ประวัติศาสตร์ ปาร์ตี้วันเกิด ทำไมต้องกินเค้ก และ เป่าเทียนวันเกิด
Lite

ประวัติศาสตร์ ปาร์ตี้วันเกิด ทำไมต้องกินเค้ก และ เป่าเทียนวันเกิด

Focus
  • สันนิษฐานว่า งานฉลองวันเกิดมีขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาลหรือนานกว่านั้น โดยเริ่มต้นในยุคสมัยอียิปต์
  • วัฒนธรรมการฉลองวันเกิดเริ่มมีเค้กและเทียนเข้ามาเพิ่มในสมัยกรีกโบราณ โดยมีตำนานเล่าถึงการฉลองวันเกิดของ เทพี อาร์เตมิส หรือ เทพีแห่งดวงจันทร์
  • จากวันเกิดของกษัตริย์และทวยเทพ ชาวเปอร์เซียโบราณคือชนชาติแรกๆ ที่มีการฉลองวันเกิดให้กับบุคคลธรรมดา

วัฒนธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นจากเทรนด์เซ็ตเตอร์ในแต่ละยุคสมัย งานฉลองวันเกิด หรือ ปาร์ตี้วันเกิด ก็เช่นกัน สันนิษฐานว่า งานฉลองวันเกิดมีขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาลหรือแาจจะนานกว่านั้น จากการฉลองวันเกิดแด่กษัตริย์ เทพ มาจนถึงปัจจุบันที่ประชาชนคนธรรมดาสามารถจัดงานฉลองวันเกิดได้ และ ปาร์ตี้วันเกิด ก็ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญของคนทั่วโลกไปแล้ว Sarakadee Lite มีเกร็ดประวัติศาสตร์งานฉลองวันเกิดในแต่ละยุคสมัยมาบอกเล่ากัน

ปาร์ตี้วันเกิด
ภาพโปสการ์ดในปี ค.ศ. 1920 ซึ่งมีการฉลองวันเกิดด้วยเค้ก

วันเกิดที่เปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นเทพในสมัยอียิปต์

ในสมัยอียิปต์โบราณมีหลักฐานข้อเขียนใน The Book of Genesis 40:20-22 ระบุถึงการจัดงานฉลองวันเกิดที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคที่อียิปต์มีตำแหน่ง “ฟาโรห์” เป็นกษัตริย์ปกครองสูงสุด ในยุคนั้นการฉลองวันเกิดไม่ได้จัดตรงกับวันคล้ายวันกำเนิดของบุคคลจริงๆ แต่จัดถวายแด่ฟาโรห์โดยถือเอาวันราชาภิเษก หรือ วันขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นวันที่เปลี่ยนสถานะจากมนุษย์ธรรมดาเป็นจุติเทพเป็น  “วันเกิด” ตามความเชื่อที่ว่าผู้ที่ได้รับตำแหน่งฟาโรห์นั้นเปรียบเหมือนผู้ที่ได้ “เกิดใหม่” เปลี่ยนสถานะจากมนุษย์เป็น “เทพ”

เค้กและเทียนวันเกิดเริ่มในยุคกรีกโบราณ

มาถึงสมัยกรีกโบราณวัฒนธรรมการฉลองวันเกิดเริ่มมีเค้กและเทียนเข้ามาเพิ่ม โดยมีตำนานเล่าถึงการฉลองวันเกิดของ เทพี อาร์เตมิส หรือ เทพีแห่งดวงจันทร์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมวัฒนธรรมตามความเชื่อแบบเพเกิ้น (pagan) ที่บูชาเทพเจ้าและเทพีหลายองค์ในอารยธรรมกรีก

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการฉลองวันเกิดสมัยกรีกได้รับอิทธิพลมาจากอียิปต์อีกที ทว่าแตกต่างด้วยการที่กรีกมีการทำขนมเค้กรูปวงพระจันทร์พร้อมปักเทียนบูชา เฉลิมฉลองในวันที่เชื่อว่าเป็นวันเกิดของเทพีอาร์เตมิส  เค้กรูปทรงพระจันทร์ปักเทียนจุดสว่าง เปรียบเหมือนพระจันทร์ส่องแสง  อีกทั้งการจุดเทียนยังเป็นแสดงถึงการเคารพบูชา ส่วนการเป่าเทียนหลังอธิษฐานคือการส่งคำขอพรไปยังเทพีอาร์เตมิสนั่นเอง

ปาร์ตี้วันเกิด
ภาพวาดใน ค.ศ. 1875 เล่าถึงเค้กวันเกิดในวัฒนธรรมเยอรมัน

เมื่อโลกมีระบบปฏิทินคนธรรมดาก็ฉลองวันเกิดได้
จากวันเกิดของกษัตริย์และทวยเทพ ชาวเปอร์เซียโบราณคือชนชาติแรกๆ ที่มีการฉลองวันเกิดให้กับบุคคลธรรมดา ย้อนไปได้ 400-500 ปีก่อนคริสตกาล ครั้งนั้นทั้งคนรวยและคนยากจนต่างก็มีสิทธิ์ฉลองวันคล้ายวันเกิดได้ทั้งสิ้น เหตุผลก็เพราะโลกมีระบบปฏิทินที่สามารถนับวันเวลาได้ชัดเจนว่าวันเกิดของแต่ละคนตรงกับวันที่เท่าไรในปฏิทิน

มีการค้นพบบันทึกโบราณที่มีหลักฐานเกี่ยวกับการ “ฉลองวันเกิด”  บันทึกนี้เขียนโดย เฮโรโดตุส ( Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ เขาได้เขียนถึงวิถีชีวิตชาวเปอร์เซีย ที่ต่างจากชาวกรีกในการนิยม “ฉลองวันเกิด” มากกว่าวันสำคัญอื่นๆ

บันทึก Herodotus: On The Customs of the Persians, c. 430 BCE มีเนื้อความว่า

“จากวันใดๆ ตลอดทั้งปี เห็นจะมีอยู่วันหนึ่งซึ่งพวกเขา (ชาวเปอร์เซีย) เฉลิมฉลองกันมากที่สุด และก็จะมีป้ายตกแต่งกันเป็นพิเศษสำหรับวันนั้นมากกว่าวันอื่นๆ อาหารในงานวันเกิดของชาวเปอร์เซียฐานะร่ำรวยจะมีเนื้อวัว เนื้อม้าอบ เนื้ออูฐอบ หรือ เนื้อลาอบ แบบย่างสุกหรืออบสุกทั้งตัว ส่วนคนเปอร์เซียฐานะยากจนกว่าจะกินอาหารหลักที่มีเนื้อไม่มากนัก แต่เน้นเมนูของหวานหลากชนิด ซึ่งทยอยวางบนโต๊ะทีละ 4-5 จาน เป็นที่มาของคำพูดที่ชาวเปอร์เซีย (พูดถึงคนกรีก) ว่า เวลาคนกรีกกินอาหาร อย่าได้เอ่ยเรื่องความหิว ไม่ควรพูดอะไรกับพวกเขา เมื่อเนื้อต่างๆ ทยอยขึ้นโต๊ะ ตราบใดที่ยังมีคนเอาอาหารมาวางไว้ตรงหน้าอีกเรื่อยๆ พวกเขา (กรีก) ก็จะกินได้ไม่มีหยุด”    

กิจกรรมในงานฉลองวันเกิดของชาวเปอร์เซีย มีครบทั้งอาหารคาวหวานจัดเลี้ยงและงานบันเทิงแบบที่คนในยุคนี้เรียก ปาร์ตี้วันเกิด ทั้งนักร้องร้อง การบรรเลงเพลงประกอบจากเครื่องสายที่เรียกว่า คาร์ทาร์ (Cartar) หรือ ทาร์ (Tar) ลักษณะคล้ายกีตาร์ปัจจุบัน รวมทั้งมีการแสดงหุ่นเงาเคลื่อนไหวให้ได้ชม นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมเสิร์ฟขนมหวานหลังอาหารจานหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเปอร์เซียนิยมทำในวันเกิดเช่นเดียวกับงานฉลองอื่นๆ และธรรมเนียมกินคาวต้องกินหวานของชาวเปอร์เซียโบราณนี่เองที่เป็นต้นแบบของการเสิร์ฟอาหารหวานหลังอาหารคาวของอารยธรรมยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ปาร์ตี้วันเกิด
ภาพงาน คินเดอร์เฟสต์ (Kinder Fest) วาดขึ้นใน ค.ศ. 1868

วันเกิดที่กลายเป็นวันหยุดแห่งชาติเริ่มสมัยโรมัน

สมัยอาณาจักรโรมันมีงานฉลองวันเกิดเช่นกัน แต่จัดเฉพาะบุคคลสำคัญที่มีอำนาจและตำแหน่งในสังคม รวมทั้งจะจัดได้ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นมีอายุครบ 50 ปี อันถือเป็นหลักไมล์สำคัญของชีวิต นอกจากงานฉลองในหมู่ญาติมิตรแล้ว ยังได้มีการกำหนดให้วันเกิดของคนสำคัญเหล่านั้นเป็นวันหยุดแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้เฉลิมฉลองวันเกิดให้คนสำคัญเหล่านั้นด้วยเช่นกัน  

วันเกิดคือวันกำเนิดจิตวิญญาณชั่วร้าย

ทั้งนี้ตามความเชื่อของชาวคริสต์ยุคแรก (ราวคริสต์ศตวรรษที่1-3) วันเกิดของมนุษย์ถือเป็นวันกำเนิดจิตวิญญานชั่วร้าย เพราะเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับ “บาปติดตัว” บรรพบุรุษมนุษย์คู่แรกตกสวรรค์เพราะฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าด้วยการแอบกินแอปเปิลในสวนอีเดน ดังนั้นงานฉลองวันเกิดจึงแน่ชัดว่าไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวคริสต์ แต่ความเชื่อเรื่องที่ว่าวันเกิดเป็นวันชั่วร้ายนี้ก็ได้เริ่มเลือนหายไปจากใจชาวคริสต์ช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่  4  เมื่อคริสตจักรเริ่มกำหนดวันฉลองวันเกิดพระเยซู หรือ วันคริสต์มาส ที่อิงจากประเพณีวันฉลองซาบาโตของชาวโรมันโบราณมาอีกที ไม่ใช่วันเกิดที่แท้จริงของพระเยซูแต่อย่างใด

ปาร์ตี้วันเกิด ในยุคสมัยปัจจุบัน

ปลายศตวรรษที่ 18  ชาวเยอรมัน จัดงานฉลองวันเกิดสำหรับเด็กๆ ที่เรียกว่า คินเดอร์เฟสต์ (Kinder Fest) ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของงานเลี้ยงฉลองวันเกิดยุคปัจจุบัน คินเดอร์เฟสต์ เป็นงานเลี้ยงที่จัดสำหรับเด็กๆ (คินเดอร์ ในภาษาเยอรมัน แปลว่า เด็ก) โดยตามธรรมเนียมต้องทำเค้กพิเศษปักเทียน 2 เล่มตรงกลางมอบให้สำหรับเจ้าของวันเกิด

เทียนเล่มแรกสื่อความหมายถึงการมีชีวิตรอดในแต่ละปี ส่วนเล่มที่สองเป็นความหวังที่จะมีชีวิตในปีต่อไป  ในวันครบรอบวันเกิดของเด็กแต่ละคน พ่อแม่จะทำเค้กปักเทียนไว้ตรงกลางมอบให้เจ้าของวันเกิดตั้งแต่เช้าตรู่ และตั้งเค้กไว้จนถึงเวลาดินเนอร์จึงจะให้เจ้าของวันเกิดอธิษฐาน ขอพร และเป่าเทียนจึงเริ่มกินเค้กวันเกิดได้

ส่วนธรรมเนียมการปักเค้กเท่าอายุเจ้าของวันเกิดนั้นเริ่มต้นในเยอรมันเช่นกัน มีหลักฐานบันทึกไว้ใน ปี ค.ศ.1746  เกี่ยวกับงานฉลองวันเกิด เคาต์ ลุดวิก ฟอน ซินเซนเดอร์ (Count Ludwig von Zinzendor) กวีและผู้นำทางศาสนาคนสำคัญในเยอรมัน ในบันทึกมีแขกร่วมงานวันเกิดคนหนึ่งเล่าว่า  

“มีเค้กก้อนมหึมาเท่าขนาดเตาอบที่ใหญ่มาก มีรูบนหน้าเค้กเจาะตามจำนวนอายุของเจ้าของวันเกิด แต่ละรูปักเทียนไว้ และเทียนอีกหนึ่งเล่มปักไว้ตรงกลางเค้ก”

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป