พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า พิพิธภัณฑ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย
Arts & Culture

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า พิพิธภัณฑ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย

Focus
  • กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากปิดปรับปรุงไปนานสำหรับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกในประเทศไทยที่สร้างขึ้นบริเวณแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี
  • พื้นที่กาญจนบุรีคือแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งถ้ำเขาทะลุ ถ้ำเม่น ถ้ำหีบ รวมถึงแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (แหล่งนายบาง)

กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากปิดปรับปรุงไปนานสำหรับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกในประเทศไทยที่สร้างขึ้นบริเวณแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างตั้งแต่ พ.ศ.2507 จัดแสดงโบราณวัตถุเกี่ยวกับ วัฒนธรรมสมัยหินใหม่ ทางภาคตะวันตกของไทย อายุวัตถุที่จัดแสดงนับย้อนไปได้ราว 3,500-4,000 ปี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์
บ้านเก่า

สำหรับการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปีนี้ไม่ใช่เพียงการตกแต่งภายใน หรือเปลี่ยนแค่รูปแบบการจัดแสดงใหม่ ทว่ายังยกเครื่องเปลี่ยนจากอาคารคอนกรีตเดิมทรงอาคารข้าราชการนิยมมาเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมสีแดงโมเดิร์น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยม สื่อถึงการพบโบราณวัตถุที่แทรกอยู่ในชั้นดิน ที่สำคัญถ้าเดินเที่ยวในอาคารแล้วก็สามารถออกมาด้านนอกชมหลุมขุดค้นของจริงได้อีก

บ้านเก่า
โฉมใหม่ของพิพิธภัณฑ์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยม

ตามประวัติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า สร้างใน พ.ศ.2507 เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุที่ขุดพบจากการสำรวจทางโบราณคดีบริเวณบ้านเก่าและในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งบริเวณที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เป็นบริเวณที่นักโบราณคดีและทีมสำรวจยุคแรกจากโครงการความร่วมมือโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ค ใช้เป็นที่พักระหว่างการขุดค้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยในช่วง พ.ศ. 2503-2505 ต่อมาใน พ.ศ. 2530 ทางกรมศิลปากรได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว พร้อมปรับปรุงการจัดแสดงภายในให้เป็นระบบระเบียบอย่างพิพิธภัณฑ์พร้อมทำการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารเดิมและจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมถึงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจขุดค้นใหม่ในจังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมาจัดแสดง ถือได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ที่สำคัญสุดในไทยและถือเป็นพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย และการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ในอดีตยังเป็นจุดเริ่มต้นของงานศึกษาโบราณคดีอย่างสากลเป็นครั้งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

หม้อสามขา และ ขวานหิน โบราณวัตถุชิ้นไฮไลต์ที่ต้องชม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จัดแสดงโบราณวัตถุใน “วัฒนธรรมบ้านเก่า” ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทยและมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยทางภาคใต้ของไทย และทางตอนเหนือของมาเลเซีย มีข้อสังเกตว่าผู้คนในยุคนั้นนิยมตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ตามที่ราบ หรือเชิงเขาไม่ไกลจากลำน้ำ ดำรงชีวิตด้วยการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ และรู้จักทำขวานหินขัด รวมทั้งมีภาชนะดินเผาที่หลากหลาย ภาชนะที่เด่นสุดในยุคนี้คือ หม้อสามขา ภาชนะทรงพาน ภาชนะมีคอและเชิงสูง และภาชนะทรงถาดก้นลึก

มากไปกว่า โครงกระดูก เครื่องมือหินขัด และ หม้อสามขา ซึ่งเป็นไอโคนิกของวัฒนธรรมบ้านเก่าแล้ว ในอนาคตทางพิพิธภัณฑ์กำลังเตรียมจัดแสดงเครื่องมือหิน 8 ชิ้นที่สำรวจพบโดย “ดร. เอช อาร์ ฟาน เฮเกเรน” นักโบราณคดีชาวดัตช์ซึ่งถูกจับเป็นเชลยและถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟที่จังหวัดกาญจนบุรีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยและทำให้บ้านเก่าได้รับความสนใจจากนักโบราณคดีทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาขุดค้นอย่างต่อเนื่องและจริงจังตั้งแต่สมัยที่วิชาการด้านการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีในไทยยังไม่พัฒนานัก ปัจจุบันเครื่องมือหินทั้ง 8 ชิ้นจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และทางกรมศิลปากรกำลังประสานเพื่อนำกลับมาจัดแสดงให้ชาวไทยได้ชมของจริงกัน (ปัจจุบันจัดแสดงของจำลอง)

การขุดค้นทางโบราณคดีที่ แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ

แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ

จังหวัดกาญจนบุรี ไม่ได้มีแค่เส้นทางประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พื้นที่กาญจนบุรีคือแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งถ้ำเขาทะลุ ถ้ำเม่น ถ้ำหีบ รวมถึงแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (แหล่งนายบาง) ที่มีอายุกว่า 3,000-4,000 ปี และมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในฐานะตัวแทนของสังคมเกษตรกรรมระยะแรกเริ่มของไทย ถือเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ช่วงสมัยหินใหม่จนถึงสมัยโลหะที่สำคัญ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า

ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีในจังหวัดกาญจนบุรีเริ่มต้นขึ้นโดยคณะวิจัยร่วมทางโบราณคดีไทย – เดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. 2503-2504 และได้ต่อยอดมาสู่การขุดสำรวจชุดล่าสุดระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2564 โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีที่ แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ ซึ่งอยู่ด้านข้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า พบหลุมฝังศพสมัยสำริดมากถึง 24 หลุม โดยเป็นการฝังร่างร่วมกับภาชนะดินเผา ทั้งยังพบเครื่องประดับจากเปลือกหอย และขวานสำริดมีบ้อง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า
ความสมบูรณ์ของโครงกระดูกที่พบที่ แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ

อีกข้อมูลชุดสำคัญที่ได้มาพร้อมกับการสำรวจที่แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะคือ การขุดพบ พื้นที่ผลิตโลหะสำริด กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ได้ระหว่าง 2,491-3,083 ปีมาแล้ว และเมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า สามารถเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมของการใช้พื้นที่ในเขตนี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่า มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยหินใหม่ โดยมีหลักฐานเป็นแหล่งฝังศพขนาดใหญ่บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (แหล่งนายบางและนายลือ) ริมห้วยแมงลัก ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำแควน้อย ต่อมาในสมัยสำริดจึงได้มีการเปลี่ยนสถานที่ฝังศพมายังริมแม่น้ำแควน้อย หรือก็คือบริเวณแหล่งโรงเรียนวัดท่าโป๊ะที่เพิ่งขุดค้นพบนี้ และต่อมาในสมัยเหล็กได้ขยายการใช้พื้นที่ลงใต้ไปตามแม่น้ำ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า

เรียกได้ว่า แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ เป็นตัวแทนของสมัยสำริด และเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้นักโบราณคดีรู้ถึงพัฒนาการทางสังคมของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ตำบลบ้านเก่า ไล่เรียงตั้งแต่สมัยหินใหม่ สมัยสำริด และสมัยเหล็ก ได้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการเติมเต็มช่องว่างของหลักฐานทางโบราณคดีของไทยในช่วงเวลาที่ขาดหายไปได้อย่างสมบูรณ์

ภาพ : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

Fact File

  • ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
  • อัพเดทวันเปิด-ปิดพิพิธภัณฑ์ตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี โทร 035-440-944
  • ชมด้านในพิพิธภัณฑ์แล้วสามารถไปดูหลุมขุดค้นทางโบราณคดีของจริงได้ที่ แหล่งโบราณคดีโรงเรียนวัดท่าโป๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ที่นี่มีการขุดพบโครงกระดูกจำนวนมาก
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า มีการสำรวจในลักษณะของหลุมขุดค้นเปิด หรือ Site museum ซึ่งทางกรมศิลปากรกำลังวางแผนดำเนินการพัฒนาควบคู่ไปกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประจำภาคตะวันตกของประเทศ

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์