13 ข้อที่คนไทยต้องรู้ ก่อนฉีด วัคซีนโควิด-19
Better Living

13 ข้อที่คนไทยต้องรู้ ก่อนฉีด วัคซีนโควิด-19

Focus
  • การหยุดระบาดของโควิด-19 หมายความถึงทำให้มีผู้ป่วยลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าโควิดจะหายไปจากโลกนี้อย่างสิ้นเชิง ในที่สุดโควิด-19 อาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดเชื้อตามฤดูกาล เหมือนไข้หวัดใหญ่
  • เมื่อประชากรโลกมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวนมาก การระบาดของโรคโควิด-19 จะไม่ได้หยุดลงทันทีแต่จะเริ่มลดลงหลังจากนี้ 1 – 2 ปี

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 Facebook สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่วิดิโอขณะกำลังขนย้ายซีน Sinovsc พร้อมแคปชันสั้นๆ ว่า “วัคซีนจีนกำลังจะมาแล้ว” ซึ่ง วัคซีนโควิด-19 ของ Sinovsc ล็อตแรกจำนวน 200,000 โดส (จาก 2 ล้านโดส ที่จะได้ครบในเดือนเมษายน 2564) ได้เสร็จสิ้นกระบวนการผลิตในกรุงปักกิ่งและเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564  เวลาประมาณ 10.00 น. อีกทั้งในวันเดียวกันนี้จะมีวัคซีน AstraZeneca (แอสตราเซเนกา) เข้ามาถึงไทยอีกราว 117,000 โดส รวมแล้ว 317,000 โดส

แต่ก่อนที่ชาวไทยจะได้รับการฉีด วัคซีนโควิด-19 กันอย่างถ้วนหน้า Sarakadee Lite ขอชวนไปทบทวนความเข้าใจเรื่องวัคซีนอีกสักครั้งกับ 13 ข้อควรรู้ก่อนฉีด วัคซีนโควิด-19

วัคซีนโควิด-19

1. เมื่อประชากรโลกมีการฉีด วัคซีนโควิด-19 จำนวนมาก การระบาดของโรคโควิด-19 จะไม่ได้หยุดลงทันทีแต่จะเริ่มลดลงหลังจากนี้ 1 – 2 ปี ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าการจะหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้จะต้องมีวัคซีนจำนวนมากที่จะฉีดให้ประชากรทั่วโลกถึง 4,000 ล้านคน

2. ในอดีตที่ผ่านมามนุษย์ไม่เคยผลิตวัคซีนโรคใดโรคหนึ่งจำนวนมากขนาดนี้ ถ้าเทียบกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีการผลิตเพียงปีละไม่ถึง 500 ล้านโดส

3. เมื่อมีวัคซีนโควิด-19แล้ว ความท้าทายต่อไปคือจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรทั้งโลก ซึ่งตอนนี้มีไม่ต่ำกว่า 7 บริษัทและสถาบันวิจัยระดับโลกที่กำลังเดินหน้าผลิตพร้อมกับพัฒนาวัคซีนโควิด-19 การที่มีหลายบริษัทแข่งขันกันพัฒนาคิดค้นย่อมเป็นเรื่องดี เพราะถ้าฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั่วโลกได้ 50 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าจะสามารถหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้

4.การหยุดระบาดของโควิด-19 หมายความถึงทำให้มีผู้ป่วยลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าโควิดจะหายไปจากโลกนี้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งในที่สุดโควิด-19 อาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือโรคติดเชื้อตามฤดูกาล เหมือนไข้หวัดใหญ่

5.การหาวัคซีนมาว่ายากแล้ว แต่การฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมเพียงพอต่อประชากรแต่ละประเทศนั้นยากกว่า เช่น อังกฤษ มีประชากรประมาณ 70 ล้านคน ต้องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรครึ่งหนึ่ง จึงต้องฉีดวัคซีน 2 ล้าน ครั้งต่ออาทิตย์ คำนวณแล้วจะต้องใช้เวลาฉีดวัคฉีน 35 อาทิตย์ และใช้เวลาเกือบ 1 ปีกว่าประชากรอังกฤษจะได้รับวัคซีนเกือบทุกคน

วัคซีนโควิด-19

6.ต่อให้มีวัคซีน แต่กว่าจะหยุดยั้งการระบาดได้ต้องใช้เวลาอย่างเร็วสุดประมาณกลางปี หรือสิ้นปี 2564 ซึ่งไม่มีทางทำได้เร็วกว่านี้ เพราะบุคลากรทางการแพทย์จะฉีดวัคซีนให้ไม่ทัน และกำลังการผลิตวัคซีนเองก็ยังไม่เพียงพอ

7.ประเทศไทยได้ยื่นเรื่องซื้อวัคซีน 26 ล้านโดส เท่ากับว่าต้องฉีดวัคซีนให้กับประชากร 26 ล้านครั้งในจำนวนประชากร 13 ล้านคน กล่าวคือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ คำถามคือจะสามารถฉีดวัคซีน 1-2 ล้าน ครั้งต่ออาทิตย์ได้หรือไม่

8. กระทรวงสาธารณสุขไทยประเมินว่า จะฉีดวัคซีนได้ 5 ล้านครั้งใน 1 เดือน เฉลี่ยต้องฉีดให้ได้ 1 ล้านครั้ง ใน 1 อาทิตย์ แต่การฉีดวัคซีนในปริมาณมากขนาดนั้น การจัดการระบบสาธารณสุข และการเตรียมประชากรให้มีความเข้าใจไม่ใช่เรื่องง่าย

9. เมื่อฉีดวัคฉีนให้กับประชากรไทยแล้ว 26 ล้านโดส เราอาจจะเห็นคนที่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน ซึ่งผลข้างเคียงรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัคซีนในโลกนี้ โดยจะเกิดขึ้นเฉลี่ย 1 ใน 10 ต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านครั้ง ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่า จะมีคนที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทยไม่น้อยกว่า 30 – 50 คน

10. ประเทศไทยต้องเตรียมระบบเพื่อรองรับผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีน อีกทั้งผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเองควบคู่ไปด้วย โดยผู้ได้รับผลข้างเคียงอาจจะไม่ได้แสดงอาการทันที แต่จะแสดงอาการหลังฉีดวัคซีนประมาณ  7 – 14 วัน

11. ในสภาวะตอนนี้สิ่งที่จำเป็นคือ ต้องมีวัคซีนให้เพียงพอกับประชากรจำนวนมาก ดังนั้นอาจต้องมีวัคซีนหลายยี่ห้อ แม้สหรัฐอเมริกาจะกำหนดว่าจะฉีดแค่ของ โมเดิร์นนา กับ ไฟเซอร์ แต่ต่อไปในอีก 1 – 2 ปี ก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะต้องฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มอีกหรือไม่

12.วัคซีนโควิดที่ผลิตออกมาตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลการทำการทดสอบเพียง 3 เดือน แต่โดยปกติการผลิตวัคซีน 1 ตัว จะต้องใช้เวลาการทดลองในระยะที่ 3 ในคน ประมาณ 1 – 2 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์และได้ผลที่แน่นอน

13.ทุกประเทศนอกจากจะต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับประชากรแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างความรู้ให้กับประชากรถึงความสำคัญ ประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อประเทศ

อ้างอิง

ข้อมูลจาก ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ