ถอดกลยุทธ์สายลับ 007 เจมส์ บอนด์ กับความสำเร็จแบบ No Time To Die
Lite

ถอดกลยุทธ์สายลับ 007 เจมส์ บอนด์ กับความสำเร็จแบบ No Time To Die

Focus
  • 5 ตุลาคม ค.ศ.1962 ภาพยนตร์แนวบู๊แอ็กชันของสายลับสุดเนี้ยบชาวอังกฤษ เจมส์ บอนด์ ภาค No เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก
  • เจมส์ บอนด์ เป็นตัวละครสายลับที่ถือกำเนิดจากผลงานปลายปากกาของ เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming) ต่อยอดไปสู่ภาพยนตร์ ที่ถูกผลิตมากถึง 25 ตอน เปลี่ยนนักแสดงบท เจมส์ บอนด์ 7 คน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ.1962 ภาพยนตร์แนวบู๊แอ็กชันของสายลับสุดเนี้ยบชาวอังกฤษ พร้อมประโยคแนะนำตัวแสนเรียบง่าย ว่า “บอนด์ ผมชื่อเจมส์ บอนด์” ภาค Dr.No ได้ฤกษ์เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ด้วยสนนราคาตั๋วที่ 70 เซ็นต์ (ราว 23.75 บาท) และนับตั้งแต่นั้น ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปี สายลับรหัส 007 เจมส์ บอนด์ ตัวละครที่ถือกำเนิดจากผลงานปลายปากกาของ เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming) ก็โลดแล่นหว่านเสน่ห์สร้างแฟนคลับได้ทุกยุคทุกสมัย จนกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการสร้างภาคต่อมากที่สุด และทำเงินได้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก

เจมส์ บอนด์ ทำรายได้จากการออกฉายทั่วโลก ณ ปัจจุบัน (24 ตอน) อยู่ที่ 6,890 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งยังไม่รวมภาคล่าสุด No Time To Die ที่ออกฉายพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 2021 เป็นรองแค่ภาพยนตร์ อเวนเจอร์ส (The Avengers) ของมาร์เวล (Marvel) และ สตาร์ วอร์ส (Star Wars) เท่านั้น

เจมส์ บอนด์

เรียกได้ว่า ความสำเร็จดังกล่าวมากพอที่จะดันให้สตูดิโอเก่าแก่อย่าง MGM สามารถยืนหยัดยืนยงอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ค่ายสตูดิโออื่น ๆ ในวัยเดียวกัน ล้มหายตายจาก หรือถูกผนวกควบรวมเข้ากับบริษัทเอ็นเตอร์เทนยักษ์ใหญ่ แม้บางครั้งกระแสภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ จะแผ่วลงไป จนหลายฝ่ายมองว่าบอนด์มาถึงปลายทางแล้ว แต่สุดท้าย บอนด์ก็สามารถกลับมาได้อีกครั้ง อย่างผ่าเผยและสง่างาม

แถมต่อให้เส้นเรื่องหลักที่ปรากฏอยู่ในจักรวาลของเจมส์ บอนด์จะเป็นสูตรสำเร็จที่วนเวียนอยู่กับ ฉากแอ็กชันที่แบ่งแยกคนดีกับคนชั่วไว้อย่างชัดเจนอุปกรณ์สายลับไฮเทค หญิงสาวเซ็กซี่ และตัวละครหลัก 2 ตัวที่ไม่นับตัวร้าย คือ “บอนด์” และ “เอ็ม” แต่บอนด์ ก็ Never Die

เจมส์ บอนด์

คำถามคือ แล้ว เจมส์ บอนด์ ทำได้อย่างไร ท่ามกลางตัวเลือกความบันเทิงอีกมากมายที่ผู้ชมยินดีควักเงินจ่ายค่าตั๋วจากราคาหลักสิบจนมาอยู่ที่หลักร้อยในช่วงเวลานี้ (ปัจจุบันราคาตั๋วหนังในสหรัฐฯเฉลี่ยอยู่ที่ 9 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 305.37 บาท)

เจมส์ บอนด์

เจมส์ บอนด์ เป็นมากกว่าหนังที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์

ในฐานะภาพยนตร์รายได้หลักย่อมมาจากจำนวนตั๋วชมภาพยนตร์ที่ขายได้ ยิ่งมาในช่วงหลังที่การออกฉายภาพยนตร์ทั่วโลกเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น ข้อจำกัดก็น้อยลง คำว่า “รายได้ถล่มทลาย” จึงเริ่มได้ยินกันบ่อยจนคุ้นเคย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่ภาคแรกออกฉาย เป็นที่น่าสังเกตว่า แบรนด์สินค้าที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้มักจะได้รับความนิยมตามมาภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ นาฬิกา ชุดสูท เครื่องดื่ม หรือสมาร์ตโฟน เป็นสิทธิพิเศษที่แทบจะไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดเลียนแบบวัดรอยได้ และบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของแบรนด์ชั้นนำทั่วโลกทั้งหลายพร้อมที่จะจ่ายเพื่อสิทธิพิเศษนี้ เช่น เจมส์ บอนด์ สเปกเตอร์ (2015) ได้รับทุนอำนวยการสร้างและการตลาดมากถึง 350 ล้านเหรียญสหรัฐ จากแบรนด์สินค้าชั้นนำต่างๆ มากมาย และผู้ลงทุนก็ไม่ผิดหวัง เพราะภาพยนตร์ดังกล่าวที่ เดเนียล เคร็ก รับบทสายลับบอนด์ ทำรายได้ทั่วโลกกว่า 880 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ความสำเร็จของบอนด์ยังเกิดจากการวางแผนการตลาดล่วงหน้าหลายเดือนอย่างชาญฉลาด ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม โดยใช้องค์ประกอบอื่นเข้ามาช่วย เช่น กรณีของ เจมส์ บอนด์ สกายฟอลล์ (2012) ซึ่งขึ้นแท่นทำเงินสูงสุดตลอดกาลของแฟรนไชส์ เจมส์ บอนด์ ที่ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ การโปรโมตรับเชื้อไฟชั้นดีผ่านเพลง “สกายฟอลล์” ที่ใช้ชื่อเดียวกัน ผลงานประพันธ์และขับร้องของนักร้องสาวเสียงทรงพลังอย่าง อะเดล (Adele)

เจมส์ บอนด์

โลเคชันแปลกใหม่ที่ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า โลเคชันหรือสถานที่ถ่ายทำในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของความเป็นตำนานและความแปลกใหม่ ซึ่งผู้สนับสนุนส่วนหนึ่งก็พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อโฆษณาสถานที่ท่องเที่ยวของตนเองผ่านภาพยนตร์ แว่วว่า การแข่งขันเพื่อแย่งชิงกันเป็นโลเคชันในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์นั้น เป็นไปอย่างดุเดือดมากทีเดียว เพราะการปรากฏเป็นฉากหลังคือตัวการันตีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่จะตามมาในภายหลัง ซึ่งกรณีของไทย เขาตะปูและเขาพิงกันในจังหวัดพังงา ก็โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจาก เจมส์ บอนด์ ภาค เพชฌฆาตปืนทอง (The man with the Golden Gun: 1974) ซึ่งปัจจุบันก็ยังมานักท่องเที่ยวที่ถามหาเกาะเจมส์ บอนด์อยู่

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในเจมส์ บอนด์ ภาคต่อๆ มา จะมีโลเคชันจากทั่วทุกมุมโลกปรากฏให้เห็น เช่น เจมส์ บอนด์ สเปกเตอร์ (2015) ที่ถ่ายทำในออสเตรีย โมร็อกโก และเม็กซิโก หรือ เจมส์ บอนด์ 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย (Tomorrow Never Dies:1997) ถ่ายทำในรัสเซีย อังกฤษ เยอรมนี เวียดนาม และสเปน

เนื้อเรื่องและนักแสดงที่ชวนให้ติดตาม

นักวิจารณ์ภาพยนตร์ส่วนหนึ่งเห็นตรงกันว่า ส่วนประกอบของความสำเร็จของภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ต้องยกให้กับทีมเขียนบทที่เขียนบทให้ได้ลุ้นสนุก เชือดเฉือนเล็กน้อย มีปมดราม่าให้นักแสดงประชันฝีมือ นอกจากจากฉากแอ็กชันสุดอลังการ แม้ว่า ภาคต่อของ 007 แต่ละภาคจะเล่นในลักษณะเดียวกันมานานหลายทศวรรษแล้วก็ตาม กล่าวคือ เป็นเรื่องราวของสายลับชาวอังกฤษที่รับใช้ราชวงศ์และรัฐบาลด้วยความภักดีต่อหน้าที่ต้องเผชิญหน้ากับเหล่าวายร้ายที่โหดเหี้ยมที่สุดที่ต้องการยึดครองโลก และแม้จะถูกเล่นงานจนสะบักสะบอมแค่ไหน แต่สุดท้าย เจมส์ บอนด์ก็ยังชนะเสมอ

ขณะเดียวกัน อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ เจมส์ บอนด์ ได้รับความสนใจในทุกครั้งที่ประกาศการสร้างภาคใหม่ก็คือ ตัวนักแสดงที่จะมารับบท “บอนด์” กับ “ผู้หญิงของบอนด์” ที่มาในภาพลักษณ์เก่งกาจ แต่ก็เซ็กซี่และเย้ายวนตรึงสายตาได้อย่างร้ายกาจ ทำให้ผู้ชมใคร่รู้ที่จะได้เห็นนักแสดงในบทบาทดังกล่าว

เท่าทันกับยุคสมัยตลอดเวลา

แม้ส่วนผสมของตัวเรื่องจะยังคงเดิม เพิ่มเติมคือฉากแอ็กชันที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงแบบเต็มอิ่ม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือการประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ อย่างกรณีของตัวร้ายที่เริ่มจาก รัสเซียในยุคสงครามเย็น มาเป็นวายร้ายจากโลกตะวันออกกลาง ก่อนข้ามฟากมาที่เกาหลีเหนือ ขณะที่ภัยคุกคามก็เปลี่ยนไปจากขีปนาวุธนิวเคลียร์ เป็นระบบคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ในยุคโลกาภิวัตน์

เรียกได้ว่าเจมส์ บอนด์ สามารถลื่นไหลและปรับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยได้โดยตลอด ดังนั้น ต่อให้อายุจริงของ สายลับ 007 จะปาเข้าไปมากกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ บอนด์ ก็ยังสามารถเป็นสายลับในยุคดิจิทัลได้อย่างกลมกลืน อีกทั้งยังสามารถคว้าใจแฟนคลับรุ่นเยาว์ในแต่ละเจเนอเรชันเหมือนที่เคยเป็นมา

เกร็ดน่ารู้กับ 60 ปีที่โลดแล่นของสายลับ เจมส์บอนด์

1. ภาพยนตร์แฟรนไชส์เจมส์ บอนด์ สร้างมาแล้วทั้งหมด 25 ภาค โดยสถิติทำเงินสูงสุดรวมทั้งจักรวาลแฟรนไชส์ของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่ราว 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

2. นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากนับรวมความสำเร็จของภาคล่าสุด No Time To Die จักรวาลเจมส์ บอนด์ จะขึ้นแท่นเป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ทำเงินสูงที่สุดในโลกในอันดับที่ 3 รองจากอันดับหนึ่งและสอง คือ ภาพยนตร์แอ็กชันฮีโร่ อะเวนเจอร์ จากค่ายมาร์เวล กับ สตาร์วอร์ส

3. นักแสดงชายทั้งหมดที่รับบทเจมส์ บอนด์ มีด้วยกัน 7 คน คือ

  • ฌอน คอนเนอร์รี (Sean Connery)แสดง 6 ภาค ระหว่างปี ค.ศ. 1963-1971 ภาคที่ทำเงินสูงสุดคือ Thunderball(1965) ที่ 141 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • เดวิด ไนเวน (David Niven) แสดง 1 ภาค Casino Royale (1967) ทำรายได้ที่ 41.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • จอร์จ เลเซนบี (George Lazenby) แสดง 1 ภาค On Her Majesty’s Secret Service (1969) ทำรายได้ที่ 82 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • โรเจอร์ มัวร์ (Roger Moore) แสดง 7 ภาค ระหว่างปี ค.ศ. 1973-1985 ภาคที่ทำเงินสูงสุดคือ Moonraker(1979) ที่ 210 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ทีโมธี ดาลตัน (Timothy Dalton) แสดง 2 ภาค ระหว่างปี ค.ศ. 1987-1989 ภาคที่ทำเงินสูงสุดคือ The Living Daylights (1987) ที่ 191 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • เพียร์ซบรอสแนน (Pierce Brosnan) แสดงทั้งหมด 4 ภาคระหว่างปี ค.ศ. 1995-2002 ภาคที่ทำเงินสูงสุดคือ Die Another Day (2002) ที่ 431 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • แดเนียล เคร็ก (Daniel Craig) แสดงทั้งหมด 5 ภาค ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2021 ภาคที่ทำเงินสูงสุดคือ Skyfall (2012) ที่ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

4. สำหรับ 5 อันดับภาคต่อของภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลก ได้แก่

  • Skyfall (2012): 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • Spectre (2015): 880.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • Casino Royale (2006): 593.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • Quantum Of Solace (2008): 576.12 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • Die Another Day (2002): 430.79 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาพ : UNITED INTERNATIONAL PICTURE (THAILAND)

อ้างอิง


Author

นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน