วัคซีน HXP–GPOVac วัคซีนโควิดชนิดแรกของทีมไทยที่เข้าสู่ขั้นตอนวิจัยในมนุษย์
Better Living

วัคซีน HXP–GPOVac วัคซีนโควิดชนิดแรกของทีมไทยที่เข้าสู่ขั้นตอนวิจัยในมนุษย์

Focus
  • วัคซีน HXP–GPOVac เป็นวัคซีนประเภทเชื้อตายชนิดลูกผสม (Inactivated chimeric vaccine) ผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก (Egg-based)
  • วัคซีน HXP–GPOVac พัฒนาขึ้นโดย องค์การเภสัชกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดแรกของทีมนักวิจัยไทยที่เข้าสู่ขั้นตอนวิจัยในมนุษย์

เมื่อวัคซีนคือความหวังของมวลมนุษยชาติในการแก้ไขวิกฤติโควิด-19 เหล่านักวิจัยในประเทศต่างๆ จึงเดินหน้าเต็มกำลังพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับทีมนักวิจัยไทยที่เริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 มาตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา และล่าสุดก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากเมื่อ วัคซีน HXP–GPOVac ซึ่งเป็นวัคซีนประเภทเชื้อตายชนิดลูกผสม (Inactivated chimeric vaccine) ผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก (Egg-based) พัฒนาโดย องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 2 ถือเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดแรกของทีมนักวิจัยไทยที่เข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยในมนุษย์ Sarakadee Lite ขอย้อนไทม์ไลน์การพัฒนาเพื่อไปรู้จักวัคซีนชนิดนี้กัน

วัคซีน HXP–GPOVac
  • วัคซีน HXP–GPOVac พัฒนาขึ้นโดย องค์การเภสัชกรรม เป็นวัคซีนโควิด-19 แบบนวัตกรรมเชื้อตายชนิดลูกผสม (Inactivated chimeric vaccine) ผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก (Egg-based) เช่นเดียวกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  • องค์การเภสัชกรรมได้เริ่มต้นโครงการวิจัยพันฒนาวัคซีน HXP–GPOVac เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ได้รับมอบหัวเชื้อวัคซีนต้นแบบมาจากองค์กร PATH โดยหัวเชื้อวัคซีนต้นแบบนี้พัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ที่เมาท์ไซนาย (The Icahn School of Medicine at Mount Sinai) และมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน (University of Texas at Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นเข้าสู่กระบวนการผลิตที่โรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ ขององค์การเภสัชกรรมที่ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี  
  • ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ หัวหน้าโครงการวัคซีน HXP–GPOVac องค์การเภสัชกรรม กล่าวถึง หัวเชื้อวัคซีนต้นแบบของวัคซีนว่าได้พัฒนาจากนวัตกรรมการตัดต่อไวรัสนิวคาสเซิล (Newcastle disease virus, NDV) ให้มีการแสดงออกของโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาซึ่งถูกปรับแต่งด้วยเทคโนโลยีเฮกซะโปร (HexaPro) เพื่อให้มีความคงตัวมากขึ้น จากนั้นนำมาใช้ในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคโควิด-19  ด้านเทคโนโลยีเฮกซะโปรนี้ ถูกพัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน โดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกับที่ได้พัฒนาโปรตีนหนามรุ่นแรกที่นำไปใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 3 ชนิดที่มีการใช้อยู่ทั่วโลก ทั้งนี้องค์กร PATH ได้ส่งมอบหัวเชื้อไวรัสให้แก่ 3 ผู้ผลิตวัคซีนเท่านั้น ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ประเทศบราซิล และองค์การเภสัชกรรมของไทยซึ่งต่อยอดสู่การผลิตวัคซีน HXP–GPOVac
  • กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 วัคซีน HXP–GPOVac เข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในสัตว์และได้รับผลพรีคลีนิค และนำไปสู่การศึกษาวิจัยพรีคลินิกระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยในมนุษย์เมื่อเดือนมีนาคม-กรกฎาคม พ.ศ.2564 เป็นการเข้าสู่กระบวนการวิจัยในมนุษย์ได้สำเร็จในระยะเวลา 10 เดือน นับเป็นวัคซีนโควิดชนิดแรกของประเทศไทยที่เข้าสู่ขั้นตอนการวิจัยในมนุษย์ โดยในการศึกษาวิจัยในมนุษย์ในระยะที่ 1 ได้ผลการวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันที่ 14 วัน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว
  • 16 สิงหาคม พ.ศ.2564 องค์การเภสัชกรรม ได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 2 โดยทำการวิจัยในอาสาสมัครจำนวน 250 คน อายุ 18-75 ปี เป็นผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิ-19 ทุกชนิดมาก่อน และไม่เคยเป็นผู้ป่วยโควิด-19 มาก่อน โดยการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 นี้ องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัย โดยมี ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน  รักษาการหัวหน้าศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยในมนุษย์
  • คาดว่าจะมีการศึกษาวิจัยทางคลีนิกระยะ 3 ได้ราวเดือนพฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้ นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงแผนการพัฒนาวัคซีนว่า เมื่อการศึกษาวิจัยในมนุษย์ครบทั้ง 3 ระยะ และวัคซีนได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization, EUA) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำเร็จ คาดว่าจะสามารถเดินหน้าผลิตวัคซีน HXP–GPOVac ได้ในกลางปี 2565 โดยวางกำลังการผลิตไว้ที่ 20-30 ล้านโดสต่อปี และจะทำการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง เบื้อต้นคาดว่าจะสามารถรองรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ให้แก่ชาวไทยได้ 10-15 ล้านคน 

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite