รู้จัก สไตรีนโมโนเมอร์ ตั้งแต่การใช้งาน อันตรายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิธีระงับเหตุ
Better Living

รู้จัก สไตรีนโมโนเมอร์ ตั้งแต่การใช้งาน อันตรายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิธีระงับเหตุ

Focus
  • วัตถุดิบประเภทโฟม EPS หรือ Expandable Polystyrene เมื่อถูกไฟไหม้จะเกิดมลพิษจาก สารสไตรีนและเบนซิน
  • สารสไตรีนมีผลต่อระบบประสาท ปวดศีรษะ ง่วงซึม ตับ ระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และ ระบบหายใจการสูดเข้าไปจะมีอาการไอ และหายใจลำบาก

จากกรณีเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ในท้ายซอยกิ่งแก้ว 21 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ทำให้ประเด็นเรื่องอันตรายจาก สไตรีนโมโนเมอร์ หรือ Styrene Monomer หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า สไตรีน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของ โพลิสไตรีน (Polystyrene) ขึ้นสู่อันดับการค้นหาของประชาชนจำนวนมาก ล่าสุด กรมการแพทย์ โดยกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชานี ได้ออกมาแจ้งข้อมูลทั่วไปด้านพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อมซึ่งพบว่า วัตถุดิบประเภทโฟม EPS หรือ Expandable Polystyrene เมื่อถูกไฟไหม้จะเกิดมลพิษจาก สารที่เรียกว่า สไตรีนและเบนซีน โดย สไตรีน มีผลต่อระบบประสาท ปวดศีรษะ ง่วงซึม กระทบต่อตับ ระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และ ระบบหายใจการสูดเข้าไปจะมีอาการไอ และหายใจลำบาก

ในขณะที่เบนซิน (Benzene) จัดเป็นพิษสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ที่สูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ง่วงนอน ชัก หัวใจเต้นแรง และอาจเสียชีวิตได้ การได้รับเบนซีนเป็นเวลานานจะมีผลทำให้เป็นโรคโลหิตจาง นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้หรือสลายตัวเนื่องจากความร้อนของสไตรีน จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน และเกิดอันตรายต่อร่างกาย

สไตรีนโมโนเมอร์ คืออะไร อันตรายแค่ไหนเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ และจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมอย่างไร Sarakadee Lite สรุปความเข้าใจเกี่ยวกับ สไตรีนโมโนเมอร์ จาก คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (ตุลาคม 2552) มาให้ได้อ่านอย่างสรุปกันอีกครั้ง

สไตรีนโมโนเมอร์

สูตรทางเคมี : C 8 H 8

ชื่อเรียกอื่นๆ :  Phenylethylene, Styrole, Styrol, Styrolene, Vinyl benzene, Ethenyl benzene, Phenylethene ฯลฯ

ลักษณะ : ของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะ

อุณหภูมิที่ลุกติดไฟเองได้ : 490 องศาเซลเซียส

Half-life : ในอากาศ 2.5 ชั่วโมง / ในน้ำ 3 ชั่วโมง

ข้อบอกความเสี่ยง : ไวไฟ / เป็นอันตรายเมื่อสูดดม / ระคายเคืองต่อตา / ระคายเคืองผิวหนัง

อุตสาหกรรม : ประเทศไทยได้มีการนำเข้า สไตรีนโมโนเมอร์ มาใช้ในการผลิต โพลีสไตรีน (Polystyrene) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง และใช้กันมากในการผลิตโพลีเมอร์สังเคราะห์ เช่น พลาสติกโพลีสไตรีน (กล่องโฟม ฉนวนกันความเย็น กล่องเทป ของเล่น ช้อนพลาสติก เสื้อชูชีพ) อะคริลิกเรซิน (สีเคลือบผิว) เรซินโพลีเอสเตอร์ที่ไม่อิ่มตัว (งานก่อสร้าง) เป็นต้น

พิษเฉียบพลัน:  ระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา เมื่อสูดหายใจเข้าไปจะเกิดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจทำให้ไอ หายใจลำบาก เมื่อดูดซึมถึงระดับที่ก่อให้เกิดพิษจะทำให้ปวดหัว เวียนหัว ง่วงซึม

พิษเรื้อรัง : เกิดความผิดปกติในโครโมโซมในคน ทำให้เกิดมะเร็งได้ทั้งในคนและสัตว์ เพิ่มการแท้งในสตรีมีครรภ์ที่สัมผัสสารนี้ ทำให้ระบบฮอร์โมนผิดปกติโดยเฉพาะการทำงานของต่อมไทรอยด์ ประจำเดือนผิดปกติ และมีผลต่อฮอร์โมนของหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งส่งผลให้เกล็ดเลือดต่ำ ต่อมน้ำเหลืองผิดปกติ มีผลต่อระบบประสาททำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม : แม้สไตรีนโมโนเมอร์ที่บริสุทธิ์เป็นสารที่ไม่ตกค้างในน้ำ และมีค่าครึ่งชีวิต 3 ชั่วโมง แต่สไตรีนโมโนเมอร์และสารประกอบของสไตรีนเมื่อถูกออกซิไดซ์ด้วยออกซิเจนจะเปลี่ยนเป็น เบนซาลดีไฮด์ (Benzaldehyde) ฟอร์มัลดีไฮต์ (Formaldehyde) และเบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzyl Alcohol) ซึ่งเป็นอันตราย มีความเป็นพิษ และมีการตกค้างในเนื้อเยื่อของสัตว์น้ำได้

จากการศึกษาผลกระทบในกรณีที่มีการรั่วไหลของสไตรีนโมโนเมอร์ปนเปื้อนแหล่งน้ำพบว่า มีผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ ทำให้มีการลดลงของการขยายพันธุ์เป็นเวลาหลายชั่วโมง อีกทั้งเมื่อปนเปื้อนลงน้ำ ระดับความอันตรายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการไหลเวียนของน้ำว่ามากน้อยเพียงใด

สารเคมีและวัสดุที่ไม่ควรเก็บร่วม : สไตรีนโมโนเมอร์เป็นสารไวไฟที่มีข้อระบุชัดเจนไว้ใน “คู่มือจัดการสารเคมีอันตราย” ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่า ไม่ควรจัดเก็บร่วมกับวัสดุและสารเคมีเหล่านี้ เช่น ทองแดง, อะลูมิเนียมออกไซด์ เกลือของโลหะ ฮาโลเจน (Halogen) อีเทอร์ (Ether) แอลดีไฮด์ (Aldehydes) เป็นต้น

การเก็บรักษา : สไตรีนโมโนเมอร์เป็นสารที่เกิดปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชัน (Polymerization) ได้ง่าย โดยการทำปฏิกิริยากับสารโมโนเมอร์ชนิดเดียวกันหรือต่างชนิด ซึ่งทำให้เกิดความร้อนและการระเบิดได้ ดังนั้นในการจัดเก็บต้องบรรจุในภาชนะบรรจุที่มีการเติมสารยับยั้งปฏิกิริยาเพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชัน ซึ่งถังบรรจุต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยของสถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ สมาคมวิศวกรรมเครื่องกลแห่งสหรัฐอเมริกา หรือมาตรฐานอื่นเทียบเท่า

หน้ากากสำหรับเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้ : ผู้ปฏิบัติงานเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้กรณีระเบิดหรือเพลิงไหม้จากสไตรีนโมโนเมอร์ ต้องสวมชุดป้องกันทางเดินหายใจ โดยวิเคราะห์จากความเข้มข้นของสารเคมี เช่น ถ้าช่วงสารความเข้มข้นไม่เกิน 500 ppm เลือกใช้ ระดับค่าการป้องกัน APF10 ที่เป็นหน้ากากมีตัวกรองแบบตลับสำหรับป้องกันไอระเหยสารอินทรีย์ หรือมี Air Supplying Respirator ท่อสำหรับการหายใจ หรือถ้าช่วงสารความเข้มข้นไม่เกิน 700 ppm เลือกใช้ ระดับหน้ากากค่าการป้องกัน APF50 มีที่ครอบหน้าแบบเต็มและมีถังบรรจุอากาศแบบพกพา เข้าไปในพื้นที่

กรณีเพลิงไหม้เล็กน้อย : เมื่อเกิดเพลิงไหม้ถังให้ปิดกั้นบริเวณที่เกิดเหตุ เบื้องต้นรีบอพยพผู้คนออกไปในระยะ 800 เมตรทันที ส่วนสารเคมีที่ใช้ดับเพลิง ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ โฟม (regular foam) หรือ ฉีดน้ำเป็นฝอย

กรณีเพลิงไหม้รุนแรง : ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมดับเพลิง และให้ฉีดน้ำเป็นฝอยเพื่อหล่อเย็นถังเก็บเท่านั้น ห้ามฉีดน้ำไปยังบริเวณที่ไฟไหม้โดยตรง เพราะจะยิ่งทำให้เกิดการกระจายตัวของเพลิงยิ่งขึ้น ควรวางถุงทรายหรือวัสดุปิดกั้นป้องกันไม่ให้สารเคมีไหลลงสู่สิ่งแวดล้อม และเมื่อระงับเหตุได้ควรมีการตรวจวัดไอระเหยสไตรีนโมโนเมอร์ ข้อควรระวังสำหรับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงคือ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจชนิดถังบรรจุอากาศแบบพกพาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมี และควรมีการตรวจสุขภาพของเจ้าหน้าที่หลังจากปฏิบัติงานในกรณีสูดดมสไตรีนโมโนเมอร์โดยตรง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น : รีบนำผู้ประสบอันตรายไปยังที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ หากหยุดหายใจให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ และถ้าหายใจลำบากให้ใช้เครื่องออกซิเจน หากออกมาได้ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารสไตรีนโมโนเมอร์ออกทันที หากเข้าตาให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดต่อเนื่องประมาณ 15-20 นาที กรณีไฟไหม้ผิวหนังรีบทำให้เย็นด้วยน้ำเย็น ไม่ถอดเสื้อผ้าออกถ้าเสื้อผ้าติดผิวหนัง

อ้างอิง : คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตุลาคม 2552


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite