เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ ลดงานด่านหน้า เพิ่มประสิทธิภาพการฉีดวัคซีน
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโมเล เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ (Automate Vaccine) เพื่อช่วยลดงานของแพทย์ พยาบาลด่านหน้า โดยเฉพาะทีมฉีดวัคซีน
- เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ ใช้เวลาเพียง 4 นาที สามารถบรรจุวัคซีนลงเข็มฉีดยาได้ 12 เข็ม (12 โดส) สามารถเพิ่มวัคซีนในการฉีดได้ถึง 20%
นอกจากแพทย์ และนักวิจัยแล้ว วิศวกรทีมไทยแลนด์ก็เป็นอีกภาคส่วนที่ร่วมพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับแก้วิกฤติโควิด-19 มาโดยตลอด และล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน ได้พัฒนา เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ (Automate Vaccine) เพื่อช่วยลดงานของแพทย์ พยาบาลด่านหน้า โดยเฉพาะทีมฉีดวัคซีน ทั้งยังเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยกระจายวัคซีนสู่ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ ใช้สำหรับแบ่งบรรจุวัคซีนลงเข็มฉีดยา มีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากรบุคคล ทั้งยังทำให้การดูดวัคซีนจากขวดลงเข็มฉีดยามีความแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจากการทดสอบเครื่องต้นแบบ เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ ใช้เวลาเพียง 4 นาที สามารถบรรจุวัคซีนลงเข็มฉีดยาได้ 12 เข็ม (12 โดส) ซึ่งในสถานการณ์ที่ปริมาณการกระจายวัคซีนสู่ประชาชนคนไทยยังมีขีดจำกัด ความแม่นยำของการบรรจุวัคซีนลงเข็มฉีดยาแต่ละเข็มจึงมีความจำเป็นมาก และผลจากการทดสอบพบว่า เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติสามารถเพิ่มวัคซีนในการฉีดได้ถึง 20%
เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ เปิดตัวด้วยการทดสอบกับวัคซีนแอสตร้าเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนที่บรรจุมาแบบหนึ่งขวดสามารถดูดฉีดได้หลายโดส (multiple dose) โดยวัคซีนแอสตร้าเซเนกา 1 ขวด ถูกแบ่งสำหรับฉีด 10 โดส จำนวนโดสละ 0.5 มิลลิลิตร แต่ผู้ผลิตจะบรรจุวัคซีนเกินมาให้ราว 6.5 มิลลิลิตร
ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ของไทยได้รับการฝึกฝนให้สามารถดูดวัคซีนแอสตร้าเซเนกาได้มากถึง 11-12 โดสต่อขวด แต่ภายใต้เงื่อนไขงว่า ต้องใช้เข็มฉีดยาชนิดที่ลดปริมาณยาคงค้างในกระบอกฉีดยา และใช้เวลารวมทั้งความระมัดระวังในการดูดวัคซีนอย่างมาก ดังนั้นเครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนอัตโนมัติจึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้ ทำให้การดูดวัคซีนและแบ่งบรรจุวัคซีนแต่ละโดสมีความแม่นยำตามที่กำหนด และลดจำนวนการใช้บุคลากรการแพทย์ได้
สำหรับการทำงานของ เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนอัตโนมัติเป็นระบบสายพาน ใช้เจ้าหน้าที่ในการควบคุมเครื่องเพียง 1 คน ทำหน้าที่เตรียมเข็มฉีดยาวางไว้บนแท่นจำนวน 12 หลอด จากนั้นนำขวดวัคซีนวางไว้ในจุดที่กำหนด เครื่องจะดูดวัคซีนออกมาจนหมดขวดโดยใช้หัวดูดสุญญากาศ และใช้หลักการดูดของเหลว โดยมี Air Cushion เป็นตัวที่ทำให้วัคซีนไม่สัมผัสกับหัวดูดโดยตรง จากนั้นจึงเคลื่อนไปแบ่งบรรจุลงเข็มฉีดยาตามจำนวนที่กำหนด คือ 0.5 มิลลิลิตรเท่ากันทั้ง 12 หลอด เครื่องนี้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แม่นยำ และรวดเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 4 นาที จากนั้นปิดหลอดด้วยเข็มฉีดยา และนำมาเก็บใส่ถาดบรรจุวัคซีนเพื่อนำไปใช้ฉีดต่อไป
เบื้องต้น เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนอัตโนมัติโมเดลแรกนี้ถูกใช้งานภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใช้เฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกา ทั้งนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแผนที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้สำหรับวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ รวมทั้งมีแผนความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ และโรงพยาบาลต่างๆ ที่สนใจ เพื่อผลิตออกสู่การใช้งานจริง พร้อมแผนส่งออกเครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนอัตโนมัตินี้ไปยังต่างประเทศด้วย