ศรัทธา.online เมื่อเทคโนโลยีถูกเชื่อมด้วยความหวังและศรัทธา
- ขอพร แก้บน ออนไลน์ฟีเจอร์ใหม่บน LINE ดูดวง กับบริการที่เป็นเหมือน LINE MAN สำหรับการขอพร แก้บน เพื่อช่วยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับผู้มีจิตศรัทธา
- ขอพร แก้บน เป็นบริการที่ออกแบบโดยทีมศรัทธา.ออนไลน์ ทีมผู้ชนะจากเวที Line Hack 2020
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้บริการแอปพลิเคชัน “ไลน์” (LINE) น่าจะพอคุ้นเคยกับแชตบอตอย่าง “LINE ดูดวง” อยู่บ้าง ด้วยบริการที่นำศาสตร์ความเชื่ออย่างการดูดวงมาผนวกเข้ากับแอปพลิเคชันสื่อสารเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานในยุคดิจิทัล แต่นอกจากฟีเจอร์ดูดวงประจำวัน เซียมซีหรือเช็กดวงชะตาอันเป็นที่นิยม ไม่นานมานี้ LINE ดูดวง ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่อย่าง ขอพร แก้บน เข้ามาทำให้บริการมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
บริการ ขอพร แก้บน คือ “สะพานเชื่อมระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับผู้มีจิตศรัทธา” เราขอหยิบยกคำอธิบายสั้น ๆ จาก เจน-ญาณิศา เฟเรส โปรดักต์ดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง มาขยายความฟีเจอร์นี้ ซึ่งสะพานเชื่อมที่ว่านั้นคือการพาเทคโนโลยีมาเจอกับความเชื่อ เกิดเป็นบริการที่ผู้มีจิตศรัทธาสามารถขอพรหรือแก้บนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปสถานที่จริงด้วยตัวเอง และบริการที่น่าสนใจนี้ก็เป็นเหตุผลที่ Sarakadee Lite ชวนทีม ศรัทธา.online มาพูดคุยถึงสิ่งที่สมาชิกทีมทั้งห้าคนตั้งใจพัฒนาร่วมกัน
“เรามีเพื่อนคนหนึ่งเป็นสายมูแล้วเขาได้ทำการขอพรแก้บนออนไลน์ คือเราต้องบอกก่อนว่า เซอร์วิสนี้เคยมีอยู่แล้ว มีบุคคลหรือร้านค้าที่อยู่ในสถานที่นั้น ๆ เขาทำกันเองซึ่งสิ่งนี้เปิดโลกเรามาก ส่วนตัวเราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีแบบนี้ด้วย จนนึกถึงการนำไอเดียนี้มาผสมกับเทคโนโลยี”
เจนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของไอเดีย ก่อนจะเริ่มเห็นความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น เมื่อได้เดินทางไปเห็นจำนวนร้านค้าและความต้องการในสถานที่จริง ไอเดียนี้เลยถูกนำไปชักชวน นาร์-ศศรักษ์ สุทธิสุคนธ์ เข้ามาเป็น Product Manager แต่ขณะที่ยังเป็นเพียงไอเดียที่น่าจะเป็นไปได้ ตง-วรพล รัตนพันธ์ Business Development ของทีม ก็ได้แนะนำให้เข้าแข่งขัน LINE Hack 2020 หรือการแข่งขัน Hackathon เพื่อหานักพัฒนารูปแบบบริการบนแพลตฟอร์ม LINE เพราะเห็นว่าโจทย์ Tomorrow’s New Normal ในปีนั้นเข้ากับไอเดียที่มีอยู่ อีกสองสมาชิกอย่าง นัน-ณัฐนันท์ ฉันทานุรักษ์ และ แป๊ป-รภรัตน์ สุขาภิรมย์ Product Development Engineer เลยได้เข้ามาเป็นฟูลทีมจนไอเดียนี้ได้พัฒนาเป็นรูปเป็นร่างและคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวดมาครองได้
จาก Line Hack สู่สนามจริง
ในช่วงพัฒนาไอเดียสู่การใช้งานจริง สิ่งที่ ศรัทธา.online ให้ความสำคัญที่สุดคือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ทีมพยายามคิดทั้งระบบให้เซอร์วิสทั้งฝั่งผู้ใช้ ร้านค้าและการจัดการหลังบ้านมีความลื่นไหลไม่ติดขัด โดยมีเทคโนโลยีที่เขียนขึ้นเป็นตัวกลาง ซึ่งส่วนสำคัญที่เข้ามาซัปพอร์ตความตั้งใจนี้คือ การลงไปสำรวจให้เห็นจริง
“เราไปดูสถานที่จริงเลยว่าร้านที่เขาทำเรื่องแก้บน ขอพร ตามสถานที่ต่าง ๆ หรือลูกค้าที่ไปขอพร แก้บน เขามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง สเต็ปของร้านค้าเขาบริการเป็นอย่างไรในแต่ละที่ ซึ่งพอเราไปคุยกับทางร้านแล้ว เราก็จะนำมาวางโฟล์วหรือรูปแบบของ Service Design” นาร์อธิบาย ก่อนที่เจนจะกล่าวเสริม
“พอเราเห็นระบบคร่าว ๆ สิ่งที่เราคิดต่อคือ ทำอย่างไรให้เทคโนโลยีไปผนวกกับสิ่งที่มีอยู่แล้วเกิดเป็นเซอร์วิสขึ้นมา เราเลยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Service Blueprint ซึ่งคือการออกแบบบริการให้มี User Experience ที่ดี ขั้นตอนคือเรากางออกก่อนว่าลูกค้าจะต้องเจอและทำอะไรบ้าง ถ้าเขาจะขอพรขั้นตอนแรกต้องทำอะไร เจอความยุ่งยากอะไรบ้าง เช่น บางที่เขาจะต้องเดินทางบินไปและอาจต้องไปเช่ารถต่ออีกกว่าจะถึงการได้ไปขอพรเอง ซึ่ง Service Design เราวางต่อจากสิ่งนี้ เช่นว่า ลูกค้าจะเจอเราจากช่องทางไหน ถ้าเขาใช้บริการแพลตฟอร์มของเราจะมีปุ่มอะไร มีแอ็กชันอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นระหว่างการใช้บริการ ซึ่งพอเรากางออกดูแล้ว นอกจากเราจะเห็นทั้งระบบว่ามีแอ็กชันอะไรบ้าง เขาต้องเจออะไรในแต่ละจุด ยังช่วยให้รู้ด้วยว่าระบบหลังบ้านจะต้องเตรียมอะไร เทคโนโลยีอะไรที่จะทำไปเสริมและรองรับกับแอ็กชันที่เกิดขึ้น เพื่อให้โฟล์วมันสอดคล้องกันไปเรื่อย ๆ”
“ตอนเราแข่งขัน LINE Hack เราพยายามใช้เทคโนโลยีทุกอย่างที่เขามี ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่ามี Potential ที่ทำได้ แต่เมื่อเริ่มรันเองจริง ๆ สิ่งแรกที่เราทำคือการตัดทุกอย่างออกก่อน แล้วมานั่งคุยกันอีกทีว่าจริง ๆ แล้วอะไรที่สำคัญ เพราะเราคิดว่าสิ่งสำคัญในการทำโปรดักต์ คือการคุยให้แน่ใจว่าเราจะใช้เทคโนโลยีตรงไหน ซึ่งไม่ใช่ทุกปัญหาที่จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาแก้ได้ นาร์เลยต้องลงพื้นที่ไปที่ร้านเองด้วย เพราะเราต้องเอาระบบไปรันให้ร้านดูว่าแบบนี้เขาทำงานง่ายไหม แล้วเอาฟีดแบ็กกลับมาเช็กว่าเทคโนโลยีที่เราทำยังตอบโจทย์อยู่หรือเปล่า ถ้าไม่ตอบโจทย์ก็ต้องตัดออกหรือถ้ามีอะไรต้องเติมก็จะทำเพิ่ม เราจะไม่เสียเวลาไปกับการทำระบบให้ครบทุกอย่าง แต่ออกมาแล้วไม่ตอบโจทย์ที่เขาอยากใช้ เพราะว่าผู้ใช้งานแต่ละที่ก็มีคาแรกเตอร์ที่ต่างกัน เราก็ต้องไปไล่ดูและค่อย ๆ เก็บมาปรับอยู่เรื่อย ๆ”
“คนทำเทคโนโลยีอาจจะรู้สึกว่าระบบที่ออกมาต้องสมบูรณ์ ต้องเชื่อมหน้าบ้านกับหลังบ้านให้มีระบบอัตโนมัติทุกอย่างครบแล้วถึงปล่อย ซึ่งจริง ๆ มันจะไม่มีวันนั้น เราจะเติมไปเรื่อย ๆ จนไม่ได้ปล่อยของสักที เลยคิดว่าอะไรสำคัญก็เลือกสิ่งที่สำคัญก่อนเลย” นันเล่าถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่ช่วงแรกยังคงมีขั้นตอนที่พวกเขาต้องจัดการระบบหลังบ้านกันเองให้ลงตัว ก่อนจะขยับมาพัฒนาเขียนโปรแกรมอัตโนมัติเข้าไปช่วยทุ่นแรง และเพิ่มความรวดเร็วให้แก่ระบบตอบรับลูกค้า ตามที่ได้รับฟีดแบ็ก
“เราทำงานเหมือนสตาร์ตอัปครับ จะมีคำที่เรียกว่า MVP หรือ Minimum Viable Product คือเราอยากทำหลายอย่าง แต่สุดท้ายเราต้องมาเลือกฟีเจอร์ที่คิดว่าจำเป็นจริง ๆ สำหรับโปรดักต์เซอร์วิสของเรา ทำตรงนี้ให้ได้ก่อนแล้วจากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มส่วนอื่นเข้าไป” แป๊ป อีกหนึ่งกำลังของฝ่าย Product Development ช่วยอธิบาย
ตอบโจทย์ผู้ใช้งานคือโจทย์สำคัญ
นอกจากการวางระบบที่คิดถึงผู้ใช้งานในทุกจุดแล้ว ความเชื่อที่ว่าไม่ได้ทำครั้งเดียวจบทำให้พวกเขายังคงเก็บฟีดแบ็กมาต่อเติมเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มให้ครบครันขึ้นอยู่ตลอด
จากตอนแรกที่เปิดบริการแค่ขอพร ก็ได้เพิ่มการแก้บนเข้ามาตามเสียงเรียกร้อง รวมถึงเพิ่มสถานที่ให้บริการ ที่ปัจจุบันมีให้เลือก 3 สถานที่ด้วยกันคือ หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ จังหวัดเชียงใหม่ หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา และไอ้ไข่ วัดเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
หากกดเข้าไปในช่องแชตของ LINE ดูดวง เพื่อเข้าสู่ฟีเจอร์ ขอพร แก้บน ผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ทันทีว่าต้องการ ขอพร แก้บน กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหนหรือเรื่องอะไร โดยแต่ละสถานที่จะมีแพ็กเกจของไหว้ที่ทาง ศรัทธา.online เตรียมไว้ราคาตั้งแต่ 199-2,499 บาท
“แต่ละสถานที่จะมีของไหว้ที่ต่างกัน หลวงพ่อทันใจจะต้องมีดอกมะลิ ซึ่งก็จะมีความซับซ้อน เช่นพวงหนึ่งยาว 5 หรือ 10 เซนติเมตร ซึ่งถ้าเราไม่ได้ลงไปคุยกับร้านก็จะไม่รู้ว่าสิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร และยังมีคนใช้บริการที่ไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้อยู่ว่าต้องเลือกแบบไหน ในอนาคตเราก็หวังว่าจะพยายามสื่อสารกับยูสเซอร์ที่เข้ามาใช้ ให้เขาเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้นด้วย” เจนเล่าถึงบริการ
เมื่อเลือกสถานที่ วันที่ แพ็กเกจและทำการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้งานจะได้รับลิงก์เพื่อกรอกชื่อ นามสกุลและคำขอพร (สามารถแก้ไขได้ก่อนกดยืนยัน) โดยเมื่อกรอกแล้วทางระบบจะส่งภาพใบขอพรกลับมาให้ พร้อมบทสวดและภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบการตั้งจิตอธิษฐาน
“ในใบขอพรจะมีบทสวดของแต่ละสถานที่และด้านล่างจะมีคำที่เขาขอพรไว้ ลูกค้าสามารถเซฟเก็บไว้ในเครื่องได้และเราจะมีรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เขาด้วยเพื่อที่เวลาเขาสวดมนต์หรือขอพรเขาจะได้มองสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วขอตาม ส่วนนี้ยูสเซอร์หลายคนชื่นชอบกันประมาณหนึ่ง เพราะบางทีเขาไม่รู้ว่าจะต้องไปหาบทสวดจากที่ไหนและการมีรูปภาพก็ช่วยให้เขาเหมือนกำลังอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นจริง ๆ” นาร์เล่าถึงขั้นตอนที่พยายามดีไซน์ทุกอย่างไว้ให้ครบในหน้าเดียว
“หลังจากจบส่วนของลูกค้า จะเป็นการส่งออเดอร์ให้ร้านค้า และเมื่อร้านค้าไปทำการ ขอพร แก้บน ให้ลูกค้าตามวันที่จองเสร็จ จะมีอีกข้อความที่ส่งกลับไปหาลูกค้าว่าร้านค้าได้ทำการ ขอพร แก้บน แล้ว เวลาลูกค้าเข้ามาดูก็จะเห็นหลักฐานการขอพร เป็นรูปภาพ 2 รูป คือ Close Up ให้เห็นว่าอันนี้คือแพ็กเกจที่เขาเลือกพร้อมใบขอพรที่ร้านค้าพิมพ์จากระบบออกมาให้เราและอีกภาพที่จะเห็นว่าร้านค้าไปอยู่สถานที่นั้นจริง ตรงนี้เลยเป็นส่วนสำคัญที่นาร์ลงไปคุยกับร้านด้วย เราพยายามเลือกร้านที่สามารถจัดการสิ่งนี้ได้ดี เราจะต้องมีการเทสโฟล์วจริง ๆ กับร้านก่อนแบบออเดอร์ต่อออเดอร์ ว่าจะต้องทำอย่างไร ถ่ายรูปอย่างไร เพื่อจะได้ไม่มีข้อผิดพลาดในวันจริง” นันอธิบายขั้นตอนส่วนสุดท้ายของบริการ
ศรัทธา.online x LINE ดูดวง
จากช่วงแรกที่เปิดให้บริการ ปัญหาใหญ่ที่พวกเขาเจอคือการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มองเห็นเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเดินทางได้จากสถานการณ์โควิด-19 และกลุ่มคนที่อาจไม่มีเวลา ซึ่งอาจเกิดความกังวลเมื่อไม่ได้ทำการแก้บนตามที่ตั้งใจไว้ นั่นทำให้ ศรัทธา.online เดินหน้าเป็นพาร์ตเนอร์กับ LINE ดูดวง เพื่อพาเซอร์วิสที่มีไปหากลุ่มลูกค้า และกำลังวางแผนขยับขยายเซอร์วิสนี้ออกไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“เราเห็นว่ามียูสเซอร์กลุ่มนี้อยู่และเป็นกลุ่มใหญ่ อย่างคนไทยที่อยู่เมืองนอกก็มีข้อจำกัดสูงสุดที่เขาไม่สามารถมาได้จริง ๆ หรือในต่างประเทศเองก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ทุกที่ ในเอเชียที่เรารู้กันก็จะมีฮ่องกง ไต้หวันหรือจีนที่จะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนไปไหว้กัน ในอนาคตเราก็มองว่าเราน่าจะสามารถขยายตลาดไปต่างประเทศได้ เช่นสถานที่ที่คนไทยเองอยากจะไป ทั้งคนต่างประเทศอยากมาทำที่ไทย หรือคนไทยก็อยากทำที่ต่างประเทศ เราคิดว่าสามารถเกิดสิ่งเหล่านี้ได้” เจนกล่าว พร้อมกับนาร์ที่เสริมว่าอยากทำให้บริการในปัจจุบันเข้าที่เข้าทางและขยายฐานในประเทศไทย ก่อนที่จะขยายจำนวนร้านค้า สถานที่ขอพรหรือแก้บนต่อไปในต่างประเทศ
“จริง ๆ เซอร์วิสเราถึงจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อก็จริง แต่เราไม่อยากไปบอกคนอื่นว่าต้องมาทำสิ ทำแล้วชีวิตจะดีนะ หรือทำกับเราแล้วสมหวังแน่นอน เราเป็นเหมือนตัวกลางหรือสะพานเชื่อมระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับผู้มีจิตศรัทธา ที่ทำให้ร้านค้ากับคนที่ต้องการได้มาเจอกัน เป็นเหมือน LINE MAN สำหรับการ ขอพร แก้บน ซึ่งนอกจากเราจะช่วยลดปัญหาที่คนไม่สามารถไปเองได้ เรารู้สึกว่าเราได้ให้ประโยชน์คืนกลับไปสู่สังคมด้วย นั่นคือการช่วยสร้างรายได้ให้แก่ร้านค้าที่เป็นโลคัล อย่างน้อย ๆ โปรดักต์ของเราก็ช่วยคืนอะไรให้สังคมบ้าง เราทำเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการจริง ๆ ด้วยการพาคนสองกลุ่มมาเจอกัน” เจนกล่าวปิดท้ายด้วยการย้ำถึงความตั้งใจของ ขอพร แก้บน ออนไลน์
Fact File
- รายละเอียดเพิ่มเติม : shop.line.me/@linehoro
- Facebook : ศรัทธา.online
- Instagram : sattha.online