จับตา โควิดสายพันธุ์เดลตา สู่การกลายพันธุ์ เดลตาพลัส ที่อาจส่งผลต่อแผนวัคซีนไทย
- จากสถิติผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เฉพาะเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า คนไข้ที่มารักษากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ติดเชื้อ โควิดสายพันธุ์เดลตา หรือ สายพันธุ์อินเดีย
- การแพร่กระจายของ โควิดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ในเดือนเมษายน 2564 ทำให้ปริมาณผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงและยังคงไม่ลด และตอนนี้ยอดผู้ป่วยยิ่งมากขึ้นจากสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่า
หลังจากวิกฤติเตียงเต็มกลับมาวนลูปในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกครั้งกลางปี 2564 พร้อมตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้นไม่หยุดถึงวันละ 3,000-4,000 คน และล่าสุดก็ได้มีราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เพิ่มมาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เหล่านี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยหนึ่งในข้อน่ากังวลที่สมทบเข้ามาคือ การแพร่ระบาดของ โควิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่กลายพันธุ์จนมีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ก่อนหน้า และดูเหมือนกำลังกลายเป็นมรสุมครั้งใหม่ที่ซ้ำเติม และอาจนำไทยให้เข้าสู่วิกฤติ (อีกรอบ) นับจากนี้
ทำไม โควิดสายพันธุ์เดลตา ที่กำลังกลายพันธุ์สู่ เดลตาพลัส ถึงถูกจับตาจากหลายประเทศว่าเป็น สายพันธุ์ที่น่ากังวล และแผนวัคซีนที่ไทยกำลังวางไว้จะสามารถวิ่งตามไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ทันหรือไม่ Sarakadee Lite ชวนมาทำความเข้าใจและอัพเดทถึงไวรัสสายพันธุ์เดลตาในไทยกัน
1. จากสถิติผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เฉพาะเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ซึ่งถือเป็นการระบาดระลอกใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง พบว่า คนไข้ที่มารักษากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ติดเชื้อ โควิดสายพันธุ์เดลตา โดยทางโรงพยาบาลได้ทำการสุ่มตรวจคนไข้อาทิตย์ละ 20 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มาจากหลายคลัสเตอร์ ซึ่งจากสถิติที่พบบ่งบอกได้ว่า โควิดสายพันธุ์เดลตา สามารถแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ที่ระบาดอยู่ในไทย
2. สำหรับการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา และแม้ในพื้นที่เมืองหลวงนั้น สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จะยังไม่แพร่กระจายเข้ามามากนัก (เพิ่งตรวจพบ 1 คนเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564) เพราะมีการแพร่ระบาดได้ยากกว่าเดลตา แต่ข้อน่ากังวลของสายพันธุ์เบตาคือ จะลดประสิทธิภาพของวัคซีนทุกชนิด ดังนั้นถ้าไม่มีการควบคุมที่ดี สุดท้ายหากสายพันธุ์เบตาเกิดการระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็จะกลายเป็นวิกฤติการระบาดระลอกที่ 5 ตามมาได้
3. ตามปกติเวลาที่ไวรัสกลายพันธุ์ ตำแหน่งโปรตีนบนไวรัสจะมีลักษณะที่เปลี่ยนไป ส่งผลทำให้ไวรัสดื้อวัคซีนมากขึ้น เช่นเดียวกับโควิดสายพันธุ์เดลตา ที่เมื่อมีการแพร่กระจายมากๆ ก็จะเกิดการกลายพันธุ์และเกิดสายพันธุ์ใหม่อย่าง เดลตาพลัส หรือ AY.1 ซึ่งโปรตีนบนไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 1 ตำแหน่ง ทำให้ไวรัสมีโอกาสดื้อวัคซีนมากขึ้นจากสายพันธุ์เดิมคือเดลตา และนั่นแปลว่าความร้ายแรงของไวรัส อาจไม่จำเป็นต้องรอให้ไวรัสมีการพัฒนาจนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงแค่ตำแหน่งเดียวก็ส่งผลให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
4. สำหรับประเทศอังกฤษที่ก่อนหน้านี้เคยมีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เป็นหลัก แต่พอมีเชื้อสายพันธุ์เดลตาระบาดเพิ่มเข้าไป ทำให้ปัจจุบัน (มิถุนายน 2564) ประชากรอังกฤษ 60 -70 เปอร์เซ็นต์ติดโควิดเชื้อสายพันธุ์เดลตามากขึ้น ซึ่งหากยึดโมเดลการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาในอังกฤษก็จะพบว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากสำหรับไทย เพราะจากการแพร่กระจายของ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ในเดือนเมษายน ปริมาณผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ได้ลดลง และตอนนี้ยอดผู้ป่วยในโรงพยาบาลยิ่งมากขึ้นเนื่องจากสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าอัลฟา
5. หากเทียบเคียงโมเดลการแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลตาในอังกฤษ ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทย ความต่างอย่างหนึ่งในการจัดการคือ อังกฤษมีวัคซีนที่หลากหลายในการฉีดให้กับประชากรกลุ่มต่างๆ โดยอังกฤษใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลัก พ่วงทัพด้วยวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดิร์นนาซึ่งใช้เทคโนโลยี mRNA ในการผลิต ยิ่งพอมาวิเคราะห์อัตราการฉีดวัคซีนของประชากรอังกฤษ ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 43.4 ล้านคน ส่วนเข็มสองฉีดไปแล้ว 31.7 ล้านคน จะเห็นว่าประชากรจำนวนมากของอังกฤษมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และแม้เมื่อมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาจะทำให้มีประชากรอังกฤษกลับมาติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละหลายหมื่นคน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงอย่างมาก แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคืออัตราการเสียชีวิตยังมีไม่มากซึ่งเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีน
6. ย้อนมองกลับมายังไทย ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าสาขาไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชากรในไทยที่ยังมีไม่มากเท่าอังกฤษอีกทั้งความหลากหลายของชนิดวัคซีนก็ยังไม่มาก พอมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาเพิ่มเติมจากสายพันธุ์อัลฟายังทำให้มีผู้ติดเชื้อหนักเพิ่มขึ้นขนาดนี้ นี่เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงและน่าจับตาอย่างมากสำหรับการแพร่ระบาดภายในประเทศไทยต่อจากนี้หากมีสายพันธุ์อื่นๆ ที่แพร่ระบาดได้ง่าย และลดประสิทธิภาพวัคซีนเข้ามาเพิ่มเติมอีก
7. ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ ตั้งข้อสังเกตว่า หากเปรียบเทียบประสิทธิภาพวัคซีนที่มีในไทยตอนนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนว่าซิโนแวคที่ใช้เป็นหมือนวัคซีนหลักของประเทศไปแล้วจะเป็นคำตอบของการแพร่ระบาดของ โควิดสายพันธุ์เดลตา และโควิดกลายพันธุ์อื่นๆ ได้หรือไม่ เนื่องจากข้อมูลด้านประสิทธิภาพของซิโนแวคที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับสากลยังมีน้อย ซึ่งประสิทธิภาพที่ได้ยินส่วนใหญ่มาจากการแถลงข่าว หรือการอ้างของบริษัทผู้ผลิต และประเทศที่นำซิโนแวคไปฉีดให้กับประชากร ซึ่งในความเป็นจริงซิโนแวคอาจมีประสิทธิภาพตามที่มีการบอกกล่าว แต่สิ่งที่ยังคงต้องตั้งคำถามคือ ในเมื่อมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ แต่ทำไมวารสารทางการแพทย์จึงยังไม่มีการตีพิมพ์ข้อมูลวัคซีนตัวนี้มากนัก ทั้งที่วัคซีนตัวอื่น แค่มีการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 30,000 – 40,000 คน ก็มีการตีพิมพ์ผลวิจัยอย่างเป็นทางการในวารสารการแพทย์ต่างๆ ออกมาแล้ว
8. วงการแพทย์ไทยเริ่มมีข้อแนะนำใหม่เกิดขึ้นหลังจากที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์เริ่มระบาดในไทยอย่างรวดเร็ว นั่นคือให้ประชากรในไทยฉีดกระตุ้นวัคซีนโควิดในเข็มที่ 3 โดยข้อแนะนำหนึ่งที่น่าสนใจคือควรเป็นยี่ห้ออื่นที่ไม่ใช่ซิโนแวค และควรเป็นวัคซีนที่มีการผลิตโดยไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย เพราะในเชิงทฤษฎีหากมีการฉีดวัคซีนในเข็มที่ 3 ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่แตกต่างจาก 2 เข็มแรก จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า เพื่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างแท้จริง
9. หากมองไทม์ไลน์การระดมฉีดวัคซีนของไทยตอนนี้ชัดเจนว่าเข็มแรกยังกระจายไปไม่ทั่วถึง ดังนั้นคาดว่าปลายปีนี้จึงอาจจะยังไม่ได้เกิดโมเดลฉีดเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากที่ไทยจองวัคซีนช้า ขณะที่บริษัทผู้ผลิตเองก็สามารถผลิตได้ในจำนวนจำกัด ดังนั้นโอกาสที่ไทยจะจองวัคซีนเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ในเข็มที่ 3 ให้ทันฉีดสิ้นปี 2564 นี้จึงเป็นเรื่องยากและท้าทายมาก
10. หากมีแนวทางที่จะให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน รัฐบาลควรมีการวางแผนในการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เช่น ระยะแรกอาจมุ่งเน้นฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในแนวหน้าให้เร็วที่สุด เพราะบุคลากรเหล่านั้น ส่วนใหญ่รับวัคซีนเข็มแรกและเข็มสองเป็นวัคซีนซิโนแวค ซึ่งในสถานการณ์กลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่เปลี่ยนไป วัคซีนอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกัน และหากบุคลากรล้มป่วยจำนวนมาก ย่อมส่งผลต่อระบบสาธารณสุขในการดูแลคนไข้ต่อเนื่องกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
11. การบริหารจัดการวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนอย่างเร่งด่วนและรอบด้าน โดย ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ ให้ความคิดเห็นว่าต้องมีการนำเข้าวัคซีนอย่างน้อย 2 ยี่ห้อ เพื่อป้องกันการขาดแคลน และควรมีการวิจัยควบคู่ไปว่า ในประชากรที่ฉีดวัคซีนหลักในเข็มที่ 1 และ 2 แล้ว หากฉีดเข็มที่ 3 ควรใช้เทคโนโลยีอะไร เพื่อให้มีประสิทธิภาพการป้องกันมากที่สุด
12. หากหันมามองวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ที่มีการวิจัยโดยทีมนักวิจัยไทย อย่าง วัคซีนจุฬาคอฟ19 (ChulaCov19) ในเดือนมิถุนายน 2564 ได้เริ่มทดลองในมนุษย์ และมีการวิจัยประสิทธิภาพในเข็มที่ 3 ควบคู่กันไปด้วย คาดว่าจะนำออกมาใช้ได้ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2565
อ้างอิง
- ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าสาขาไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- https://www.bbc.com/news/world-asia-india-57564560
Fact File
- เดลตา (Delta) ใช้เรียกโควิดสายพันธุ์ B.1.617.2 ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ส่วนเดลตาพลัสนั้นเป็นการกลายพันธุ์ของเชื้อที่พบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเมษายน 2564
- อัลฟา (Alpha) ใช้เรียกโควิดสายพันธุ์ B.1.1.7 ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในอังกฤษ
- สำนักข่าว BBC รายงานเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียได้เปิดเผยรายงานข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับ เดลตาพลัส พบว่ามีคุณสมบัติแพร่กระจายได้ง่ายมากขึ้น ยึดเกาะกับเซลล์ในปอดได้ง่ายขึ้น และอาจจะต้านทานต่อการรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน (Monoclonal antibody therapy) ซึ่งเป็นการให้แอนติบอดีทางเส้นเลือดเพื่อฆ่าไวรัส