การเดินทางกลับสู่ไทยของ ทับหลังหนองหงส์ และ ทับหลังเขาโล้น หลังถูกโจรกรรมไปกว่า 50 ปี
Pic Talks

การเดินทางกลับสู่ไทยของ ทับหลังหนองหงส์ และ ทับหลังเขาโล้น หลังถูกโจรกรรมไปกว่า 50 ปี

Focus
  • ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว อยู่ในโครงการดำเนินงานติดตามโบราณวัตถุของไทยกลับคืนสู่ประเทศ หลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุ เมื่อราวมิถุนายน 2560
  • ทับหลังปราสาทหนองหงส์ มีความโดดเด่นด้วยลายพระยมทรงกระบือ ประทับอยู่ภายในซุ้มเหนือหน้ากาล แวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา
  • ทับหลังปราสาทเขาโล้น โดดเด่นด้วยลายสลักภาพเทวดาประทับนั่งในซุ้มเหนือเศียรเกียรติมุข (หน้ากาล) แวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษาที่อ่อนช้อยเช่นกัน

กลับคืนสู่ประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว อายุกว่า 1,000 ปี ซึ่งเป็น ทับหลัง ที่ถูกลับลอบนำออกจากประเทศไทยไปเมื่อราว พ.ศ. 2509-2511 และต่อมาได้ปรากฏเป็นรายการจัดแสดงโบราณวัตถุอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์เอเชียนอาร์ต มิวเซียม (Asian Art Museum) เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา และนั่นจึงเป็นที่มาของการติดตามวัตถุโบราณคืนสู่ไทยที่ต้องใช้เวลาในการสืบสวนนานรวบรวมหลักฐานนานถึง 5 ปี จึงได้ทับหลังทั้งสองชิ้นกลับคืนสู่มาตุภูมิ

ทับหลัง
ทับหลังปราสาทเขาโล้น
ทับหลัง
ทับหลังปราสาทหนองหงส์

ทับหลังทั้ง 2 รายการนี้อยู่ในโครงการดำเนินงานติดตามโบราณวัตถุของไทยกลับคืนสู่ประเทศ หลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุ เมื่อราวเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 โดยโบราณวัตถุชุดแรกที่ดำเนินการติดตาม ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว และ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์

ทับหลัง
เบื้องหลังการติดตั้งนิทรรศการพิเศษ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ทับหลัง

ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคม 2563 ทับหลังทั้ง 2 รายการได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา และทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ยอมรับแล้วว่าทับหลังทั้ง 2 รายการ เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทย รวมทั้งได้ทำการถอด ทับหลัง 2 ชิ้นออกจากห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำมาจัดเก็บในห้องคลัง และรอเข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมายในกระบวนการส่งคืนสู่ประเทศไทย

ทับหลัง
ทับหลังหนองหงส์
เบื้องหลังขั้นตอนเตรียมเดินทางจากอเมริกาสู่ไทย
ทับหลังหนองหงส์
ทับหลังหนองหงส์

ก่อนหน้านั้นกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ติดต่อประสานงานผ่านกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ส่งหนังสือติดตามทวงคืนโบราณวัตถุถึง “สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ” (Homeland Security Investigations) สหรัฐอเมริกา และส่งข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นมาของ ทับหลัง ทั้ง 2 รายการ เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ยืนยันว่าโบราณวัตถุดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แต่ได้ถูกลักลอบนำออกไปโดยวิธีการที่ผิดกฎหมายเมื่อราว 50 ปีก่อน และเป็นที่มาของการเดินทางกลับสู่มาตุภูมิหลังการตสืบสวนที่กินเวลายาวนานถึง 5 ปี

ทับหลังปราสาทเขาโล้น
ทับหลังปราสาทหนองหงส์

สำหรับทับหลังปราสาทหนองหงส์ มีความโดดเด่นด้วยลายพระยมทรงกระบือ ประทับอยู่ภายในซุ้มเหนือหน้ากาล แวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา กำหนดอายุอยู่ในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 17 หรือประมาณ พ.ศ. 1560-1630 โดยหลักฐานสำคัญที่ใช้พิสูจน์ว่าทับหลังชิ้นนี้ถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทย คือ บันทึกการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วง พ.ศ.2502 ซึ่งในการสำรวจครั้งนั้น ทางคณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปสำรวจปราสาทหินหนองหงส์ พร้อมทั้งบันทึกรายละเอียดลักษณะโบราณสถานและทับหลังที่พบ พร้อมถ่ายภาพบนทับหลังปราสาทด้านทิศใต้ ซึ่งในครั้งนั้นได้บันทึกว่าเป็นรูปพระอิศวรขี่โคอุสภราชอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข (หน้ากาล) แต่ภายหลังภาพบน ทับหลัง ปราสาทด้านทิศใต้ ได้ถูกตีความใหม่ว่าเป็นภาพพระยมทรงกระบือ ซึ่งไปตรงกับที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เอเชียนอาร์ต มิวเซียม

ทับหลังปราสาทเขาโล้น
นักวิทยาศาสตร์ และภัณฑารักษ์ ทำการตรวจสภาพและบันทึก
ทับหลังปราสาทเขาโล้น
ทับหลังปราสาทเขาโล้น

ส่วนทับหลังปราสาทเขาโล้น โดดเด่นด้วยลายสลักภาพเทวดาประทับนั่งในซุ้มเหนือเศียรเกียรติมุข (หน้ากาล) แวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษาที่อ่อนช้อยเช่นกัน โดยหลักฐานสำคัญในการยืนยันว่าทับหลังชิ้นนี้เป็นของไทย คือ ภาพถ่ายในหนังสือศิลปะสมัยลพบุรี ที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2510 ซึ่งมีการถ่ายภาพทับหลังที่มีลักษณะเดียวกันนี้อยู่เหนือกรอบประตูปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา

ทับหลัง
การติดตั้งนิทรรศการพิเศษจัดแสดง 3 เดือน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจรับทับหลังที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีภัณฑารักษ์และนักวิทยาศาสตร์ร่วมกันตรวจสภาพและบันทึกข้อมูล พร้อมกับเคลื่อนย้ายทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้ ไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการชั่วคราวในระยะเวลา 3 เดือน คือตั้งแต่มิถุนายน-สิงหาคม 2564 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาวางแผนร่วมกับท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของปราสาททั้งสองหลังอีกครั้งว่าจะส่งทับหลังกลับไปจัดแสดงถาวรยังท้องถิ่นหรือไม่ และอย่างไร เพราะหากนำกลับไปจัดแสดงในท้องถิ่นจำเป็นต้องมีแผนระยะยาวรองรับว่าจะจัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ หรือนำกลับไปติดตั้งยังตัวปราสาทแบบเดิมภายใต้มาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยที่มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์โจรกรรมวัตถุโบราณขึ้นอีกครั้ง

ทับหลัง

Fact File

สำหรับใครที่สนใจเข้าชมทับหลังทั้งสองชิ้น ต้องอดใจรอการประกาศมาตรการผ่อนคลายการล็อคดาวน์อีกครั้ง เบื้องต้นพิพิธภัณฑ์ยังคงปิดให้บริการตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคของ ศบค. ที่ประกาศกรุงเทพมหานครขยายการปิดกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมดรวมทั้งพิพิธภัณฑ์ ออกไปอีก 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ขอบคุณภาพบางส่วน : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ