ปารีส โอลิมปิก 2024 : มากกว่ากีฬาคือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
Lite

ปารีส โอลิมปิก 2024 : มากกว่ากีฬาคือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

Focus
  • ปารีสเป็นเมืองที่รับไม้ต่อจากโตเกียวในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 33 หรือที่เรียกว่า โอลิมปิก ปารีส 2024 ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม ค.ศ. 2024
  • โอลิมปิก ปารีส 2024 เป็นการกลับมาเป็นเจ้าภาพในมหกรรมกีฬาโลกของเมืองหลวงแห่งฝรั่งเศสอีกครั้งในรอบ 100 ปี
  • ไฮไลต์ของการจัดงานคือจำนวนนักกีฬาหญิง-ชายที่เท่าเทียมกันเป็นครั้งแรก การเพิ่มเบรกแดนซ์เป็นชนิดกีฬาใหม่ เหรียญรางวัล 1 เหรียญที่แบ่งได้เป็น 4 ส่วน การใช้พลังงานสีเขียว และสนามกีฬาที่เชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

เมื่อโอลิมปิกโตเกียว 2020 ปิดฉากลงในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2021 ปารีสจะเป็นเมืองที่รับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 33 หรือที่เรียกว่า โอลิมปิก ปารีส 2024  หรือ Paris 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม ค.ศ. 2024 โดยเป็นการกลับมาเป็นเจ้าภาพในมหกรรมกีฬาโลกของเมืองหลวงแห่งฝรั่งเศสอีกครั้งในรอบ 100 ปี 

ปารีสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1900 และครั้งที่สองเมื่อ ค.ศ.1924 จึงนับเป็นมหานครลำดับที่ 2 ต่อจากลอนดอนที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพเป็นครั้งที่ 3 (ลอนดอนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี ค.ศ.1908, 1948 และ 2012) โดยการจัดงานในปี ค.ศ.2024 จะเน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและจำกัด โดยมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 10,500 คน (จาก 11,092 คนในโอลิมปิกโตเกียว 2020) และมี 32 ชนิดกีฬา 329 ประเภทการแข่งขัน (จาก 33 ชนิดกีฬา และ 339 ประเภทการแข่งขันในโตเกียว) 

โอลิมปิก ปารีส 2024

นอกจาก สเกตบอร์ด ปีนหน้าผา และกระดานโต้คลื่น 3 ชนิดกีฬาใหม่ที่บรรจุเพิ่มเข้ามาครั้งแรกในโอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่ยังคงอยู่ในรายการแข่งขันของ โอลิมปิก ปารีส 2024 อีก 1 ชนิดกีฬาใหม่ที่ผู้ชมจะได้เห็นเป็นครั้งแรกในโอลิมปิกอีก 3 ปีข้างหน้าคือ การแข่งขัน เบรกแดนซ์

“เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ซึ่งเป็นปรัชญาหลักแห่งชาติของฝรั่งเศสได้มีการสอดแทรกผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่นตราสัญลักษณ์ เหรียญรางวัล และจำนวนตัวเลขนักกีฬาหญิงที่เข้าร่วมแข่งขันซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่จำนวนนักกีฬาหญิงและชายมีสัดส่วนเท่ากันคือ 50:50 ทั้งนี้ทางเจ้าภาพยังพยายามลดการสร้างอาคารใหม่แบบถาวร และให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ดังเช่นที่โอลิมปิก โตเกียว 2020 ประสบความสำเร็จมาแล้วเรื่องการสร้างนวัตกรรมสังคมสีเขียว

Sarakadee Lite รวบรวมไฮไลต์ที่จะเกิดขึ้นในโอลิมปิกฤดูร้อนอีก 3 ปีข้างหน้าที่ปารีสซึ่งทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันยืนยันว่าพร้อมสุด ๆ 

โอลิมปิก ปารีส 2024

ตราสัญลักษณ์โอลิมปิก ปารีส 2024 : เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

คอนเซ็ปต์เรื่องความเสมอภาคฉายชัดในตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่การแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกจะใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกันโดยไม่แบ่งแยก องค์ประกอบหลักในการออกแบบประกอบด้วย 3 สิ่งคือ เหรียญทอง คบเพลิง และ มารีอานน์ (Marianne) สตรีผู้เป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพและเสมอภาคของฝรั่งเศส

สีทองในตราสัญลักษณ์มาจากเหรียญทองเพื่อสื่อถึงความเป็นเลิศ ความสามารถ ความพากเพียร ความแข็งแกร่งอดทนของนักกีฬา ส่วนคบเพลิงและเปลวไฟที่โชติช่วงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นกล้าหาญของมวลมนุษยชาติ และชี้ให้เห็นว่าการส่งต่อคบเพลิงในกีฬาโอลิมปิกที่จัดต่อเนื่องมายาวนานร่วมศตวรรษเป็นสิ่งที่เชื่อมผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกันและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ในโลกใบนี้ 

มารีอานน์ เป็นตัวแทนของจิตวิญญานการปฏิวัติเพื่อสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมและยังเป็นการระลึกถึงโอลิมปิกเกม 1900 ที่ปารีสเป็นเจ้าภาพครั้งแรกและยังเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้นักกีฬาหญิงเข้าร่วมการแข่งขันใน 5 ชนิดกีฬาคือ เทนนิส เรือใบ กอล์ฟ ขี่ม้า และโครเก

ภาพของมารีอานน์ที่โด่งดังไปทั่วโลกคือในภาพวาดชื่อ Liberty Leading People โดย เออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) ซึ่งสร้างสรรค์เมื่อ ค.ศ.1830 เพื่อสะท้อนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคของประชานในการล้มล้างการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) โดยใช้สัญลักษณ์เป็นภาพหญิงสาวเปลือยท่อนบนและมือข้างหนึ่งชูธงชาติฝรั่งเศส เนื้อหาของภาพมาจากเหตุการณ์ปฏิวัติที่เรียกว่า “ปฏิวัติเดือนกรกฎาคม” (July Revolution) เมื่อค.ศ.1830 ซึ่งเป็นการปฏิวัติโดยประชาชนครั้งที่ 2 หลังจากการปฏิวัติครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1789

โอลิมปิก ปารีส 2024

ตราสัญลักษณ์ของโอลิมปิก ปารีส 2024 ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส ซิลแว็ง บัวเย่ร์ (Sylvain Boyer) แห่งบริษัท Ecobranding & Royalties โดยเล่นกับการใช้บริเวณว่างโดยรอบวัตถุที่เรียกว่า พื้นที่ว่างทางลบ (Negative Space) เพื่อให้รูปทรงของเปลวไฟดูคล้ายทรงผมของมารีอานน์ การออกแบบนี้ได้รับทั้งเสียงชื่นชมและล้อเลียนในโลกโซเชียลโดยหลายคนล้อว่าคล้ายกับโลโก้ของแอปพลิเคชันหาคู่ Tinder และป้ายร้านทำผม

ส่วนดีไซน์ของแบบตัวอักษรได้แรงบันดาลใจจากศิลปะอาร์ตเดโค (Art Deco) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในช่วงเวลาเดียวกับที่ปารีสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ. 1924


ภาพ: www.starck.com

เหรียญรางวัลโดย ฟิลิปป์ สตาร์ค : ชัยชนะเพื่อการแบ่งปัน

ขึ้นชื่อว่าเป็นผลงานการออกแบบของดีไซเนอร์ไอเดียสุดล้ำชาวฝรั่งเศส ฟิลิปป์ สตาร์ค (Philippe Starck) เหรียญรางวัลโอลิมปิก ปารีส 2024 ย่อมไม่ธรรมดา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกอีกเช่นกันที่เหรียญรางวัล 1 เหรียญสามารถแยกได้อิสระออกจากกันเป็น 4 เหรียญ โดยสตาร์คให้เหตุผลว่าเบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬามีมือที่มองไม่เห็นมากมายที่ช่วยผลักดันพวกเขาจนประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นเหรียญรางวัลจึงออกแบบมาเพื่อ “แบ่งปัน” โดยนักกีฬาสามารถส่งต่อความภูมิใจแห่งชัยชนะให้คนที่เขารักได้ 

โอลิมปิก ปารีส 2024

“โดยปกติแล้วเหรียญรางวัลมักเป็นประจักษ์พยานบอกว่า ฉันทำได้ ฉันชนะแล้ว แต่ความจริงคือชัยชนะนั้นไม่ได้ได้มาโดยลำพังแต่เป็นเรื่องของทีมสปิริต ผมจึงอยากให้เหรียญรางวัลนี้สะท้อนเรื่องนี้ ถ้าผู้ชนะต้องการแบ่งปันช่วงเวลาสำคัญนี้เขาสามารถแบ่งเหรียญอีก 3 เหรียญให้คนอื่น ๆ ได้” สตาร์ค ผู้ซึ่งเคยออกแบบคบเพลิงสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 1992 ที่ฝรั่งเศสและเก้าอี้สุดฮิต Louis Ghost ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารออกแบบ Dezeen

โอลิมปิก ปารีส 2024

สนามกีฬาที่เชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของกรุงปารีส เช่น หอไอเฟล (La Tour Eiffel) พระราชวังแวร์ซาย (Château de Versailles) ปลาส เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) ถนนช็องเซลีเซ (Avenue des Champs-Élysées) และแม่น้ำแซน (La Seine) จะเป็นฉากหลังของสนามแข่งขันของโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่จะถ่ายทอดไปทั่วโลกโดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศได้อย่างดี

ตามมาสเตอร์แพลนของโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก Populous ร่วมกับบริษัทวิศวกรรม Egis สนามแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดซึ่งคาดว่าจะรองรับผู้ชมได้ถึง 12,000 คน จะสร้างขึ้นชั่วคราวบริเวณ ช็อง เดอ มาร์ส (Champ de Mars) สวนสาธารณะบริเวณฐานของหอไอเฟล ที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สังหารหมู่เมื่อค.ศ.1791 สืบเนื่องจากภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสและพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงหลบหนีจากการจองจำที่พระราชวังตุยเลอรี และทรงถูกจับอีกครั้งระหว่างหลบหนีไปถึงเมืองวาแรน (Varennes) ประชาชนหลายหมื่นคนได้มาชุมนุมกันที่ ช็อง เดอ มาร์ส เพื่อเรียกร้องให้มีการลงโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แต่กองกำลังติดอาวุธฝ่ายนิยมเจ้าได้นำกำลังทหารเข้าปราบปราม มีการยิงปืนเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 50 คน

โอลิมปิก ปารีส 2024

อีกหนึ่งแลนด์มาร์กใจกลางกรุงของปารีสคือจัตุรัส ปลัสเดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) ที่มีจุดเด่นคือเสาหินแกรนิตสีชมพูทรงแหลมตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจัตุรัสและตั้งอยู่ใกล้กับสวนตุยเลอรี (Jardin des Tuilleries) และถนนช็องเซลีเซ (Avenue des Champs-Élysées) จะเป็นสนามแข่งขันสเกตบอร์ด เบรกแดนซ์ จักรยาน BMX และบาสเกตบอล 3×3

ในอดีตลานกว้างแห่งนี้คือลานประหารกษัตริย์ ขุนนาง และผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนในสมัยของการปฏิวัติฝรั่งเศส อาทิ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางมารีอ็องตัวแน็ต และนักก่อการคนสำคัญอย่างด็องตง (Danton) และ รอแบ็สปีแยร์ (Robespierre) รวมทั้งผู้คนอีกมากกว่าหนึ่งพันคน

เมื่อการขี่ม้าเป็นกีฬายอดนิยมของชนชั้นสูงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 บริเวณสวนของ พระราชวังแวร์ซาย (Château de Versailles) จะได้รับการปรับชั่วคราวให้เป็นสนามสำหรับการแข่งขันขี่ม้าประเภทศิลปะการบังคับม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง และอีเวนติ้ง ส่วน กร็องปาแล (Grand Palais) หนึ่งในอาคารที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โบซาร์ (Beaux-Arts) ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับการจัดงานปารีสเอกซ์โปเมื่อ ค.ศ.1900 จะเป็นสนามแข่งขันเทควันโดและฟันดาบ 

โอลิมปิก ปารีส 2024

สนามแข่งขันที่พิเศษในโอลิมปิก ปารีส 2024 คือการแข่งขันเซิร์ฟที่จะจัดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ที่ ทีฮูโป (Teahupo’o) ในเกาะตาฮิติ เกาะที่ใหญ่ที่สุดในเฟรนช์พอลินีเชีย (French Polynesia) ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นประเทศโพ้นทะเลของฝรั่งเศส (Overseas Country) เมื่อ ค.ศ.2003 ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของท้องทะเลและเป็นแหล่งท้าทายความสามารถของบรรดานักเล่นเซิร์ฟทั่วโลก

อารยสถาปัตย์และสัดส่วน 50:50 ของนักกีฬาชาย-หญิง

ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 กล่าวว่าหมู่บ้านนักกีฬาซึ่งตั้งอยู่บริเวณแซน-แซ็ง-เดอนี (Seine-Saint-Denis) ได้รับการออกแบบให้เป็นอารยสถาปัตย์ 100% โดยการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อาคารสถานที่ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร และบริการต่าง ๆ ให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยหวังให้โครงการนี้เป็นตัวอย่างการดีไซน์แบบอารยสถาปัตย์ครบวงจรให้แก่โครงการอื่น ๆ ในฝรั่งเศส

โอลิมปิก ปารีส 2024

นอกจากนี้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้แบ่งโควตานักกีฬาทั้งชายและหญิงให้เท่ากันที่ 50 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนนักกีฬาทั้งหมด 10,500 คน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการแข่งขันโอลิมปิกที่มีความเท่าเทียมกันมากที่สุด หากย้อนไปเมื่อ ค.ศ.1900 ที่ปารีสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรก ในครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่มีนักกีฬาหญิงเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 22 คน ในขณะที่จำนวนนักกีฬาชายคือ 975 คน จำนวนนักกีฬาหญิงจึงคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 2%

โอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวถือเป็นครั้งแรกที่จำนวนนักกีฬาชายและหญิงใกล้เคียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์โดยมีสัดส่วนนักกีฬาหญิง 48.8% และมีอย่างน้อย 4 สหพันธ์กีฬานานาชาติที่เพิ่มประเภทการแข่งขันชายและหญิงให้เท่ากัน ได้แก่ เรือพาย เรือแคนู ยิงปืน และยกน้ำหนัก ขณะเดียวกันมี 18 ประเภทกีฬาคู่ผสมได้เพิ่มเข้าไปในการชิงชัยของหลายชนิดกีฬา อาทิ ยิงธนู กรีฑา ขี่ม้า ยูโด เรือใบยิงปืน และว่ายน้ำ ส่วนที่โอลิมปิก ปารีส 2024 จะเพิ่มการแข่งขันแบบคู่ผสมเป็น 22 รายการ

โอลิมปิก ปารีส 2024

ใช้ประโยชน์จากของเดิมให้มากที่สุดด้วย Circular Economy

สถานที่ที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาในโอลิมปิก ปารีส 2024 นั้น ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันยืนยันว่ากว่า 80% เป็นการปรับปรุงสถานที่เดิมที่มีอยู่แล้วและสร้างบางส่วนแบบชั่วคราว ทั้งนี้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และลดการก่อสร้างอาคารใหม่ ๆ คาดหมายว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ได้เกินครึ่งกว่าการจัดโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา

ใน 1 สถานที่สามารถจัดการแข่งขันได้หลายชนิดกีฬาและใช้สำหรับทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกโดยแต่ละสถานที่ต้องเดินทางได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ประมาณ 80% ของสนามแข่งขันใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า 30 นาทีจากหมู่บ้านนักกีฬาและพลังงานหมุนเวียนจะถูกนำมาใช้ให้มากที่สุดในทุกสถานที่จัดการแข่งขัน หมู่บ้านนักกีฬาตั้งอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปทางเหนือเพียง 7 กิโลเมตรและห่างจากสเตเดียมหลักคือ สตาดเดอฟร็องส์ (Stade de France) เพียง 2 กิโลเมตร

สตาดเดอฟร็องส์ ที่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับพิธีเปิดและปิดการแข่งขัน และการแข่งขันกรีฑาและรักบี้ สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขัน FIFA World Cup 1998 เป็นสนามกีฬาที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ในยุโรปโดยสามารถจุผู้ชมได้ราว 80,000 คน

ส่วนการสร้างที่พักนักกีฬาชั่วคราวสำหรับการแข่งขันเซิร์ฟที่เกาะตาฮิติได้แรงบันดาลใจจากบ้านพื้นเมืองพอลินีเชียที่เรียกว่า Farés และเมื่อการแข่งขันจบลงจะมีการรื้อถอนและมอบวัสดุเพื่อใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลสำหรับโครงการสาธารณประโยชน์บนเกาะต่อไป 

เครดิตภาพ : ©Paris 2024

อ้างอิง


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ