Holding the Man เพราะความรักเป็นเรื่องปกติ แม้จะอยู่ ในอ้อมกอดเขาหรือเพศใด
- Holding the Man ในอ้อมกอดเขา เป็นหนังสือต้นฉบับของนักเขียนชาวออสเตรเลีย ทิโมธี คอนิเกรฟ (Timothy Conigrave) ซึ่งทำงานเคลื่อนไหวสิทธิประเด็นทางเพศควบคู่กัน
- Holding the Man ได้รับรางวัล Human Rights Award for Non-Fiction ในปี 1995 จาก Australian Human Rightsในประเภท Non-Fictionได้รับกาqรดัดแปลงสู่สื่อภาพยนตร์อีกด้วย
Holding the Man หรือชื่อไทย ในอ้อมกอดเขา เป็นหนังสือต้นฉบับของ ทิโมธี คอนิเกรฟ (Timothy Conigrave) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวสิทธิประเด็นทางเพศชาวออสเตรเลีย ที่มีอิทธิพลทางความคิดและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และนับตั้งแต่ตีพิมพ์สู่สาธารณะเมื่อ ค.ศ.1995 เป็นต้นมา Holding the Man ก็ได้รับการแปลและจัดจำหน่ายในสเปนและอเมริกาเหนือจนโด่งดังพลุแตกและได้รับการพิมพ์ซ้ำถึง 14 ครั้ง พ่วงมาด้วยรางวัล Human Rights Award for Non-Fiction in 1995 จาก Australian Human Rights ประเภท Non-Fiction บันทึกเรื่องราวของคู่รักในยุคที่การรักเพศเดียวกันยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างของสังคม เสน่ห์ของการอ่านบันทึกเล่มนี้อยู่ตรงที่ ผู้อ่านจะรู้สึกกำลังรับรู้เรื่องส่วนตัวเบื้องลึกในห้วงรักของ ทิโมธี หรือ ทิม ซึ่งได้บันทึกห้วงเวลาทั้งรักและยามยากของความสัมพันธ์ที่เขามีสายใยหัวใจให้กับ จอห์น ชายคนรักของเขา
Holding the Man เป็นการเล่าเรื่องความรักต้องห้ามโดยมีพื้นหลังเหตุการณ์อยู่ในช่วงประมาณยุค 60’s- 80’s ในช่วงเวลาที่ทิมและจอห์นมีความรักให้แก่กันตั้งแต่วัยรุ่น ซึ่งแน่นอนว่ายุคนั้นครอบครัวของทั้งคู่ไม่เห็นด้วย เรื่องราวค่อย ๆ ไล่เรียงถึงเติบโตเป็นวัยผู้ใหญ่ ซึ่งทั้งคู่เริ่มจะมีเวลาด้วยกันน้อยลงทุกทีจากการติดเชื้อ HIV ซึ่งในยุคนั้นโรคเอดส์ได้แพร่ระบาดในหมู่ชายรักชายและได้พรากชีวิตคู่รักไปจำนวนมาก
บันทึกเล่มนี้ของทิมเล่าตั้งแต่การจีบกัน จนถึงการลาจากความรักที่เหนียวแน่นยาวนาน พร้อมทั้งน้ำเสียงวิจารณ์สังคมที่แนบเนียนไปกับความโรแมนติกของห้วงรัก อย่างในช่วงเปิดเรื่องที่อิงกับประสบการณ์ครั้งที่ทิมเรียนอยู่ในโรงเรียนศาสนา เขาได้กล่าวถึงสภาพสังคมช่วงนั้นของโลกตะวันตกที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอของการเรียกร้องเสรีภาพและการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันครูในโรงเรียนก็ยังคงใช้อำนาจกดนักเรียน และยังพยายามปลูกฝังแนวคิดทางอนุรักษ์นิยม ทิมได้เอ่ยถึงการพัฒนาทางสังคมภาพใหญ่ตั้งแต่นโยบายกัญชาจนถึงมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ แต่ก็ยังมีผู้เคร่งครัดในศีลธรรมของตนที่แกมบังคับให้ผู้อื่นเห็นงามด้วยกับกรอบศีลธรรมเหล่านั้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าภาพใหญ่และภาพเล็กเป็นอย่างไรในตอนเมื่อเขายังเด็ก เป็นการปูบริบทให้เห็นถึงความสำคัญของสังคมส่วนย่อยและวิจารณ์ถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง แต่อุดมการณ์บางส่วนของบางคนก็ไม่สามารถวิวัฒนาการไปสู่ระบบคิดใหม่ ๆ ได้ และนี่คือปฐมบทของการแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของสังคมที่ไม่ยอมรับรักแบบเพศเดียวกัน แม้จะไม่แสดงภาพของการกดขี่นั้นออกมาตรง ๆ ก็ตาม
ความแยบยลของทิมคือการโยงมิติความรักที่เหมือนจะเป็นเรื่องส่วนตัวเข้ากับภาพใหญ่ของสังคมที่ส่งผลถึงกันอย่างแยกไม่ได้ เช่นการตั้งคำถามว่า ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ต้องก้าวข้ามจากสิ่งใดไปสู่สิ่งใดบ้างจากการพัฒนาถนนสู่ดวงจันทร์ แน่นอนว่าการเหยียบดวงจันทร์ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่จากความรักตามขนบไปสู่ความรักที่กว้างขวางไร้ข้อจำกัดล่ะ จะเกิดขึ้นได้เมื่อไร
แม้หนังสือเล่มนี้จะมีประเด็นการวิพากษ์สังคมฉายให้เห็นถึงอุปสรรคทางความรักทั้งจากสังคม ครอบครัว และการถูกมองว่าชายรักชายเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่หนังสือเล่มนี้ยังฉายภาพความโรแมนติก รักในอุดมคติของทั้งคู่ที่ให้เห็นว่า นี่คือบันทึกรักเป็นเรื่องของคนสองคนที่อยากอยู่ด้วยกันตลอดไปไม่ว่าจะมีเงื่อนไขใด ๆ พวกเขาก็จะพยายามทลายกรอบต่าง ๆ เพื่อครองคู่กันต่อไป เช่นฉากสำคัญที่ทั้งคู่ในวัยรุ่นถูกพ่อแม่และคนในครอบครัวจับได้ว่ารักกัน ครอบครัวของพวกเขาพยายามกีดกัน และบอกกับพวกเขาว่าสิ่งนี้ผิดปกติ “เดี๋ยวโตไปก็หาย” “นัดจิตแพทย์รักษาหายได้” พวกเขาไม่สนและยังคงพยายามดำเนินความสัมพันธ์แบบคู่รักต่อไปราวกับโลกทั้งใบเป็นอาณาเขตของเขาเพียงสองคน
หนังสือเล่มนี้ชวนให้คิดถึงมวลความรู้สึกที่เรียกว่าความรักในกรอบคิดที่ไม่ผูกติดกับเพศสภาพอันเป็นขนบอีกต่อไป พร้อมทั้งหันมองว่ากรอบของสังคมที่มีอยู่นั้นให้ความเป็นธรรมกับเรื่องพื้นฐานอย่าง การจะรักใครสักคน เพียงพอหรือยัง
ในบทสำคัญอีกช่วงของเรื่องคือการที่ทั้งคู่พยายามจะเรียกร้องให้การแสดงความรักของเพศเดียวกันสามารถแสดงออกในที่สาธารณะได้ โดยในเรื่องเป็นช่วงยุค 70’s ระหว่างบุปผาชนบานสะพรั่ง ณ มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) โดยมีการเรียกร้องให้สามารถแสดงออกถึงกิริยากอดจูบและอื่น ๆ ที่มีความหมายถึงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น หรือเป็นกิริยาที่ทำกับคนรักได้ การเรียกร้องนี้อย่างแรกคือการทำให้เสรีภาพทางการแสดงออกสามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่สาธารณะที่เป็นของทุกคน และสองเป็นการทดสอบสังคมระดับหนึ่งว่าคุณมีอคติทางเพศหรือไม่
หากมองเห็นการจูบระหว่างชายกับหญิงแล้วรู้สึกแบบหนึ่ง อาจจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม แต่ถ้าเห็นชายจูบกับชาย และหญิงจูบกับหญิง ความรู้สึกจะเหมือนกันหรือไม่ หากไม่แล้วสิ่งนี้คืออคติทางเพศหรือเปล่า เพราะมีเงื่อนไขทางเพศที่ยังไม่เท่าเทียมโดยมีผลกับความรู้สึกของผู้มอง ดังนั้นในบทนี้จึงตั้งคำถามกับการมองและการถูกมองในนัยของความเท่าเทียมเชิงการยอมรับอีกด้วย
Holding the Manจึงเป็นบทบันทึกที่บรรจุทั้งความรู้สึกส่วนตัว บริบทยุคสมัย และแรงบันดาลใจของการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศที่น่าสนใจ หนังสือต้นฉบับยังได้รับการถ่ายทอดเป็นรูปแบบภาพยนตร์ในปี ค.ศ.2015 โดยได้รับการกำกับจาก นีล อาร์มฟีลด์ (Neil Armfield) จนออกมาเป็นภาพยนตร์รักละมุนละไมสุดซึ้ง และมอบแรงบันดาลใจที่จะรักใครสักคนอย่างสุดหัวใจแบบตัวละครทั้งคู่
นอกจากนั้นในปีนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ฉบับแปลภาษาไทยโดยใช้ชื่อว่า ในอ้อมกอดเขา แปลโดย วาริน นิลศิริสุข ผลงานของสำนักพิมพ์ BEAR Publishing ไม่ว่าจะทั้งการดัดแปลงสู่ภาพยนตร์และการตีพิมพ์สู่ภาษาอื่น ๆ ทำให้เห็นได้ว่าเรื่องราวนี้ยังคงเป็นบันทึกรักที่ทรงพลังและยังน่าสนใจแม้ในยุคนี้ที่มนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ไม่รู้กี่ฝ่าเท้า แต่คำถามสำคัญอย่างเมื่อไรความรักจะมีอิสระเพียงพอและหลุดพ้นค่านิยมทางสังคมโดยเฉพาะค่านิยมที่จำกัดสิทธิทางเพศและการมองว่าเรื่องแบบนี้ยังผิดปกติอยู่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ความก้าวหน้าทางความคิดจะไปสู่ยุคที่เพศไม่ใช่เงื่อนไขสำหรับความรักและสิทธิอื่น ๆ ในสังคมอีกต่อไป
Fact File
- Holding the Man เขียนโดย ทิโมธี คอนิเกรฟ (Timothy Conigrave)
- ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ ในอ้อมกอดเขา แปลไทยโดย วาริน นิลศิริสุข สำนักพิมพ์ BEAR Publishing