บางมดเฟส เทศกาลที่จะปลุกวิถีริมคลองบางมดให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
Lite

บางมดเฟส เทศกาลที่จะปลุกวิถีริมคลองบางมดให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

Focus
  • บางมดเฟส เทศกาลริมคลองประจำปีของชาวบางมด ที่พร้อมใจอาสาฟื้นฟูและอนุรักษ์วิถีริมคลองให้คงอยู่ต่อไปถึงคนรุ่นหลัง
  • จุดเด่นของงานที่กำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 คือการชูเอกลักษณ์ของบางมดให้เด่นชัด ทั้งเรื่องราวของชุมชน อาหาร และกิจกรรม
  • ปีนี้ บางมดเฟส ได้เริ่มทดลองการใช้เรือโดยสารเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีวุฒากาศเพื่อหวังให้เป็นทางเลือกรองจากการใช้รถยนต์ส่วนตัว

เดินทางมาถึงครั้งที่ 4 แล้วสำหรับ บางมดเฟส เทศกาลเชิงสร้างสรรค์ที่รวบรวมสารพันความบางมด ทั้งอาหาร วิถีชีวิต เวิร์กชอป การแสดงและกิจกรรมสนุกๆ ที่กลุ่ม 3C Project ชาวชุมชนบางมดและเหล่าอาสาสมัครตั้งใจปลุกปั้นให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสวิถีเก่าก่อน และคนดั้งเดิมได้หวนคิดถึงสิ่งที่เคยเป็นมาอีกครั้ง

บางมดเฟส

7-9 กุมภาพันธ์นี้ เตรียมกาปฏิทินชวนกันล่องไปในวิถีของชาวบางมดกับ บางมดเฟส ครั้งที่ 4 เที่ยวคลองต้องลองเที่ยว กันดีกว่า “อยากเห็นเอกลักษณ์อะไรในคลอง ก็ต้องลองมาเที่ยวกันดูสิ” คุณวันใหม่ นิยม (คุณครูโรงเรียนรุ่งอรุณ พ่วงตำแหน่งผู้จัดการโครงการบางมดเฟสในครั้งนี้) บอกเราไว้แบบนั้น และก่อนวันงานจะมาถึง Sarakadee Lite ได้ชวนครูวันใหม่ ร่วมด้วย คุณลุงปรีชา พลอยเลี้ยง (อดีตประธานชุมชนหมู่ 3 บางมด) และคุณกอล์ฟ-วิชิต วราศิริกุล (ประธานวิสาหกิจชุมชนคลองบางมดสร้างสรรค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง 3C Project และ Can Do Team) มาบอกเล่าถึงความพิเศษของ บางมดเฟส ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ให้เราฟัง

วิถีชีวิตริมคลองกำลังจะกลับมา

จากคำบอกกล่าวของคุณกอล์ฟ บางมดเฟส เป็นเหมือนสะพานเชื่อมทั้งระหว่างคนในพื้นที่ด้วยกัน และคนในพื้นที่กับคนนอกพื้นที่ โดยจุดเริ่มต้นเกิดจาก 3C Project ซึ่งประกอบไปด้วยคณะทำงานหลักคือ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คุณครูโรงเรียนรุ่งอรุณ (โรงเรียนในพื้นที่) กลุ่มผู้ปกครองโรงเรียนรุ่งอรุณ และกลุ่ม Can do team (กลุ่มอาสาสมัครในพื้นที่เขตทุ่งครุ่) ที่เล็งเห็นศักยภาพของคลองในกรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อก่อนใครๆ ก็เปรียบว่าเป็นเหมือน เวนิสตะวันออก มีคูคลองเชื่อมต่อกันหลายสาย จนเมื่อเวลาผ่านไปการสัญจรทางเรือเริ่มเลือนหาย พร้อมกับความหนาแน่นบนท้องถนนที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น

บางมดเฟส

จึงเกิดเป็นโครงการที่ตั้งใจผันการสัญจรทางเรือและเส้นทางเลียบคลองมาเป็นทางเลือกรองจากถนน โดยเริ่มปักหมุดที่คลองบางมดเป็นต้นแบบ ผลักดัน 3C หลัก คือ Canal-คลอง Cycling-จักรยาน และ Community-ชุมชน ผุดแนวคิดให้คนในพื้นที่เข้าเมืองโดยไม่ต้องใช้รถใช้ถนน จะด้วยการปั่นจักรยานเลียบคลองก็ดีหรือนั่งเรือก็ได้ คนในเมืองก็สามารถเข้ามาเยี่ยมชาวบางมดได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับรถติดหลายชั่วโมง 

เกิดเป็นความพิเศษของ บางมดเฟส ปีนี้ที่ทางโครงการจะเริ่มทดลองการใช้เรือใหญ่รับคนจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีวุฒากาศมาถึงคลองบางมด โดยกำลังมองหาจุดคุ้มทุน และหากเป็นไปได้ หลังจบงานครั้งนี้อาจพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวหรือเรือโดยสารในชีวิตประจำวันขึ้นมาจริงๆ และเมื่อชุมชนคึกคัก ชาวบ้านก็สามารถทำกิจการริมคลองต่อไปได้

บางมดเฟส
คุณกอล์ฟ-วิชิต วราศิริกุล (ประธานวิสาหกิจชุมชนคลองบางมดสร้างสรรค์
ผู้ร่วมก่อตั้ง 3C Project และ Can Do Team)

“บางมดเฟส เองก็เกิดมาจาก C ตัวสุดท้ายคือ Community ตั้งใจทำโครงการที่ช่วยเกี่ยวกับเศรษฐกิจ อยากให้คนในชุมชนมีรายได้ เลยจัดเป็นเทศกาลประจำปีที่นี่ขึ้น” คุณกอล์ฟกล่าว 

“เมื่อก่อนเราต่างคนต่างอยู่ ไม่จับกันเป็นกลุ่มก้อน แต่ก่อนมีการขายของทางเรือก็จะพายไปตลาดน้ำวัดไทร ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้ว ไม่มีอาชีพริมคลอง มีลูกมีหลานก็ส่งให้ไปเรียน ผู้สูงอายุอยู่บ้านก็ไม่รู้จะทำอะไร เมื่อ 3C เข้ามาก็เหมือนเป็นการจุดประกายให้เราตื่นตัว มีกิจกรรมให้คลองฟื้นฟูขึ้นมา ผมเห็นเต็มตัวเลยว่าผมพร้อมที่จะทำตรงนี้ ทำให้คนรุ่นหลังได้เห็น ถ้าทำแล้วสำเร็จขึ้นมา อาจจะกลายเป็นงานประเพณี ถ้าดีก็อาจจะทำ 2 ครั้งต่อปี หรือเดือนละครั้ง เมื่อสร้างมาแล้วก็อยากทำให้ถาวร ไม่ใช่ทำอะไรแล้วเหมือนไฟไหม้ฟาง ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อยากเห็นภาพที่ใครก็มาริมคลอง ได้มาสัมผัสได้มาจับจ่ายใช้สอย ใครมาก็ โห… แปลกตา มีต้นไม้ร่มเย็น แล้วทำไมเราจะไม่ทำให้มันดี เราอยากจะทำของเราเอง ขายของเราเอง โดยที่ไม่ไปซื้อของที่อื่นมาขาย” ลุงปรีชาซึ่งเกิดและเติบโตที่นี่เล่าเสริม

กลิ่นประวัติศาสตร์ศูนย์รวมวัฒนธรรมไทยจีนมุสลิม

ความตั้งใจหลักของปีนี้คือ การชูเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ให้เห็นชัดขึ้น ซึ่งกิจกรรมภายในงานคือสิ่งที่ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ช่วยกันคิดขึ้นมา และได้มีการขยายพื้นที่จัดงานใหม่ให้คนรู้จักมากขึ้นด้วย เช่นโซนศาลเจ้าแม่ทับทิมที่เป็นจุดหลักของปีนี้ ถือเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมจีนในพื้นที่ที่สะท้อนผ่านศาลเจ้าซึ่งโดดเด่นเรื่องความสวยงามของสถาปัตยกรรมจีนไหหลำ และคนจีนในอดีตเองก็มีความสำคัญ เพราะถือเป็นผู้นำเข้าส้มบางมดมาจากจังหวัดนนทบุรี หรือจากตอนบนของกรุงเทพฯ จนโด่งดังเป็นส้มบางมดที่ใครๆ ก็ต้องนึกถึง ตั้งแต่ราว 90 ปีก่อน

ไฮไลต์ที่น่าตื่นเต้นของโซนนี้คือ ‘ตะกร้อลอดห่วง’ เป็นการเล่นตะกร้อที่ไม่มีเน็ตกั้นกลางแต่จะมีห่วงอยู่ด้านบน ซึ่งในอดีต ‘คณะมิตรบางมด’ ถือว่ามีชื่อเสียง คอยตระเวนไปแข่งตามงานวัดต่างๆ แอบกระซิบหน่อยว่าถ้าใครอยากดูต้องเคลียร์คิวไปตั้งแต่พิธีเปิดเลย

ถัดมาที่โซนวัดพุทธบูชาซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2497 ปัจจุบันเป็นจุดเชื่อมคลองกับซอยและถนนหลายสาย ถือเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทยในพื้นที่ 

คุณลุงปรีชา พลอยเลี้ยง (อดีตประธานชุมชนหมู่ 3 บางมด)

“ตอนสร้างวัดผมอายุ 7 ขวบ ก็ไปช่วยเขาถมดิน อาศัยชาวบ้านช่วยกัน หลวงพ่อเพิ่ม (เจ้าอาวาสวัดพุทธบูชารูปแรก) ท่านมองการณ์ไกลมาก ก่อนจะมีถนน ท่านซื้อเรือสำหรับขนวัสดุมาสร้างวัด ท่านบอกซื้อเรือเพื่อจะมีรถ เอาเรือมาสร้างวัดได้ใหญ่โต พอมีวัดแล้วก็ไปบิณฑบาตขอที่สร้างถนน ลักษณะถนนจะคดเคี้ยวมาก ก็บิณฑบาตมาเรื่อยๆ ชาวบ้านก็ว่าท่านบ้าง บางคนก็ไม่ให้บ้าง ถนนก็เลยคดเคี้ยว ไปทางนั้นบ้างทางนี้บ้าง มีถนนแล้วจากนั้นท่านก็ขายเรือ ไปซื้อรถสิบล้อเพื่อบรรทุกวัสดุหนักๆ มาทางรถ นำพระพุทธชินราชมา พอวัดเจริญแล้วทุกอย่างก็เริ่มเจริญขึ้น ท่านเห็นว่าต้องมีโรงเรียนก็ยกที่ให้ทำโรงเรียนวัดพุทธบูชา ผมก็เป็นรุ่นแรกที่เรียนที่นั่น” ลุงปรีชาเล่าย้อนถึงความหลังพลางยิ้ม

ชุมชนหมู่ 3 บางมดซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงลึกเข้ามาจากวัดตามถนนเลียบคลองจะเป็นโซนของขนมไทย ซึ่งโดยปกติลุงปรีชาเองจะทำขนมใส่ไส้ขายอยู่เป็นประจำ ในวันนั้นเรามีโอกาสได้ลองชิมขนมที่ลุงปรีชาเรียกว่า สามเกลอ (ขนมฟักทอง กล้วย และมัน) แล้วยังติดใจ ถ้ามีโอกาสอยากให้ทุกคนได้ไปลองชิม นอกจากนั้นโซนนี้ยังได้เตรียมพื้นที่สำหรับกิจกรรมโดยจะมีอังกะลุงและกลองยาว ให้เด็กๆ ได้มาเล่น ใครมีเด็กๆ ที่บ้านพาจูงมือมุ่งตรงไปโซนนี้ได้เลย

โซนมัสยิดสอนสมบูรณ์ (ดาริลหะซัน) มัสยิดนูรุลหุดาและบ้านริมคลอง ถือเป็นตัวแทนวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งแต่ก่อนชาวมุสลิมถือเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ในการทำนา ก่อนที่ส้มบางมดจะเจริญรุ่งเรือง จนเกิดการขยับขยายเปลี่ยนนามาทำเป็นสวน 

โซนบ้านริมคลองหรืออาจจะคุ้นในชื่อตลาดมดตะนอย มีสวนมะพร้าวของลุงวิชัย คนมุสลิมในพื้นที่ที่จะมีภูมิปัญญาเรื่องมะพร้าวมาบอกกล่าวภายในงาน ในส่วนนี้ได้นักศึกษาสาขาภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาเป็นอาสาสมัครช่วยทำสื่อเผยแพร่ในวันงานด้วยอีกแรง

คุณวันใหม่ นิยม (คุณครูโรงเรียนรุ่งอรุณ และผู้จัดการโครงการบางมดเฟส ครั้งที่ 4)

ทั้งยังมีส่วนของเวิร์กชอปเรื่องการนำน้ำมะพร้าวมาแปลงมูลค่า เช่น ทำขนมหรือสบู่สำหรับผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังเพียบพร้อมไปด้วยอาหารที่มีเอกลักษณ์แบบมุสลิมดั้งเดิมเช่น ก๋วยเตี๋ยวแกง ที่มีลักษณะคล้ายกับแกงกะทิที่เพิ่มเส้นก๋วยเตี๋ยวเข้าไป มีเนื้อสะเต๊ะ ไก่สะเต๊ะ ให้ได้จับจ่ายลองชิมกัน งานนี้ต้องเตรียมท้องว่างๆ กันไว้เลย เพราะครูวันใหม่ออกตัวว่าชิมมาแล้ว แถมรับประกันในความอร่อย

สร้างชุมชนเข้มแข็งยืนหยัดได้ด้วยตนเอง

ที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ อีกเรื่องสำคัญคือ การจัดงานครั้งนี้ไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากที่ใดเลย เป็นปีแรกที่ชาวริมคลองบางมดลุกขึ้นมาทำ แม้ไม่มีงบประมาณสนับสนุน 

“ผมไม่หวังผลกำไรเท่าไรนะ ผมหวังผลต่อไปในวันข้างหน้า เมื่อลงมือทำอะไรแล้วผลมันจะมาเอง ผมยอมลงทุน ยอมจ่ายเพื่อต่อไปข้างหน้าลูกหลานจะได้ทำต่อเนื่องไปได้” ลุงปรีชากล่าวถึงความตั้งใจ

ในการเตรียมงาน แต่ละโซนจะมารวมตัวประชุมกันเป็นระยะ โดยจะเวียนสถานที่ประชุมไปในแต่ละพื้นที่เพื่อทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคย พร้อมกับเปิดรับอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานในฝ่ายต่างๆ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี เช่นปีที่ผ่านมามีอาสาสมัครรวมกว่า 200 คน

ในส่วนของการจัดการขยะและแนวคิด Zero Waste กำลังอยู่ในขั้นตอนการหาแนวทางร่วมทั้งกับตัวงานและชุมชนบางมดเอง โดยโรงเรียนรุ่งอรุณให้ความสำคัญเรื่องของการจัดการขยะมาราว 10 ปีแล้ว โดยในวันงานได้จัดมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย โดยปีนี้ได้พาร์ตเนอร์อย่าง ผู้แทนส่วนงานจัดการขยะ เทศกาล Wonderfruit และองค์กร SOS ซึ่งทำงานจัดการอาหารเหลือทั่วกรุงเทพฯ มาช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมภายในงานอีกแรง โดยคุณกอล์ฟกล่าวเสริมว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เปิดโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นอะไรที่ท้าทายอยู่เหมือนกัน

จุดประกายการสร้างรายได้ให้กับชุมชน

หลังจากเกิด บางมดเฟส ขึ้นมาพร้อมกับการตอบรับที่ดีจากผู้ที่มาร่วมงาน ก็เริ่มมีโครงการย่อยๆ เกิดขึ้นตามมาจากการดำเนินการของกลุ่มชาวบ้านเอง เช่น ‘ตลาดมดตะนอย’ ที่จะจัดขึ้นเดือนละครั้ง หากใครติดใจอาหารฮาลาลในงานบางมดเฟส สามารถกลับมาซ้ำที่ตลาดมดตะนอยได้เลย หรือโครงการ ‘กัมปงในดงปรือ’ ที่จัดทริปท่องเที่ยวเชิงเกษตรสั้นๆ ให้กับผู้ที่สนใจสัมผัสชีวิตริมคลอง เป็นทริปเล็กๆ ล่องเรือ ชมสวน ทำกิจกรรมร่วมกันและได้กินอาหารจากคนในท้องถิ่น เรียกได้ว่า บางมดเฟส เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนเริ่มมองเห็นศักยภาพของสิ่งที่มีอยู่ เห็นทางที่จะต่อยอดไปสู่การมีรายได้โดยไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอก และคนเมืองเองก็มีแหล่งเรียนรู้ มีที่พักใจจากความวุ่นวายในตัวเมืองเพิ่มขึ้นมา โดยที่อาจไม่ต้องไปไกลถึงต่างจังหวัดด้วย

บางมดเฟส

หลังจบบทสนทนา เราเดินออกมาที่ถนนเลียบคลองพร้อมขนมสามเกลอที่ลุงปรีชาให้ติดมือกลับมา น้ำในคลองพลิ้วไหวจากเรือยนต์เรือพายที่แล่นผ่านไปมาอยู่เสมอ บนถนนมีทั้งรถมอเตอร์ไซค์และจักรยานที่สัญจรไปมา พร้อมกันนั้นมีชาวบ้านปั่นจักรยานผ่านไปคันหนึ่งพร้อมประโยคที่ว่า “อย่าลืมมาเที่ยวงานนะ เขาจะจัดงานวันที่ 7-9 กุมภาฯ” เชื่อแล้วว่าความเป็นชุมชน ยังมีชีวิตอยู่จริงๆ 

Fact File

  • บางมดเฟส ครั้งที่ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 15.00-21.00 น. ณ พื้นที่ชุมชนเลียบคลองบางมด
  • ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : 3C Project
  • การเดินทาง : BTS สถานีวงเวียนใหญ่ แล้วต่อรถ หรือ BTS วุฒากาศแล้วต่อเรือของโครงการ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : 3C Project

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

พายุทราย พรายทะเล
วานนี้ เติบโตในสวนอักษร I วันนี้ พเนจรไปกับเสียงชัตเตอร์