก็ต้องมาคำนึงถึงประเด็นอื่นด้วย เช่นผลกระทบจากวัสดุจากสิ่งที่ถูกของเหล่านี้ทดแทนไปเช่นน้ำมันและพลาสติก เป็นต้น

การจะแก้ปมปัญหาทั้งหมดนี้ได้จึงไม่เพียงแค่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจาก “ทุกคน” แต่ต้องทำอย่างรอบคอบและชาญฉลาดด้วยเช่นกัน งานนี้มีคนเสียผลประโยชน์แน่นอนครับ และก็คงจะมีคนที่ได้ประโยชน์ด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะในกรณีไหน เราต้องดึงทุกฝ่ายมาร่วมแก้ปัญหากันให้ได้อยู่ดี เพราะหากว่าเราแพ้ให้กับปัญหานี้เมื่อไรทุกคนก็ต้องตกเป็นผู้สูญเสียกันอย่างปฏิเสธมิได้

COP26 ในปีนี้จะเป็นเครื่องมือในการแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการใช้เวทีระดับนานาชาติเพื่อสร้างสรรค์แนวทางการแก้ปัญหาที่ต่างไปจากเดิมได้หรือไม่ คงเป็นสิ่งที่พวกเราต้องติดตามและให้ความร่วมมือไปพร้อม ๆ กันครับ

Fact File

  • United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC หรือ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถูกจัดทำขึ้นเพื่อลงนามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1992 โดยมีประเทศร่วมลงนามอย่างน้อย 165 ประเทศ ตัวกรอบอนุสัญญามีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขการเปลี่ยนของสภาพอากาศที่เป็นผลจากฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะกับการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

อ้างอิง


Author

ฌาณัฐย์ สิทธิปรีดานันท์
นักคิดนักเขียน ผู้กำกับ นักวิจัยมือสมัครเล่น และศิลปินอิสระ ผู้ชื่นชอบวิทยาศาสตร์กับศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ เอนจอยกับการไปโผล่ท่ามกลางธรรมชาติและมีความสุขมาก (จริง ๆ นะ) ในการเป็น workaholic มีโอกาสได้ลงผลงานที่ A Day Bulletin, GM Magazine, และ The Momentum