กลุ่มคนดูแลกันเอง : เมื่อรัฐทอดทิ้ง ประชาชนเลยต้องลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง
- กลุ่มคนดูแลกันเอง เกิดขึ้นหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นเวลาหนึ่งเดือน
- กลุ่มคนดูแลกันเอง ทำงานในลักษณะของเครือข่ายการช่วยเหลือระหว่างอาสาสมัครจากหลากหลายอาชีพ โดยมีทีมงาน กลุ่มคนดูแลกันเอง เป็นตัวกลางในการประสานระหว่างแคมป์แรงงานต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่ต้องการความช่วยเหลือกับใครก็ได้ที่อยากจะให้ความช่วยเหลือในทุกด้านระหว่างการปิดแคมป์
“28 มิถุนายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564”
นี่เป็นเพียงข้อความสั้นๆ ในประกาศฉบับหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งปกติใหม่ในระบบการบริหารงานของรัฐบาลไทยยุคโควิด-19 ที่พอมีคลัสเตอร์เกิดขึ้นก็จะออกประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ตามมา ข้อความนี้ดูเหมือนอาจจะเกี่ยวโยงกับผู้คนเพียงไม่กี่กลุ่มอาชีพและไม่กี่พื้นที่ ทว่าหลังจากประกาศฉบับนั้น กลับเกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากการดูแลเยียวยาที่เดินทางมาอย่างเชื่องช้าจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชย อาหาร สิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ และนั่นก็ทำให้เกิดการรวมตัวของ ‘ประชาชนคนธรรมดา’ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแคมป์ก่อสร้าง ไม่ได้เป็นพนักงานจากกระทรวงแรงงาน ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่จัดหาสวัสดิการพื้นฐาน แต่พวกเขาเป็นประชาชนที่ลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันในชื่อ กลุ่มคนดูแลกันเอง (Facebook : noonecaresbangkok) หมายถึง อาสาสมัครจากหลากหลายอาชีพที่รวมตัวกันเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นตัวกลางประสานระหว่างแคมป์แรงงานต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ กับ โดเนอร์ (Donor) ที่หมายถึงใครก็ได้ที่อยากจะให้ความช่วยเหลือในทุกด้านระหว่างการปิดแคมป์คนงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาสาลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล อาสาทำแผนที่ ทำตำแหน่งแคมป์ที่เดือดร้อน อาสาทำ web appสร้างระบบจัดการข้อมูลที่สะดวกต่อการทำงานและสื่อสารไปยังผู้คน โดยเพียง 1 เดือนหลังตั้งกลุ่มมีผู้คนร่วมติดตามและส่งความช่วยเหลือไม่ต่ำ กว่า 10,000 คน
“เราใจสลายมากกับการที่คนกลุ่มแรงงานไม่มีสวัสดิการ แย่กว่านั้นคือปัจจัย 4 ก็ยังไม่ครบ แย่กว่านั้นไม่ใช่ไม่ครบแต่มันไม่มี”
ฝน-วรรษชล ศิริจันทนันท์ พนักงานบริษัทธรรมดาคนหนึ่ง หนึ่งในทีมหลังบ้านที่ทำงานด้านการสื่อสาร ระบายถึงความรู้สึกที่ทำให้เขาต้องออกมาร่วมกันตั้งกลุ่มซึ่งมี กิม-นิรัช ตรัยรงคอุบล เจ้าของธุรกิจอาหารและกิจการคล้ายร้านต้นไม้พลูโต Houseplant Studio ร่วมด้วย อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร เลขานุการและอนุกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการ คุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ มาร่วมเป็นทีมหลังบ้าน ซึ่งคำถามที่ตามมาคือ ทำไมคนเหล่านี้ต้องลุกขึ้นมาทำทั้งๆ ที่ในอีกมุมหนึ่งเขามีร้านอาหารที่ต้องดูแล มีงานบริษัทที่ต้องทำซึ่งก็อาจจะอยู่ในข่ายวิกฤติไม่ได้ต่างจากแคมป์คนงาน
ทำไมคนธรรมดาต้องลุกขึ้นมาดูแลกันเอง
“ตื่นมาเห็นข่าวคนงานในแคมป์เขากำลังจะอดตายเลยโพสต์ลงเฟสบุ๊คว่าจะทำอาหารไปให้แคมป์แถวทองหล่อซึ่งใกล้บ้าน ใครอยากจะมาช่วยไหม ไปกัน แล้วมันก็เกิดฟีดแบคที่ค่อนข้างดี มีคนอยากช่วยเหลือ พอมีเงินเหลือจากที่เพื่อนๆรวมกันมาครั้งแรก เลยตั้งคำถามว่านอกจากแคมป์นี้มันมีแคมป์อื่นอีกไหมในกรุงเทพฯ ที่ลำบาก เลยเริ่มตระเวนไปหาแคมป์เอง เริ่มตามจากพวกสกู๊ปที่ทำเกี่ยวกับเรื่องแคมป์คนงาน ซึ่งก็จะมีหลายคอมเมนต์ที่โพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือ บวกกับได้เคสจากที่อิงส่งให้ พอโทรไปถามปรากฏว่าแย่หมดเลย ไม่มีคนดูแล ไม่มีอาหารกิน นอกจากนั้นยังมีเรื่องนมเด็ก แพมเพิร์ส เพราะมีเด็กๆ ที่อายุ 7 เดือนถึงหนึ่งขวบอยู่ในแคมป์ด้วย เรารู้สึกว่ามันแย่มากๆ”
นิรัช เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาไม่สามารถทนอ่านข่าวจบแล้วทุกอย่างก็จบลง หรือรอให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปช่วยได้ และนั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยน ขยายความช่วยเหลือจากแคมป์คนงานทองหล่อมาเป็นการตั้ง กลุ่มคนดูแลกันเอง
“นี่ไม่ใช่บุญแต่เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แนวคิดหลักของกลุ่มคือ ‘ตัวกลาง’ ที่คอยเชื่อมระหว่างดีมานด์ (demand) กับซัพพลาย (supply) หมายถึง จำนวนแคมป์ที่ต้องการความช่วยเหลือกับจำนวนคนที่อยากจะให้ความช่วยเหลือ โดยมี กลุ่มคนดูแลกันเองเป็นตัวกลาง พอโดเนอร์อินบอกซ์เข้ามาบอกว่าเขาอยู่ตรงนี้ แถวนี้มีแคมป์ไหมเขาอยากช่วย ทางทีมเราก็ส่งข้อมูลที่มีอาสาสำรวจไว้ไปให้แล้วให้เขาคุยกันเองว่าสิ่งที่ทางแคมป์ต้องการคืออะไร อีกฝ่ายจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง”
นิรัชขยายความต่อถึงรูปแบบการทำงานของกลุ่ม และด้วยความที่ทีมเบื้องหลังล้วนเป็นมนุษย์ทำงานประจำ มีกิจการที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ การช่วยเหลือของ กลุ่มคนดูแลกันเอง จึงขับเคลื่อนด้วยอาสา เป็นประชาชนธรรมดาแบ่งการทำงานออกเป็นหลายทีม โดยในแต่ละครั้งที่อาสาลงพื้นที่สำรวจจะมีการรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดตั้งแต่จำนวนคน ถึงสภาพความเป็นอยู่และความต้องการ เพื่อที่จะได้รู้ว่าความต้องการเร่งด่วนรวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งอาจจะต่างจากภาพรวมที่ภาครัฐนำเสนอในข่าว เช่น บางแคมป์นายจ้างดูแลทุกมื้อจริง บางแคมป์ดูแลบ้างเป็นบางครั้ง เอาของจำเป็นมาให้ครั้งเดียวแล้วไม่มาอีกเลย หรือกระทั่งไม่เคยมาเลยหลังประกาศปิดแคมป์ก็มี
“มันมีคนจำนวนมากที่พร้อมจะบริจาค พอคนๆ หนึ่งเห็นแล้วแชร์ออกไป สมมติเขารวมกันสิบคน สิบคนนี้ก็ไปขยายต่อ มันก็เกิดการเข้ามาในกลุ่มคนดูแลกันเอง และเขาไม่ได้พร้อมแค่เรื่องเงินแต่พร้อมที่จะคุยหรือสร้างเครือข่ายกับคนอาสาคนอื่นๆ แบ่งหน้าที่กันมากกว่าการเอาของไปลง เขาทำกันหลายอย่างมากๆ แต่ถึงแม้คนจะพร้อมทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องพร้อมตลอดไป และเขาไม่จำเป็นต้องพร้อมด้วย เพราะมันไม่ใช่หน้าที่เขาแต่มันคือการที่เขาเห็นใจเพื่อนมนุษย์เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่มันแย่และทนไม่ไหวกับบาร์ที่มันต่ำขนาดนี้” วรรษชล ขยายภาพการทำงานของกลุ่มที่มาจากอาสา 100 เปอร์เซ็นต์ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา
แคมป์ถูกปิดพร้อมกับปัญหาใต้พรมที่ถูกเปิด
“แคมป์แรงงานถูกปิด ไม่มีข้าวกิน ไม่มียา การเป็นตัวกลางในการรับบริจาคจึงเป็นสิ่งที่กลุ่มตั้งใจ แต่พอไปหน้างานจริงๆมันมีปัญหาอีกมากมายที่ไม่ได้ถูกพูดถึง เช่น บางแคมป์เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข บางคนได้ตรวจ บางคนก็ไม่ได้ตรวจ ช่วงที่เราลงแคมป์ผมไปคุยกับทีมแพทย์เบื้องต้นคือให้ตีไปเลยว่าทั้งแคมป์ติดเชื้อ แล้วก็ใช้ Community isolation ในการเข้าไปบริการจัดการ เราก็จะปรับเพิ่ม Community isolation ไปจัดการด้านโรคให้เขาให้ได้มากที่สุด นี่เป็นหน้างานอีกอย่างที่เราเจอแล้วเรากำลังจะทำอยู่ นอกจากนี้ยังมีเคสแดงอีกคือ ‘จะตายแล้ว’ เขาบอกเราตรงไปตรงมามากเลย ‘เนี่ยปวดท้องหายใจไม่ออก’ ซึ่งเราไม่มีความรู้ทางการแพทย์เราลงไปหน้างานแล้วเจอแบบนั้นไม่รู้จะทำยังไงเลยกลับมาคุยกันว่าจะขยายงานหน้างานต่อไปอีก
“ปัญหาที่ชัดที่สุดที่ทำให้ผมเข้าร่วมทำเรื่องแคมป์กับทางกลุ่ม คือเรื่องโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้แล้วภาครัฐไม่ให้คนงานในแคมป์อพยพ อันนี้มันชัดมากว่าไม่ใช่แค่เรื่องเชื้อชาติ แต่มันคือการมองคนในแคมป์คนงานว่าเป็นตัวที่จะออกไปแพร่เชื้อคือกลัวโควิดมากกว่ากลัวเขาจะโดนระเบิดตาย ยอมปล่อยให้เขาเสี่ยง ถ้าระเบิดคือเขาตายแน่นอน แต่คำตอบจากผู้มีอำนาจในหน้างานคือ ไม่ระเบิดหรอก ไฟดับละ ทุกอย่างจบ ไม่ต้องลำบากย้าย ผมว่านี่โคตรจะชัดว่ารัฐมองคนงานในแคมป์ไม่ว่าจะชาติอะไรก็ตามว่าเป็นอะไรก็ไม่รู้ มีแคมป์หนึ่งแยกกันอยู่เป็นเพิงๆ สังกะสี แล้วมีคนออกมารับของแค่นิดเดียว ผมเลยถามเขาว่าไปไหนกันหมด เขาบอกว่าตอนกลางวันนอนเซฟแรง ผมก็ถามต่อแล้วจะเซฟแรงทำไม ไม่ได้ทำงานไม่ใช่หรอ เขาบอกประมาณว่าจะมีแค่เด็กเท่านั้นแหละที่ออกมากินข้าว พ่อแม่เขาจะไม่ออกมาเพราะว่ามันไม่มี มันไปไกลถึงขั้นที่ว่าคนนอนอยู่เฉยๆ กักตัวเองเพื่อที่จะไม่ต้องกินข้าว เพราะไม่มีข้าว ของจริงที่เจอมันแย่ขนาดนี้” ไชยวัฒน์กล่าวถึงรากของปัญหาการเยียวยาซึ่งลงลึกไปถึงทัศนคติการมองแรงงานของภาครัฐ
“แรกๆ มีประมาณ 20 เคส ซึ่ง 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ และเกือบร้อยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากนายจ้าง รวมถึงในแคมป์แรงงานมันแย่เกินกว่าที่เราจะจินตนาการมากๆ บางแคมป์มี 190 คน ติดโควิด 70 คน นอนในเตนท์ล้อมรอบด้วยผ้าใบพื้นเป็นปูน คำถามคือถ้ายังมีความเป็นคนอยู่ ทำไมเราถึงทนเห็นได้ แต่การที่เรามาทำเพราะเราทนเห็นความยากลำบาก ความเจ็บป่วย ความหิวไม่ได้ คนป่วยออกจากแคมป์ไม่ได้เพราะโดนปิด มีแรงงานจะคลอดลูกก็ออกจากแคมป์ไม่ได้ ออกไปได้โรงพยาบาลก็ไม่รับ ต้องช่วยกันหาโรงพยาบาลเกือบเช้าปวดท้องคลอดทั้งคืน เราเห็นแล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เขาควรจะได้รับในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชาติอะไรก็ตาม
“เราออกมาตั้งคำถามในฐานะพลเมืองที่อยู่ร่วมกันว่าทำไมเขาถึง invisible ขนาดนี้เราไม่เคยเห็นว่าเขาอยู่ตรงไหน เขามีความเป็นอยู่อย่างไร มีชีวิตอย่างไร และมุมมองเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องแคมป์ มันไม่ต่างจากเรื่องวัคซีน ขณะที่บางคนก็ยังไม่ได้ โดนเลื่อน ไม่มีสิทธิ์ในการเลือกวัคซีน ไม่มีสวัสดิการใดๆ ที่จะเข้าถึง แล้วแรงงานที่ทุกคนทรีตเขาว่าเป็นอีกชนชั้นหนึ่งในสังคม มันไม่ต้องตั้งคำถามต่อไปเลยว่าเขาจะได้รับอะไร อย่างน้อยพวกเราที่นั่งคุยอยู่ตรงนี้ยังมีอิสระในการเดินทาง หางาน หาของกิน แต่คนในแคมป์เขาถูกกักอิสรภาพ
“บางคนอาจจะไม่คิดว่านี่คือผลกระทบ เพราะเขาไม่ได้ยึดโยงตัวเองกับคนในแคมป์แรงงาน เขารู้สึกว่าเขาไม่เกี่ยวอะไรกับคนชนชั้นนี้อยู่แล้ว เขาก็มีชีวิตปกติสุขของเขา ความลำบากของคนอื่นก็คือความลำบากของคนอื่น แต่จริงๆ ทุกคนเกี่ยวเนื่องกันโดยไม่ต้องพูดในเชิงวิชาการหรือเชิงสังคมศึกษาเลย บ้านที่อยู่ตอนนี้ คอนโดที่อยู่ตอนนี้ ถนน สะพาน ลอกท่อ ปกติใครทำ ลองให้แรงงานห้าแสน หกแสนคนหยุดทำงานสักครึ่งปีฉิบหายแน่นอน
“เรายังอยากได้ชีวิตที่ดี ดื่มกาแฟดีๆ ได้ ปลูกต้นไม้ เราไม่ได้อยากจะให้ทุกคนต้องจนเท่ากันรวยเท่ากัน หรือต้องออกไปทำงานเกี่ยวข้าว แต่แค่รู้สึกว่าพื้นฐานของชีวิตและการเห็นตัวตนของเขา เห็นคุณค่าของเขามันเป็นสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์ควรมีให้กัน สมมติว่าเราเป็นแรงงานต่างประเทศ แล้วแคมป์โดนปิด บ้านก็คิดถึง แถมไม่มีใครมาสนใจ ติดโรคหรือเปล่าก็ไม่รู้มันคงเศร้านะ ดังนั้นไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะไม่ลุกขึ้นมาทำ”
นิรัช เสริมถึงปัญหาจริงที่ไปพบเจอที่หน้างานที่ทำให้เขาต้องกลับมาตั้งคำถามถึงคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่คนคนหนึ่งควรจะได้รับ และนั่นก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่ทำให้มนุษย์แรงงานคนหนึ่งและอีกหลายๆ คนใน กลุ่มคนดูแลกันเอง ช่วยเหลือกันมาตลอดประกาศการปิดแคมป์คนงาน
และเมื่อเราถามต่อว่าหากแคมป์คนงานเปิด แล้วพวกเขายังจะไปต่อไหม นิรัช กล่าวว่าหากทุกอย่างคลี่คลายทีมหลังบ้านคงจะเฟดตัวออกมา แต่เชื่อว่าเพจนี้จะสามารถขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ และประเด็นอื่นๆ ได้ต่อในอนาคต
“วอยซ์มันชัดเจนคือเราเชื่อในรัฐสวัสดิการ เชื่อในการผลักดันให้ทุกคนได้รับสิทธิ์ที่ควรจะได้ เรารู้สึกว่าคนทุกคนที่เข้ามาช่วยกันตลอดเกือบหนึ่งเดือนมีเป้าหมาย มีภาพอันเดียวกัน มันเป็นความเศร้านะที่เราคิดว่าเดี๋ยวอีกหน่อยมันก็น่าจะมีความฉิบหายเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องมาช่วยกันเองอีก เพราะเป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาบ่อยๆ ในประเทศไทย สิ่งที่เราตอกย้ำเสมอกับทุกคนคือ ในโลกปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศไทยเราเป็นคนจนได้ แต่ว่าความจนของเรามันจะดีขึ้นถ้าเรามีรัฐสวัสดิการที่ดี สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้ รถขนส่งสาธารณะราคาถูก ลูกเราสามารถเรียนฟรีได้ มีโอกาสที่เอื้อให้กับคนที่มีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น
“เราพยายามพูดถึงเรื่องนี้ตลอด เรื่องแคมป์แรงงานเป็นแค่ตัวอย่างที่เห็นชัดว่าถ้ารัฐเข้ามาจัดการตั้งแต่ทีแรก ทุกคนก็ไม่ต้องวิ่งลงหาพื้นที่ ไม่ต้องมาช่วยกัน แค่ดูแลตัวเองต่อไป ทำงานที่ต้องทำ มีชีวิตเรา มีครอบครัวที่ต้องดูแล แต่ความเป็นจริงคือ มีเพื่อนมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งที่เราต้องช่วยกันพยายามไม่ลดทอนศักดิ์ศรีเขามากไปกว่านี้ ซึ่งสิ่งพวกนี้รัฐต้องดูแลทั้งนั้นไม่ใช่เรา เราจ่ายภาษีให้รัฐมาทำงานไม่ได้ไปขอความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันเป็นภาพจำลองอย่างหนึ่งที่กำลังจะส่อให้เห็นว่ารัฐไทยกำลังจะล่มสลาย รวมถึงมีความเป็นไปได้ด้วยที่อาจจะเกิดความวุ่นวายจากความอดอยาก ความหิวโหย ความยากจน”
แม้ตลอดเกือบหนึ่งเดือนความช่วยเหลือจะถูกขับเคลื่อนผ่านการบริจาคและอาสา แต่วรรษชลย้ำว่าเธอไม่เชื่อในเรื่องการบริจาค แต่เธอเชื่อในสวัสดิการที่ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกฐานะการเงินควรจะได้รับ
“ตราบใดที่เรายังไม่ตาย หรือตราบใดที่กลุ่มนี้ยังขยับทำอะไรสักอย่างอยู่ เราจะพูดต่อไปเรื่อยๆ ว่าสวัสดิการคือสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ การบริจาคไม่ใช่เรื่องที่เราเชื่อ เราแค่หวังว่าคนที่ได้ยินเสียงของเราจะนั่งคุย นั่งคิดกับตัวเองนิดหนึ่งว่าอะไรกันแน่ที่มันฟังก์ชัน อะไรที่เคยมีแล้วไม่เวิร์ค หรืออะไรที่ควรลอง วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเห็นคำว่า human zoo อย่าให้ทุกคนเป็นคนที่อยู่ในกรง บางที่ล็อกกุญแจ แล้วคุณก็เอาของไปลงแล้วก็ขอถ่ายรูป อันนี้ยกตัวอย่างนะ คือคุณไปเที่ยวสวนสัตว์หรอ อย่าทำแบบนี้กับเขาได้ไหม รวมถึงคนในภาครัฐด้วยที่ลงไปถ่ายรูปเพื่อเอามาโพสต์โซเชียล เพื่อมาบอกคนอื่นว่าฉันทำหน้าที่แล้ว แต่ทำแค่ครั้งเดียวแล้วขอถ่ายรูป พอเถอะ!”