ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น : หนังสือชวนผจญภัยในสิ่งที่ยังไม่ประจักษ์โดย คาร์โล โรเวลลี
- ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น (Reality is Not What It Seems) เขียนโดย คาร์โล โรเวลลี (Carlo Rovelli) นักทฤษฎีฟิสิกส์ชาวอิตาลีและเป็นหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ Sophia
- คาร์โล โรเวลลีเป็นนักทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้หลากหลายด้านทั้งปรัชญา ประวัติศาสตร์และควอนตัมฟิสิกส์ ส่งผลต่อการมองความจริงที่มีอยู่และการตั้งคำถามกับความจริงที่อาจจะไม่ใช่อย่างที่ใคร ๆ เห็น
ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น หรือ Reality is Not What It Seems หนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์น้องใหม่ Sophia เขียนโดย คาร์โล โรเวลลี (Carlo Rovelli) นักทฤษฎีฟิสิกส์ชาวอิตาลีผู้มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละเล่มเขามักใส่ความเชื่อมโยงแนวคิดควอนตัมฟิสิกส์ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ และปรัชญาวิทยาศาสตร์ งานเขียนของโรเวลลีมีความโดดเด่นด้วยมุมมองหลายเหลี่ยมมุมจากความรู้ที่หลากหลาย และไม่ใช่เพียงการชวนมองความจริงในมุมใหม่ แต่เขายังมุ่งเสนอความคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับความจริงที่อาจจะยังไม่ประจักษ์
ที่ผ่านมาหนังสือของโรเวลลีได้รับการตีพิมพ์ฉบับแปลภาษาไทยไม่น้อยกว่า 3 เล่ม ได้แก่ ความลี้ลับของเวลา : ถอดปริศนาแห่งเวลาในสายตาควอนตัมฟิสิกส์ (The Order of Time) ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Salt โดยตัวหนังสือว่าด้วยกาลเวลาในเชิงควอนตัมฟิสิกส์ ส่วนอีกเล่มคือ ความงามแห่งฟิสิกส์ (Seven Brief Lessons on Physics) ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Open Worlds เป็นหนังสือเล่าเรื่องศาสตร์ความรู้ของฟิสิกส์ทั้งเชิงวิทยาศาสตร์และพาดเกี่ยวกับปรัชญา ซึ่งเรียกได้ว่าสำหรับผู้สนใจงานของโรเวลลีและกังวลการกล่าวถึงทฤษฎีต่างๆ เล่มนี้เป็นพื้นฐานความรู้ที่จะปูเข้าสู่จักรวาลความคิดของโรเวลลีได้พอสมควรทั้งเนื้อหาและการเขียนที่สั้นกระชับ
และสำหรับเล่มล่าสุดอย่าง ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็นนี้ เพิ่งออกจากโรงพิมพ์อุ่นๆ โดยสำนักพิมพ์ใหม่ล่าสุด Sophia ภายในเครืออมรินทร์ เรียกได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกสำหรับเปิดตัวสำนักพิมพ์ที่มีความกล้าหาญพอสมควร เพราะเล่มแรกย่อมบอกถึงแนวทางของเล่มต่อ ๆ ไปที่จะตามมา แต่ก็ดูจะเหมาะเจาะอย่างยิ่งกับชื่อสำนักพิมพ์ Sophia ที่ไม่ใช่เพียงเป็นชื่อคนยอดนิยมเท่านั้นแต่ในภาษากรีกคำนี้ยังหมายความถึง ปัญญา(Wisdom) ซึ่งหากมองความหมายต่อมาของคำว่า ปัญญา ที่มีความหมายว่าความรู้ทั่ว ความรอบรู้ ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด ตามพจนานุกรมไทยแล้วละก็ หนังสือ ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น เล่มนี้ดูจะเข้าท่าเข้าทีมากเลยทีเดียวด้วยคุณสมบัติที่รู้รอบคิดทั่วของนักเขียนอย่างโรเวลลี
“แล้วคุณคิดว่าอะไรคือธรรมชาติแท้จริงของสรรพสิ่ง”
ประโยคดังกล่าวคือคำถามสำคัญในบทนำอันเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ในฐานะคำตอบส่วนตัวของโรเวลลี ซึ่งเป็นคำถามที่เป็นแกนหลักของคำอธิบายขนาดยาวเล่มนี้ โรเวลลีพาผู้อ่านเดินทางตั้งแต่รากทางความคิดของสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดที่เล็กที่สุดของสรรพสิ่งอย่าง อะตอม (Atom) ที่มีรากเหง้าทางความคิดยาวนานตั้งแต่ 450 ปีก่อนคริสต์ศักราช (BCE) โดยในช่วงนี้ของหนังสือโรเวลลีพยายามอธิบายให้เห็นถึงรากทางปัญญานั้นคือ ปรัชญา ที่มีมาตั้งแต่โบราณโดยเขาเริ่มที่การกล่าวถึง อเพรอน (Apeiron) ที่แปลว่า มองไม่เห็นและจำแนกแยกแยะไม่ได้ โรเวลลีชี้ให้เห็นว่าคุณสมบัติทางความคิดของการที่นักปรัชญายุคนั้นกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า อเพรอน ทำให้เห็นว่าความคิดถึงสิ่งที่มีอยู่แต่สัมผัสของมนุษย์ไปไม่ถึงเป็นความคิดของมนุษย์มาอย่างยาวนานแล้ว
ทักษะที่โดดเด่นในการเล่าของโรเวลลีนั้นคือการผสานความรู้หลายแขนงเข้าสู่แกนหลักและหาคำอธิบายแม้ว่าในยุคนั้นจะยังไม่นิยามตรงไปตรงมาหรือใช้คำในความหมายเดียวกันกับยุคนี้แต่โรเวลลีทำให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความคิดที่มีรากฐานและมีพลวัตมาสู่คำเรียกในปัจจุบัน
การทำให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความคิดจึงสำคัญที่การนำเสนอว่าความรู้แบบหนึ่งไม่จำกัดภายในอาณาบริเวณของสาขาวิชาการพากลับไปสู่ข้อสงสัยและความหมายในยุคของปรัชญาที่ค้นหาความจริงในสรรพสิ่งนั้นแสดงออกถึงความรู้ที่มีจินตนาการนอกไปจากสาขาและวิทยาการเทคโนโลยีที่จะพิสูจน์ เพราะความคิดจินตนาการเป็นข้อเสนอที่มนุษย์ได้มีกับสิ่งต่างๆส่วนจะจริงขนาดไหนเป็นอีกเรื่องดังจะเห็นได้ว่าการพัฒนาทฤษฎีต่าง ๆ เมื่อผ่านเวลาสามารถมีจุดที่ถูกต้อง ถูกบางส่วนหรืออาจไม่ถูกเลยเมื่อได้รับการพิสูจน์แต่การแสดงถึงจินตนาการก็เป็นทักษะหนึ่งของมนุษย์ดั่งที่โรเวลลีได้กล่าวพาดไปถึงนักปรัชญาคนสำคัญอีกคนในโลกตะวันตกยุคก่อนโสเกรติสอย่าง เดโมคริตุส (Democritus) ที่ไม่ว่าเขาจะเคยเห็นเอกภพหรือไม่เขาก็ได้แสดงความรู้เป็นแนวคิดของตนในการนิยามว่า เอกภพทั้งมวลประกอบจากอวกาศอันไร้ขอบเขตที่ซึ่งอะตอมจำนวนนับไม่ถ้วนวิ่งอยู่ภายใน
โรเวลลีได้ลากเส้นต่อจุดอย่างมากมายตั้งแต่นั้นเมื่อเขาเห็นว่าแนวคิดอะตอมคือความคิดที่พูดถึงส่วนที่เล็กมากเกินกว่าผัสสะมนุษย์แตะต้อง แต่มันมีอยู่และสามารถรวมกันจนเป็นสรรพสิ่งโรเวลลีได้สาวประวัติศาสตร์ความคิดมากมายที่พูดถึงสิ่งที่มีแต่ไม่เห็นไม่ว่าจะแนวคิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและสนาม แรงโน้มถ่วง แนวคิดที่ว่างและอวกาศและทฤษฎีสัมพัทธภาพแบบต่าง ๆ เป็นต้น โดยเขาได้อ้างอิงถึงนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์มากมาย อาทิ อริสโตเติล (Aristotle) ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ (James Clerk Maxwell) สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) และแน่นอนว่าย่อมมีมุมมองที่ชวนมองทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ระบือนามอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
โรเวลลีกล่าวถึงข้อเสนอของไอน์สไตน์ที่ว่า เวลาปัจจุบันนั้นมีการยืดขยายได้ในทฤษฎีสร้างชื่อของเขาอย่าง ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ซึ่งเสนอแนวคิดที่เรียกว่า กาลอวกาศ (Spacetime) ที่ว่าด้วยเวลาที่มีพื้นที่ โรเวลลีชี้ให้เห็นสิ่งที่เรามีเครื่องวัดชัดเจนอย่างเวลาว่าก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีเวลาที่เราไม่อาจสัมผัสได้อยู่เช่นกันการคลี่ให้เห็นสมมติฐานมากมายของความคิดทางวิทยาศาสตร์ทั้งที่เกิดจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ การทดลอง และการสร้างทฤษฎีตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาโรเวลลีชี้ถึงสิ่งเดิมที่สำคัญมากในการคิดนั้นคือ การจินตนาการถึงความเป็นไปได้ที่แม้ยังไม่พบประจักษ์พิสูจน์จริงพร้อมก็ตาม
“นี่ไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับสิ่งที่แน่นอนตายตัวรู้ชัด มันเป็นหนังสือเกี่ยวกับการผจญภัยไปสู่สิ่งที่ยังไม่ประจักษ์”
คำกล่าวที่ปรากฏในบทบันทึกของผู้เขียนทำให้เข้าใจถึงความเป็นนักทฤษฎีของเขาและความเป็นนักคิดทางวิทยาศาสตร์ที่มุ่งหาสมมติฐานใหม่ๆ ของโรเวลลี ดังที่จะปรากฏสูตรทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ยกมาเป็นตัวอย่างและการเสนอวิธีคิด การตีความและเชื่อมโยงศาสตร์ความรู้ของโรเวลลีที่ซับซ้อนเชิงควอนตัมฟิสิกส์ที่ท้ายที่สุดเขากำลังพาผู้อ่านเดินทางไปในความกว้างใหญ่ของจักรวาลทางความคิดพร้อมไปกับชวนให้คำนึงคิดถึงสิ่งที่เราเห็นหรือผัสสะต้องได้นั้นอาจไม่ครบถ้วนความจริงที่มีอยู่ดังชื่อหนังสือเล่มนี้
Fact File
ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น (Reality is Not What It Seems)
คาร์โล โรเวลลี เขียน
ปิยบุตร บุรีคำ แปล
สำนักพิมพ์ Sophia
ราคา 265 บาท