เช็คลิสต์ 14 ที่สุด สนามกีฬา ระดับโลก
Brand Story

เช็คลิสต์ 14 ที่สุด สนามกีฬา ระดับโลก

Focus
  • โอลิมปิก ไม่ได้มีผลแค่การพัฒนาวงการกีฬาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันโดยตรงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่แฟชั่น แอนิเมชัน ยานยนตร์ การแพทย์ อาหาร ไปจนถึงวงการสถาปัตยกรรม
  • สนามกีฬา ก็ล้วนมีจุดเริ่มต้นของการพัฒนางานดีไซน์ มาจากมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่าง โอลิมปิก

การเกิดขึ้นของ โอลิมปิก ไม่ได้มีผลแค่การพัฒนาวงการกีฬาเท่านั้น แต่โอลิมปิกยังเกี่ยวพันโดยตรงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แฟชั่น แอนิเมชัน ยานยนต์ การแพทย์ อาหาร ไปจนถึงวงการสถาปัตยกรรม การพัฒนางานดีไซน์ของ สนามกีฬา ก็ล้วนมีจุดเริ่มจากมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่าง โอลิมปิก เช่นเดียวกับเช็กลิสต์ 14 ที่สุด สนามกีฬา ระดับโลก ซึ่งเกินกว่าครึ่งเกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์การแข่งขันโอลิมปิกเกมทั้งสิ้น

“Palaestra” สนามกีฬายุคกรีกโบราณ

สนามกีฬา

จุดเริ่มต้นของ โอลิมปิก อยู่ที่ประเทศกรีซ ย้อนไปเมื่อราว 3,000 ปี ณ อาณาจักรกรีกโบราณ ซึ่งหลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนว่ากรีกโบราณมีการแข่งขันกีฬาอย่างจริงจังคือ “พาลาเอสทรา” สนามกีฬา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโอลิมเปีย ปัจจุบันแม้พาลาเอสทราจะเหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ก็มีการบันทึกถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น โดยพาลาเอสทราเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม มีพื้นที่ 66 ตารางเมตร ประตูทางเข้า-ออกด้านทิศใต้ประดับด้วยเสาหินที่เป็นเอกลักษณ์ยุคกรีกโบราณ เริ่มแรกพาลาเอสทราไม่มีที่นั่งชมและใช้จัดแข่งเพียงมวยปล้ำและกรีฑา ภายหลังเริ่มมีพัฒนาการการปรับพื้นที่สนามให้ลาดเอียง เปิดให้ผู้ชมเข้ามาชมการแข่งขันได้เพิ่มขึ้น

“Panathenaic” สนามกีฬาหินอ่อน

สนามกีฬา

โอลิมปิกสมัยใหม่ถูกรื้อฟื้นและจัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ตรงกับ ค.ศ. 1896 และ สนามกีฬา ที่ถูกใช้งานคือ สนามพานาทิไนโค (Panathinaiko หรือ Panathenaic)  สนามกีฬาหินอ่อนที่สร้างตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ และได้รับการบูรณะเพื่อใช้จัดการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรก ATHENS 1896 นอกจากโครงสร้างสนามที่เป็นหินอ่อนทั้งหมดแล้ว ที่นี่ยังโดดเด่นด้วยงานออกแบบสนามเป็นรูปตัว U ต่างจากแบบมาตรฐานของสนามกีฬายุคปัจจุบัน นับเป็นสนามแห่งเดียวในโลกที่สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหมด จุผู้ชมได้ราว  45,000 คน

“Colosseum” สนามกีฬากลางแจ้งแห่งกรุงโรม

โคลอสเซียม สนามกีฬากลางแจ้งสร้างตั้งแต่ยุคโรมันโดยจักรพรรดิเวสเปเซียน (Vespasian) ปัจจุบันที่นี่ไม่ได้ใช้แข่งกีฬาแต่กลายเป็นไอโคนิกด้านการท่องเที่ยวของกรุงโรม ตามประวัติศาสตร์โคลอสเซียมใช้สำหรับเกมการต่อสู้ ตัวอัฒจันทร์ออกแบบเป็นรูปวงกลม แก้ปัญหาการดูกีฬาโดยไม่ให้มีการบังกันของผู้ชม ทั้งยังโดดเด่นด้วยโครงสร้างวงโค้งที่ซุ้มประตูรอบนอกอันเป็นศิลปะโรมัน ตัวสนามสร้างด้วยอิฐและคอนกรีต จุผู้ชมได้ราว 50,000 คน

“Hippodrome of Constantinople” สนามแข่งม้าแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์

ฮิปโปโดรม แห่งคอนสแตนติโนเปิล คือสนามแข่งม้าและรถม้าที่เลื่องชื่อในสมัยจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ประเทศตุรกี ลานแข่งและรูปทรงสนามถูกออกแบบเป็นรูปตัว U มีความยาวสนามที่ 450 เมตร รอบสนามประดับด้วยประติมากรรมสำริด จุผู้ชมได้ราว 100,000 คน

“Villa Park” หนึ่งในสนามเก่าแก่ของยุโรป

วิลลาพาร์ก เป็นสนามฟุตบอลของสโมสรแอสตันวิลลา (AVFC) เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ นอกจากจะเป็นสนามที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปและของโลกแล้ว ที่นี่ยังเป็นหนึ่งในผลงานการออกแบบชิ้นสำคัญของ อาร์ชีบัลด์ ลีตช์  (Archibald Leitch) สถาปนิกชาวสกอตแลนด์ ผู้วางมาตรฐานการสร้างสนามฟุตบอลของอังกฤษและของโลก ไม่ว่าจะเป็นสนามเวสต์แฮม สนามของสโมสรฟุตบอลเรนเจอส์, สนามเมืองเชลซี รวมทั้งแมนเชสเตอร์ และลิเวอร์พูล ส่วนวิลลาพาร์ก ถือว่าเป็นสนามต้นแบบ ด้านในได้แบ่งอัฒจันทร์ออกเป็น 2 ชั้น มีระเบียงสร้างจากคอนกรีตพร้อมรั้วเหล็กติดตั้งถาวร ทำให้ สนามกีฬา มีความแข็งแรง ปลอดภัยต่อผู้ชม ทั้งยังเสริมความมันในการเชียร์ฟุตบอลได้ยิ่งขึ้น

“Maracana” หนึ่งในสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สนามมารากานัง ประเทศบราซิล มีรูปร่างคล้ายแหวนขนาดใหญ่ซ้อนกัน โดดเด่นด้วยเสาคอนกรีตรูปตัว Y เพื่อเสริมความมั่นคงมากถึง 60 ต้น สนามมารากานังสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ค.ศ.1950 สามารถจุผู้ชมในการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศได้มากถึง 199,854 คน ทำให้สนามมารากานังถูกบันทึกสถิติเป็นสนามฟุตบอลที่จุผู้ชมได้มากที่สุดเมื่อใช้งาน ปัจจุบัน สนามมารากานังยังถูกจัดเป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

“Nippon Budokan” สนามกีฬาทรงแปดเหลี่ยม

ภาพ : ©Tokyo 2020

ในการแข่งขัน โอลิมปิก 2020 สนามนิปปอนบูโดกัน (Nippon Budokan) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกสนามที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก เพราะที่นี่เป็นสนามหลักของการแข่งขันยูโด คาราเต้ ทั้งยังเป็นสนามที่ใช้แข่งยูโดมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกใน ค.ศ.1964 สนามนิปปอนบูโดกันออกแบบโดย ยามาดะ มาโมะรุ (Yamada Mamoru) ทั้งยังสร้างความแตกต่างให้กับสนามกีฬาที่เคยมีมาด้วยการถอดรูปทรง 8 เหลี่ยมมาจากหอนิมิต (Hall of Dreams) หรือ ยุเมะโดะโนะ (Yumedono) ซึ่งเป็นหอทรง 8 เหลี่ยมอันโด่งดังในวัดโฮริวจิแห่งเมืองนารา ในยามปกติที่นี่ใช้เป็นสนามแข่งกีฬาประเภทศิลปะป้องกันตัว รวมทั้งแสดงคอนเสิร์ต จุผู้ชมได้ราว 20,000 คน

“Olympiastadion” สนามกีฬาหลังยุคนาซี

สนามโอลึมเพียชตาดิโยน ตั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมนี เปิดใช้ครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่เมืองมิวนิก สนามแห่งนี้ออกแบบโดย กึนเทอร์ เบนิช (Günter Behnisch) สถาปนิกชาวเยอรมัน โดดเด่นด้วยหลังคาเหล็กกล้าโปร่งแสงที่คลุมพื้นที่สนามเป็นระลอกคลื่น นับเป็นสถาปัตยกรรมแบบผืนผ้าใบโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น ตัวสนามจุผู้ชมได้ราว 69,250 คน การออกแบบสนามแห่งนี้ถือว่ามีความสำคัญมากต่อประเทศเจ้าภาพในการบอกชาวโลกถึงทิศทางการพัฒนาประเทศหลังยุคนาซี ดังนั้นสถาปนิกตั้งใจให้สนามแห่งใหม่นี้มีดีไซน์ที่ต่างจากสนามกีฬาเมืองเบอร์ลินซึ่งสร้างในยุคนาซีอย่างสิ้นเชิง เพื่อแสดงให้เห็นทิศทางการพัฒนาใหม่ ๆ ของประเทศ

“The Big O” สนามกีฬาทรงโดนัท

“เดอะบิ๊กโอ” (The Big O) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สนามโอลิมปิกสเตเดียมมอนทรีออล (Montreal Olympic Stadium) ตั้งอยู่ที่ประเทศแคนาดา สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1970 เพื่อใช้ในการแข่งขันโอลิมปิก 1976  สนามแห่งนี้ออกแบบโดย โรเช ตายลีแบร์  (Roger Taillibert) สถาปนิกชาวฝรั่งเศส โดดเด่นด้วยงานออกแบบอาคารให้มีรูปทรงโดนัทคล้ายตัว O และมีหอเอนสูง  175 เมตรอยู่คู่กันเพื่อทำหน้าที่เป็นหลังคาเปิด-ปิดสนาม สามารถจุผู้ชมในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกได้มากถึง  76,000 ที่นั่ง

“Stadium Australia” สนามกีฬาทรงหมวกอะคูบรา

สนามกีฬา

สนาม ANZ หรือ Stadium Australia เป็นสนามกีฬาหลักของเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และมักถูกใช้งานในเกมแข่งขันรักบี้ระดับโลก จุดประสงค์แรกของสนามแห่งนี้คือสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งขันโอลิมปิก ค.ศ. 2020 ออกแบบโดยบริษัท Bligh Lobb Sports  Architects โดยรูปทรงสนามดัดแปลงจากหมวกอะคูบรา (akubra) ของออสเตรเลีย หลังคาเลือกใช้พอลิคาร์บอเนตที่โปร่งแสงทั้งสองด้าน ทั้งยังลดการใช้โครงเหล็ก และออกแบบให้มีพื้นที่อากาศถ่ายเท สามารถจุผู้ชมถึง 110,000 คน

“Allianz Arena” สนามกีฬาเรืองแสงแห่งแรก

สนามกีฬา

สนามอัลลิอันซ์อาเรนา ไม่ได้เป็นแค่สนามกีฬาที่ใหญ่ติด 1 ใน 3 ของเยอรมนีเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นอีกจุดเช็กพอยท์ของนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองมิวนิก สนามกีฬาที่หน้าตาคล้าย “เรือยาง” นี้ออกแบบโดยบริษัท Herzog & de Meuron จากสวิตเซอร์แลนด์ ภายนอกสนามสร้างจากแผ่นพลาสติก ETFE ทั้งหมดและซ่อนหลอดไฟเรืองแสงไว้ภายใน ยามกลางวันที่นี่ดูเป็นสนามกีฬาที่เรียบง่ายมีสีขาวล้วน แต่กลางคืนจะโดดเด่นด้วยแสงไฟที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามเกมการแข่งขันต่าง ๆ พร้อมหลังคาเปิด-ปิดได้ เรียกได้ว่าเป็นอีกต้นแบบการออกแบบ สนามกีฬา ยุคโมเดิร์นที่ใส่เรื่องแฟชัน ฟังก์ชัน และการตลาดลงไปในคราวเดียว สนามอัลลิอันซ์อาเรนาจุผู้ชมได้ราว 70,000 คน ปัจจุบันเป็นสนามของสโมสรบาเยิร์นมิวนิก สามารถเข้าไปทัวร์สนามแบบ Virtual ได้ที่ fcbayern.com/360/allianzarena

“Bird’s Nest” สนามกีฬารังนก

แม้ชื่อเต็ม ๆ ของที่นี่คือ สนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง  (Beijing National Stadium) แต่คนทั่วโลกรู้จักสนามแห่งนี้ในนาม “สนามกีฬารังนก” ตามลักษณะของการออกแบบที่มีโครงตาข่ายเหล็กนับแสนตันมาสานไขว้ไปมาคล้ายรังนก รองรับผู้ชม 91,000 คน สนามแห่งนี้ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกระดับโลก Herzog & de Meuron ซึ่งมีผลงานล่าสุดคือพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของฮ่องกงที่ชื่อ M+ สำหรับสนามรังนกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในโอลิมปิกปี 2008 ซึ่งประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ยามกลางวันที่นี่จะโชว์โครงสร้างและสัจจะวัสดุอย่างเหล็กกล้า แต่ในยามกลางคืนจะเป็นการโชว์เทคโนโลยีด้านไลต์ติ้ง ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นอาร์ตแกลเลอรี หรือพิพิธภัณฑ์มากกว่าสนามกีฬาเลยด้วยซ้ำ 

“Al Janoub” สนามบอลโลกสุดล้ำโดย Zaha Hadid

ในบรรดางานออกแบบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ระดับโลกเช่น สนามกีฬา จะขาดชื่อของสถาปนิกหญิงชาวมุสลิมผู้เป็นตำนานอย่าง ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) ไปไม่ได้จริง ๆ เพราะเธอคือสถาปนิกผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัล Pritzker Architecture Prize ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของวงการสถาปนิก 

นอกจากฉายา “ราชินิแห่งเส้นโค้ง” แล้ว ซาฮา ฮาดิด ยังมีซิกเนเจอร์อยู่ที่การฉีกกรอบของรูปทรงเรขาคณิต อันที่จริงความอลังการสไตล์ ซาฮา ฮาดิด จะได้มาปรากฏอยู่ที่การแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวกับการออกแบบสนามกีฬาแห่งชาติสำหรับโอลิมปิกโตเกียว 2020 ทว่าด้วยงบประมาณการสร้างจริงที่ดูจะบานปลาย งานก่อสร้าง Olympic Stadium โตเกียวจึงถูกเปลี่ยนมาเป็น Kengo Kuma ในที่สุด 

แต่กระนั้นในปี 2022  ความยิ่งใหญ่ในงานออกแบบของเธอจะต้องถูกพูดถึงอีกครั้งกับการออกแบบสนามฟุตบอล Al Janoub หรือ Al Wakrah ที่สร้างขึ้นสำหรับการแข่งขัน FIFA World Cup Qatar 2022 ฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จะถูกจัดขึ้นในโลกอาหรับ ณ ประเทศกาตาร์ คาดว่าสนามแห่งนี้จะจุผู้ชมได้ราว 20,000 คน และนอกจากความอลังการงานดีไซน์ การเล่นกับเส้นโค้งที่เป็นซิกเนเจอร์แล้ว ตัวสนามยังโชว์ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมด้วยการผสมผสานวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในแง่ที่เป็นเมืองแห่งการประมง เมืองแห่งการสร้างเรือลงไปด้วย

“Olympic Stadium” สนามกีฬาจากไม้ โอลิมปิก 2020

หลังจากที่การแข่งขัน โอลิมปิก 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดฉากขึ้น ชื่อของ “เคนโกะ คุมะ” (Kengo Kuma) ก็ถูกกล่าวถึงในฐานะสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบสนามกีฬาแห่งชาติกรุงโตเกียวหรือ Olympic Stadium ซึ่งได้เผยโฉมให้เห็นในพิธีเปิดโอลิมปิกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2021 

อย่างที่เกริ่นไปว่าความจริงแล้วสนามกีฬาแห่งนี้มีการเสนอแบบและเผยแพร่แบบไปแล้วรอบแรกโดย ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) ทว่าสุดท้ายด้วยความไม่ลงตัว ในที่สุดจึงมีการปรับมาเป็นดีไซน์ที่เรียบง่าย อิงธรรมชาติ แฝงภูมิปัญญาด้านงานไม้ของญี่ปุ่น แต่จัดเต็มด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านการก่อสร้างตามสไตล์ เคนโกะ คุมะ ตัวสนามรองรับผู้เข้าชมได้ถึง 60,000 ที่นั่ง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน ด้วยงบประมาณ 156.9 พันล้านเยน หรือราว 4.3 แสนล้านบาท

ความจริงสนามแห่งนี้ไม่ได้สร้างใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการปรับปรุงสนามเก่าที่ถูกใช้เป็นสนามหลักในการแข่งขันโอลิมปิกเกมครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพเมื่อ ค.ศ. 1964 ส่วนโปรเจกต์ปรับปรุงสนามครั้งใหญ่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เสร็จสิ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 โดยใช้บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่าง ไทยเซอิ คอร์ปอเรชั่น (Taisei Corp.)

ขึ้นชื่อว่า เคนโกะ คุมะ สิ่งที่คาดหวังจะได้เห็นคืองานไม้แบบดั้งเดิมอันเป็นซิกเนเจอร์ รวมทั้งการออกแบบที่อิงธรรมชาติ คิดถึงสิ่งแวดล้อมโดยรอบของสถานที่เป็นหลักดั่งผลงานที่ผ่านมาของเขา ได้แก่ พิพิธภัณฑ์สะพานไม้ยูสุฮาระ (Yusuhara Wooden Bridge Museum) พิพิธภัณฑ์ History and Culture Museum ที่ทาเคดะ และ The Great (Bamboo) Wall House ในกรุงปักกิ่ง เป็นต้น

ด้วยความที่สนามกีฬาแห่งชาติประจำกรุงโตเกียวแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับสวนของศาลเจ้าเมจิจิงกู  (Meiji Jingu Shrine) เคนโกะ คุมะ จึงนำคอนเซ็ปต์ “living tree” หรือ “ต้นไม้ที่ยังมีชีวิต” มาออกแบบสนามกีฬาโดยฟาซาด (facade) ด้านหน้าเปรียบเสมือนป่าที่นำไม้จาก 47 จังหวัด ทั้งหมด 47,000 ชิ้นมาประกอบรวมกันด้วยเทคนิคสถาปัตยกรรมงานไม้แบบโบราณของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับโครงสร้างของหลังคาที่ใช้ไม้เข้ามาเสริม ที่สำคัญสามารถรองรับผู้ชมได้ทุกคนไม่เว้นแม้แต่ผู้พิการและผู้สูงวัย 

เครดิตภาพ : ©Tokyo 2020

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite