นิ/ราษฎร์ : สู่การเดินทางที่ทำให้ “ราษฎร” คนหนึ่งต้อง turn
- นิ/ราษฎร์ : L/Royal Monument นิทรรศการเดี่ยวในรอบ 3 ปีของ วิทวัส ทองเขียว ศิลปินผู้เลือกนำคำว่า ศิลปะ มาวิพากษ์ วิจารณ์ และบอกเล่าสถานการณ์ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองของไทย
- วิทวัส ทองเขียว กล้าที่จะหยิบจุดที่หลายคนไม่กล้าเปิดเผย นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขาเทิร์น (turn) ความคิดที่เขาเชื่อมาตลอดชีวิต แล้วลุกขึ้นมาพูดในสิ่งที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่ได้กล่าวไว้
“หากเอ่ยถึง นิราศ ความหมายของคำนี้คือการที่นักประพันธ์ หรือศิลปินเดินทางแล้วบันทึกสิ่งที่เห็น ส่วน นิ/ราษฎร์ ซึ่งเป็นชื่อของนิทรรศการนี้ หมายถึงการเดินทางของราษฎรคนหนึ่งที่ได้ไปเจอความจริงต่าง ๆ ที่ทำให้มุมมองความคิดของเขาต้อง turn”
เป็นอีกนิทรรศการที่ถูกจับจ้องจากหลาย ๆ ฝ่ายเป็นอย่างมากสำหรับ นิ/ราษฎร์ : L/Royal Monument นิทรรศการเดี่ยวในรอบ 3 ปีของ วิทวัส ทองเขียว ศิลปินผู้เลือกแล้วที่จะนำคำว่า ศิลปะ มาวิพากษ์ วิจารณ์ และบอกเล่าสถานการณ์ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองของไทย หลายคนอาจจะรู้จักผลงานของวิทวัสมาบ้างเพราะนี่เป็นงานโซโลเดี่ยวครั้งที่ 3 ของเขา ทว่าในครั้งนี้ค่อนข้างต่างเพราะศิลปินกล้าที่จะหยิบจุดที่หลายคนไม่กล้าเปิดเผย นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขาเทิร์น (turn) ความคิดที่เขาเชื่อมาตลอดชีวิต แล้วลุกขึ้นมาพูดในสิ่งที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่ได้กล่าวไว้
“สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ผมใช้ภาพถ่ายเป็นตัวบันทึกการเดินทางในกรุงเทพฯ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เป็นการบันทึกสิ่งที่เกิดทั้งแลนด์สเคป คน ภาพเหตุการณ์ แต่ในส่วนของความคิดนั้นมันเริ่มเดินทางมาตั้งแต่ พ.ศ.2551เริ่มจากมีหนังสือบางเล่มที่ผมเริ่มอ่านตั้งแต่ปี 2550 และมันทำให้ความคิดของเราเริ่มเปลี่ยนไป สมัยก่อนผมมีวิธีคิดที่เชื่อในกระแสหลัก และก็พบว่ามันมีคำถามในหัวเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ที่เรายังหาคำตอบไม่ได้ พอหาคำตอบไม่ได้ก็ทำให้เราต้องหาความรู้เพิ่ม และก็ยิ่งหาความรู้เพิ่มก็พบว่ามีบางอย่างที่เราอาจจะเข้าใจผิดมาตลอด และพอความคิดมันเริ่มเปลี่ยนมันทำให้เราได้เจอความจริงอีกชุดหนึ่ง เป็นความจริงที่ไม่ตรงกับที่รัฐผลิตให้เรามา”
“พอมันมีจุดแรกที่เราเริ่มส่งสัย เราก็ตัดสินใจที่จะวิ่งตามความสงสัยนั้นไปก่อนโดยที่ยังไม่ได้ตัดสิน จริง ๆ คือไม่ได้คิดว่าจะเชื่อในสิ่งใหม่ แค่เริ่มจากการหาความรู้เพื่อไปตอบโต้กับคนที่มาบอกเราว่าความจริงมันไม่ใช่สิ่งที่เราคิด และพอยิ่งไปศึกษาก็ยิ่งพบว่าเรากลับไม่มีข้อโต้แย้งที่ดีพอที่จะปกป้องสิ่งที่เราเชื่ออีกต่อไปได้ มันเลยกลายเป็นว่าเราเปิดใจรับสิ่งใหม่และพบว่าจิ๊กซอว์มันได้ต่อประกบเข้ากันอย่างลงตัว หลาย ๆ เหตุการณ์ที่มันเคยถูกสงสัยก็ถูกเปิดออกมาและได้คำตอบ”
วิทวัสเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจในประเด็นสังคมและการเมืองของไทยจนกระทั่งแปรเปลี่ยนความคิด ความรู้ที่ได้ศึกษามาออกมาเป็นงานศิลปะนิทรรศการแรกเริ่มในปี 2557 ซึ่งศิลปินเริ่มด้วยการตั้งคำถามกับภาพรวมของความจริง ถัดมาคือปี 2561 วิทวัสเริ่มเจาะประเด็นลึกลงไปว่าค่านิยมและอุดมการณ์ของชาตินี่แหละที่เป็นสิ่งที่ประชาชนควรสงสัยและตั้งคำถามมากที่สุดและก็มาถึงนิทรรศการปัจจุบัน นิ/ราษฎร์ :The L/Royal Monument จัดแสดงที่ เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery) กรุงเทพฯ โดยมี ชล เจนประภาพันธ์ รับหน้าที่ภัณฑารักษ์
นิ/ราษฎร์ : The L/Royal Monument แบ่งเนื้อหานิทรรศการออกเป็น 4 ส่วน เริ่มจากภาพถ่ายแลนด์สเคป ทิวทัศน์ในกรุงเทพฯ ระหว่างการเดินทางของวิทวัสที่ดูเหมือนสบายตา แต่ในใจของแต่ละคนอาจจะมีการตีความและตั้งคำถามที่ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทางการเมืองของแต่ละคน
“นิราษฎร์ คือการเดินทางของทุกคนที่ต้องการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ไม่ว่าจะขวา ซ้าย หรือกลาง ทุกคนย่อมแสดงออกได้ ปกติเราจะเห็นงานของคุณวิทวัสเป็นงานเพนท์ติ้ง แต่ครั้งนี้ศิลปินอยากจะทดลองงานภาพถ่ายและอินสตอลเลชัน ในห้องแรกคือภาพแลนด์สเคปกรุงเทพฯ ซึ่งประสบการณ์ของแต่ละคน ไม่ว่าจะไปร่วมขบวนการ การรับรู้ข่าวสาร ทำให้ระดับการประกอบความหมายของแต่ละคนต่างกัน ทำให้นิทรรศการมีปลายเปิด เช่น ภาพแยกราชประสงค์ที่มองจากมุมมองผ่านแบริเออร์จากด้านหลัง ภาพกำแพงวัดปทุมฯ ที่เห็นรอยทาสีทับไปทับมา บางคนก็อาจไม่ได้ตั้งคำถาม แต่อีกคนอาจแค่สงสัยว่าทำไมเขตอภัยทานมันถึงมีเหตุการณ์ทาสีทับ ถ้าคุณมองปกติกำแพงนี้คือสิ่งธรรมดา แต่ถ้ามีประสบการณ์ทางการเมืองเข้ามาก็จะสามารถกะเนื้อหา สัญลักษณ์ที่ศิลปินซ่อนไว้ได้”
ชล เจนประภาพันธ์ ให้ความเห็นถึงการเข้าชมงานที่ไม่จำเป็นว่าผู้ชมจะต้องมีประสบการณ์ความรู้ด้านการเมืองอัดแน่นจึงจะเดินเข้ามาได้ เพราะถ้าจะเปิดโหมดรับรู้เรื่องความสวยงามหรือพลังของภาพ นิ/ราษฎร์ : The L/Royal Monument ก็สามารถตอบโจทย์นี้ได้ เช่นเดียวกับในห้องที่ 2 ซึ่งเป็นภาพวาดพอร์เทรตของราษฎร ธรรมดาสามัญที่ไม่ได้ถูกวาดเป็นรูปเคารพ แต่พวกเขาทั้งสี่เป็นคนธรรมดาที่กำลังต่อสู้อยู่บนเส้นทางการเมือง
“สังเกตชุดเขา คือชุดการออกภาคสนามไปต่อสู้ ชุดหมอลำ ชุดไปขึ้นศาลที่มีตุ๊กตาติดกระเป๋า หรืออย่างในภาพของคุณลุงบัณฑิต ในกระเป๋าของเขามีชุดนักโทษติดตัวมาด้วยเพราะเขาเตรียมใจมาแล้วว่าการเดินทางครั้งนี้อาจจะต้องเข้าคุก” ภัณฑารักษ์กล่าวเสริม ซึ่งบุคคลที่ศิลปินเลือกมานั้นไม่ได้เลือกเพราะอ่านข่าว หรือฟังเขาเล่ามา แต่เป็นบุคคลที่โดนคดี 112 ที่วิทวัสมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับพวกเขาเหล่านั้นในหลายมิติ
สำหรับในส่วนจัดแสดงที่ 3 เป็นรูปถ่ายกรุงเทพฯ ในคอลเลกชันของวิทวัสที่สะสมมาราว 4-5 ปี ความน่าสนใจคือ บุคคลที่ถูกถ่ายใน 24 ภาพล้วนเป็นบุคคลที่ศิลปินใช้คำว่า “แทบจะอยู่ชั้นล่างของล่างในสังคม” ที่ไม่มีโอกาสได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์กระแส ความแสบสันของห้องนี้คือการหยิบรูปคนชั้นล่างของล่างของสังคมมาทำเป็นภาพฟิล์มกระจกบอบบางขนาด 2 มิลลิเมตรที่พร้อมจะแตกหักได้ทุกเมื่อ ซึ่งถ้าย้อนไปในอดีตฟิล์มกระจกเหล่านี้คือพื้นที่ของชนชั้นอีลิตเท่านั้นที่จะได้รับการบันทึก
มาถึงห้องสุดท้ายซึ่งบอกได้ว่าเป็นห้องที่แสดงความกล้าของศิลปินในการหยิบการเดินทางของความคิดราว 10 ปีก่อนมาบอกให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงการเทิร์นกลับของขั้วความคิดผ่านกรอบรูปภาพที่หันหลังกลับด้าน ท้องฟ้าที่ลงมาอยู่บนพื้นดิน รวมทั้งขาตั้งภาพที่กลับหัว พร้อมกองอนุเสาวรีย์ที่สร้างจากกองหนังสือที่ศิลปินอ่าน โดยวิทวัสเล่าว่านอกจากหนึ่งในหนังสือจากกองนั้นที่ทำให้ความคิดความอ่านของเขาเริ่มเทิร์นสู่มุมใหม่แล้ว ต้นทุนที่ทำให้เขาได้เทิร์นจริง ๆ คือชิ้นงานชื่อเทอญ เป็นรูปวาดที่ตั้งเอาด้านหลังออกโชว์พร้อมข้อความที่แสนจะเลือนราง และคราบฝุ่น คราบน้ำที่ทำให้พอจะเดาได้ว่าภาพกลับด้านนี้น่าจะผ่านอะไรมาไม่น้อย
“สิ่งที่ทำให้ผมเทิร์นจริง ๆ คือรูปนี้ เป็นรูปที่อยู่บ้านผม เป็นภาพที่ผมส่งประกวดและได้รางวัล เมื่อประกวดเสร็จภาพนี้ก็กลับมาเป็นงานที่เก็บตามปกติที่บ้าน เหมือนที่หลาย ๆ คนเก็บปฏิทินหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเคยไปสำรวจหลายคนไม่ทิ้งปฏิทิน เขารู้สึกว่ามันทิ้งไม่ได้ มันอาจจะเป็นจิตใต้สำนึกของเรา ภาพนี้ก็เช่นกัน แต่วันหนึ่งเมื่อรู้สึกว่างานมันล้นบ้านผมก็หยิบงานชิ้นนี้จากชั้นบนลงมาข้างล่าง และจากชั้นล่างก็ไปอยู่หน้าบ้าน จากหน้าบ้านก็เขยิบไปริมรั้วแล้วก็โดนฝน โดนแดด เป็นห้าหกปี แต่สุดท้ายผมคิดว่ามันเป็นต้นทุนเดียวที่ศิลปินอย่างเรามี บางคนที่ทำงานอย่างนี้แล้วเทิร์นกลับมักจะลบความทรงจำเก่าทิ้ง แต่ผมว่าอันนี้แหละเป็นหลักฐานที่ดีที่สุด เป็นชิ้นงานชิ้นหนึ่งที่ดีมากในการบอกว่าผมเคยเป็นอย่างไรศิลปินจำนวนหนึ่งอาจเกิดมาพร้อมกับหัวก้าวหน้า แต่ผมไม่มีเราเคยเต็มที่กับตรงนั้นพอปี 2553 ก็พบว่ามันไม่ใช่และเราก็พลิกกลับแต่ความไม่รู้ผมว่ามันเป็นต้นทุนที่ทำให้เราเทิร์น และเราก็ต้องยอมรับ”
และเมื่อถามต่อว่าวิทวัสคาดหวังให้ผู้ที่เข้าชมงานเทิร์นความคิดอย่างที่เขาเป็นไหม เขาตอบทันทีว่า
“ถ้าเทิร์นได้ก็ดี ผมเชื่อว่าถ้าไม่ยึดติดมากเกินไป มนุษย์ทุกคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว ดังนั้นถ้าคุณเจอสิ่งใหม่ทุกวัน รับสิ่งใหม่ทุกวัน คุณต้องมีคัมมิง (coming) มนุษย์ต้องมีอะไรเปลี่ยนไปอยู่เสมอ คุณไม่สามารถจะเป็นแบบเดิมได้ ถ้าคุณเป็นแบบเดิม เจออะไรใหม่ ๆ แล้วคุณยังคิดแบบเดิม นั่นแปลว่าคุณกำลังจะแช่แข็งตัวเอง ถ้าพูดแบบตอแหลคือ ทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลง แต่ทำไมคุณไม่เปลี่ยน”
ก่อนจากกันเราถามว่ากังวลไหมกับการทำงานศิลปะที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับการเมือง เพราะที่ผ่านมาก็มีศิลปินไม่น้อยที่ถูกฝ่ายรัฐจับตาเมื่อนำศิลปะมาโยงเข้ากับสังคมการเมือง
“คุณภรณ์ทิพย์ มั่นคง เคยกล่าวกับผมว่าถ้าจะทำงานแบบนี้ขาคุณเข้าไปในคุกแล้วก้าวหนึ่ง ผมจึงไม่คิดอะไรมาก เข้าก็เข้า ไม่เข้าก็ไม่เข้า แต่ข้อดีของงานศิลปะคือการที่ให้เราสามารถใช้สัญลักษณ์และการตีความเล่าเรื่องได้”
Fact File
- นิ/ราษฎร์ : The L/Royal Monument โดย วิทวัส ทองเขียว จัดแสดงที่ เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery)กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ถึง 18 กันยายน พ.ศ. 2564 รายละเอียดเพิ่มเติม www.sac.gallery