หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร พื้นที่เรียนรู้ไร้ขอบเขตเพื่อไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
- หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับการปรับโฉมครั้งใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่และบริบทด้านประวัติศาสตร์ของพื้นที่วังท่าพระ
- คีย์หลักในการออกแบบคือพื้นที่เรียนรู้ไร้ขอบเขต สร้างแรงบันดาลใจและแลกเปลี่ยนความรู้ในมิติต่าง ๆ ทั้งทางกายภาพและทางดิจิทัลแพลตฟอร์ม
- เป้าหมายคือให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะ การออกแบบ และโบราณคดีชั้นนำของประเทศและนานาชาติ
บอกเลยว่าแค่ภาพถ่ายโฉมใหม่ของ หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ถูกปล่อยออกมาเพียงบางส่วนก็สร้างความตื่นเต้นกับการปรับปรุงหอสมุดครั้งใหญ่สุด เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ และบริบทด้านประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่ทำให้หลายคนตั้งตารอคอยการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง
เมื่อนิยามของห้องสมุดยุคใหม่ไม่ใช่แค่สถานที่เก็บหนังสือและสถานที่ให้คนเข้ามานั่งอ่านหนังสือเงียบๆ เท่านั้น อาคาร หอสมุดวังท่าพระ อายุกว่าครึ่งศตวรรษจึงได้รับการแปลงโฉมให้ทันสมัย พร้อมปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานให้เข้ากับวิถีของผู้ใช้บริการห้องสมุดที่เปลี่ยนไป เรียกได้ว่าการปรับปรุงครั้งใหญ่นี้ได้ลบภาพจำของห้องสมุดที่ทึบทึม สถานที่ที่หลายคนอาจจำไม่ได้แล้วว่าเข้าห้องสมุดครั้งสุดท้ายเมื่อไร ให้เป็นห้องสมุดที่ต่อให้ไม่ใช่หนอนหนังสือนักอ่านก็อยากจะเข้าไปใช้บริการสักครั้ง
“ห้องสมุดต้องเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต สร้างแรงบันดาลใจและแลกเปลี่ยนความรู้ในมิติต่าง ๆ ห้องสมุดแบบเดิมที่เงียบขรึมและไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับศตวรรษที่ 21 ห้องสมุดไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยแค่หนังสือและการอ่าน แต่ต้องรวมถึงการพูด ฟังและเขียน คนสมัยนี้อยู่กับดิจิทัลมีเดีย ดังนั้นห้องสมุดต้องปรับให้สอดคล้องทั้งกายภาพและทางดิจิทัลแพลตฟอร์ม” อาจารย์โอ๊ต-ผศ.นันทพล จั่นเงิน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง และผู้ออกแบบ หอสมุดวังท่าพระ โฉมใหม่ กล่าวถึงโจทย์หลักในการออกแบบเปลี่ยนโฉมห้องสมุดครั้งใหญ่
ปักหมุดเป็นห้องสมุดศิลปะ การออกแบบและโบราณคดีที่ดีที่สุดในประเทศ
อาคารหอสมุดวังท่าพระเปิดให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ.2518 แต่เพิ่งได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2562 ด้วยงบประมาณ 60 ล้านบาทจากโครงการปรับปรุง มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ที่ริเริ่มเมื่อ พ.ศ.2558 เพื่อปรับปรุงกายภาพ ภูมิทัศน์ และสิ่งแวดล้อมในวิทยาเขต (แต่ต้องหยุดชะงักเป็นเวลานานเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับผู้รับเหมาการก่อสร้างจนกระทั่งเริ่มดำเนินการอีกครั้งในช่วงปลายปี พ.ศ. 2561)
การปรับปรุงหอสมุดเสร็จเรียบร้อยแล้วและพร้อมเปิดให้บริการ แต่จำเป็นต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2564 ทำให้ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังคงงดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ อย่างไรก็ตามผู้สนใจสามารถชมหอสมุดโฉมใหม่แบบ Virtual Tour ในมุมมอง 360 องศาได้ที่ https://www.plan.lib.su.ac.th/Virtual/Thapra_Library
“เราต้องการให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะ การออกแบบ และโบราณคดีชั้นนำของประเทศและนานาชาติ เพราะที่วังท่าพระเป็นที่ตั้งของ 4 คณะ คือ จิตรกรรมฯ สถาปัตย์ฯ มัณฑนศิลป์ และโบราณคดี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์โดยมีอาคารสำคัญคือท้องพระโรงและตำหนักพรรณราย รวมถึงซุ้มประตูที่ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นบ่อเกิดศิลปะสมัยใหม่ของไทยโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี วังท่าพระจึงเต็มไปด้วยเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์มากมายแต่ขาดการเล่าเรื่อง
“หอสมุดจึงต้องออกแบบให้เชื่อมโยงกับบริบท ให้เกิด Sense of Place ให้การเรียนรู้เชื่อมโยงไปถึงบริบทภายนอก เราจึงต้องเปิดมุมมองให้คนมาเยือนรู้สึกว่าคุณอยู่ในที่ที่พิเศษ เปิดมุมมองให้เห็นท้องพระโรงที่เป็นหัวใจหลักของวังท่าพระและเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มากมาย เห็นซุ้มประตูวังท่าพระ เห็นท่าช้าง เห็นกำแพงพระบรมมหาราชวัง”
ในปี พ.ศ. 2558 อาจารย์โอ๊ตซึ่งในขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับมอบหมายจากคณบดีให้รับผิดชอบการออกแบบหอสมุดและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ การพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มโอเพนสเปซจึงนับเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการออกแบบ
บันไดทางขึ้น หอสมุดวังท่าพระ จากเดิมที่มีลักษณะทางกายภาพแบบหนาและทึบได้รับการปรับเปลี่ยนให้ดูโปร่งโล่งขึ้น บริเวณทางเข้าเปลี่ยนเป็นกระจกบานใหญ่ซึ่งสามารถมองออกมาเห็นทัศนียภาพภายนอกโดยอาคารห้องสมุดศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งมีการต่อเติมเพิ่มในปี พ.ศ.2549 และอยู่บริเวณด้านหน้าของหอสมุดและติดซุ้มประตูวังท่าพระถูกรื้อออกเพื่อเปิดให้เห็นสถาปัตยกรรมของซุ้มประตูได้ชัดเจนขึ้น ส่วนคอลเลกชันหนังสือทรงนิพนธ์และหนังสือสะสมของหม่อมเจ้าสุภัทรดิศซึ่งเป็นหนังสือหายากด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีได้ย้ายไปอยู่ภายในอาคารหอสมุดและถือเป็นจุดไฮไลต์เพราะออกแบบให้เป็นพื้นที่เปิดฝ้าเพดานสูงและตกแต่งด้วยตู้หนังสือรอบระเบียงทางเดิน
ด้านในเน้นให้เป็นพื้นที่เปิดโล่งและตกแต่งด้วยไม้เป็นหลักให้บรรยากาศอบอุ่นและเป็นมิตร ผนังโดยรอบที่เคยปิดทึบมีการเจาะเพื่อใส่กระจกใส ทำให้สามารถมองเห็นภาพบรรยากาศบริเวณท่าช้าง บริเวณพระบรมมหาราชวังและภายในวังท่าพระ โต๊ะมีทั้งแบบยาวสำหรับกลุ่มใหญ่และแบบกลุ่มย่อย 3-4 คน บริเวณขั้นบันไดลงไปชั้นหนึ่งเสริมด้วยเบาะรองนั่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยและสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ แม้หอสมุดจะมีพื้นที่เพียง 1,785 ตารางเมตร แต่ก็ครบครันด้วยห้องประชุมย่อย โรงมินิเธียเตอร์บริเวณชั้น 3 พร้อมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ใช้งานรวมไปถึงคอลเลกชันแผ่นเสียงและวิดีโอหายาก อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับคนยุคนี้คือให้บริการฟรีวายฟาย (Wifi)
“ฝั่งตรงข้ามหอสมุดเดิมเป็นอาคารของสมาคมศิษย์เก่าและกองบริการวิชาการ เราก็รื้อทั้งสองอาคารออกทำเป็นอาคารกระจกซึ่งจะเป็นพื้นที่สำหรับคาเฟ่ อาร์ตและดีไซน์เซนเตอร์ เราต้องเพิ่มโอเพนสเปซให้เป็นพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนและห้องสมุดให้เกิดการแลกเปลี่ยนในด้านต่าง ๆ”
การเรียนรู้แบบไร้ขอบเขตและการเชื่อมต่อที่เป็นอิสระ
“อาคารหอสมุดเดิมนับเป็นอาคารแบบโมเดิร์นมากในยุคนั้นและออกแบบโดย อาจารย์สุริยา รัตนพฤกษ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ผมเคารพรัก ก่อนที่จะมีการปรับปรุงผมก็ต้องไปเรียนชี้แจงท่านก่อนเพราะเราต้องปรับปรุงใหม่หมดโดยเหลือเพียงแต่โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ภาพจำของหอสมุดสำหรับนักศึกษาคือมีท่อแอร์ที่ใหญ่มากเราก็รื้อใหม่ทั้งหมด แต่เดิมเมื่อเข้ามาจะเจอบันไดฝั่งซ้ายมือเราก็รื้อออกทำ Flow การเชื่อมต่อไปชั้นบนด้วยบันไดตรงบริเวณที่เราปรับใหม่ให้เป็น ห้องสมุดศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
“ระบบคานของหอสมุดเป็นเสน่ห์ของอาคารยุคโมเดิร์นที่อาจารย์สุริยาออกแบบไว้ เราเลยไฮไลต์ด้วยแถบไฟเพื่อสร้างการรับรู้และเป็นจุดนำสายตาไปยังพื้นที่อื่น ๆ เราลบความเป็นห้องออกเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อที่เป็นอิสระ ส่วนบริเวณที่เป็นห้องสมุดศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ มีเพดานสูงราว 6 เมตร เราก็ใช้แสงไฟในตู้เพื่อไฮไลต์ให้หนังสือเรืองขึ้นมาถือเป็น Memorial Space ของหอสมุด” อาจารย์โอ๊ตกล่าว
บริเวณห้องสมุดศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ออกแบบให้เป็นพื้นที่มัลติฟังก์ชันโดยเป็นทั้งที่จัดแสดงหนังสือทรงนิพนธ์และหนังสือสะสมของหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ คอลเลกชันหนังสือที่เขียนโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี หนังสือชุดพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นหนังสือภาษาต่างประเทศเกี่ยวกับวิชาการศิลปะ และหนังสือชุดประทานจาก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร โดยเป็นหนังสือด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีนอกจากนี้ยังสามารถจัดเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย
“ปัจจุบัน หอสมุดวังท่าพระ มีหนังสือในคลังประมาณ 1.7 แสนเล่ม โดยหนังสือหายากกว่า 500 เล่มและหนังสือหมวดอื่น ๆ หลายร้อยเล่มเราก็จัดทำเป็น E-book คอลเลกชันให้สมาชิกได้อ่านออนไลน์ เราจะมีการหมุนเวียนนำหนังสือที่น่าสนใจมาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้อ่าน ในส่วนคอลเลกชันหนังสือทรงนิพนธ์และหนังสือสะสมของหม่อมเจ้าสุภัทรดิศมีมากกว่า 10,000 รายการ มีเอกสารต้นฉบับบทความและวารสารอีกกว่า 16,000 รายการ และสไลด์รูปมากกว่า 10,000 ภาพ แต่ในเบื้องต้นเราเลือกบางส่วนของหนังสือในคอลเลกชันของท่านที่เป็นภาษาไทยมาจัดแสดงให้ชมก่อน” จรินทร์ คิดหมาย บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ หอสมุดวังท่าพระ กล่าว
บริเวณชั้น 3 เดิมเป็นห้องโสตทัศนศึกษาและบันไดทางขึ้นอยู่นอกอาคารได้ปรับให้เชื่อมต่อด้วยบันไดจากภายในห้องสมุดศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล พื้นที่ชั้นนี้ได้รับการปรับปรุงโดยมีห้องประชุมย่อย 2 ห้องขนาด 8 ที่นั่งและ 4 ที่นั่ง โรงมินิเธียเตอร์ขนาด 24 ที่นั่ง และเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานสื่อดิจิทัลอื่น ๆ
“แม้พื้นที่จำกัดเราก็พยายามทำให้หอสมุดตอบโจทย์ได้หลากหลายการใช้งาน เรามีคอลเลกชันแผ่นเสียงหายากก็มีการคุยกันว่าอาจจะมีกิจกรรมเปิดแผ่นเสียงทุกเย็นวันศุกร์” อาจารย์โอ๊ตเสริม
ทางหอสมุดยังมีโครงการความร่วมมือกับห้องสมุดของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC โดยทางหอสมุดจะคัดเลือกหนังสือที่น่าสนใจของ TCDC และยืมมาให้ผู้ใช้บริการที่นี่ได้อ่าน หรือหากนักศึกษาสนใจหนังสือเล่มใดของทาง TCDC สามารถแจ้งให้ทางหอสมุดช่วยยืมมาให้อ่านที่นี่ได้
พื้นที่แลกเปลี่ยนศิลปะทั้งทางกายภาพและดิจิทัลแพลตฟอร์ม
หอสมุดยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปะโดยปัจจุบันมีการจัดแสดง นิทรรศการ The Memoirs of Prof. SilpaBhirasri เพื่อรำลึกถึงคุณูปการที่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ศาสตราจารย์ชาวอิตาลีผู้อุทิศตนในการพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยจนได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย” โดยทางหอสมุดได้ร่วมมือกับคณะจิตรกรรมฯ นำภาพลายเส้น 10 ชิ้นที่ปรากฏในหนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์และแบบอย่างศิลปะโดยสังเขป” (A Bare Outline of History and Styles of Art) ที่อาจารย์ศิลป์เขียนขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ มาจัดแสดงสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก
“ภาพลายเส้นนำเสนอองค์ประกอบทางศิลปะและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ท่านใช้ประกอบการสอนเมื่อ 60 ปีที่แล้วและนำมาใช้เป็นภาพประกอบในหนังสือที่ท่านเขียน บางคนก็แย้งว่าเป็นลูกศิษย์ของท่านวาดแต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นฝีมือของท่านเอง นับเป็นเรื่องดีที่มีการถกเถียงเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ นิทรรศการจะจัดแสดงถึงปลายปี พ.ศ. 2564 และหลังจากนั้นจะเป็นหัวข้อเรื่อง เรื่องเล่าวังท่าพระ เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตรงนี้ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์และนำเสนอแผนที่ของแต่ละยุคมาทับซ้อนให้เห็นวิวัฒนาการ”
หอสมุดยังได้พยายามรวบรวมผลงานทางวิชาการและงานศิลปะของอาจารย์ศิลป์ในรูปแบบดิจิทัลเพื่อเป็นคลังข้อมูลการเรียนรู้ โดยเบื้องต้นมีหนังสือของอาจารย์ศิลป์ในระบบ E-book คอลเลกชันจำนวน 35 เล่มให้สมาชิกได้อ่านออนไลน์
นอกจากนี้ยังมีห้องขนาดย่อมบริเวณด้านในของห้องสมุดศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลซึ่งปัจจุบันจัดแสดงโครงการ Artist’s Book (หนังสือศิลปิน) นำเสนอผลงานศิลปะโดยศิลปินชั้นนำ อาทิ ปรีชา เถาทอง, พิษณุ ศุภนิมิตร, กัญญา เจริญศุภกุล, ถาวร โกอุดมวิทย์ และ วราวุธ ชูแสงทอง โดยโครงการศิลปะนี้เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยมีศิลปิน 39 คน สร้างสรรค์ผลงานจำนวนทั้งสิ้น 41 ชิ้น แต่ด้วยพื้นที่จำกัดในเบื้องต้นจึงจัดแสดงจำนวน 15 ชิ้น และจะมีการหมุนเวียนชิ้นงานจัดแสดงต่อไป นอกจากนี้อาจารย์โอ๊ตยังตั้งเป้าหมายให้ห้องนี้เป็นพื้นที่สำหรับการให้ยืมผลงานศิลปะอีกด้วย
“ผมได้แนวคิดเรื่องการให้ยืมผลงานศิลปะจากประเทศเยอรมนีซึ่งเขาใช้เป็นแนวทางในการโปรโมตศิลปินรุ่นใหม่ โดยเราอาจจะให้คนที่สนใจยืมงานศิลปะของทั้งนักศึกษาและอาจารย์สัก 2 เดือนแล้วค่อยเอามาคืน เราจะทำเป็นแคตาล็อกของงานที่พร้อมให้ยืมโดยเราได้มีการพูดคุยกับศิลปินหลายคนไว้แล้ว” อาจารย์โอ๊ตกล่าวถึงโปรเจกต์ใหม่ๆที่จะเพิ่มเข้ามาเพื่อให้หอสมุดตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานยุคใหม่ให้มากที่สุด
Fact File
- ชม หอสมุดวังท่าพระ แบบ Virtual Tour ในมุมมอง 360 องศาได้ที่ https://www.plan.lib.su.ac.th/Virtual/Thapra_Library
- อัปเดตกิจกรรมและวันเปิดบริการที่ Facebook.com/SUlibrary
- บุคคลทั่วไปสามารถใช้บริการหอสมุดได้โดยจ่ายค่าบำรุง 20 บาทต่อวัน และทางหอสมุดกำลังพิจารณาให้บุคคลทั่วไปสามารถสมัครสมาชิกรายปีเพื่อยืมหนังสือและใช้บริการสื่อดิจิทัลได้ในเงื่อนไขที่กำหนด รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก http://www.thapra.lib.su.ac.th/thapra/