ศิลปะ (อาจไม่) ยืนยาว เช็คชีพจร หอศิลปกรุงเทพฯ กับปัญหาพื้นที่ศิลปะในเมืองไทย
- สิงหาคม 2564 เป็นเส้นตายที่ กรุงเทพมหานคร ต้องตัดสินใจว่า จะให้ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริหารจัดการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ หอศิลปกรุงเทพฯ ต่อหรือไม่
- มีนาคม 2564 จึงต่อด้วยเแคมเปญระดมทุน ผ่านโครงการ Art in Postcards โดยเชิญศิลปิน 12 คน มาร่วมออกแบบโปสการ์ดจำหน่ายหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายของหอศิลป์
- ปัจจุบันมีการอนุมัติเงินอุดหนุนหอศิลปกรุงเทพฯ ในปี 2564 เพียงค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รวมแล้ว 8 ล้านบาทต่อปี
ความไม่ชัดเจนบีบรัดด้วยข้อจำกัดเวลา และเส้นตายขีดไว้ที่เดือนสิงหาคม 2564 ที่กรุงเทพมหานคร ต้องตัดสินใจว่า จะให้มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริหารจัดการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ หอศิลปกรุงเทพฯ ต่อหรือไม่ ทำให้หลายคนที่ติดตามข่าวเริ่มวิตกกังวล ถึงอนาคตชีพจรของหอศิลป์ใจกลางเมืองแห่งนี้ว่าจะเดินต่อ หรือถอยหลัง หรือจะเปลี่ยนถ่ายไปสู่พื้นที่ศิลปะในรูปแบบใดต่อจากนี้ไป
ทั้งนี้อนาคตของ หอศิลปกรุงเทพฯ ไม่ได้มีความสำคัญแค่ว่าใครจะเข้ามานั่งแท่นบริหาร แต่อนาคตของ หอศิลปกรุงเทพฯ ยังเป็นคำตอบสำคัญของการจัดการพื้นที่ศิลปะในเมืองไทย รวมทั้งยังเป็นบทพิสูจน์ว่า ศิลปะนั้นยืนยาวกว่าชีวิตดังวลีคลาสสิกจริงหรือไม่
ความไม่ชัดเจนก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ
ภาพคนหนุ่มสาวที่เดินไหล่เบียดไหล่ในงานระดมทุนเพื่อช่วยเหลือ หอศิลปกรุงเทพฯ หลังไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น
“การบริหารหอศิลป์ของมูลนิธิตอนนี้แม้ไม่มีหนี้สิน แต่ถ้าต่อจากนี้อีก 6 เดือน กทม.ไม่มีความชัดเจนเรื่องการต่อสัญญา จะทำให้มูลนิธิเดินหน้าหาผู้สนับสนุนค่อนข้างลำบาก เพราะผู้สนับสนุนก็ยังไม่มั่นใจว่าถ้าให้เงินมาแล้วมูลนิธิยังรับหน้าที่ในการบริหารจัดการต่อหรือไม่ นี่เป็นความติดขัดที่มาจากความไม่ชัดเจน”
ลักขณา คุณาวิชยานนท์ กรรมการบริหารและปฎิบัติการผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นอธิบายถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
หอศิลปกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สันทนาการของเมืองโดยมีจุดเริ่มต้นจากการรณรงค์โดยเครือข่ายภาคประชาชนและศิลปินเป็นเวลากว่า 15 ปีกว่าจะได้รับการตอบรับจากภาครัฐในการสนับสนุนงบประมาณและเปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ.2551 กับประโยคที่หลายคนยังจำได้ ในการรณรงค์สร้างหอศิลป์ “ฉันเรียกร้องหอศิลป์ ไม่เอาศูนย์การค้า”
ที่ดินและอาคารถือเป็นทรัพย์สินของ กทม.โดยให้ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เนื่องจากมีการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าในเรื่องระเบียบการและสามารถว่าจ้างคนทำงานที่มีประสบการณ์โดยตรงได้คล่องตัวกว่า ช่วงแรก กทม. จึงมีเงินอุดหนุนการบริหารจัดการมาเป็นรายปี ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ทางหอศิลปกรุงเทพฯ จะหารายได้เลี้ยงตัวเอง
แต่ปัญหาเรื่องเงินอุดหนุนเริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ในการพิจารณางบอุดหนุนในปี พ.ศ.2561 โดยสภา กทม. มีการตีความใหม่ว่า กทม. ไม่สามารถให้งบสนับสนุนมูลนิธิได้เพราะขัดต่อ พรบ.กทม.ทั้งที่ในปีก่อนสภาชุดเดียวกันอนุมัติเงินสนับสนุนให้และมีการอุดหนุนเงินมาตลอดปีละ 40 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2561 มีการต่อสู้ในสภา กทม. จนได้งบมา 40 ล้านบาท แต่การใช้งบประมาณรอบนั้นไม่ได้เหมือนเดิม เป็นการทำงานแบบที่ทาง กทม.ให้งบมาแล้วให้มูลนิธิจัดการงบประมาณตามแผนที่เสนอต่อสภา โดยงบประมาณจะไปอยู่ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เมื่อหอศิลป์จะใช้ต้องทำการเบิกเงินตามกระบวนการราชการ ซึ่งกระบวนการทำงานแบบนี้เหมือนกลับไปยังกระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหอศิลป์ ที่ไม่มีความคล่องตัว ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเป้าหมายการตั้งมูลนิธิเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้การทำงานของหอศิลป์ ในปี พ.ศ.2561 แม้มีงบประมาณ แต่พอทำการเบิกจริง กลับไม่สามารถเบิกงบมาใช้ได้ สุดท้ายงบที่ค้างอยู่กับ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครต้องส่งคืนไปทั้งหมด
ในปี พ.ศ.2562 สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จึงไม่ตั้งเรื่องของบประมาณของหอศิลป์เข้าสภา กทม. โดยมีการอ้างว่า การตีความเรื่องให้เงินอุดหนุนยังไม่มีการตีความใหม่ ซึ่งสภา กทม.ยังยึดแนวทางเดิมว่า ไม่มีสิทธิที่จะให้เงินอุดหนุน เลยเป็นภาวะสุญญากาศมาถึงปี 2563 ที่คณะกรรมการมูลนิธิได้เข้าไปเจรจากับทาง กทม. จนสุดท้ายมีการแก้สัญญาโดยระบุใหม่ว่า กทม. สามารถให้เงินอุดหนุนมูลนิธิได้ แต่ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้งบประมาณที่จะอุดหนุนค่อนข้างมีปัญหา จึงมีการอนุมัติเงินอุดหนุนในปี 2564 เพียงค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพียง 8 ล้านบาทต่อปี
“ทั้งที่จริงถ้าเราทำงานเต็มที่ ตามแผนงานจะต้องใช้งบเกือบ 70 ล้านบาทต่อปี ทุกปีที่ผ่านมามูลนิธิก็มีการหารายได้มาเสริมเกือบปีละ 30 ล้านบาท ดังนั้นถ้าให้มูลนิธิหางบประมาณมาแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เราอาจไม่สามารถคงสถานะองค์กรที่ไม่เป็นศูนย์การค้าได้ ซึ่งตอนนี้พยายามเอื้อให้หอศิลป์มีสถานะที่ให้ประโยชน์แก่สังคมโดยไม่หวังผลกำไร ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมต่างๆ จะไม่เก็บค่าเข้าชม”
ลักขณากล่าวเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมาโอกาสในการคุยกับผู้บริหารของ กทม. ยังมีไม่มากนัก เพราะไม่มีพื้นที่ให้ได้มาพูดคุยกัน และระบบราชการก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารอยู่เรื่อยๆ ทำให้การบริหารจัดการขาดความต่อเนื่อง อย่างสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ก็มีการเปลี่ยนผู้บริหารอยู่บ่อยๆ ทำให้การเรียนรู้และเข้าใจกันระหว่างหน่วยงานไม่มีการเชื่อมต่อ สิ่งนี่ทำให้การทำงานสะดุด
แม้มีหลายกระแสข่าวออกมา แต่ในความเป็นจริงทีมงานหอศิลป์ ไม่ได้มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารของ กทม. เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา แม้ในปีที่แล้วจะมีการคุยกันจนมีการแก้สัญญา ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ในเดือนสิงหาคมปีนี้ สัญญาเกี่ยวกับสถานที่ของหอศิลป์จะหมดลง
ขีดเส้นตายสิงหาคม 2564
ท่ามกลางความไม่ชัดเจน ลักขณายังหวังว่ามูลนิธิหอศิลป์ที่จะหมดสัญญาในการดูแลพื้นที่กับทาง กทม. ในเดือนสิงหาคมนี้จะได้รับหน้าที่ในการบริหารพื้นที่ต่อไป เนื่องจากหากมีการประเมินจากผลงานที่ผ่านมา 12 ปี จะเห็นถึงการเติบโตในทุกด้าน เช่นจากการทำวิจัยร่วมกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถึงผลที่ได้จากการมีหอศิลป์ตั้งอยู่บนพื้นที่นี้ทำให้เห็นถึงการรับรู้ของคนทั่วโลก การสร้างศักดิ์ศรีให้กับเมือง หรือการสร้างพื้นที่ในการสร้างสรรค์ที่มีผลดีกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ยอดผู้เข้าชมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ที่เริ่มให้มูลนิธิหอศิลป์เข้ามาบริหารมียอดผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนคน เป็น 2 ล้านคน ซึ่งการที่จะตั้งหน่วยงานใหม่ให้มาจัดการกับพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีความหวังลึกๆ ว่า ผู้บริหาร กทม. น่าจะเห็นถึงความสำเร็จเหล่านี้
“เพื่อไม่ให้การบริหารหอศิลป์สะดุด ควรจะให้มูลนิธิบริหารต่อไป เพราะเอาเข้าจริง กทม.ก็มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลป์ ดังนั้นถ้าอยากจะปรับเปลี่ยนอะไรควรใช้โครงสร้างที่มีอยู่ แต่ไม่ใช่จะปรับเปลี่ยนโดยยุบองค์กรเก่าที่ทำงานอยู่ทั้งหมด โดยเอาคนใหม่เข้ามาทำงานแทนทั้งระบบ ซึ่งในกระบวนการทำงานจะรู้ได้อย่างไรว่าคนใหม่ที่เข้ามา มีประสบการณ์ในด้านศิลปะที่เพียงพอ เพราะเรื่องศิลปะเป็นเรื่องเฉพาะที่มีบุคลากรในประเทศไม่มากนัก ที่จะเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง
“หอศิลป์ในเมืองไทยจะมีสักกี่ที่ที่มีการบริหารและประสบความสำเร็จแบบนี้ ขณะที่หอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ที่ดูแลโดยรัฐก็บริหารจัดการไม่ได้แบบนี้ ซึ่งถ้าเทียบกับงบประมาณที่เราไม่ได้รับ เราก็พยายามยื้อมาได้ถึง 3 ปี ทั้งๆ ที่ กทม.ไม่ได้ให้เงินอุดหนุนมาเป็นก้อนเหมือนแต่ก่อน แต่ก็พยายามบาลานซ์ในการจัดการ ซึ่งจำนวนผู้เข้าชมก็ไม่ได้ลดลงมากจากแต่ก่อน”
แม้ กทม. จะยังไม่ชัดเจนต่อการบริหารจัดการหอศิลป์กรุงเทพฯ แต่ที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่าคนทุกวัยต้องการศิลปะ โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมามีการจัด นิทรรศการ POSTCARD FROM A STRANGER เปิดให้ชมและแลกโปสการ์ด โดยเริ่มแรกทำเพื่อส่งต่อความหวังให้กันหลังจากผ่านวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องปิดให้บริการมานาน แต่เมื่อมีข่าวว่าหอศิลป์อาจจะปิดตัวลงหลายคนจึงมาเขียนโปสการ์ดเพื่อให้กำลังใจกับทางหอศิลป์ สิ่งนี้ทำให้ยอดผู้เข้าชมช่วงนั้นนับหลายหมื่นคนโดยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าประชาชนคือเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริง
ในเดือนมีนาคม 2564 จึงต่อด้วยเแคมเปญระดมทุน ผ่านโครงการ Art in Postcards โดยเชิญศิลปิน 12 คน มาร่วมออกแบบโปสการ์ด โดยแต่ละเดือนระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2564 ทางโครงการจะคัดสรรโปสการ์ดจาก 2 ศิลปินมาจำหน่าย ซึ่งทุกการบริจาค 50 บาท จะได้รับโปสการ์ด 1 ใบ โดยเพียงเดือนแรกหลังเปิดจองก็ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจนโปสการ์ดถูกจองเต็มหมดแล้ว
“ทางทีมงานหอศิลป์อยากให้คนที่เห็นความสำคัญของพื้นที่นี้ ออกมาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ศิลปะตรงนี้ และจะต้องมีองค์กรที่มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารพื้นที่ โดยหวังว่าผู้บริหารของ กทม.จะเห็นถึงผลงานที่มูลนิธิบริหารจัดการพื้นที่จนเป็นที่จดจำของผู้คนมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา” ลักขณากล่าวทิ้งท้าย
ชีพจรของ หอศิลป์กรุงเทพฯ ต่อจากนี้ ยังคงต้องจับตามองว่าจะออกมาในรูปแบบใด และศิลปะในเมืองไทยจะยืนยาวอย่างคำนิยามหรือไม่ ทุกคนอาจต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ในไม่ช้า…