Love Letter : เปิดสำนวนรักหวานซึ้ง ในจดหมายรักฉบับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- จดหมายรักของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เขียนขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2458-2459 ที่จังหวัดพิษณุโลก จาก “ร้อยตรีแปลก ขีตตะสังคะ” ถึง “นางสาวละเอียด พันธุ์กระวี”
- ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ในฐานะภริยาผู้นำประเทศมีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายส่งเสริมบทบาทสุภาพสตรีในรัฐบาลจอมพล ป.
แปลก ขีตตะสังคะ หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างมหาศาลในชีวิตชาวสยาม ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นไทย จนถึงการกำหนดนโยบายไทยนิยม เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ความทันสมัยเหมือนชาติตะวันตก ในช่วงยุคของ จอมพล ป. เป็นผู้นำบริหารประเทศไทย บทบาทของ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ในฐานะภริยาผู้นำก็โดดเด่นไม่แพ้กัน รวมถึงนโยบายที่ส่งเสริมบทบาทสุภาพสตรี แต่นอกเหนือจากบทบาททางการเมืองแล้ว จอมพล ป. ยังเป็นเจ้าของสำนวนบอกรักที่หวานซึ้งชวนจักจี้หัวใจไม่น้อย ดังตัวอย่างข้อความในจดหมายรักที่จอมพล ป. สมัยเป็นนายร้อยที่พิษณุโลกเขียนจีบนางสาวละเอียด ความว่า “น้องยอดรัก…ถ้าควักหัวใจมาได้จะควักให้ดู” หรือ “อยากเห็นเธอก็ได้เห็นพระจันทร์ดวงเดียวกับเธอ”
แปลก ขีตตะสังคะ เรียนจบ ป.4 จากโรงเรียนวัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร นนทบุรี ต่อมานายขีตพ่อของเขาได้ส่ง ด.ช.แปลก วัย 12 ปี เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 12 สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2457 ติดยศร้อยตรี ขณะอายุ 18 ปี และได้บรรจุเข้าทำงานที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ 7 แห่งกองทัพน้อยที่ 2 มณฑลพิษณุโลก (จังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน) หรือ ชื่อที่หมู่ทหารปืนใหญ่ในยุคนั้นเรียก “ปืน 7” และที่ปืน 7 นี้เอง ร้อยตรีแปลกได้พบรักกับ นางสาวละเอียด พันธุ์กระวี สาวสวยวัย 14 ปี ซึ่งกำลังเรียนและทำงานเป็นครูช่วยสอน ที่โรงเรียนผดุงนารี โรงเรียนสตรีแห่งแรกของจังหวัดพิษณุโลก ก่อตั้งและบริหารงานโดยคณะมิชชันนารีอเมริกัน
ร้อยตรีแปลก เข้าทำงานที กรมทหารปืนใหญ่ที่ 7 ในหน้าที่ครูฝึกพลทหารใหม่ และพาพลทหารผ่านหน้าโรงเรียนผดุงนารีทุกวัน วิธีจีบสาวของร้อยตรีแปลก คือ การเขียนข้อความเกี้ยวพาราสี (จีบ) เป็น “จดหมายน้อย” ฝากลูกศิษย์ไปให้ครูละเอียด
เนื้อความในจดหมายมักจะขึ้นว่า “น้องยอดรัก” และมีประโยคแสดงความรู้สึกเช่น “ถ้าควักหัวใจมาได้จะควักให้ดู” หรือ “ถ้าไม่เห็นหน้า ขอให้เห็นหลังคาบ้านทุกวัน”
ฝ่ายนางสาวละเอียด เมื่อเจอข้อความแบบนี้ก็เกิดความตกใจ และเอาจดหมายน้อยของร้อยตรีแปลกไปให้บิดาอ่านทุกฉบับและไม่ยอมเขียนตอบแม้แต่ฉบับเดียว แต่ร้อยตรีแปลกไม่ย่อท้อ บุกไปเจอนางสาวละเอียด ตามเรื่องเล่าที่บรรยายเหตุการณ์วันเผชิญหน้าของสองหนุ่มสาวไว้ว่า
เช้าวันหนึ่งในฤดูหนาว แปลก (ร้อยตรีแปลก)ใส่เสื้อคลุมคอสีเหลือง สวมหมวกพันผ้าสีเหลือง กางเสื้อเดินยิ้มแต้เข้าไปหาครูสาวที่ยืนอยู่กับเพื่อน ทำนองว่ากั้นไม่ให้หนีไปไหนครูสาว (นางสาวละเอียด) วิ่งลอดใต้เสื้อแล้วชูกำปั้น ก่อนจะพูดใส่ร้อยตรีแปลกว่า “เดี๋ยวฉันต่อยหน้าเลย”
นายร้อยแปลกอับจนปัญญา ถึงกับต้องรีบเลี่ยงออกจากทางเดิน ปล่อยให้นางสาวละเอียดผ่านไป แต่ก็มีหวังเพราะเลยไปแล้วยังหันมายิ้มตอบเหตุการณ์นี้ถูกมาเฉลยภายหลังว่า ตอนที่นางสาวละเอียดขู่จะต่อยหน้านั้น ร้อยตรีแปลกคิดในใจว่า ผู้หญิงคนนี้ “ชะรอยจะเป็นนักรบแท้คนหนึ่งเสียแล้ว”
14 มกราคม พ.ศ. 2460 หลังจากประจำการที่พิษณุโลก 2 ปี ร้อยตรีแปลกก็ได้เข้าพิธีวิวาห์กับนางสาวละเอียด เพียงสามเดือนหลังจากนั้นร้อยตรีแปลก ก็ย้ายกลับมาพระนคร (กรุงเทพฯ) เพื่อเรียนต่อที่โรงเรียนเหล่าทหารปืนใหญ่ในกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นเวลา 2 ปี จึงได้กลับพิษณุโลกและสุดท้ายจึงย้ายกลับมาประจำที่พระนคร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ร้อยตรีแปลกเลื่อนยศเป็นร้อยโทแปลก ขณะอายุ 20 ปี และมีลูก 3 คนจากนั้นเขาสอบได้ทุนต้องจากภรรยาและลูกไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส แต่ระหว่างการห่างบ้าน ร้อยโทแปลกยังเขียนจดหมายถึงบ้านเดือนละ 1 ครั้ง เพราะข้อจำกัดเรื่องระยะทางและระยะเวลา เป็นการส่งทางเรือสามารถไปฝากจดหมายตามท่าเรือสำคัญข้ามทวีปมาได้ ท่านผู้หญิงละเอียดเล่าย้อนหลังไว้ว่า เธอจะมานั่งคอยรับจดหมายที่ท่าเรือ “หัวแพ” ย่านบางเขน ทุกเดือน และข้อความในจดหมายของสามีก็ยังคงสำนวนไม่แพ้สมัยส่งจดหมายน้อยจีบกันใหม่เลย ๆ อาทิ “เวลานี้ได้เห็นพระจันทร์ดวงเดียวกับเธอ อยากเห็นเธอก็ได้เห็นพระจันทร์ดวงเดียวกับเธอ”
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ร้อยโทแปลกร่วมเป็นหนึ่งใน 7 แกนนำ ที่ร่วมประชุมก่อตั้ง คณะราษฎร ที่กรุงปารีส เพื่อเตรียมก่อการเปลี่ยนแปลงปกครองประเทศสยามให้เป็นประชาธิปไตยต้นปี พ.ศ. 2470 ร้อยโทแปลกกลับมารับราชการทหารต่อที่สยาม และได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอกในปลายปีนั้น ปีถัดมาจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนาม “หลวงพิบูลสงคราม” จากนั้นพ.ศ.2473 ได้ติดยศพันตรีหลวงพิบูลสงคราม และนางละเอียดก็ได้มีชื่อในทางราชการว่า “นางพิบูลสงคราม”
พ.ศ.2485 ยุคที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมบทบาทสตรี ด้วยเหตุผลที่ได้ประกาศว่า “หญิงเป็นส่วนหนึ่งของชาติ ก็ควรจะได้สร้างตนและช่วยชาติด้วยในตัว… ใครจะดูว่าชาตินั้นชาตินี้เจริญเพียงใดในเมื่อผ่านไปชั่วแล่นแล้วก็มักจะตัดสินความเจริญของชาตินั้นตามความเจริญของฝ่ายหญิง” และออกคำสั่งให้สามียกย่องภรรยาตลอดเวลา ถ้าข้าราชการทะเลาะกับภรรยาถือเป็นการผิดวินัย เป็นต้น
พ.ศ.2506 ช่วงสุดท้ายของชีวิต จอมพล ป. ลี้ภัยอยู่ที่เมืองซะงะมิฮะระ (ห่างจากโตเกียว 30 กม.) ประเทศญี่ปุ่นพักฟื้นจากการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีพ.ศ.2507วันที่ 11 มิถุนายน จอมพลป.เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักที่ญี่ปุ่นในห้วงลมหายใจสุด จอมพล ป. พูดว่า “ฉันรู้สึกจะเป็น heart attack (หัวใจวาย)” ขณะที่ท่านผู้หญิงละเอียดประคองศีรษะจอมพลป.ไว้ และพูดว่า “ไม่จริง ไม่จริง เธออย่าพูดอย่างนั้น”คำพูดสุดท้ายของจอมพลป. เขาเอ่ยออกมาว่าในอ้อมกอดของภรรยาว่า “เธอ ความตายคือความสุข” และสิ้นใจอย่างสงบด้วยวัย 67 ปี (อ้างอิงจากบันทึกโดย จีรวัสส์ ปันยารชุน บุตรสาวของ จอมพล ป. นิตยสารสารคดีมิถุนายน 2557)
ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี มิถุนายน 2557