Computer Vision Syndrome ภัยเงียบของมนุษย์ออฟฟิศที่ทำร้ายดวงตา
Better Living

Computer Vision Syndrome ภัยเงียบของมนุษย์ออฟฟิศที่ทำร้ายดวงตา

Focus
  • อีกหนึ่งอวัยวะที่มนุษย์ออฟฟิศไม่ควรหลงลืมดูแลก็คือ ดวงตา เพราะการนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์แบบมาราธอนทั้งวันทำให้เกิด คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม
  • ปวดเมื่อยตา ตาล้า ไม่ค่อยอยากลืมตา ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด โฟกัสได้ช้าลง เหล่านี้คืออาการเบื้องต้นของคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม

นอกจากอาการปวดหลังที่ถาโถมสู่หนุ่มสาววัยทำงานจนต้องมองหาอุปกรณ์เพื่อ #Saveหลัง หรือพยายามจัดหาท่านั่งที่เหมาะสมไม่ให้เพิ่มความโอดโอยไปมากกว่าเก่า อีกหนึ่งอวัยวะที่มนุษย์ออฟฟิศวัยทำงานไม่ควรหลงลืมดูแลก็คือ ดวงตา เพราะการนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์แบบมาราธอนทั้งวัน ส่วนเวลาพักก็ยังโยกย้ายไปเช็กความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟนอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมที่ไม่อ่อนโยนต่อดวงตาเหล่านี้อาจนำไปสู่โรคทางตาที่เรียกว่า คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม ( Computer Vision Syndrome ) หรือย่อสั้น ๆ คือ CVS ขึ้นมาได้

ยิ่งการใช้ชีวิตในตอนนี้ที่ทำให้เราต้องอยู่ติดกับหน้าจออย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะแทบทุกกิจกรรมไม่ว่าจะการเรียนออนไลน์ Work from Home หรือการประชุมก็ตาม หน้าจอกลับกลายเป็นอาวุธคู่กายที่จำเป็นต้องมีและเอาไว้ใกล้ตัวไปเสียแล้ว นั่นทำให้เรายิ่งต้องหันมาสังเกตและเอาใจใส่เพื่อชะลอเวลาไม่ให้โรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรมถามหาดวงตาของเรา

Computer Vision Syndrome

อาการแบบไหนที่เรียกว่า Computer Vision Syndrome

  1. ตาแห้ง แสบและเคืองตา
  2. ปวดเมื่อยตา ตาล้า ไม่ค่อยอยากลืมตา
  3. ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด โฟกัสได้ช้าลง
  4. เวลากะพริบตาอาจมีน้ำตาไหลออกมา
  5. ปวดบริเวณกระบอกตา รวมไปถึงปวดศีรษะ หลัง ไหล่ หรือปวดต้นคอ เป็นอาการที่เรียกว่าออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)
Computer Vision Syndrome

ทำอย่างไรไม่ให้การงานทำร้ายดวงตา

  1. จัดคอมพิวเตอร์และแป้นพิมพ์ให้อยู่ในระดับและมีความห่างจากตัวที่พอดี สามารถใช้งานได้สบาย ๆ ไม่ต้องเหยียดหรืองอจนเกินไป
  2. ปรับระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีมุมของระดับสายตาที่เหมาะสม โดยให้จอคว่ำลงประมาณ 15องศา
  3. ควรเว้นระยะห่างของคอมพิวเตอร์จนถึงระยะสายตาประมาณ 80-100 เซนติเมตร
  4. ขนาดตัวหนังสือที่ใช้ต้องมีความสบายตา ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป
  5. ปรับสีของตัวหนังสือ รวมถึงพื้นหลังให้เหมาะสม ไม่จ้าจนเกินไป เพื่อให้สามารถมองได้อย่างสบายตา
  6. ปรับความสว่างในห้องทำงาน และอุปกรณ์ที่ใช้งานให้เหมาะสม เพื่อลดแสงสะท้อนจากหน้าจอหรือแสงที่ทำให้ภาพที่มองไม่คมชัด จนทำให้ต้องเพ่งสายตามากขึ้น
  7. หมั่นกะพริบตาให้ถี่ขึ้น เพราะการจ้องหน้าจอนาน ๆ อาจทำให้เรากะพริบตาน้อยลงและอาจเกิดอาการตาแห้งได้
  8. คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม มีความสัมพันธ์โดยตรงกับระยะเวลาที่เราอยู่หน้าจอ จึงควรมีการพักสายตาระหว่างการทำงาน ตามหลัก 20 : 20 : 20 คือ ทุก 20 นาที พักสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง
  9. วางแก้วน้ำที่ใส่น้ำ 1 แก้วไว้ข้าง ๆ เพื่อให้มีน้ำระเหยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตามากขึ้น

อ้างอิง

  • คำแนะนำในการดูแลสุขภาพดวงตาจาก รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์เลเซอร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ