9 เรื่องต้องรู้ พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020
- พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม – 5 กันยายน 2564 พร้อมกับการเปิดตัวมาสคอตสีชมพูสดใส Someity (โซเมตี้)
- โตเกียวเคยเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาพาราลิมปิกเกมส์มาแล้วใน ค.ศ. 1964 และเป็นเมืองแรกของโลกที่ได้กลับมาเป็นเจ้าภาพพาราลิมปิกเกมส์ ซ้ำเป็นครั้งที่ 2
พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ปิดฉากลงในวันที่ 5 กันยายน 2564 ในเวลา 21.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือราว 18.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย รวมระยะเวลาการแข่งขันทั้งสิ้น 12 วัน โดยธีมสำหรับพิธีปิด ได้แก่ Harmonious Cacophony เสียงประสานแห่งความกลมเกลียว พร้อมส่งไม้ต่อการจัดมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ครั้งต่อไปให้กับกรุงปารีสซึ่งจะเป็นเจ้าภาพในปี 2024
Sarakadee Lite ขอส่งต่อความประทับใจที่เกิดขึ้นใน พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ผ่าน 9 เรื่องเกร็ดกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ มหกรรมกีฬาของมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องใช้พลังกายและใจอันแสนพิเศษในการดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวของทุกคนออกมา
01 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ “เหรียญรางวัลเพื่อผู้พิการทางสายตา”
เหรียญรางวัล พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากพัดญี่ปุ่นโบราณ เปรียบ พาราลิมปิก เป็นดั่งสายลมที่นำพาความสดชื่นมาสู่โลก ส่วนจุดแกนกลางซึ่งเชื่อมโยงส่วนต่างๆของพัดเข้าด้วยกันเปรียบเสมือนการรวมตัวกันของนักกีฬาพาราลิมปิกจากหลากหลายเชื้อชาติ ด้านลวดลายบนด้ามพัดสื่อถึงจิตใจที่เปี่ยมพลังของมนุษยชาติ และยังแทรกความหมายเรื่องความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของคนญี่ปุ่นผ่านลวดลายของก้อนหิน ป่าไม้ ดอกไม้ ใบไม้ และสายน้ำ ซึ่งเรื่องธรรมชาติก็เป็นคีย์หลักที่มีการใส่ไว้ใน มาสคอตพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ด้วยเช่นกัน
คำว่า Tokyo 2020 บนเหรียญพาราลิมปิก 2020 ยังมีความพิเศษด้วยการเพิ่มตัวอักษรเบรลล์ซึ่งปรากฏอยู่ด้านหน้าของเหรียญ ส่วนด้านข้างของเหรียญจะมีจุดวงกลมที่แตกต่างกันบอกความหมายของรางวัล โดย 1 จุดสำหรับเหรียญทอง 2 จุดสำหรับเหรียญเงิน และ 3 จุดสำหรับเหรียญทองแดง ซึ่งเมื่อผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสเหรียญ จะสามารถแยกความแตกต่างของเหรียญแต่ละชนิดได้ทันที และนับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ที่มีการดีไซน์เหรียญโดยคำนึงถึงนักกีฬาผู้พิการทางสายตา
เช่นเดียวกับสายริบบิ้น สำหรับห้อยเหรียญรางวัลออกแบบให้มีลวดลายที่ลดทอนและร่วมสมัยโดยเป็นการผสมผสานระหว่างลายโบราณของญี่ปุ่นรูปตารางหมากรุกที่เรียกว่า ichimatsu moyo และลายที่มาจากเทคนิคการซ้อนทับผ้าและเฉดสีหลายชั้นในการตัดเย็บชุดกิโมโนที่เรียกว่า Kasane no irome นอกจากนี้ยังมีการใช้วัสดุที่เรียกว่า silicone convex ทำเป็นจุดนูนบนสายริบบิ้นเพื่อแยกเหรียญแต่ละชนิดได้ทันทีเมื่อสัมผัสโดย 1 จุดสำหรับเหรียญทอง 2 จุดสำหรับเหรียญเงิน และ 3 จุดสำหรับเหรียญทองแดง
02 “Someity” มาสคอตดีไซน์จาก ดอกซากุระ
Someity (โซเมตี้) มาสคอตของพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ออกแบบโดยนักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น Taniguchi Ryo ซึ่งได้ฉายา คุนลุงซินเดอร์เรลลา (Uncle Cinderella) เพราะก่อนหน้านี้ Taniguchi เป็นนักวาดการ์ตูนที่ไม่ได้โด่งดังมากนัก กระทั่งแบบร่างมาสคอตโอลิมปิกและพาราลิมปิกของเขาได้รับการคัดเลือก
คำว่า Someity มาจากคำว่า Somei Yoshino (โซเม โยชิโนะ) เป็นชื่อสายพันธุ์หนึ่งของดอกซากุระ สัญลักษณ์ประจำชาติญี่ปุ่น และ Somei Yoshino ยังเป็นสายพันธุ์ซากุระดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ยุคเอโดะแสดงถึงการผสมผสานของยุคสมัยจากเอโดะสู่ปัจจุบัน เช่นเดียวกับยูนิฟอร์มสีชมพูลายตารางหมากรุก Ichimatsu หรือ Ichimatsu moyo ซึ่งเป็นหนึ่งในลายโบราณของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมมาก ชื่อลาย Ichimatsu ตั้งตามนักแสดงคาบูกิชื่อดังแห่งยุคเอโดะ Ichimatsu Sanogawa ผู้ที่ทำให้ลวดลายหมากรุกโด่งดัง ส่วนการออกเสียงว่า โซเมตี้ นั้นมีความตั้งใจให้ออกเสียงคล้ายกับคำว่า “so mighty” ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า ทรงพลัง
03 “โตเกียว” เมืองแรกในโลกที่เป็นเจ้าภาพ พาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 2
โตเกียวเคยเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาพาราลิมปิกเกมส์มาแล้วใน ค.ศ. 1964 และเป็นเมืองแรกของโลกที่ได้กลับมาเป็นเจ้าภาพพาราลิมปิกเกมส์ ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในพาราลิมปิกเกมส์ 2020
04 “นักกีฬาพาราลิมปิกผู้ลี้ภัย” ทีมแรกของโลกลงแข่งขัน
ในพิธีเปิดการแข่งขัน พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ตัวแทนนักกีฬากลุ่มแรกที่เดินเข้ามาในสนามคือ นักกีฬาพาราลิมปิกผู้ลี้ภัย โดยมีผู้แทนเชิญธงในพิธีเปิด คือ อาเลีย อิสสา นักขว้างไม้ และ แอบบาส คาริมิ นักว่ายน้ำและผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียงของ UNHCR ซึ่งตลอดมาเขาได้ช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผู้พลัดถิ่นทั่วโลก
แม้พาราลิมปิกครั้งที่ผ่านมาที่ริโอจะมีนักกีฬาผู้พลัดถิ่นลงเข้าร่วมแข่งขัน แต่เป็นการลงแข่งในนามทีมอิสระ ดังนั้น พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 จึงถือเป็นครั้งแรกที่มีทีมนักกีฬาพาราลิมปิกผู้พลัดถิ่นลงแข่งภายใต้ธงสัญลักษณ์ของคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลตลอดการแข่งขัน ถือได้ว่านักกีฬากลุ่มนี้เป็นตัวแทนของผู้พลัดถิ่นอีกกว่า 82 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้พลัดถิ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายราว 12 ล้านคน และสำหรับทีมนักกีฬาพลัดถิ่นในปีนี้ประกอบด้วยผู้ลี้ภัย 6 คน จาก 4 ประเทศที่มอบพักพิง ลงแข่งใน 5 ประเภทกีฬาพาราลิมปิก
“ถึงแม้จะมีความท้าทายอยู่มาก แต่ผู้ลี้ภัยที่มีความบกพร่องทางร่างกายคือตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและเป็นผู้นำร่องสำหรับชุมชนของพวกเขา และรวมถึงในด้านกีฬาสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายด้วย พวกเขาสมควรได้รับการเข้าถึงและโอกาสในการแสดงศักยภาพ ผมจะคอยส่งกำลังใจให้ทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยด้วยความภาคภูมิใจที่พวกเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับโลกใบนี้ด้วยความมุ่งมั่นและความสามารถพิเศษของพวกเขาเอง” ฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว ซึ่งในเรื่องการสนับสนุนนักกีฬาพาราลิมปิกผู้พลัดถิ่นนั้นเป็นการทำงานภายใต้ความความร่วมมือระหว่างสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา
“ผมเคยพูดไว้แล้วและผมจะขอพูดอีกครั้งว่า ทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยเป็นทีมนักกีฬาที่มีความกล้าหาญที่สุดในโลก” แอนดรูว์ พาร์สันส์ ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า
“เมื่อคุณได้เห็นการเดินทางอันน่าทึ่งของนักกีฬาเหล่านี้กว่าที่พวกเขาจะมาถึงโตเกียวได้ คุณจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากกีฬาจริงๆ และในสัปดาห์เดียวกันนี้เราได้เริ่มโครงการวีเดอะ15 (WeThe15) มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมอบเสียงและตัวตนให้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ในโตเกียวโอลิมปิก 2020 นี้ ทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยจะได้เป็นกระบอกเสียงและตัวแทนของผู้พลัดถิ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายอีกกว่า 12 ล้านคนอย่างน่าภาคภูมิใจ”
05 ปรากฏธงชาติ “อัฟกานิสถาน” แม้ทัพนักกีฬาจะเดินทางมาไม่ได้
ตลอดช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมานี้ทั่วโลกต่างจับตาสถานการณ์การเมืองในอัฟกานิสถาน ทั้งเรื่องการถอนทหารของกองทัพสหรัฐฯ การกลับมาของตาลีบันพร้อมการประกาศชัยชนะแถลงข่าวการสิ้นสุดสงครามอัฟกานิสถานที่ยาวนานถึง 20 ปี ทำให้มีชาวอัฟกันส่วนหนึ่งต่างก็พยายามลี้ภัยออกนอกประเทศ
ความปั่นป่วนและความไม่สงบในอัฟกานิสถานส่งผลโดยตรงต่อนักกีฬาพาราลิมปิกทำให้นักกีฬาและสตาฟโค้ชไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศมาร่วมการแข่งขันได้ทันในวันเปิดการแข่งขัน 24 สิงหาคม 2020 แต่กระนั้นทาง คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) ก็ยังคงนำธงชาติอัฟกานิสถานมาเข้าร่วมขบวนในพิธีเปิด โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลเป็นผู้เชิญธงชาติ
แต่แล้วก็มีเรื่องเซอร์ไพรส์ที่ทำให้ทั้งหมู่บ้านนักกีฬาได้ยิ้มอีกครั้งเมื่อ 2 นักกีฬา ซาเคีย คูดาดาดี นักกีฬาเทควันโดหญิง และ ฮอสเซน ราซูลี นักกรีฑาชาย ได้รับการช่วยเหลือให้สามารถออกนอกประเทศและเดินทางมาถึงกรุงโตเกียวได้อย่างปลอดภัย สามารถลงแข่งขันได้ทันเวลา
06 “แบดมินตัน / เทควันโด” 2 กีฬาชนิดใหม่ พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020
สำหรับในพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 นี้ แบดมินตัน และ เทควันโด คือ 2 ชนิดกีฬาใหม่ที่ถูกบรรจุเข้ามาซึ่งนำมาแทนกีฬาเรือใบและฟุตบอล 7 คน รวมแล้วในปีนี้มีทั้งหมด 28 ชนิดกีฬา โดยในส่วนของแบดมินตันนั้นมีทั้งแบบวีลแชร์ และแบบยืน ทั้งเดี่ยวและผสม ส่วนเทควันโดนั้น ขวัญสุดา พวงกิจจา คือนักกีฬาหนึ่งเดียวของไทยที่เข้าร่วมแข่งขันพร้อมคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จ ส่วนชนิดกีฬาสำหรับพาราลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาวที่เพิ่งบรรจุใหม่ล่าสุดคือ สโนว์บอร์ด เปิดตัวในปี 2014 เมื่อครั้งที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ
07 เปิดตัวแคมเปญ “WeThe15” กระบอกเสียงเพื่อผู้พิการ 15% ของประชากรโลก
ในงานพิธีเปิด พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ได้มีการเปิดตัวแคมเปญระดับโลก WeThe15 เพื่อเป็นกระบอกเสียงแทนผู้มีความบกพร่องทางร่างกายจากทั่วโลก ให้โลกได้รู้ว่าร้อยละ 15 ของประชากรโลก คือพื้นที่ของผู้พิการ หรือคิดเป็นจำนวนประชากรราว 1.2 พันล้านคน แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือจำนวนตัวเลขเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พวกเขาถูกผลักให้เป็นกลุ่มคนเปราะบาง เป็นคนชายขอบที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม
กรอบความคิดที่ว่าผู้บกพร่องทางร่างกายไม่เท่ากับปกติ ทำให้ผู้บกพร่องทางร่างกายไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ในการใช้ชีวิตได้ ทั้งเรื่องการทำงาน การเดินทาง ไปดูคอนเสิร์ต ไปห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งการเล่นกีฬา กลับกันถ้าสังคมมองว่า 1.2 พันล้านคนนี้คือคนปกติธรรมดาคนหนึ่ง พวกเขาก็จะสามารถเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ได้มากขึ้นไม่เว้นแม้แต่สนามกีฬาก็จะมีพื้นที่ที่พวกเขาสามารถเข้าไปร่วมได้
ติดตามกิจกรรมจากแคมเปญ WeThe15 ได้ที่ www.wethe15.org
08 จัดเต็มแรงบันดาลใจจาก “โปสเตอร์พาราลิมปิก”
ตอบรับชุดความคิดที่ว่าการกีฬาเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้นเจ้าภาพญี่ปุ่นจึงจัดเต็มสินค้าที่ระลึกและโปสเตอร์พาราลิมปิกเกมส์ที่นอกจากจะมีโปสเตอร์หลักอย่างเป็นทางการแล้ว ก็เปิดพื้นที่ให้มี Art Poster รวมทั้งหมด 8 แบบ แต่ละแบบแตกไลน์ออกมาเป็นกระเป๋า สมุด เสื้อยืด โปสการ์ด ปฏิทิน ให้ได้เลือกสะสม ซึ่งแต่ละภาพก็ส่งต่อเรื่องราว แรงบันดาลใจ และกำลังใจจากเหล่านักกีฬาได้อย่างเต็มเปี่ยม
09 เบื้องหลังความสำเร็จทัพนักกีฬาพาราลิมปิก “ทีมชาติไทย”
สำหรับประเทศไทยนั้นเข้าร่วมแข่งพาราลิปิกเกมส์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1984 ซึ่งจัดที่ Stoke Mandeville และ นิวยอร์ค โดยในครั้งแรกไทยยังไม่สามารถคว้าเหรียญใดๆ มาครองได้ หลังจากนั้นใน ค.ศ.1988 พาราลิมปิกเกมส์ กรุงโซล สกุล คำตัน ก็เป็นนักกีฬาพาราลิมปิกคนแรกของไทยที่สามารถคว้าเหรียญแรกมาครองได้จากกีฬาพุ่งแหลนชาย และต่อมาทีมพาราลิมปิกไทยก็สามารถคว้าเหรียญกลับบ้านได้ตลอด โดยมี วะโฮรัมย์ เป็นตำนานนักกีฬาวีลแชร์เรซซิง ที่สามารถคว้าเหรียญรวมมาครองได้มากที่สุดคือ 7 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน และอีก 1 เหรียญทองแดง
สำหรับพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ไทยส่งนักกีฬาเข้าชิงชัยถึง 74 คน ใน 14 ชนิดกีฬา ได้แก่ เทควันโด ยิงธนู แบดมินตัน วีลแชร์ฟันดาบ ยกน้ำหนัก ว่ายน้ำ เทเบิลเทนนิส กรีฑา (ลู่-ลาน,วีลแชร์เรซซิ่ง) จักรยาน ยิงปืน วีลแชร์เทนนิส บอคเซีย ฟุตบอลตาบอด และยูโด และสามารถทำผลงานกวาดมาได้ทั้งหมด 18 เหรียญ แบ่งเป็น 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง
อ้างอิง