“ชีวิตเป็นสิ่งล้ำค่า” กฎเหล็กก่อนเที่ยว ป่าอาโอกิงาฮาระ ตำนานป่าอาถรรพณ์ที่เชื่อมโยงเหตุฆ่าตัวตาย
Lite

“ชีวิตเป็นสิ่งล้ำค่า” กฎเหล็กก่อนเที่ยว ป่าอาโอกิงาฮาระ ตำนานป่าอาถรรพณ์ที่เชื่อมโยงเหตุฆ่าตัวตาย

Focus
  • ป่าอาโอกิงาฮาระ ได้ฉายาว่า ป่าฆ่าตัวตาย ว่ากันว่าจำนวนคนที่เลือกมาฆ่าตัวตาย ณ ป่าแห่งนี้ติดอันดับโลก เป็นรองก็แค่สะพานโกลเดนเกท
  • ด้วยสถิติคนที่เข้ามาฆ่าตัวตายในป่าแห่งนี้มากถึงปีละ 100 คน นั่นจึงทำให้ระหว่างทางเดินป่ามีป้ายเตือนใจให้เห็นความสำคัญของชีวิต

หลังจากที่โปสเตอร์ภาพยนตร์สยองขวัญ Suicide Forest Village จากทีมผู้สร้าง Ju-On (2002) ถูกปล่อยออกมา ตำนาน ป่าอาโอกิงาฮาระ (Aokigahara Forest) ซึ่งถูกใช้เป็นฉากสำคัญของเรื่องก็ถูกพูดถึงอีกครั้ง เพราะ ป่าอาโอกิงาฮาระ ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เที่ยวยอดนิยมของสายเทรคกิ้ง กับฉายาความสวยงามที่ว่า ท้องทะเลแห่งผืนป่า (The Sea of trees) เปรียบผืนป่าแห่งนี้ดั่งท้องทะเลสีเขียวครึ้มที่ผืนแผ่นดินถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ แต่ป่าอาโอกิงาฮาระยังได้ฉายาในอีกด้านว่า ป่าฆ่าตัวตาย

ป่าอาโอกิงาฮาระ

ท้องทะเลแห่งผืนป่าอาโอกิงาฮาระครอบคลุมพื้นที่กว่า 30 ตารางกิโลเมตร บริเวณเชิงเขาฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของภูเขาไฟภูจิ แม้จะเป็นผืนป่าที่สวยงาม ทว่าในอีกด้าน ป่าอาโอกิงาฮาระ ก็ถูกผูกไว้กับตำนานพื้นบ้านด้านจิตวิญญาณและความอาถรรพณ์ฉบับญี่ปุ่น พร้อมความจริงในด้านมืดที่ว่าความเงียบสงบอ้างว้างของผืนป่าที่สมบูรณ์แห่งนี้ดึงดูดให้คนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งเลือกป่าแห่งนี้เป็นสถานที่ฆ่าตัวตายจนได้ฉายาที่ไม่น่าจดจำว่า ป่าฆ่าตัวตาย ว่ากันว่าจำนวนคนที่เลือกมาฆ่าตัวตาย ณ ป่าแห่งนี้ติดอันดับโลก เป็นรองก็แค่สะพานโกลเดนเกท สัญลักษณ์ของแคลิฟอร์เนีย สหรัฐเมริกา

ป่าอาโอกิงาฮาระ
ถ้ำต่างๆ ที่ถูกค้นพบ

ป่าอาโอกิงาฮาระ จัดเป็นป่าที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น  อีกทั้งยังมีลักษณะเฉพาะเพราะเป็นต้นไม้ที่นี่ขึ้นปกคลุมชั้นหินลาวาที่ถูกพ่นออกมาจากภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งรูพรุนของหินลาวาที่มีคุณสมบัติดูดซับเสียง ทำให้บรรยากาศการเดินป่าเทรคกิ้งที่นี่ค่อนข้างสงบเงียบ บวกด้วยอากาศที่เย็นสบายทั้งปีทำให้ผืนดินของป่าแห่งนี้ถูกปกคลุมด้วยมอสสีเขียว จึงไม่น่าแปลกใจหากป่าแห่งนี้จะถูกผูกโยงเข้ากับตำนานเรื่องลี้ลับต่างๆ และแม้ที่นี่จะเป็นป่าสมบูรณ์และอุดมไปด้วยสัตว์ป่า แต่ก็มักจะเป็นสัตว์ป่าที่มีนิสัยสันโดษ อาทิ มิงค์ญี่ปุ่น หมูป่า ตัวตุ่นญี่ปุ่น แต่ที่ต้องระวังคือ หมีดำ ก็ออกหากินที่ป่าอาโอกิงาฮาระด้วยเช่นกัน

ป่าอาโอกิงาฮาระ
เส้นทางเดินป่าที่ต้องเดินตามอย่างเคร่งครัด

ความลี้ลับของป่าอาโอกิงาฮาระยังไม่หมดแค่นี้ ด้วยความที่พื้นดินส่วนใหญ่ถูกปกคลุมด้วยหินลาวาซึ่งมีคุณสมบัติของแม่เหล็กธรรมชาติ เข็มทิศ โทรศัพท์  หรือ GPS จึงอาจใช้การไม่ได้ในบางจุด ทำให้การเดินป่าที่นี่จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ทางที่ดีควรเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นทางหลักที่มีการจัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น และลาวานี่เองที่ทำให้ผืนดินใต้ผืนป่ามีความแข็งเป็นพิเศษ อุปกรณ์ไต่เขา หรือขวานไม่สามารถเจาะทะลุได้เลยทีเดียว

นอกจากธรรมชาติเหนือผืนดินแล้ว ใต้ผืนดินของป่าอาโอกิงาฮาระยังพิเศษด้วยการค้นพบโถงถ้ำต่างๆ ไฮไลต์คือ ถ้ำน้ำแข็งนารุซาวา (Narusawa Ice Cave) ซึ่งเป็นถ้ำน้ำแข็งใต้ดินประกอบด้วยเสาน้ำแข็งสูงถึง 30 เมตร ส่วนจุดต่ำสุดของถ้ำอยู่ลึกลงไปถึง 21 เมตร แม้จะแวะเข้ามาชมในฤดูร้อนก็ยังคงต้องพกเสื้อผ้ากันหนาวติดตัวลงมาด้วย

ป่าฆ่าตัวตาย
ถ้ำน้ำแข็งที่แม้แต่ฤดูร้อนก็ยังเย็นยะเยือก

โดยรวมแล้วป่าอาโอกิงาฮาระถือเป็นสวรรค์ของนักเดินป่าที่ไม่ควรพลาดหากไปเยือนญี่ปุ่น แต่ด้วยสถิติคนจากท้องถิ่นอื่นๆ ที่เข้ามาฆ่าตัวตายในป่าแห่งนี้ถึงปีละ 100 คน นั่นจึงทำให้ระหว่างทางจะมีป้ายเตือนใจให้เห็นความสำคัญของชีวิต ตระหนักถึงคุณค่าของการได้เกิดและเติบโตมาติดไว้ พร้อมมีการตั้งทีมลาดตระเวนคอยสอดส่องในป่าเพิ่มขึ้นซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีที่สามารถช่วยคนที่พยายามฆ่าตัวตายเอาไว้ได้ และจากตำนานพื้นบ้าน เรื่องล่าถึงความลึกลับอาถรรพณ์ก็ได้กลายมาเป็นฉากในวรรณกรรม และภาพยนตร์อยู่หลายเรื่อง เช่นที่โด่งดังมากๆ คือเรื่อง Tower of Waves  ของ Seicho Matsumoto (ค.ศ.1960) และ The Complete Manual of Suicide โดย Wataru Tsurumi ซึ่งได้เลือกความโดดเดี่ยวของ ป่าอาโอกิงาฮาระ เป็นสถานที่สำหรับฆ่าตัวตาย และมีการให้ความหมายการฆ่าตัวตายที่ป่าอาโอกิงาฮาระ ไว้ว่า… “ที่นั่นคุณจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป”

Fact File

  • Suicide Forest Village หนังสยองขวัญเรื่องล่าสุดที่อิงจากป่าอาโอกิงาฮาระซึ่งมีอยู่จริงในญี่ปุ่น กำกับโดย ทาคาชิ ชิมิซึ (Ju-On) ที่เคยฝากความสั่นประสาทไว้ในเรื่อง  Ju-On (2002)  Suicide Forest Village เล่าถึงกลุ่มเพื่อนรัก 5 คนที่เจอกล่องประหลาดทำจากไม้ของป่าอาโอกิงาฮาระ  แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนใกล้ตัวตายทีละคน ทั้งหมดจึงตัดสินใจออกเดินทางไปยังป่าแห่งอาโอกิงาฮาระเพื่อหาคำตอบ (เข้าฉายในไทย 13 ตุลาคม 2021)
  • การเดินทางไปยัง ป่าอาโอกิงาฮาระ นั้นค่อนข้างสะดวก ใช้รถไฟสาย Chuo Line  ไปยังทะกะโอะ (Takao) เมื่อมาถึงโอสึกิ (Otsuki,) ให้เปลี่ยนไปใช้บริการสาย Fuji Kyuko Line  เพื่อตรงสู่สถานีคาวากุจิโกะ (Kawaguchiko Station) จากสถานีคาวากุจิโกะจะใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ 30 ถึง 40 นาที

อ้างอิง


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์